ก.คมนาคมรับฟังความเห็นขนส่งเพื่อคนพิการ เด็กและผู้สูงอายุ ระยะที่3

ผู้เข้าร่วมสัมมนา

เมื่อวันพุธที่ 30 ส.ค.60 สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม ร่วมงานกับบริษัท พีเอสเค คอนซัลแทนส์ จำกัด และสถาบันวิจัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินโครงการศึกษา สำรวจ เพื่อการประเมินและให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงและออกแบบโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งสาธารณะเพื่อคนพิการ เด็ก และผู้สูงอายุของกระทรวงคมนาคม ระยะที่3 ณ ห้องบางลำพู ชั้น 6 โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพมหานคร เพื่อรับฟังความคิดเห็น ประเมินและให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงและออกแบบโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งสาธารณะเพื่อคนพิการ เด็ก และผู้สูงอายุของกระทรวงคมนาคม ระยะที่3

คนพิการที่เข้าร่วมสัมมนา

ได้รับเกียรติจาก นายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานกล่าวเปิดงาน โดยสรุปภาพรวมของที่มาและความสำคัญของการดำเนินงานโครงการศึกษา สำรวจ เพื่อการประเมินและให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงและออกแบบโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งสาธารณะเพื่อคนพิการ เด็ก และผู้สูงอายุของกระทรวงคมนาคม ระยะที่3 ดังนี้

หลักการและเหตุผล โดยใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 เป็นแผนหลักในการพัฒนาประเทศตั้งแต่ปี 2555 มีวิสัยทัศน์ที่น้อมนำและประยุกต์ใช้ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงยึดคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม การพัฒนาที่ยืนหยัดสมดุล ยั่งยืน และสิ้นสุดลงในเดือนกันยายน 2559 โดยสำนักงานคณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สคช.) กำหนดทิศทางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2562) ได้ให้ความสำคัญกับการกำหนดทิศทางการพัฒนาที่มุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านประเทศไทยจากประเทศที่มีรายได้ปลานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง มีการกระจายรายได้ และพัฒนาอย่างเท่าเทียม “ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม การสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการของรัฐ” สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และยุทธศาสตร์ตามหลักการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (Universal Design : UD) ลดอุปสรรค และข้อจำกัดด้านร่างกายทำให้เกิดอิสระในการเดินทางของคนพิการ เด็ก และผู้สูงอายุ

ผู้เข้าร่วมสัมมนา

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้จัดทำโครงการดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับระยะที่ 3 เป็นการศึกษาและสำรวจในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง รวม 34 แห่ง 15 จังหวัด แบ่งเป็น จังหวัดในภาคเหนือ 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ สุโขทัย พิษณุโลก ตาก เพชรบูรณ์ และกำแพงเพชร จังหวัดในภาคกลาง 6 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา สระบุรี สุพรรณบุรี และลพบุรี โดยมีพื้นที่นำร่องโครงการที่ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย แผน และมาตรการการดำเนินงานด้านการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ เด็ก และผู้สูงอายุให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาลด้านการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม และสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการของรัฐ เพื่อให้บุคลากรของกระทรวงคมนาคมมีความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการสำรวจสิ่งอำนวยความสะดวกและการให้บริการคนพิการ เด็ก และผู้สูงอายุ สอดคล้องกับหลักการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล ในการลดอุปสรรคและข้อจำกัดทางด้านร่างกาย ทำให้เกิดอิสระในการเดินทางของกลุ่มคนดังกล่าว ส่งผลให้การดำเนินงานมีความต่อเนื่องและขยายผลไปทุกภูมิภาคของประเทศ

ผู้เข้าร่วมสัมมนาให้ข้อเสนอแนะของโครงการ

ภายในงานได้มีการรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน อาทิ สถาบันการศึกษา เครือข่ายภาคประชาชน ภาคประชาสังคม หน่วยงานที่สังกัดกระทรวงคมนาคม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคนพิการและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งชี้แจงแนวทางการดำเนินโครงการฯ เพื่อการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งสาธารณะของกระทรวงคมนาคม ให้มีความเสมอภาคและเท่าเทียมต่อประชาชนทุกกลุ่มทุกพื้นที่ และเป็นระบบในภาพรวมของประเทศ ตามหลักการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล อย่างแท้จริง

อนึ่ง มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย ได้เข้าร่วมประชุมและแสดงความคิดเห็น ประเมินและให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงและออกแบบโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งสาธารณะเพื่อคนพิการ เด็ก และผู้สูงอายุของกระทรวงคมนาคม ระยะที่3 ด้วย (มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 31 ส.ค.60)

ที่มา: มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 31 ส.ค.60
วันที่โพสต์: 1/09/2560 เวลา 11:38:47 ดูภาพสไลด์โชว์ ก.คมนาคมรับฟังความเห็นขนส่งเพื่อคนพิการ เด็กและผู้สูงอายุ ระยะที่3