เกมเมอร์เฮ! 'เพลย์สเตชั่น' เตรียมขายคอนโทรลเลอร์ “Access” รองรับผู้พิการ
พอล เลน วัย 52 ปี ผู้ที่ประสบอุบัติเหตุจนนิ้วมือใช้งานไม่ได้ เมื่อเขาจะเล่นวิดีโอเกมขับรถผ่านเครื่อง PlayStation 5 เลนจะต้องใช้ปาก แก้ม และคางในการควบคุม ซึ่งเขาใช้วิธีนี้มานานราว 23 ปี
การเล่นวิดีโอเกมถือเป็นความท้าทายที่มีมาอย่างยาวนานสำหรับผู้พิการ เนื่องจากตัวควบคุมมาตรฐานที่ผลิตโดยบริษัท PlayStation Xbox และ Nintendo ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อตอบสนองคนที่มีข้อจำกัดทางร่างกาย ทำให้กลุ่มผู้ทุพพลภาพอาจไม่สามารถทำกิจกรรมเล่นวิดีโอเกมส์ที่ชื่นชอบได้ จนอาจนำไปสู่ความรู้สึกของการถูกปล่อยทิ้งไว้ให้อยู่อย่างโดดเดี่ยวของคนกลุ่มนี้ให้เพิ่มมากขึ้น
หนึ่งในความพยายามของอุตสาหกรรมเกมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว บริษัท Sony ได้พัฒนาตัวควบคุมที่ชื่อว่า “Access” สำหรับเครื่อง PlayStation โดยได้รับข้อมูลจากเลนและที่ปรึกษาคนอื่น ๆ ซึ่งมีข้อจำกัดทางร่างกายเช่นกัน โดยถือเป็นอุปกรณ์ตัวควบคุมล่าสุดในตลาดสำหรับผู้ทุพพลภาพ ซึ่งในตลาดนี้มีผู้เล่นตั้งแต่บริษัท Microsoft บริษัทสตาร์ทอัพ รวมไปถึงบุคคลที่มีงานอดิเรกในการใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ
ตอนนี้เลนเลิกใช้ตัวควบคุมเกมแบบดั้งเดิม และหันมาใช้อุปกรณ์คอนโทรลเลอร์อย่าง Access ซึ่งมีลักษณะทรงกลม วางไว้ได้ทั้งบนโต๊ะ หรือบนถาดที่ติดตั้งกับรถวีลแชร์ อีกทั้งยังสามารถปรับแต่งกำหนดค่าได้หลากหลายตามความต้องการของผู้ใช้งาน อย่างเช่นสลับตำแหน่งของปุ่มและตัวโยก ติดตั้งโปรแกรมควบคุมพิเศษ รวมถึงจับคู่คอนโทรลเลอร์สองตัวเพื่อให้ใช้งานร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว
เลน อธิบายว่า “การเล่นเกมของผมค่อนข้างแปลก ดังนั้นจึงรู้สึกเล่นได้อย่างสบายขึ้นเวลาใช้มือทั้งสองข้าง ซึ่งต้องตั้งตัวควบคุมในระยะห่างที่พอเหมาะ ตอนที่เล่นเกมตัวควบคุมจะได้ไม่มากระทบกัน การเล่นด้วยอุปกรณ์นี้ถือว่ายอดเยี่ยม และมันยังพร้อมใช้งานทันทีเมื่อแกะออกจากกล่อง”
เลน และเหล่าผู้รักการเล่นเกม ได้ทำงานร่วมกับบริษัท Sony มาตั้งแต่ปี 2018 เพื่อช่วยในการออกแบบตัวควบคุม Access แนวคิดของการพัฒนานี้คือการสร้างสรรค์ตัวควบคุมที่จะสามารถตอบสนองในวงกว้างสำหรับบุคคลที่มีข้อจำกัดทางร่างกาย มากกว่ามุ่งเน้นไปที่ผู้พิการกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษ
มาร์ค บาร์เล็ต ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการบริหารขององค์กรไม่แสวงผลกำไร AbleGamers เล่าว่า เนื่องจากความพิการที่มีหลากหลาย การออกแบบที่มุ่งตอบสนองความพิการในรูปแบบเฉพาะจึงไม่ใช่แนวทางที่ควรจะเป็น แต่ควรคำนึงถึงประสบการณ์ของผู้เล่นที่จะเชื่อมต่อระหว่างเกมและตัวควบคุมที่สามารถใช้งานได้กับคนจำนวนมาก
บาร์เล็ตยังเผยว่า องค์กรของเขาได้ให้ความร่วมมือกับทั้งบริษัท Sony และบริษัท Microsoft เพื่อพัฒนาตัวควบคุมสำหรับผู้พิการมานานเกือบสองทศวรรษแล้ว ที่ผ่านมาเสียงเรียกร้องของเหล่าเกมเมอร์ได้ถูกส่งไปถึงเหล่าผู้สร้างโดยตรง ผ่านการพูดคุยออนไลน์ อย่างเวบบอร์ดต่าง ๆ
หลังจากที่บริษัท Microsoft ได้รับกระแสตอบรับเชิงบวกจากการเปิดตัวคอนโทรลเลอร์ Xbox Adaptive ในปี 2018 ในแถลงการณ์ของบริษัทกล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่ผู้ผลิตรายอื่นในอุตสาหกรรมใช้วิธีการที่คล้ายกัน เพื่อให้ผู้เล่นจำนวนมากขึ้นสามารถใช้งานได้ ผ่านการพัฒนาวิธีเข้าถึง
อัลวิน ดาเนียล ผู้จัดการอาวุโสด้านเทคนิคของบริษัท PlayStation ชี้ว่า การพัฒนาตัวควบคุม Access คำนึงถึงสามประการหลัก ได้แก่ ตอบสนองการใช้งานในวงกว้าง การกดปุ่มต้องทำได้ง่ายกว่าการใช้คอนโทรลเลอร์มาตรฐานอย่างมาก และตัวโยกที่สามารถปรับแต่งให้สอดคล้องตามความต้องการของผู้ใช้งาน
ตัวควบคุม Access จะวางจำหน่ายทั่วโลก วันที่ 6 ธันวาคมปีนี้ ในสนนราคา 90 ดอลลาร์ หรือราว 3,300 บาท
ขอบคุณ... https://shorturl.asia/uPqcC