‘เฮ็ดดิ คราฟท์’ สกลนคร มจธ.หนุน คนพิการเฮ็ด ความสำเร็จที่ชุมชนโอบรับ

‘เฮ็ดดิ คราฟท์’ สกลนคร มจธ.หนุน คนพิการเฮ็ด ความสำเร็จที่ชุมชนโอบรับ

สกลนคร จังหวัดทางภาคอีสานที่เต็มไปด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีวัตถุดิบทางธรรมชาติเฉพาะตัวอย่าง ‘คราม’ จากต้นครามที่สามารถนำมาย้อมสีและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้มากมายไม่รู้จบ

ไม่เพียงชาวบ้าน หากแต่ ‘ผู้พิการ’ ในสกลนครยังร่วมครีเอตสินค้าแฮนด์เมด สร้างรายได้และความภาคภูมิใจภายใต้แบรนด์ชื่อเก๋ ‘เฮ็ดดิ คราฟท์’ ซึ่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง

เฮ็ดดิ คราฟท์ เป็นแบรนด์สินค้าหัตถกรรมฝีมือคนพิการจากโดยตรง ตั้งอยู่ที่ตำบลเต่างอย อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร พร้อมทั้งยกระดับสู่ผู้ประกอบการในพื้นที่ (Local Enterprise) เน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่แตกต่าง สร้างอาชีพ สร้างรายได้ เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ภายใต้หลักสูตร ‘การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่น’ ในโครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนพิการ มจธ.

‘เฮ็ดดิ คราฟท์’ สกลนคร มจธ.หนุน คนพิการเฮ็ด ความสำเร็จที่ชุมชนโอบรับ

สร้างแบรนด์ สร้างคน ลดเหลื่อมล้ำ ด้วยภูมิปัญญาบรรพบุรุษ

รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย

รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เปิดเผยถึงวัตถุประสงค์ของโครงการกิจกรรมฝึกอาชีพคนพิการว่า มจธ.ไม่ได้สนใจแค่เพียงประชาชนคนทั่วไปอย่างเดียว แต่ยังสนใจกับผู้พิการอีกด้วย โดยมุ่งหวังลดความเหลื่อมล้ำด้านอาชีพอันจะนำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำของคุณภาพชีวิต

“พื้นที่จังหวัดสกลนครก็เป็นพื้นที่ทาง มจธ.ทำงานมาอย่างยาวนานตั้งแต่ พ.ศ.2523 เราจะนำภูมิปัญญาที่เขามีตั้งแต่รุ่น พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย มาพัฒนา สร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ หากผลของโครงการนี้ดี เราจะขยายกิจกรรมเหล่านี้ให้กับทางมหาวิทยาลัยอื่นๆ ได้ช่วยกันคนละไม้คนละมือ ซึ่งจะช่วยคนพิการได้อีกมากมาย นี่เป็นหน้าที่หนึ่งของ มจธ. ที่มีกิจกรรมเกี่ยวกับคนพิการอย่างสม่ำเสมอ” อธิการฯ มจธ.กล่าว

ว่าแล้วมาย้อนดูไทม์ไลน์ของโครงการที่ว่านี้ซึ่งนับเป็น 3 ปีแห่งคุณภาพ

ผศ.วรนุช ชื่นฤดีมล อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มจธ. และหัวหน้าหลักสูตร ‘การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่น’ กล่าวว่า โครงการมีระยะเวลาการดำเนินงานตั้งแต่ พ.ศ.2564-2566 โดยปีที่ 1 เป็นการฝึกพื้นฐานความรู้ที่จำเป็นทุกอย่าง ปรับทัศนคติ สร้างความมั่นใจในตนเอง ทั้งการสื่อสาร และการเข้าสังคม รวมถึงสอนการออกแบบ การถักทอและการย้อมคราม

‘เฮ็ดดิ คราฟท์’ สกลนคร มจธ.หนุน คนพิการเฮ็ด ความสำเร็จที่ชุมชนโอบรับ

“เมื่อก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 เราเริ่มการสอนทักษะงานฝีมือ และเปลี่ยนจากครามเป็นการใช้สีธรรมชาติที่ได้จากท้องถิ่นด้วย เช่น ดอกฝักคูน ดาวเรือง ฝาง และพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาเป็นรูปต่างๆ ตามจินตนาการ เพื่อสร้างจุดเด่นให้กับผลิตภัณฑ์ของกลุ่มมากขึ้น อาทิ เห็ดนำโชค ไม้เท้า สายรุ้ง หรือเต่า เป็นของประดับตกแต่ง ที่สำคัญเริ่มให้ความรู้การเป็นผู้ประกอบการ จึงเน้นสอนเรื่องของการตลาดมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เขารู้ว่าตัวเองชอบหรือถนัดอะไร

“พร้อมเติบโตขึ้นในปีที่ 3 การก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการด้วยทุนและการบริหารจัดการด้วยตนเอง โดยการคัดเลือกคนที่พร้อมมีทักษะสามารถจะเป็นผู้ประกอบการได้ด้วยตัวเองและสามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้สามารถทำงานระบบออฟฟิศได้ ทางกลุ่มได้รวมตัวกันเป็นผู้ประกอบการในพื้นที่ หรือ Local Enterprise ด้วยทุนของสมาชิกเองทั้งหมด เพื่อบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นในพื้นที่ทั้ง ผงสีธรรมชาติจากพืช สีเทียน เทียนหอม เชือกถัก เสื้อ กระเป๋าผ้าย้อมสีธรรมชาติ หรือแม้แต่ผ้าย้อมคราม” ผศ.วรนุชกล่าว

‘สีเทียน (ก้อน)’ Zero Waste คิดเอง วิจัยเอง เอกลักษณ์ ‘เฮ็ดดิ คราฟท์’

สำหรับผลิตภัณฑ์จากฝีมือผู้พิการภายใต้แบรนด์ ‘เฮ็ดดิ คราฟท์’ แน่นอนว่า Save สิ่งแวดล้อมอย่างเต็มที่ ภายใต้แนวคิด Zero Waste ไม่หลงเหลือขยะใดๆ ทิ้งไว้บนโลก

‘ผงสีธรรมชาติจากพืช’ คือผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบในท้องถิ่น โดยนำวัสดุจากธรรมชาติมาผลิต อาทิ คราม ฝาง สาบเสือ หูกวาง หางนกยูง ดาวเรือง ฝักคูน เปลือกประดู่ มะม่วง เพกา และเมล็ดคำแสด ที่สามารถนำไปเป็นส่วนผสมทำผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้หลากหลาย อาทิ เทียนหอม ธูปหอม โดยเฉพาะ ‘สีเทียน’ เป็นสูตรที่ทางกลุ่มคนพิการได้ทำวิจัย คิดค้นและพัฒนาขึ้นเอง ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของกลุ่มเฮ็ดดิ คราฟท์ ที่มีลักษณะเป็นก้อนแตกต่างจากสีเทียนแบบเดิม

“นี่เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภูมิปัญญาชาวบ้านกับองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ การออกแบบผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมของ มจธ. พัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพิ่มขึ้นถือเป็นการผสมผสานกันระหว่างเทคโนโลยีกับภูมิปัญญาชาวบ้านจนเกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ขึ้นให้กับชุมชน และแม้จะเป็นกลุ่มเปราะบางที่เป็นคนพิการ แต่จุดเริ่มต้นความสำเร็จของคนกลุ่มนี้ คือ อยากทำ อยากฝึกและมีความตั้งใจ

รูปแบบการสอนของเราจะใช้วิธีการถ่ายทอดความรู้ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ไม่เป็นวิชาการมากนัก มีการใช้สัญลักษณ์เข้ามาเพื่อช่วยให้จำได้ง่ายขึ้น เช่น เราบอกกับคนพิการว่าการทำผงสี เปรียบเสมือนกับการทำกับข้าว น้ำที่ย้อมเหมือนการต้มน้ำแกง ใส่เกลือ ใส่สารส้ม เคี่ยวเสร็จแล้วนำมากรอง เอากากออก น้ำที่ได้เทใส่กะละมัง จากนั้นโรยดินสอพองลงไป และตีจนขึ้นฟู พอฟองฟูเต็มที่แสดงว่าสีจับกับดินสอพองเรียบร้อย ก็ถือว่าเสร็จ ตั้งทิ้งไว้หนึ่งคืนปล่อยให้ตกตะกอน เช้าขึ้นมาก็เทน้ำข้างบนออก ตักเอาแต่ส่วนที่ตกตะกอน นำไปตากแดด จากนั้นจึงนำมาบดให้ละเอียด ซึ่งกระบวนการทำผงสีนี้ เรายังได้ถอดบทเรียนออกมาเป็นองค์ความรู้ มีด้วยกัน 7 ขั้นตอน เพื่อใช้ถ่ายทอดให้กับนักศึกษา NAFA (Nanyang Academy of Fine Arts) จากประเทศสิงคโปร์ ที่มาร่วมทำเวิร์กช็อปกับกลุ่มคนพิการในครั้งนี้ด้วย” ผศ.วรนุชอธิบาย

‘เฮ็ดดิ คราฟท์’ สกลนคร มจธ.หนุน คนพิการเฮ็ด ความสำเร็จที่ชุมชนโอบรับ

สตาร์ตอัพผู้พิการ ‘ถือหุ้นเอง 100%’

จากขั้นตอนการผลิต มาฟังแง่มุมธุรกิจกันบ้าง

ผศ.ดร.บุษเกตน์ อินทรปาสาน อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มจธ. เปิดเรื่องราวในประเด็นดังกล่าว ว่า การที่สมาชิกตกลงร่วมกันเป็นผู้ประกอบการ Local Enterprise แม้จะยังไม่ได้เป็น Social Enterprise ถือเป็นสตาร์ตอัพในเชิงการสร้างอาชีพให้คนพิการที่ทุกคนเลือกเป็นผู้ถือหุ้นกันเอง 100% ต่อไปมหาวิทยาลัยจะเป็นเพียงพี่เลี้ยงหรือที่ปรึกษา ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องผลกำไรกับทางกลุ่ม ซึ่งถือเป็นความสำเร็จหนึ่งของ Sustainable Development Goals (SDGs) ในการมีคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน การสร้างอาชีพและสร้างรายได้

“สิ่งที่มหาวิทยาลัยได้รับจากการจัดทำหลักสูตรนี้ คือ สามารถตอบโจทย์ของมหาวิทยาลัยที่มุ่งพัฒนามหาวิทยาลัยเป็น The Sustainable Entrepreneurial University รวมถึงการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชนกับมหาวิทยาลัย สำหรับเป้าหมายต่อไปคือการหาตลาดใหม่ๆ นอกจากกลุ่มเป้าหมายที่เป็นสถาบันการศึกษา ในปีหน้ามีโอกาสจะพาไปพบผู้ซื้อ ให้เขาได้รู้จักลูกค้าได้เรียนรู้ประสบการณ์มากขึ้น เพราะการตลาดนั้นจะต้องหาลูกค้าให้ได้ก่อนว่าลูกค้าของเราเป็นใคร พอเราได้ตลาดแล้วค่อยมาทำผลิตภัณฑ์ที่จะตอบโจทย์ลูกค้าได้” ผศ.ดร.บุษเกตน์กล่าว

อีกประเด็นสำคัญคือ ‘มาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพด้านการทำผลิตภัณฑ์ชุมชน’ หรือของที่ระลึก ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการเปรียบเทียบหลักสูตรกับประสบการณ์วิชาชีพ รวมถึงการพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงานของชุมชนที่ต่างจากกลุ่มอื่นในพื้นที่ จากประสบการณ์การเป็นเทรนด์เดอะเทรนเนอร์ให้กับนักศึกษาต่างชาติจากมหาวิทยาลัย NAFA ซึ่งหลังจากได้รับการถ่ายทอดจากกลุ่มเฮ็ดดิคราฟท์แล้วจะนำความรู้ที่ได้รับไปจัดนิทรรศการที่สิงคโปร์ ซึ่งจะเป็นเครดิตที่อาจมีการนำไปต่อยอดเกิดการออกแบบนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้น

อยากรู้ อยากลอง มองอนาคต ‘2567 เน้นขยับมาตรฐาน’

พัชดา ศรีทิน

ด้าน พัชดา ศรีทิน หรือ ‘แจน’ ผู้จัดการกลุ่ม ‘เฮ็ดดิ คราฟท์’ เล่าว่า ปฏิบัติหน้าที่นี้มานานกว่า 2 ปี มีการบริหารจัดการตามความถนัด ใครมีฝีมือดีก็ไปผลิตสินค้า ใครถนัดด้านไหน ก็พัฒนาไปในด้านนั้น

“การดูแลผู้พิการไม่ยากเพราะทุกคนเข้าใจงาน เจอปัญหาบ้างจากข้อจำกัด เช่น มือไม่แข็งแรง บางงานอาจจะต้องใช้แรงขึ้นมาหน่อย เป็นชิ้นงานที่ทำง่ายที่สุด คือ ผลิตภัณฑ์ผงสีธรรมชาติ เพราะไม่ต้องใช้แรงเยอะ เขาก็จะทำได้ดี กลายเป็นความชอบที่อยากจะทำ เริ่มหาใบไม้รอบบ้านมาทดลอง เราก็บอกให้ลองดูเลย จึงทำให้มีสีใหม่ๆ เกิดขึ้น”

ถามถึงเป้าหมายระยะใกล้ในปี 2567 แจน พัชดา เผยว่า อยากให้สินค้าของแบรนด์ได้มาตรฐานกว่านี้ และทำการตลาดเป็นให้ที่รู้จักของใครหลายๆ คน สามารถที่ผลิตได้ครั้งละมากๆ อยากให้ผลิตภัณฑ์ดูดีและมีคุณภาพให้มากที่สุด

จาก ‘ไม่คิดว่าจะทำได้’ สู่ความภูมิใจในตัวเอง

โชคชัย งอยภูธร

จากนั้น มาฟังสมาชิกชาวเฮ็ดดิ คราฟท์ ตัวจริงอย่าง โชคชัย งอยภูธร หรือ ‘ก็อฟ’ ผู้พิการเดินไม่ได้ เพราะประสบอุบัติเหตุตกรถไถนา เคยไม่กล้าใช้ชีวิตร่วมกับผู้คนในสังคม กระทั่งได้พบคณาจารย์ มจธ. ที่ชักชวนเข้าร่วมโครงการ จึงตัดสินใจเผชิญโลกอีกครั้งในฐานะ ‘แอดมิน’

“จากความคิดแรกที่ไม่คิดว่าตนเองจะทำอะไรได้ จนได้มาทำในตำแหน่งแอดมิน ได้มีความรู้ติดตัวมากขึ้นว่าจะขายสินค้าอย่างไร ได้พบปะกับเพื่อนๆ ทำให้มีความคิดที่กว้างขึ้น พอเข้ามาในโครงการแล้วความคิดเปลี่ยน เพื่อนๆ ผู้พิการทุกคนมีความรู้สึกภูมิใจในตัวเอง เขาสามารถทำงานได้และสามารถสร้างรายได้ให้กับตัวเอง และเมื่อคนอื่นทำได้เราก็ต้องทำได้

“เป้าหมายในชีวิต อยากมีบ้านเป็นของตัวเอง และเป้าหมายสูงสุดของชีวิต กว่า 13 ปีแล้วที่นั่งอยู่บนวีลแชร์ อยากที่จะกลับมาเดินได้อีกครั้งหนึ่งก็มีทั้งการกายภาพฝึกการเดินมากขึ้นจะพยายามฝึกเรื่อยๆ เพื่อกลับมาเดินได้อีกครั้ง” โชคชัยเผยความในใจ

‘สวนแมน’ เปิดพื้นที่แห่งแรงบันดาลใจ เห็นพัฒนาการตั้งแต่ก้าวแรก

ปราชญ์ นิยมค้า

ปิดท้ายที่ ปราชญ์ นิยมค้า ผู้ก่อตั้ง สวนแมน Creative Crafts Center และผู้จัดงาน สวนแมน Craft Festival ซึ่งเปิดพื้นที่ขาย-พรีเซ็นต์ นำรายได้เข้าชุมชนสู่คุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน

“จุดประสงค์ของการเปิดสวนแมน คือต้องการเปิดสตูดิโอที่สร้างสรรค์ผลผลิตงานฝีมือของคนในพื้นที่ ผมชื่นชอบการทำงานด้านศิลปะ จึงอยากมีสถานที่สร้างแรงบันดาลใจ ระหว่างการทำงานก็รู้สึกว่าตัวเองมีเครือข่ายมากขึ้น เราชวนเพื่อนๆ และลูกศิษย์ที่อยู่ในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมและสร้างพลังต่างๆ

“เมืองสกลนครเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ทั้งทางด้านวัตถุดิบ เรื่องของภูมิปัญญา และช่างฝีมือ ด้านงานหัตถกรรมต่างๆ เรามีกลุ่มคนเล็กๆ หลายคน รวมตัวกันเป็นกลุ่มชุมชนที่โดดเด่นอย่างผ้าย้อมครามธรรมชาติ งานปั้นดินเผา งานจักสาน

“เรามีพื้นที่อยู่แล้ว ก็มีการจัดเป็นโซนให้ทุกคนนั่งพักผ่อนในบรรยากาศชิลๆ ในสวน เราจะเริ่มเติบโตไปทีละก้าวโดยได้ความร่วมมือจากพี่น้องๆ ทุกคน โดยในปีนี้ทาง เฮ็ดดิ คราฟท์ ได้เข้ามามีส่วนร่วมภายในงาน เราเห็นความตั้งใจของทาง มจธ. ที่มาร่วมกับกลุ่มชุมชนเต่างอย ที่มาช่วยกันพัฒนาตั้งแต่ก้าวแรกของเขา ทุกอย่างเกิดขึ้นได้เพราะทุกคนร่วมมือกัน

“เฮ็ดดิ คราฟท์ ได้เข้ามาร่วมกับทางสวนแมน เรามีพื้นที่ให้ทางกลุ่มชุมชน ชาวบ้าน ผู้พิการ มีพื้นที่ในการรองรับตลาด ให้มาลองดูว่าฟีดแบ๊กลูกค้าเป็นอย่างไร ในบ้างครั้งผู้พิการเองก็อาจจะประมาทฝีมือตัวเองเกินไป แต่พอเจอลูกค้าจริง ลูกค้ากลับชอบ ลูกค้าจะเป็นตัวบอกเองว่าผลตอบรับจะเป็นอย่างไร” ปราชญ์กล่าว ก่อนเผยว่า ได้มองเห็นพัฒนาการของผู้พิการที่พรีเซ็นต์มากขึ้น กล้าเปิดใจพบเจอลูกค้า กล้าทำกล้าคิดกล้าแสดงออก มีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้ามากขึ้น รวมถึงการพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์ที่มองเห็นได้ชัดเจน

“ทางอาจารย์ที่ปรึกษาก็ได้พัฒนาผลงานจากคอนเซ็ปต์ของจังหวัดสกลนคร จากงานหัตถกรรมจากทางธรรมชาติ มาเป็นผลงาน จึงนำวัตถุดิบที่มีในชุมชน สีย้อมคราม เปลือกไม้ ใบไม้ นำมาต่อยอด ไม่จำเป็นต้องไปซื้อวัตถุดิบจากที่อื่นเขาเก็บจากชุมชนเขามาต่อยอดให้มีมูลค่าเพิ่ม แถมยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้ในชีวิตจริงทั้งในเมือง และต่างจังหวัดอีกด้วย” ผู้ก่อตั้งสวนแมน Creative Crafts Center กล่าว

นับว่าทาง มจธ.ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ เฮ็ดดิ คราฟท์ จนสามารถที่จะสร้างรายได้ให้กับผู้พิการ แถมยังสร้างอาชีพที่ติดตัวไปตลอด เป็นการสรรค์สร้างที่บรรลุเป้าหมายตามโครงการ Sustainable Development Goals (SDGs) ในการมีคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน

ขอบคุณ... https://www.matichon.co.th/prachachuen/news_4330673

ที่มา: matichon.co.th/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 18 ธ.ค. 66
วันที่โพสต์: 18/12/2566 เวลา 14:16:15 ดูภาพสไลด์โชว์ ‘เฮ็ดดิ คราฟท์’ สกลนคร มจธ.หนุน คนพิการเฮ็ด ความสำเร็จที่ชุมชนโอบรับ