สมศ. เผยผลประเมินคุณภาพภายนอกโรงเรียนเฉพาะความพิการผ่านเกณฑ์ร้อยละ 97 เปิดเคสต้นแบบความสำเร็จ โรงเรียนศรีสังวาลย์เชียงใหม่
สมศ. เผยผลประเมินคุณภาพภายนอกโรงเรียนเฉพาะความพิการผ่านเกณฑ์ร้อยละ 97 เปิดเคสต้นแบบความสำเร็จ โรงเรียนศรีสังวาลย์เชียงใหม่ มุ่งส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ผ่านนวัตกรรม สมศ. เผยภาพรวมการประเมินคุณภาพภายนอกระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ โรงเรียนเฉพาะความพิการในประเทศไทย พบว่าในระดับชั้นอนุบาลมีผลประเมินเป็นไปตามเกณฑ์ ร้อยละ 96.24 ระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา มีผลประเมินเป็นไปตามเกณฑ์ ร้อยละ 97 จากจำนวนสถานศึกษา 68 แห่งทั่วประเทศ พร้อมโชว์ตัวอย่างความสำเร็จ รร.ศรีสังวาลย์เชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ต้นแบบโรงเรียนเฉพาะความพิการ นำดิจิทัลและนวัตกรรมมาส่งเสริมการเรียนรู้ ผ่านวิชาวิทยาการคำนวณและหลักสูตรการเรียนการสอนที่ยกระดับและพัฒนาทักษะด้านอาชีพให้กับนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดร. นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เปิดเผยว่า ภาพรวมการประเมินคุณภาพภายนอกระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ โรงเรียนเฉพาะความพิการในประเทศไทย จากจำนวนสถานศึกษา 68 แห่งทั่วประเทศ ที่เข้ารับการประเมินคุณภาพภายนอกภายใต้สถานการณ์ COVID-19 พบว่า โรงเรียนเฉพาะความพิการ ระดับชั้นอนุบาล มีผลประเมินเป็นไปตามเกณฑ์ ร้อยละ 96.24 โดยแบ่งเป็น 3 มาตรฐานประกอบด้วย มาตรฐานที่ 1 คุณภาพของเด็ก เป็นไปตามเกณฑ์ ร้อยละ 94 มาตรฐานที่ 2 กระบวนการบริหารและการจัดการ เป็นไปตามเกณฑ์ ร้อยละ 97 และมาตรฐานที่ 3 การจัดประสบการณ์ที่เน้นเด็กเป็นสำคัญ เป็นไปตามเกณฑ์ ร้อยละ 95 ส่วนระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษามีผลประเมินเป็นไปตามเกณฑ์ ร้อยละ 97 โดยแบ่งเป็น 3 มาตรฐานประกอบด้วย มาตรฐานที่ 1 คุณภาพของผู้เรียน เป็นไปตามเกณฑ์ ร้อยละ 98.48 มาตรฐานที่ 2 กระบวนการบริหารและการจัดการ เป็นไปตามเกณฑ์ ร้อยละ 98.48 และมาตรฐานที่ 3 กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เป็นไปตามเกณฑ์ ร้อยละ 94 ทั้งนี้ มีโรงเรียนเฉพาะความพิการในประเทศไทย ได้รับการประเมินและมีแบบอย่างเป็นแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) หรือมีนวัตกรรม (Innovation) จำนวน 4 แห่ง ซึ่งหนึ่งในนั้น ได้แก่ โรงเรียนศรีสังวาลย์เชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ นับเป็นตัวอย่างความสำเร็จของการจัดการศึกษาโรงเรียนเฉพาะความพิการ ต้นแบบของโรงเรียนที่นำดิจิทัลและนวัตกรรมมาส่งเสริมการเรียนรู้ ผ่านวิชาวิทยาการคำนวณและหลักสูตรการเรียนการสอนที่ยกระดับและพัฒนาทักษะด้านอาชีพให้กับนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากผลความสำเร็จของโรงเรียนศรีสังวาลย์เชียงใหม่ ผู้ประเมินภายนอกของ สมศ. ได้ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมให้สถานศึกษารักษาคุณภาพของสถานศึกษาและพัฒนาให้สูงขึ้น ด้วยการพัฒนารูปแบบวิธีการปฏิบัติงานที่ทำให้สถานศึกษาประสบความสำเร็จ เป็นเลิศ ตามเป้าหมายที่ได้ปฏิบัติจริง ให้เป็นที่ประจักษ์และยอมรับโดยทั่วกัน ควบคู่ไปกับการพัฒนารูปแบบการเสริมสร้างสมรรถนะเชิงบูรณาการสำหรับผู้เรียน โดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน และหลักการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ โดยใช้ความเข้มแข็งจากเครือข่ายที่มีอยู่ สร้างรูปแบบการบริหารและการจัดการแบบมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาโรงเรียนศรีสังวาลย์เชียงใหม่ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และเป็นแบบอย่างที่ดี (Best Practice) แก่สถานศึกษาอื่นๆ ของประเทศต่อไป
“นอกจากการประเมินภายนอกให้กับสถานศึกษาแล้ว สมศ. มีแนวทางในการส่งเสริมและกระตุ้นให้สถานศึกษานำผลการประเมินคุณภาพภายนอกไปใช้ โดยการให้ข้อเสนอแนะที่มีความเป็นไปได้และสอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษาเพื่อให้สถานศึกษานำไปปรับใช้ในการพัฒนาคุณภาพ รวมทั้งยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานต้นสังกัดและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมและสนับสนุนให้สถานศึกษามีการนำผลการประเมินคุณภาพภายนอกไปใช้อีกด้วย โดย สมศ. ได้เข้าประเมินสถานศึกษาทุกประเภท เพื่อช่วยส่งเสริมและแนะนำสถานศึกษาโดยมีจุดมุ่งหมายในการช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย ในการสร้างคุณภาพผู้เรียนและพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาให้เป็นไปตามมาตรฐานในทุกมิติ ทั้งผู้เรียน ครูผู้สอน สถานศึกษา เพื่อให้ระบบการศึกษาไทยมีความเป็นสากล” ดร.นันทา กล่าว นางเสมอจิต ชูหอยทอง ผู้อำนวยการโรงเรียนศรีสังวาลย์ จ.เชียงใหม่ กล่าวถึงหลักสูตรและรูปแบบการเรียนการสอนของโรงเรียนว่า สถานศึกษาเน้นสอนเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายหรือการเคลื่อนไหวและด้านสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันในปีการศึกษา 2566 มีจำนวนนักเรียน 290 คน แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 มีความบกพร่องทางร่างกายแต่สามารถเรียนได้ในระดับสติปัญญาปกติ กลุ่มที่ 2 พิการซ้ำซ้อนซึ่งต้องมีการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนที่เหมาะสม กลุ่มที่ 3 กลุ่มพิการซ้ำซ้อนระดับรุนแรง และกลุ่มที่ 4 ออทิสติก โดยหลักสูตรการเรียนการสอน มุ่งเสริมทักษะการดำรงชีวิตประจำวัน เป็นหลักสูตรที่ออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อให้ผู้เรียนสามารถใช้ชีวิตประจำวันช่วยเหลือตนเองได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เมื่อกลับไปอยู่บ้านก็ไม่เป็นภาระสำหรับผู้ปกครอง รวมทั้งมุ่งส่งเสริมอาชีพเพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และฝึกทักษะกระบวนการทำงานให้กับนักเรียนในทุกระดับชั้นตามความพร้อมและศักยภาพของตนเอง มีการจัดการเรียนการสอนวิชาชีพ 5 กลุ่มอาชีพ ตามความสนใจและความถนัด พร้อมกับการฝึกทักษะอาชีพตามหลักสูตรอาชีพระยะสั้นเพื่อให้ผู้เรียนเกิดทักษะสามารถผลิตชิ้นงานที่มีคุณภาพได้ เนื่องจากสถานศึกษาตั้งอยู่ในพื้นที่นวัตกรรม จึงมีการกำหนดให้ใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะและใช้ดิจิทัลมาสนับสนุน เริ่มตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลเน้นการเรียนรู้แบบอันปลั๊ก จัดกิจกรรมผ่านการเรียนการสอนแบบที่ไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ เน้นการเรียนรู้ผ่านการเล่น รู้จักการใช้ชีวิตประจำวันผ่านสื่อที่เหมาะสมกับเด็กในวัยอนุบาล เช่น เกม กิจกรรมสนุกสนาน นิทาน บัตรภาพ หรือ บทเพลง เรียนรู้การใช้สัญลักษณ์แทนคำตอบ โดยคุณครูจะสร้างโจทย์แบบง่ายให้เด็กแก้ปัญหาด้วยตนเอง ฝึกทักษะการตัดสินใจ เกิดเป็นกระบวนการเรียนรู้ในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น ฝึกทักษะการอ่านและเขียนเพื่อสื่อสารและความคิดสร้างสรรค์ ส่วนระดับชั้นประถมศึกษา สอนคิดในเชิงซับซ้อนมากยิ่งขึ้นผ่านการเรียนรู้แบบ Learn & Play ผู้เรียนสามารถเขียนออกแบบและสร้างชุดคำสั่งแบบง่ายผ่านแอปพลิเคชันสมาร์ทโฟน ระดับมัธยมศึกษา จะเป็นระดับที่ยากขึ้นโดยจะมีคุณครูคอมพิวเตอร์เป็นที่ปรึกษา สร้างเครือข่ายสู่นวัตกรรมต่อยอดการเรียนการสอนสู่งานอาชีพ ผ่านศูนย์เรียนรู้ STEAM สู่ SMART FARM โดยครูผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันคิดจัดการเรียนการสอน Coding ผ่านวิชาวิทยาการคำนวณ ให้ผู้เรียนสามารถนำทักษะความรู้ที่ได้รับมาประดิษฐ์เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ต้องนำไปใช้ในการเกษตร เช่น เครื่องมือตรวจวัดสภาพอากาศทางการเกษตร ได้แก่ การวัดอุณหภูมิ ความชื้นดิน ความชื้นอากาศ และปริมาณน้ำฝน โดยผู้เรียนจะตรวจสอบผ่านระบบคอมพิวเตอร์จากห้อง Control Room ไม่ต้องลงมาตรวจสอบด้วยตนเอง จากรูปแบบดังกล่าว ส่งผลให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีทักษะการเขียน Coding สามารถนำความรู้ผลงานมาคิดค้นสร้างสิ่งประดิษฐ์ต่อยอดการเรียนรู้ เช่น การทำงานผ่านเครื่องพิมพ์ 3 มิติ (3D Printer) และการควบคุมการเรียนรู้ STEAM สู่ SMART FARM นับเป็นการจัดการเรียนการสอนจากแนวคิดที่จะช่วยเหลือผู้เรียนที่มีความบกพร่องทางร่างกายหรือการเคลื่อนไหวหรือสุขภาพที่มีข้อจำกัดในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และนำความรู้ที่ได้ไปเป็นช่องทางประกอบอาชีพในอนาคต “ความบกพร่องทางร่างกายอาจจะมีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวแต่ไม่ได้เป็นอุปสรรค โดยผู้เรียนสามารถพัฒนาทักษะและนำไปต่อยอดใช้กับชีวิตประจำวัน ซึ่งจากการได้รับการประเมินจาก สมศ. นับว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก ด้วยรูปแบบการประเมินที่ไม่ยุ่งยากและไม่เป็นภาระกับสถานศึกษา ผู้ประเมินมีความเป็นกัลยาณมิตรและได้ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ โดยให้สถานศึกษารักษามาตรฐานและพัฒนารูปแบบวิธีการปฏิบัติงานให้เป็นที่ประจักษ์ตามเป้าหมาย ควบคู่กับการพัฒนารูปแบบการเสริมสร้างสมรรถนะเชิงบูรณาการให้กับผู้เรียน ซึ่งสถานศึกษาได้นำผลการประเมินคุณภาพภายนอกมาปรับใช้ เพื่อต่อยอดผ่านการบูรณาการความร่วมมือกับเครือข่ายและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเริ่มต้นจากการนำมาเข้าที่ประชุมคณะกรรมการสถานศึกษา จากนั้นได้นำข้อสรุปมาใช้เป็นแนวทางในการจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาและต่อยอดสู่แผนปฎิบัติการประจำปี โดยเสริมในเรื่องของ Coding เข้าไปในหลักสูตร เน้นการฝึกทักษะอาชีพเป็นพื้นฐาน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำไปประกอบอาชีพและใช้ชีวิตประจำวันโดยพึ่งพาตนเองได้ในที่สุด” นางเสมอจิต กล่าว
ขอบคุณ... https://www.kroobannok.com/91273