กีฬาประตูเชื่อมสัมพันธ์ผู้พิการกับสังคม

กีฬาประตูเชื่อมสัมพันธ์ผู้พิการกับสังคม

มีงานวิจัยมากมายว่าการออกกำลังกายเป็นประจำมีประโยชน์ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคมงานวิจัยฉบับล่าสุดพบว่า คนพิการได้รับประโยชน์จากการเล่นกีฬาและกิจกรรมทางกาย ไม่ต่างจากคนที่ไม่มีความพิการ แต่มีเพียงร้อยละ 25 ของชาวออสเตรเลียที่มีความพิการเท่านั้นที่เล่นกีฬาอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งแม้ว่ามีผู้สนใจจำนวนมาก...ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

ข้อมูลจากคณะกรรมการกีฬาประจำออสเตรเลียระบุว่า มีเพียงร้อยละ 25 ของชาวออสเตรเลียที่มีความพิการเท่านั้นที่มีกิจกรรมทางกายภาพหรือเล่นกีฬาอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง

แม้ว่ามีการยืนยันจากงานวิจัยมากมายว่าการออกกำลังกายเป็นประจำมีประโยชน์ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคม

เมื่อมาร์ก สตีเวนสัน ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองเสื่อมลูว์วี ที่เกิดขึ้นในหมู่ผู้ป่วยวัยหนุ่มสาว เพียงหนึ่งปีหลังจากที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคพาร์กินสัน ทำให้เขาต้องหยุดอาชีพนักผจญเพลิงที่เขาทำมายาวนานกว่า 32 ปี

“หมอบอกกับผมว่า น่าเสียดายที่ คุณคงไม่สามารถทำงานนี้ได้อีกต่อไป และก็ขับรถกลับบ้านเองไม่ได้แล้วด้วย” มาร์ก สตีเวนสัน เล่าย้อนถึงช่วงเวลาที่ชีวิตเปลี่ยนไปในพริบตา “

โรคสมองเสื่อมชนิดลูว์วี (Lewy Body Dementia) เป็นความผิดปกติของสมองที่ส่งผลต่อการคิด การเคลื่อนไหว พฤติกรรม และอารมณ์

โรคนี้เป็นโรคที่มีลักษณะค่อย ๆ ทรุดลงเมื่อเวลาผ่านไป อาการที่พบได้บ่อย ได้แก่ เห็นภาพหลอน ความจำเสื่อม ปัญหาการนอน และกล้ามเนื้อรวมถึงการเคลื่อนไหวที่เสื่อมถอยลง

มาร์ก สตีเวนสัน ซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ในช่วงอายุห้าสิบกลาง ๆ บอกว่า การต้องสูญเสียอาชีพที่รัก ทำให้รู้สึกไร้ทิศทางในชีวิต เขาเล่าว่า

“ผมโทรศัพท์ไปที่ต่างๆ เพื่อจะเป็นอาสาสมัครหรือทำกิจกรรมอะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะเป็นองค์กรการกุศล โทรหาคนที่ช่วยแจกอาหารให้คนไร้บ้าน หรือแม้แต่พยายามหากิจกรรมกีฬาอะไรสักอย่างทำ แต่ทุกที่ก็ตอบปฏิเสธหมด นั่นแหละที่ผมว่ารับมือยากยิ่งกว่าการเสียงานเสียอีก เพราะมันเหมือนกับว่าผมก็อาสาอะไรไม่ได้เลย เพราะมี ‘ความเสี่ยง’ มากเกินไป สุดท้ายผมก็เลิกพยายามไปเลย”

กระทั่งวันหนึ่ง มาร์ก สตีเวนสัน เจอโพสต์บนเฟซบุ๊กจากองค์กรที่ชื่อว่า Sporting Wheelies ซึ่งชวนให้คนพิการมาเล่นกีฬา เขายอมรับว่ารู้สึกกลัวว่าจะถูกปฏิเสธอีกครั้ง

แต่ด้วยแรงสนับสนุน จากภรรยา เขาจึงตัดสินใจลองเล่นคริกเก็ตสำหรับผู้ใช้วีลแชร์ดูสักครั้ง

“ผมเลยตัดสินใจไปลองเล่นคริกเก็ตดู แล้วมันรู้สึกแปลกมากจริง ๆ ครับ เพราะหลังจากที่เคยโดนปฏิเสธมานับครั้งไม่ถ้วน มันรู้สึกแปลกที่ได้เข้าไปในสถานที่ที่ทุกคนเปิดรับผม ทุกคนมาเล่นกีฬา พอคุณขึ้นนั่งบนวีลแชร์แล้ว ไม่มีใครโฟกัสที่ ‘วีลแชร์’ อีกต่อไป”

ปัจจุบันชาวออสเตรเลียมากกว่า 1 ใน 5 คน หรือราว 5.5 ล้านคน มีความพิการ

อย่างไรก็ตาม คุณเดน ครอส (Dane Cross) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของ Sporting Wheelies ระบุว่า ยังมีผู้พิการเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เข้าร่วมเล่นกีฬา ทั้งที่คนส่วนใหญ่แสดงความสนใจอยากมีส่วนร่วม

“ปัจจุบันมีผู้พิการเพียงร้อยละ 25 หรือแค่ 1 ใน 4 เท่านั้นที่ได้เล่นกีฬา แต่สิ่งที่เรารู้ก็คือ ยังมีอีกถึงร้อยละ 75 หรือ 3 ใน 4 ที่อยากเข้าร่วมกิจกรรมกีฬา นั่นหมายความว่ามีคนอยากเล่นแต่ติดอุปสรรค ทำให้ยังไม่สามารถเข้าร่วมได้”

เขาระบุว่า ราคาของอุปกรณ์ดัดแปลง เช่น วีลแชร์สำหรับเล่นกีฬา หรืออุปกรณ์ช่วยต่าง ๆ มักมีราคาสูงเกินเอื้อม และสโมสรหรือองค์กรกีฬาชุมชนจำนวนมากก็ยังไม่พร้อมเพียงพอที่จะรองรับผู้เล่นทุกคนอย่างเท่าเทียม

“สิ่งที่เราทราบแน่ชัดคือ ปัจจุบันยังไม่มีโอกาสเพียงพอสำหรับผู้พิการในการเข้าร่วมเล่นกีฬา สภาพแวดล้อมด้านกีฬายังไม่เปิดกว้างอย่างแท้จริง กีฬากระแสหลักหลายประเภทจึงยังไม่เหมาะสำหรับทุกคน”

คุณครอสระบุเพิ่มเติมว่า อุปสรรคที่ทำให้ผู้พิการไม่กล้าเข้าร่วมเล่นกีฬา ไม่ได้มีแค่เรื่องทางกายภาพเท่านั้น

“ปัญหาจริง ๆ คือช่องว่างด้านทัศนคติและภาพเหมารวมที่ยังคงมีอยู่ในสังคม หลายคนยังไม่มองว่าผู้พิการสามารถเป็นนักกีฬาได้ ดังนั้น ทัศนคติของคนในชุมชน และของสโมสรกีฬาท้องถิ่นจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงและปรับตัว เพื่อเปิดโอกาสให้คนพิการได้มีส่วนร่วมมากขึ้น”

Sport4All เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่พยายามเปลี่ยนทัศนคติของสังคมที่มีต่อคนพิการและกีฬา รวมถึงส่งเสริมให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ครอบคลุมมากขึ้น

องค์กรนี้ทำงานร่วมกับสโมสรกีฬาในชุมชนและโรงเรียน โดยให้การสนับสนุน อบรม และมอบเครื่องมือที่ใช้งานได้จริง เพื่อให้ทุกคนรู้สึกได้รับการต้อนรับ

คุณคาร์ล พาร์ทริดจ์ ผู้จัดการระดับประเทศของ Sport4All ระบุว่า หนึ่งในภารกิจสำคัญขององค์กร คือการสร้างความเข้าใจว่า ความพิการมีหลากหลายรูปแบบมากกว่าที่หลายคนคิด

“ ข้อจำกัดทางการเงิน ทัศนคติของคนในชุมชน และอีกมากมาย ที่สำคัญคือ หลายโครงการที่มีอยู่ ไม่ได้ถูกออกแบบโดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ทำให้คนจำนวนหนึ่งถูกกีดกันออกไปโดยไม่ได้ตั้งใจ”

คุณพาร์ทริดจ์ระบุว่า ปัจจุบันจำเป็นต้องมีโครงการเพิ่มเติม เพื่อเชื่อมช่องว่างระหว่างผู้พิการที่ต้องการเล่นกีฬา กับผู้ที่เล่นกีฬาอยู่แล้ว

เขากล่าวว่า การทำให้กีฬามีความเป็นมิตรและเข้าถึงได้มากขึ้น โครงการอย่าง Sport4All และ Sporting Wheelies กำลังแสดงให้เห็นว่า กีฬานั้นให้ประโยชน์หลากหลายยิ่งกว่าที่หลายคนเคยคิด

“ผมคิดว่าประโยชน์ของกีฬาไม่ได้มีแค่เรื่องสุขภาพร่างกายอย่างที่หลายคนคิด แต่สำหรับคนพิการแล้ว มันมีหลายมิติ กีฬาเป็นประตูสู่การสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคม สร้างความมั่นใจ ความเป็นอิสระ และยังทำให้เกิดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในชุมชนอย่างลึกซึ้ง”

งานวิจัยของ Paralympics Australia ในปี 2019 พบว่า 1 ใน 4 ของผู้พิการมองว่า “การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม” คือหนึ่งในสองประโยชน์สูงสุดจากการเล่นกีฬา

สำหรับมาร์ก สตีเวนสัน เรื่องนี้ก็เป็นความจริง ปัจจุบันเขาเข้าร่วมเล่นคริกเก็ต ออสเตรเลียนฟุตบอล (AFL) และบาสเกตบอล ผ่านองค์กร Sporting Wheelies

เขาบอกว่า การได้กลับมาเล่นกีฬาอีกครั้ง ทำให้เขาค้นพบเป้าหมาย และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนอีกครั้ง

“คุณจะได้พบกับเครือข่ายสังคมใหม่ ๆ ซึ่งผมคิดว่านั่นสำคัญมากต่อสุขภาพจิต ทุกคนบอกว่าผมดูมีความสุข นั่นก็เป็นเรื่องที่ดี”

ขอบคุณ... https://shorturl.asia/SdAEZ

ที่มา: sbs.com.au/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 24 มิ.ย. 68
วันที่โพสต์: 24/06/2568 เวลา 13:47:35 ดูภาพสไลด์โชว์ กีฬาประตูเชื่อมสัมพันธ์ผู้พิการกับสังคม