หุ่นยนต์สุนัขอัจฉริยะ ทางออกใหม่สำหรับผู้พิการทางสายตา

หุ่นยนต์สุนัขอัจฉริยะ ทางออกใหม่สำหรับผู้พิการทางสายตา

สำหรับผู้พิการทางสายตาการใช้สุนัขนำทางถือเป็นอีกตัวเลือกน่าสนใจช่วยให้พวกเขาเดินทางไปไหนมาไหนได้เอง แต่ด้วยข้อจำกัดในหลายด้านการใช้งานจึงไม่เป็นที่นิยมนัก แต่ทุกอย่างอาจเปลี่ยนไปเมื่อมีความพยายามในการคิดค้น หุ่นยนต์สุนัขอัจฉริยะ ขึ้นมา

สำหรับคนตาบอดหรือผู้พิการทางสายตาการใช้ชีวิตประจำวันเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก โดยเฉพาะการเดินทางไปไหนมาไหนตามลำพังถือเป็นเรื่องยาก ด้วยหลายครั้งสภาพแวดล้อไม่เอื้ออำนวยต่อการเดินทางจนอาจนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย หลายภาคส่วนจึงพัฒนาระบบและอุปกรณ์มากมายขึ้นรองรับหนึ่งในนั้นคือ สุนัขนำทาง

สุนัขนำทางถือเป็นสุนัขที่ได้รับการฝึกฝนให้ช่วยเหลือสนับสนุนการใช้ชีวิตของผู้พิการทางสายตาโดยเฉพาะ ช่วยให้พวกเขาสามารถเดินทางไปไหนมาไหนและใช้ชีวิตประจำวันด้วยตัวคนเดียวใกล้เคียงกับคนปกติ อย่างไรก็ตามการมีอยู่ของสุนัขนำทางกลับไม่ตอบโจทย์ แม้แต่ในกลุ่มผู้พิการทางสายตาเองก็ยังไม่ได้รับความนิยมนัก

ล่าสุดเริ่มมีการพัฒนาอุปกรณ์ทดแทนสุนัขนำทางหลายชนิดรวมถึง หุ่นยนต์สุนัขอัจฉริยะ แต่คงต้องย้อนดูสักนิดว่าข้อจำกัดใดทำให้หลายคนไม่ใช้บริการสุนัขนำทาง

ปัญหาในการใช้งานสุนัขนำทางในสังคม

จริงอยู่สุนัขนำทางได้รับการฝึกฝนให้สนับสนุนการใช้ชีวิตของผู้พิการทางสายตา แต่เมื่อเปรียบเทียบการใช้งานแล้วผู้ที่สามารถเข้าถึงสุนัขนำทางได้มีจำนวนน้อยมาก จากการสำรวจข้อมูลเชิงสถิติในชุมชนผู้พิการทางสายตาพบว่า มีผู้พิการทางสายตาเพียง 2% เท่านั้นที่สามารถใช้สุนัขนำทางได้ตลอดชีวิต

สาเหตุที่เป็นแบบนั้นเกิดขึ้นจากหลายประเด็น แรกสุดคงต้องพูดถึงความเข้าใจในสังคม เห็นได้ชัดจากประเทศไทยว่าหลายคนขาดความเข้าใจต่อสุนัขนำทางยังคงมองเป็นสัตว์เลี้ยง นำไปสู่ข้อจำกัดทำให้ไม่สามารถเข้าไปในหลายสถานที่ ตั้งแต่ห้างสรรพสินค้า, ร้านอาหาร, โรงแรม ไปจนบริการขนส่งสาธารณะต่างๆ

ลำดับต่อมาคือการใช้สุนัขนำทางส่วนตัวถือเป็นการเลี้ยงสัตว์ชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องไม่สะดวกสำหรับหลายท่านที่อาจไม่ชื่นชอบสุนัขหรือไม่นิยมใช้ชีวิตร่วมกับสัตว์เลี้ยง จึงอาจรู้สึกว่าการรับเลี้ยงสุนัขนำทางไม่ตอบโจทย์การเพิ่มความสะดวกในการใช้ชีวิตจนตัดสินใจไม่ใช้งานในที่สุด

ประเด็นสำคัญที่สุดสำหรับสุนัขนำทางคือค่าใช้จ่าย ตามปกติค่าใช้จ่ายในการฝึกสุนัขนำทางโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 50,000 ดอลลาร์(ราว 1.8 ล้านบาท) ไปจนค่าใช้จ่ายในเลี้ยงดูทั้งค่าอาหาร ค่ารักษาพยาบาล หรือค่าใช้จ่ายจิปาถะอื่นในการเลี้ยงสุนัข ถือเป็นค่าใช้จ่ายมหาศาลที่ไม่ใช่ทุกคนจะเข้าถึงได้ ด้วยเหตุนี้ความนิยมในการใช้งานสุนัขนำทางจึงไม่สูงนัก

แต่ปัญหาทุกอย่างอาจหมดไปเมื่อมีการคิดค้น หุ่นยนต์สุนัขอัจฉริยะ ขึ้นมาใช้งานทดแทนสุนัขจริง

หุ่นยนต์สุนัขอัจฉริยะ ทางออกใหม่สำหรับผู้พิการทางสายตา

Unitree A1 หุ่นยนต์สุนัขอัจฉริยะรุ่นใหม่

ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยจาก Binghamton University กับการคิดค้นพัฒนาหุ่นยนต์สุนัขนำทางอัจฉริยะ Unitree A1 ที่มีศักยภาพในการนำทางแก่ผู้บกพร่องทางสายตาได้ใกล้เคียงกับสุนัขนำทางที่ได้รับการฝึกฝนตามระบบ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงและคุณภาพชีวิตของผู้พิการได้อีกมาก

ตัวหุ่นได้รับการติดตั้งเซ็นเซอร์ช่วยตรวจจับสิ่งกีดขวางรูปแบบต่างๆ จึงมีศักยภาพในการนำทางผู้มีความบกพร่องทางสายตาเพื่อนำทาง หลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวาง ไปจนสามารถพาผู้ใช้งานไปสู่เส้นทางที่ปลอดภัย อีกทั้งยังสามารถควบคุมตัวหุ่นผ่านสายจูงให้เคลื่อนที่ไปตามทิศทางที่กำหนด ใกล้เคียงกับแนวทางออกคำสั่งที่ได้รับการฝึกฝนจากสุนัขนำทางของจริง

จากการทดสอบการใช้งานทีมวิจัยพบว่า หุ่นยนต์สุนัขอัจฉริยะมีคุณสมบัติพาผู้ใช้งานไปตามทิศทางที่กำหนดได้แม่นยำในพื้นที่โถงทางเดินในอาคาร รวมถึงตอบสนองต่อคำสั่งลากจูงและปรับทิศทางตามผู้ใช้งานได้อย่างอิสระ แม้จะยังห่างไกลจากคำว่าสมบูรณ์แต่ก็เป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยี

ในขั้นต่อไปพวกเขากำลังพัฒนาอินเตอร์เฟสภาษาในการสื่อสาร ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถสั่งการหุ่นยนต์สุนัขอัจฉริยะให้เคลื่อนไหวตามคำสั่งเสียงเพิ่มความสะดวกในการใช้งาน รวมถึงพัฒนาระบบนำทางให้เรียนรู้ในการแจ้งเตือนผู้ใช้งาน ในกรณีที่เดินเข้าสู่พื้นที่อันตรายหรือมีพื้นที่เป็นหลุมบ่อ ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถรู้ล่วงหน้าและเตรียมรับมือได้ทันท่วงที

นี่จึงเป็นอีกตัวเลือกสนับสนุนการใช้ชีวิตที่อาจเข้ามาทดแทนสุนัขนำทางในอนาคต

หุ่นยนต์สุนัขนำทาง อนาคตแห่งการนำทาง

ถึงตรงนี้หลายท่านที่ยังคงชื่นชอบสุนัขและการเลี้ยงสัตว์อาจยังมองว่าสุนัขนำทางน่าเชื่อถือกว่าในการใช้งานจริง เพราะนอกจากจะคอยช่วยเหลือในชีวิตประจำวัน สุนัขนำทางยังเป็นอีกหนึ่งเพื่อนคู่คิดหรือสมาชิกในครอบครัว จึงอยากชี้แจงอีกมุมมองประกอบการตัดสินใจว่า เหตุใดหุ่นยนต์สุนัขจึงมีแนวโน้มใช้งานสูงกว่า

จุดเด่นสำคัญที่ทำให้หุ่นยนต์สุนัขได้รับความสนใจมาใช้ทดแทนคือ ค่าใช้จ่าย ตามที่กล่าวไปข้างต้นค่าใช้จ่ายฝึกสอนสุนัขนำทางแต่ละตัวมีราคาสูงมาก ในขณะที่ต้นทุนการผลิตหุ่นแต่ละตัวจะน้อยกว่านั้นราว 4 เท่า หุ่นยนต์สุนัขที่มีขนาดใกล้เคียงกันของ Xiaomi อย่าง Cyberdog แม้ไม่ได้มีติดตั้งระบบนำทางแต่สนนราคาอยู่เพียง 1,550 ดอลลาร์(ราว 56,000 บาท) อีกทั้งยังไม่มีค่าใช้จ่ายด้านอาหาร เครื่องใช้ หรือการรักษาพยาบาล ซึ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายลงมาก

เมื่อเป็นหุ่นยนต์ไม่ใช่สัตว์จริงจึงลดความรู้สึกต่อต้านของผู้ไม่ชอบสุนัขและสัตว์เลี้ยง รวมถึงแก้ปัญหาเรื่องการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะได้โดยอัตโนมัติ นอกจากนี้ยังไม่ต้องพะวงเรื่องการหลุดสมาธิระหว่างทำหน้าที่ ถูกรบกวนจากปัจจัยแวดล้อมภายนอก หรือต้องคอยดูแลเอาใจใส่แบบสุนัขจริง จึงมีความเสถียรและสะดวกกว่าสุนัขนำทางของจริงเสียอีก

อีกหนึ่งข้อแตกต่างสำคัญของหุ่นยนต์สุนัขนำทางคือ ในการใช้งานจริงหุ่นยนต์นำทางรองรับการทำงานได้มากกว่าสุนัขจริง เช่น ตัวหุ่นสามารถเรียกใช้แผนที่และติดตั้งระบบ GPS ทำให้ผู้ใช้งานไปถึงจุดหมายปลายทางได้โดยอาศัยเพียงการป้อนคำสั่ง หรืออาจได้รับการติดตั้งระบบสนับสนุนอื่น เช่น การบรรทุกของ ช่วยลดภาระของผู้ใช้งานได้อีกทาง

ด้วยเงื่อนไขทั้งหมดประกอบกันนี้เองหากหุ่นยนต์สุนัขอัจฉริยะใช้งานแพร่หลาย การใช้งานสุนัขนำทางอาจไม่ใช่ของส่วนตัวอีกต่อไป ในอนาคตอาจมีการใช้งานหุ่นยนต์สุนัขอัจฉริยะสนับสนุนผู้พิการเป็นการชั่วคราวในสถานที่อย่าง ห้างสรรสินค้า หรือ สนามบิน แบบเดียวกับที่มีการใช้งานกับรถเข็นก็เป็นได้

แน่นอนผู้ที่กำลังพัฒนาหุ่นยนต์นำทางไม่ได้มีเพียงพวกเขา ทางประเทศจีนเองก็มีการเปิดตัว หุ่นยนต์สุนัขอัจฉริยะ ที่สามารถนำทางนักกีฬาเอเชียนพาราเกมส์ให้สามารถวิ่งคบเพลิงอย่างแม่นยำ ไปจนการพัฒนาไม้เท้าอัจฉริยะ NextGuide ที่สามารถนำทางผู้ใช้งานโดยอัตโนมัติได้เช่นกัน

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ในอนาคตการใช้งานสุนัขนำทางจะยิ่งน้อยลงและถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์นำทางซึ่งสะดวกต่อการใช้งานยิ่งกว่า

ขอบคุณ... https://www.posttoday.com/international-news/702036

ที่มา: posttoday.com/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 21 พ.ย.66
วันที่โพสต์: 21/11/2566 เวลา 14:03:36 ดูภาพสไลด์โชว์ หุ่นยนต์สุนัขอัจฉริยะ ทางออกใหม่สำหรับผู้พิการทางสายตา