เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงก่อความรุนแรงพระราชพิธี
กรมสุขภาพจิต เตรียมพร้อมระบบการดูแลส่งต่อผู้ป่วยจิตเวชรองรับสถานการณ์ช่วงงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิตพร้อมด้วย นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต และ นพ.บุรินทร์ สุรอรุณสัมฤทธิ์ ผอ.สำนักบริหารระบบบริการสุขภาพจิต ลงพื้นที่เตรียมความพร้อมและเยี่ยมเยียนให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงานทางการแพทย์ฝ่ายกายและทีมปฏิบัติการช่วยเหลือเยียวยาจิตใจ หรือ MCATT (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team) ในพิธีซ้อมริ้วขบวนพระราชอิสริยยศเสมือนจริง งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ
โดยกล่าวว่า ทีม MCATT ทั่วประเทศ ซึ่งประกอบด้วย จิตแพทย์ พยาบาลวิชาชีพ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ นักวิชาการสาธารณสุข พร้อมปฏิบัติงานดูแลเยียวยาจิตใจประชาชนทั่วไปและประชาชนกลุ่มเสี่ยงอย่างเต็มที่จนเสร็จสิ้นงานพระราชพิธีฯ
โดยในส่วนกลาง ได้จัดทีมปฏิบัติหน้าที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกัน ตลอด 24 ชั่วโมง ประจำ 7 จุดบริการ ได้แก่ บริเวณพระเมรุมาศ ท่าช้าง ท่าเตียน กรมรักษาดินแดน เจดีย์ขาว โรงแรมรัตนโกสินทร์ และ กองสลากเดิม เน้นการปฐมพยาบาลทางใจ ด้วยหลัก 3 ส. สอดส่องมองหา ใส่ใจรับฟัง ส่งต่อเชื่อมโยง และจะเสริมกำลังด้วยทีมจิตอาสา ทูบีนัมเบอร์วัน ร่วมเดินเท้าสำรวจค้นหาผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน เช่น แสดงอาการเศร้าโศกเสียใจรุนแรง หายใจเร็ว กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ตลอดจนกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้เจ็บป่วยเรื้อรัง ที่แสดงอารมณ์ความรู้สึกสูญเสีย ในวันงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ เพื่อให้การดูแลช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที เข้าถึงและครอบคลุมประชาชนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ จากการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง เริ่มพบผู้ป่วยจิตเวชแต่ยังไม่มากนัก ซึ่งได้ให้การดูแลช่วยเหลือส่งต่อเข้าสู่ระบบบริการรักษาเรียบร้อยแล้ว
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ในการคัดกรองผู้ป่วยทางจิต เพื่อเฝ้าระวัง ที่จุดคัดกรองและจิตอาสานั้น เบื้องต้น จะสังเกตจาก การแต่งกาย เช่น เสื้อผ้ายับ สกปรก มีรอยเปื้อน หรือแต่งตัวแปลก ฉูดฉาด ไม่เหมาะสมเหมือนคนทั่วไป ผมเผ้ายุ่งเหยิง สกปรก มีกลิ่น มีท่าทางแปลกประหลาด เช่น พูดคนเดียว ทำไม้ทำมือ เมื่อชวนคุยแล้ว ถามตอบไม่ตรงประเด็น ไม่รู้เรื่อง ซึ่งไม่เกี่ยวกับภาษา หรือวัฒนธรรมที่แตกต่าง มีอาการเมา หรือ มีกลิ่นสุรา
หากพบว่ามีข้อใดข้อหนึ่ง จะนำเข้าสู่ระบบการประเมินความเสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคจิตเวช ที่ขาดยา อาการกำเริบ ผู้ป่วยที่มีโรคทางสมองหรือทางกาย ผู้ป่วยที่ใช้หรือถอนสุรา ผู้ที่ติดหรือใช้ยาเสพติดบางชนิดอย่างหนัก เช่น ยาบ้าฯลฯ
โดยจะประเมินจากระดับความรุนแรงของพฤติกรรมที่เกิดขึ้น ระดับรุนแรงมาก เช่น มีการทำร้ายผู้อื่นจนได้รับบาดเจ็บ ทำลายข้าวของ ทุบกระจก ขว้างปาสิ่งของ เปลือยกาย และมีอาวุธพร้อมทำร้ายคนอื่น ระดับรุนแรงปานกลาง เช่น ด่าหยาบคาย แสดงท่าทางคุกคาม หงุดหงิด พูดจาข่มขู่ ท่าทางไม่เป็นมิตร และ ระดับรุนแรงน้อย เช่น อารมณ์หงุดหงิด พูดจาชวนทะเลาะ หรือพูดไม่รู้เรื่อง จับใจความไม่ได้ เป็นต้น
ซึ่งจะดำเนินการควบคุมพฤติกรรมที่เกิดขึ้นตามระดับความเสี่ยง ในเบื้องต้นจะใช้วิธีเข้าไปพูดคุยเพื่อแยกจากฝูงชน ทำการสงบสติอารมณ์ กินยาหรือฉีดยา ให้ญาตินำออกหรือจัดการแยกออกนอกพื้นที่ หากรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก จะผูกยึดและส่งต่อไปยังสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ทั้งนี้ ยืนยันว่า ระบบการดูแลส่งต่อผู้ป่วยจิตเวชมีความพร้อมแล้วในการรองรับสถานการณ์ช่วงงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ
"กลุ่มผู้ป่วยโรคจิตเวช หากจะเข้าร่วมงานพระราชพิธีฯ ควรประเมินความพร้อมด้านร่างกายและจิตใจ ในเบื้องต้นก่อน และไม่ควรมาเพียงลำพัง ควรมีญาติมาด้วย รับประทานอาหารและพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และยาเสพติดทุกชนิด พกซองยาที่มีชื่อตัวยามาด้วย ไม่ควรหยุดยาในช่วงที่มาร่วมพระราชพิธีฯ "อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว ถ้าลืมนำยาติดตัวมาหรือทำยาหายให้ติดต่อหน่วยทางการแพทย์ ตลอดจนเขียนชื่อ นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ ญาติที่ติดต่อได้สะดวก เพื่อป้องกันการ พลัดหลง เป็นต้น
ขอบคุณ... http://www.komchadluek.net/news/edu-health/299700 (ขนาดไฟล์: 167)