"เติมเต็มชีวิต" ด้วย "เสื้อผ้า" สานฝัน-เปิดศักยภาพ"ผู้พิการ"

โครงการ “ความฝันไม่มีวันพิการ” ปีที่ 3 “ร่วม-ลงมือ-ทำ”

เมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการช่วยเหลือ การช่วยเหลือก็ควรต้องอยู่บนพื้นฐานความต้องการของคนพิการ ไม่ใช่ผู้ช่วยเหลือคิดเอาเอง คนทุกคนล้วนมี “ความฝัน” ด้วยกันทั้งนั้น และคงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายถ้าคำว่า “พิการ” เป็นข้อจำกัด ปิดกั้น ในการทำตามฝัน... ในทางกลับกัน คงเป็นเรื่องที่ดี หากการดำรงชีวิตของคนพิการเป็นไปได้อย่างอิสระ โดยไม่ขึ้นอยู่กับความพิการ เพราะคนกลุ่มนี้ก็มีความรู้สึกนึกคิด มีความต้องการเหมือนคนทั่วๆ ไป ซึ่ง เมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการช่วยเหลือ การช่วยเหลือก็ควรต้องอยู่บนพื้นฐานความต้องการของคนพิการ ไม่ใช่ผู้ช่วยเหลือคิดเอาเอง ซึ่งปัจจุบันก็มีหลายองค์กรที่เข้าช่วยเหลือคนพิการในด้านต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้มีโอกาสเพิ่มขึ้น บนพื้นฐานความต้องการของคนพิการ...

“มูลนิธิฯ ร่วมมือกับกลุ่มดีไซเนอร์ชั้นนำของไทย

ด้วยตระหนักถึงศักยภาพของผู้พิการ ทาง มูลนิธิเวชดุสิต ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ร่วมกับบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS และแบรนด์ดีไซเนอร์ จัดโครงการ “ความฝันไม่มีวันพิการ” ปีที่ 3 “ร่วม-ลงมือ-ทำ” เพื่อเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันในการเสริมสร้างศักยภาพและโอกาสให้กับเด็กที่พิการ ด้อยโอกาส ให้สามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพและประสบความสำเร็จตามความฝัน

รศ.อัจจิมา เศรษฐบุตร กรรมการและเลขานุการมูลนิธิเวช ดุสิตฯ ระบุถึงการจัดโครงการฯ ในปีนี้ว่า สืบเนื่องมาจากผลสำรวจออนไลน์พบว่า ผู้คนในสังคมกว่า 44.95% เชื่อว่า น้อง ๆ ผู้พิการสามารถทำอาชีพอะไรก็ได้ที่ตนอยากเป็น โดยสองอันดับแรกในกลุ่มอาชีพสร้างสรรค์ที่น้อง ๆ ผู้พิการใฝ่ฝันอยากทำคือ แฟชั่น และดนตรี จึงมีการจัดกิจกรรมเพื่อเป็นการเปิดโอกาส เพิ่มทางเลือก และสร้างแรงบันดาลใจให้น้อง ๆ ผู้พิการและด้อยโอกาส ให้กล้าทำตามความฝันโดยไร้ขีดจำกัด

“มูลนิธิฯ จึงได้ร่วมมือกับกลุ่มดีไซเนอร์ชั้นนำของไทย ได้แก่ สเรทซิส (Sretsis) ปฏิญญา (Patinya) เกรฮาวด์ ออริจินัล (Greyhound Original) ในการพัฒนาทักษะ ความสามารถ และเปิดโอกาสให้น้อง ๆ ได้แสดงศักยภาพที่ซ่อนเร้นออกมา ผ่านการเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์และออกแบบเสื้อผ้า รวมถึงเสื้อผ้าดัดแปลงสำหรับผู้มีข้อจำกัดทางร่างกาย หรือ Adaptive Clothing เพื่อแจกจ่ายให้ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่ขาดแคลน ในเบื้องต้นจำนวน 5,000 ชิ้น ทั่วประเทศ เพื่อให้พวกเขาสามารถนำประสบการณ์การทำงานบนสนามจริง ที่ร่วมกับมืออาชีพระดับแถวหน้าของเมืองไทย ไปต่อยอดตามเส้นทางอาชีพของตนเอง”

สำหรับแบรนด์ สเรทซิส ได้ให้เยาวชนผู้ด้อยโอกาสและผู้พิการได้เข้าไปเรียนรู้และสัมผัสการทำงานด้านการออกแบบแฟชั่นร่วมกับดีไซเนอร์และทีมงานที่เกี่ยวข้อง ในบรรยากาศการทำงานจริง ส่วนแบรนด์ เกรฮาวด์ ออริจินัล ให้ความร่วมมือในการผลิตสินค้า limited edition ที่น้องผู้พิการมีส่วนร่วมในการออกแบบ โดยรายได้จากการจำหน่ายหลังหักค่าใช้จ่ายในการผลิตนั้นมอบเข้ามูลนิธิเวชดุสิตฯ เพื่อใช้ในโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพที่ยั่งยืนให้กับผู้พิการทั่วประเทศต่อไป

ด้านแบรนด์ ปฏิญญา ให้ความร่วมมือด้านการ ออกแบบและผลิตชุดต้นแบบเสื้อผ้าดัดแปลงสำหรับผู้มีข้อจำกัดทางร่างกาย โดยหาข้อมูลเชิงลึกกับกลุ่มเยาวชนผู้พิการทางร่างกาย แลกเปลี่ยนความรู้ในการออกแบบและการใช้งานจริงร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ เพื่อนำไปผลิตจริงและมอบให้ผู้พิการและผู้ป่วยยากไร้ทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังร่วมให้ความรู้ เสริมทักษะการออกแบบแฟชั่น ให้กับกลุ่มผู้พิการที่มีทักษะการตัดเย็บเสื้อผ้า เพื่อใช้ต่อยอดและสร้างอาชีพที่ยั่งยืนต่อไป

“สำหรับคนทั่วไปการใส่เสื้อผ้าอาจไม่ใช่ปัญหา แต่สำหรับผู้มีข้อจำกัดทางร่างกายการสวมใส่และถอดเสื้อผ้าที่มีอยู่ทั่วไปอาจกลายเป็นความยากลำบากที่ต้องพบเจออยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากเสื้อผ้าที่มีอยู่ทั่วไปไม่ได้ถูกออกแบบสำหรับผู้ที่มีสรีระที่แตกต่างและไม่สะดวกในการเคลื่อนไหว จึงทำให้รูปแบบเสื้อผ้ามีข้อจำกัดในการสวมใส่” ...ไพฑูรย์ แซ่จิ๋ว นักกีฬาเทเบิลเทนนิสพาราลิมปิก ตัวแทนผู้พิการ พูดถึงการสวมใส่เสื้อผ้าให้ฟัง

การออกแบบเสื้อผ้าดัดแปลงสำหรับผู้มีข้อจำกัดทางร่างกาย ที่ต้องออกแบบให้แตกต่างไปจากเสื้อผ้าทั่วไปนั้น ทิศทางในการออกแบบจะเป็นเช่นไร ปฏิญญา เกี่ยวข้อง แบรนด์ปฏิญญา พูดถึงเรื่องนี้ให้ฟังว่า โจทย์สำคัญของการออกแบบ คือข้อจำกัดทางร่างกายและการใช้งานที่แตกต่าง สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นหลักสำคัญคือการทำเสื้อผ้าที่สวมใส่และถอดได้ง่าย ทำให้กลุ่มผู้พิการไม่รู้สึกว่ามีปัญหาในการใส่เสื้อผ้า โดยเริ่มจากหาข้อมูลก่อนจากกลุ่มผู้ใช้งาน โดยเริ่มจากกลุ่มที่นั่งวีลแชร์ เพื่อที่จะได้รู้วิธีการสวมใส่ เรียนรู้การใช้ชีวิต การเคลื่อนไหว หรือแม้กระทั่งท่านั่งบางท่า เพื่อให้เข้าใจความต้องการที่แท้จริง ก่อนที่จะนำปัญหาหรือข้อจำกัดต่าง ๆ มาเป็นโจทย์ในการออกแบบกับทางทีมงาน เพื่อให้ได้ชิ้นงานที่สามารถตอบโจทย์การใช้งานได้จริง

“ความท้าทายอยู่ที่ต้องหาจุดของความสมดุลระหว่างงานดีไซน์ การออกแบบ กับฟังก์ชันการใช้งานจริง เพราะโดยส่วนใหญ่ในฐานะที่เป็นดีไซเนอร์ ในการทำแต่ละคอลเลกชั่นมักจะคำนึงถึงความสวยงาม เข้ากับยุคสมัยเป็นหลัก แต่การออกแบบในครั้งนี้ต้องหาจุดของความสมดุลระหว่างความสวยงามและการใช้งานได้จริงจากการสวมใส่เสื้อผ้าที่มีข้อจำกัดมากกว่าปกติ”

มีการวางแผนเบื้องต้นว่า จะทำชุดต้นแบบ เสื้อ กางเกง ที่ใส่ได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ซึ่งในส่วนของรายละเอียดการออกแบบจะคำนึงถึงความแตกต่างทางสรีระของแต่ละบุคคล โดยนำร่องที่เสื้อผ้ากลุ่มคนที่นั่งวีลแชร์ ซึ่งสิ่งสำคัญในการออกแบบคือต้องสวมใส่และถอดได้สะดวก โดยมีการปรับรูปแบบ การตัดเย็บ ส่วนประกอบต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับผู้ใช้งานมากขึ้น

"เติมเต็มชีวิต" ด้วย "เสื้อผ้า" สานฝัน-เปิดศักยภาพ"ผู้พิการ"

“กลุ่มคนนั่งวีลแชร์ไม่จำเป็นต้องใช้กางเกงที่มีกระเป๋าด้านหลัง รวมถึงขอบเอวด้านหลังอาจสูงขึ้นมามากกว่ากางเกงปกติ เพื่อให้ขอบกางเกงไม่รั้งเวลาอยู่ในทางนั่งตลอดเวลา อีกอย่างคือ การเลือกใช้ผ้าที่ใส่สบายและดูแลง่าย” ปฏิญญา กล่าวต่อว่า มีการดัดแปลงบางส่วนให้เป็นเสื้อผ้าที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่มีข้อจำกัดทางร่างกายที่ประสบปัญหาการสวมใส่และเปลี่ยนเสื้อผ้า เนื่องจากไม่สามารถขยับตัว หรือสรีระยากต่อการสวมใส่เสื้อผ้าที่มีอยู่ทั่วไป เพื่อให้สามารถสวมใส่ได้เองโดยไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่นหรือพึ่งพาผู้อื่นน้อยที่สุด อย่างเช่นมีการใช้ตีนตุ๊กแกแทนกระดุมเพื่อให้ถอดและใส่ได้สะดวกขึ้น ใช้รังดุมที่ใหญ่ขึ้นเพื่อให้การติดกระดุมง่ายขึ้น รวมถึงทำคอเสื้อให้กว้างหรือเปิดจากด้านหน้าเพื่อการสวมใส่ที่สะดวก

อีกทั้งยังมีการ ปรับแก้ทรงเสื้อผ้าให้เข้ากับสรีระของผู้พิการเพื่อชูจุดเด่นและกลบจุดด้อย ของผู้ใส่การใส่เสื้อผ้าที่คนปกติทั่วไปมองว่าเป็นเรื่องง่าย แต่สำหรับกลุ่มคนเหล่านี้อาจจะเป็นอุปสรรคที่ต้องเจอในทุก ๆ วัน เสื้อผ้าดัดแปลงสำหรับผู้มีข้อจำกัดทางร่างกายจะช่วยให้ผู้ใช้มีความสุขกับการสวมใส่เสื้อผ้า และยังช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้กับผู้สวมใส่ อีกทั้งสามารถปรับใช้กับกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่นอนติดเตียง หรือผู้ป่วยที่มีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวได้อีกด้วย

“การออกแบบเสื้อผ้ารูปแบบนี้ น่าจะเป็นการลดช่องว่างในการเลือกเสื้อผ้าในกลุ่มผู้พิการ หรือผู้ที่มีข้อจำกัดทางร่างกายได้ในระดับหนึ่ง โดยปกติกลุ่มผู้พิการอาจจะมีเสื้อผ้าที่เป็นตัวเลือกในจำนวนที่จำกัด ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ หรือสไตล์ ซึ่งอาจทำให้มีความรู้สึกว่าพวกเขาแตกต่างจากคนปกติที่สามารถหาซื้อเสื้อผ้าแบบใดที่ไหนใส่ก็ได้ การทำเสื้อผ้าที่ทำให้พวกเขาสวมใส่ได้ง่าย และในขณะเดียวกันยังช่วยเสริมบุคลิกภาพและสร้างความมั่นใจให้เขาได้อีกด้วย มองตรงนี้ว่า นี่คือการสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกัน และเป็นการให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้พิการได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม”

นี่เป็นส่วนหนึ่งของการจุดประกายให้เกิดสังคมแห่งความเอื้ออาทร ซึ่งทุกคนมีโอกาสแต่โอกาสของคนมีไม่เท่ากัน แต่แม้มีข้อจำกัดทางร่างกาย ก็มีความฝันได้ ความฝันไม่ควรมีข้อจำกัดด้วยคำว่าพิการ ซึ่งทุกคนสามารถร่วมเติมเต็มให้พวกเขาได้และทิ้งท้าย ทางไทยดีไซเนอร์ก็ยังมองโครงการ “ความฝันไม่มีวันพิการ...ร่วม-ลงมือ-ทำ” ว่า งานนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยจุดประกายให้ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ ๆ น้อง ๆ ที่เรียนแฟชั่น หรือสนใจการออกแบบด้านต่าง ๆ ตระหนักถึงกลุ่มคนเหล่านี้ด้วย เพราะงานดีไซน์ ไม่ว่าจะด้านใดก็ตาม ล้วนช่วยสังคมได้ สามารถมีส่วนร่วมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการให้ดีขึ้นได้

ทุกคนสามารถมีส่วนช่วยเหลือได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นการให้เงินหรือบริจาคสิ่งของ การแบ่งปันทักษะ ความรู้ทางอาชีพ เปิดโอกาสให้ผู้ด้อยโอกาสหรือผู้พิการมีอาชีพ มีงานทำ ได้แสดงความสามารถหรือศักยภาพ และใช้ชีวิตได้อย่างเท่าเทียมกับคนทั่วไป ถือเป็นการช่วยเหลืออย่างยั่งยืน ทำให้พวกเขาได้มั่นใจในตัวเอง ได้ภาคภูมิใจ อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

ขอบคุณ... https://www.dailynews.co.th/article/584345

ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 10 ก.ค.60
วันที่โพสต์: 11/07/2560 เวลา 10:35:03 ดูภาพสไลด์โชว์ "เติมเต็มชีวิต" ด้วย "เสื้อผ้า" สานฝัน-เปิดศักยภาพ"ผู้พิการ"