รีบส่อง'138 ป้ายสัญลักษณ์' ระบบขนส่งฯ จะได้ไม่ งง!

ป้ายสัญลักษณ์' ระบบขนส่งฯ

สัปดาห์นี้พาไปสแกน 138 ป้ายสัญลักษณ์ระบบขนส่งสาธารณะที่จะออกมาใช้ทั่วประเทศแล้ว รีบไปทำการบ้านกันดีกว่าว่ามีอะไรบ้างก่อนจะงง

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เรื่องมาตรฐานป้ายสัญลักษณ์ในระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งอีกไม่นานก็จะประกาศบังคับใช้เป็นบรรทัดฐานของประเทศไทย เหมือน “ป้ายจราจร” บนท้องถนนที่สื่อความหมายให้ผู้ใช้รถใช้ถนนได้เข้าใจตรงกันนั่นเอง

มาส่องสาระสำคัญของร่างประกาศฉบับดังกล่าวกัน เพราะมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เวลาเห็นป้ายใหม่ๆ หน้าตาแปลกๆ ติดกันพรึ่บในระบบขนส่งสาธารณะ ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ ทำการบ้านไว้ก่อน จะได้ไม่งง??

ร่างประกาศฉบับนี้ให้นิยาม “ป้ายสัญลักษณ์” ในระบบขนส่งสาธารณะ หมายความว่า รูปภาพ ข้อความ ตัวหนังสือ ตัวเลข หรือสัญลักษณ์ใดๆ ที่แสดง ติดตั้ง หรือทำให้ปรากฏอยู่บนแผ่นป้าย กล่องผนัง หรือที่อื่นใดในเขตหรือพื้นที่การให้บริการขนส่งสาธารณะ ได้แก่ สถานี ชานชาลา ป้ายหยุดรถ จุดจอดรถ จุดพักรถ หรือพื้นที่ใดๆ ที่มีการให้บริการขนส่งสาธารณะ ในลักษณะและตำแหน่งที่เห็นได้โดยง่ายและชัดเจน ทำด้วยแผ่นโลหะ ไม้ หรือวัสดุอื่นๆ

มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลการให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ การห้าม การเตือน ความปลอดภัย การบังคับ หรือการแนะนำการใช้บริการ แก่ผู้โดยสารหรือผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะ ให้สามารถรับรู้หรือเข้าใจ สัญลักษณ์ห้าม สัญลักษณ์เตือน สัญลักษณ์ความปลอดภัย สัญลักษณ์จำกัดสิทธิ์ สัญลักษณ์ให้สิทธิ์คนพิการ ทุพพลภาพ และผู้สูงอายุ หรือสามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกที่ต้องการได้

ป้ายสัญลักษณ์ในระบบขนส่งสาธารณะ ถูกแบ่งเป็น 7 หมวด รวม 138 ป้าย ดังนี้ 1. ป้ายสัญลักษณ์สิ่งอำนวยความสะดวกทั่วไป เพื่อให้ข้อมูลหรือให้การแนะนำผู้โดยสารหรือผู้ใช้บริการให้สามารถไปยังจุดให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ (ยกเว้นสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการคมนาคม) ภายในเขตหรือพื้นที่การให้บริการขนส่งสาธารณะนั้นๆ กำหนดให้เป็นป้ายสี่เหลี่ยมจัตุรัสหรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า มี 2 ชนิด คือชนิดพื้นสีขาว เส้นขอบป้าย ข้อความ และสัญลักษณ์สีดำ และชนิดพื้นสีน้ำเงิน เส้นขอบป้าย ข้อความ และสัญลักษณ์สีขาว มี 44 ป้าย เช่น “กรุณาแบ่งปันที่นั่ง” “บันไดเลื่อน” และ “ตู้บริการเงินสด”

ป้ายสัญลักษณ์สิ่งอำนวยความสะดวกทั่วไป(Public Facilities)

ป้ายสัญลักษณ์สิ่งอำนวยความสะดวกทั่วไป(Public Facilities)

2. ป้ายสัญลักษณ์สิ่งอำนวยความสะดวกด้านการคมนาคม เพื่อให้ข้อมูลหรือให้การแนะนำผู้โดยสารหรือผู้ใช้บริการให้สามารถไปยังจุดให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางหรือการคมนาคม เป็นป้ายสี่เหลี่ยมจัตุรัสหรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า มี 2 ชนิด คือชนิดพื้นสีขาว เส้นขอบป้าย ข้อความ และสัญลักษณ์สีดำ และชนิดพื้นสีน้ำเงิน เส้นขอบป้าย ข้อความ และสัญลักษณ์สีขาว มี 25 ป้าย เช่น ป้ายสัญลักษณ์ “ที่จอดรถ” “เที่ยวบินขาออก” “เที่ยวบินขาเข้า”

ป้ายสัญลักษณ์สิ่งอำนวยความสะดวกด้านการคมนาคม

ป้ายสัญลักษณ์สิ่งอำนวยความสะดวกด้านการคมนาคม

3. ป้ายสัญลักษณ์ห้าม เพื่อห้ามผู้โดยสารหรือผู้ใช้บริการกระทำการหรือกิจกรรมบางอย่าง ภายในเขตหรือพื้นที่การให้บริการขนส่งสาธารณะนั้นๆ เป็นป้ายวงกลม พื้นสีขาว เส้นขอบป้ายและเส้นคาดแดง ข้อความ และสัญลักษณ์สีดำมี 27 ป้าย เช่น ป้ายสัญลักษณ์ “ห้ามสูบบุหรี่” “ห้ามจอดรถ” “ห้ามหาบเร่”

ป้ายสัญลักษณ์ห้าม

ป้ายสัญลักษณ์ห้าม

4. ป้ายสัญลักษณ์เตือน เพื่อเตือนผู้โดยสารหรือผู้ใช้บริการให้กระทำการหรือกิจกรรมบางอย่าง ภายในเขตหรือพื้นที่การให้บริการขนส่งสาธารณะนั้นๆ ด้วยความระมัดระวัง เป็นป้ายสามเหลี่ยมด้านเท่า พื้นสีเหลือง เส้นขอบป้าย ข้อความและสัญลักษณ์สีดำ มี 9 ป้าย เช่น ป้ายสัญลักษณ์ “สิ่งกีดขวาง” “ระวังพื้นลื่น” “ระวังศีรษะ”

ป้ายสัญลักษณ์เตือน

5. ป้ายสัญลักษณ์ความปลอดภัย เพื่อให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำหรือกิจกรรมหรือพื้นที่ที่ทำให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้โดยสารหรือผู้ใช้บริการเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินภายในเขตหรือพื้นที่การให้บริการขนส่งสาธารณะนั้นๆเป็นป้ายสี่เหลี่ยมจัตุรัสหรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า มี 3 ชนิด คือชนิดพื้นสีแดง เส้นขอบป้าย ข้อความ และสัญลักษณ์สีขาว, ชนิดพื้นสีขาว เส้นขอบป้าย ข้อความ และสัญลักษณ์สีเขียว และชนิดพื้นสีขาว เส้นขอบ และเส้นคาดสีแดง ข้อความ และสัญลักษณ์สีดำ มี 9 ป้าย เช่น ป้ายสัญลักษณ์ “ทางออกฉุกเฉิน” “พื้นที่ปลอดภัย” “บันไดหนีไฟ” เป็นต้น

ป้ายสัญลักษณ์ความปลอดภัย

6. ป้ายสัญลักษณ์จำกัดสิทธิ์ เพื่อจำกัดสิทธิ์ผู้โดยสารหรือผู้ใช้บริการในการกระทำการหรือกิจกรรมบางอย่าง ภายในเขตหรือพื้นที่การให้บริการขนส่งสาธารณะนั้นๆ มี 9 ป้าย เช่น “กรุณางดใช้เสียง” “กรุณายืนชิดขอบด้านขวา” “กรุณายืนชิดขอบด้านซ้าย เป็นต้น

ป้ายสัญลักษณ์จำกัดสิทธิ์

และ 7. ป้ายสัญลักษณ์สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ หรือทุพพลภาพ และผู้สูงอายุ เพื่อให้ข้อมูลหรือให้การนำนำผู้โดยสารหรือผู้ใช้บริการที่เป็นผู้พิการ หรือทุพพลภาพ และผู้สูงอายุ ให้สามารถไปยังจุดให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ หรือทุพพลภาพ และผู้สูงอายุ ภายในเขตหรือพื้นที่การให้บริการขนส่งสาธารณะนั้นๆ เป็นป้ายสี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า มี 2 ชนิด คือชนิดพื้นสีน้ำเงิน เส้นขอบป้าย ข้อความ และสัญลักษณ์สีขาว และชนิดพื้นสีขาว เส้นขอบป้าย ข้อความ และสัญลักษณ์สีน้ำเงิน มี 15 ป้าย เช่น ป้ายสัญลักษณ์ “ห้องสุขาเฉพาะสำหรับคนพิการ หรือทุพพลภาพ และผู้สูงอายุ” “ที่จอดรถยนต์สำหรับคนพิการ หรือทุพพลภาพ” “ลิฟต์เฉพาะสำหรับคนพิการ หรือทุพพลภาพ และผู้สูงอายุ” เป็นต้น

ป้ายสัญลักษณ์สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ หรือทุพพลภาพ และผู้สูงอายุ

ป้ายสัญลักษณ์สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ หรือทุพพลภาพ และผู้สูงอายุ

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว. คมนาคม บอกว่าร่างประกาศดังกล่าวจะทำให้ป้ายสัญลักษณ์ต่างๆ จัดเป็นหมวดหมู่และเป็นระบบมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาค่อนข้างสะเปะสะปะ แต่ละหน่วยงานจะทำป้ายสัญลักษณ์แตกต่างกัน หลังจากนี้ทุกหน่วยงานต้องยึดตามร่างประกาศฉบับนี้ เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศและเป็นไปตามมาตรฐานสากล

“ทุกสิ่งทุกอย่างในธรรมชาติ หรือแม้ในจักรวาล สามารถแทนได้ด้วยสัญลักษณ์ทั้งสิ้น”....คำนิยามทางปรัชญาตอกย้ำความสำคัญของ “สัญลักษณ์” ...ป้ายสัญลักษณ์ ช่วยให้เข้าใจตรงกันแม้จะพูดกันคนละภาษาก็ตาม แต่จะไร้ประโยชน์ถ้าไม่ปฏิบัติตาม เพราะไร้ระเบียบวินัย เข้าใจผิดว่าทำตามใจคือไทยแท้

…................................

คอลัมน์ : มุมคนเมือง

โดย “เทียนหยด”

ขอบคุณ... https://www.dailynews.co.th/article/590304

ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 16 ส.ค.60
วันที่โพสต์: 17/08/2560 เวลา 11:45:09 ดูภาพสไลด์โชว์ รีบส่อง'138 ป้ายสัญลักษณ์' ระบบขนส่งฯ จะได้ไม่ งง!