เพราะเมาแล้วขับ EP.3 พิการ 30 ปี สูญทุกสิ่ง ไร้ผู้รับผิด

เพราะเมาแล้วขับ EP.3 พิการ 30 ปี สูญทุกสิ่ง ไร้ผู้รับผิด

เปิดชีวิตที่ต้องสูญเสีย ของเหยื่อ 'เมาแล้วขับ' กระดูกคอหักตัดเส้นประสาท ทำร่างกายมีสภาพความพิการสูง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องอยู่กับคำว่า 'รอ' เจ็บปวด 30 ปี ชีวิตติดลบ ครอบครัวล่มสลาย

สกู๊ปซีรีส์ เพราะเมาแล้วขับ ผ่านไปแล้ว 2 EP. แม้ว่าทั้ง 2 เรื่องราวชีวิตนั้นจะมาจาก นักกีฬาวีลแชร์บาสเกตบอลทีมชาติไทย เหมือนกัน แต่เหตุแห่งความสูญเสียนั้นต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะหนึ่งคน เสียจากคนเมาแล้วขับ ส่วนอีกคน เสียจากตนเมาแล้วขับ

สำหรับวันนี้ ทีมข่าวฯ ขอยกอีกหนึ่งเคสตัวอย่าง ที่ต้องสูญเสียจากคน 'เมาแล้วขับ' ซึ่งถูกถ่ายทอดผ่านผู้เสียหายที่ชื่อว่า 'ต่าย-อรุณวดี ลิ้มอังกูร' อายุ 49 ปี ประธานเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ ในมูลนิธิเมาไม่ขับ จังหวัดนนทบุรี โดยระหว่างการสนทนา เธอเอ่ยปากถึงชีวิตว่า…

"ครอบครัวล่มสลาย ชีวิตไม่ได้กลับไปที่ศูนย์ แต่มันคือติดลบ"

เพราะเมาแล้วขับ EP.3 พิการ 30 ปี สูญทุกสิ่ง ไร้ผู้รับผิด

คนเมาขับปาดหน้า รถเสียหลักลงข้างทาง :

ณ จังหวัดชลบุรี วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534 อรุณวดีได้ให้กำเนิดลูกสาวหนึ่งคน เจ้าหญิงองค์น้อยเหมือนมาเติมเต็มคำว่า ครอบครัว ของเธอให้สมบูรณ์มากขึ้น ใจของอรุณวดีเต็มไปด้วยความสุข ความยินดี และรอยยิ้ม ในฐานะผู้หญิงคนหนึ่ง ที่ได้เป็น แม่ อย่างเต็มตัวและภาคภูมิ แต่ใครจะไปคิดว่าหลังจากนั้นเพียง 4 เดือน 2 วัน ชีวิตของ 'ต่าย อรุณวดี' จะต้องเปลี่ยนไปตลอดกาล

พี่ต่าย เล่าย้อนความทรงจำอันเจ็บปวดให้ทีมข่าวฯ ฟังว่า 29 มีนาคม พ.ศ. 2535 เวลาประมาณ 21.00-22.00 น. พี่กำลังเดินทางกลับบ้าน หลังจากไปทำธุรกิจของครอบครัวที่อีกอำเภอหนึ่ง โดยเราเป็นคนนั่ง ส่วนอดีตสามีเป็นคนขับ ระหว่างที่รถแล่นไปบนถนน และกำลังเข้าสู่ช่วงทางโค้ง มีรถคันหนึ่งวิ่งเข้ามาตัดหน้ารถเรา อดีตสามีพยายามหักหลบ ทำให้รถเสียหลักลงข้างทาง

"กระจกรถแตกทั้งหมด เราไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัย ทำให้ตัวพุ่งกระเด็นออกจากรถ คอไปฟาดเข้ากับเสาปูนที่อยู่ริมถนน ทำให้เราสลบไปจนจำความรู้สึกตอนนั้นไม่ได้ ส่วนอดีตสามีไม่ได้เป็นอะไรมาก บาดเจ็บเล็กน้อย เพราะตัวติดอยู่ที่พวงมาลัยรถ"

อย่างไรก็ตาม อรุณวดีบอกว่า คู่กรณีไม่ได้ลงมาให้ความช่วยเหลือ ซึ่งเธอรู้เพราะว่าละแวกเกิดเหตุเป็นบ้านของเพื่อน ที่เรียนด้วยกันมาตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษา เพื่อนเล่าให้ฟังว่า พอได้ยินเสียงดังเลยรีบวิ่งออกมาดู แต่กลับเห็นรถคันนั้นขับออกไปอย่างรวดเร็ว ทำให้พี่ต่ายไม่เคยได้เจอกับคู่กรณี แถมยังต้องเสียค่ารักษาด้วยตัวเองทั้งหมด

หากไม่เจอคู่กรณี แล้วทราบได้อย่างไรว่าเหตุเกิดเพราะฤทธิ์น้ำเมา? ทีมข่าวฯ ถามปลายสายด้วยความสงสัยใครรู่ พี่ต่ายจึงชี้แจงเรื่องนี้ว่า… มีชาวบ้านผู้เห็นเหตุการณ์บอกกับตำรวจว่า เห็นรถขับส่ายไปส่ายมา บวกกับช่วงเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืน ตำรวจจึงบอกกับเราว่า "เขาเมาแน่นอน"

เพราะเมาแล้วขับ EP.3 พิการ 30 ปี สูญทุกสิ่ง ไร้ผู้รับผิด

กระดูกคอแตก ตัดเส้นประสาทขาด :

หลังจากเกิดเหตุ พี่ต่ายถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล ด้วยอาการที่เข้าขั้นสาหัสสากรรจ์ เธอบอกกับเราว่า พี่สลบไปนานพอสมควร แต่พอฟื้นขึ้นมาตัวเองก็ยังอยู่ในห้องผ่าตัด ในสภาพที่ขยับตัวไม่ได้ ทำได้เพียงลืมตา หลับตา พูด และส่ายหัวนิดหน่อย

"พี่ต้องผ่าตัดเรียงกระดูกคออยู่ประมาณ 7 ครั้ง เนื่องจากกระดูกต้นคอหัก พอหักแล้วมันก็แตก ซึ่งกระดูกคนเรามี 7 ข้อ พี่โดนที่ข้อ 4-6 ซึ่งตรงข้อที่ 5 ถือเป็นส่วนที่สำคัญมาก ข้อนี้มันแตกเป็นเศษเล็กๆ จนเข้าไปบาดเส้นประสาทที่สมองสั่งงานจนขาด ทำให้พี่ไม่สามารถทำอะไรได้ปกติ ยกแขนไม่ได้ กระดิกนิ้วไม่ได้ กินข้าวไม่ได้ และอีกสารพัด"

พี่ต่าย บรรยายความเจ็บปวดให้ฟังต่อว่า ตอนฟื้นขึ้นมาโดนเจาะกะโหลกอยู่ด้วย เพราะเขาถ่วงน้ำหนักเพื่อไม่ให้กระดูกเราเคลื่อน พี่โดนเจาะตรงขมับ 2 ข้าง ถ้าจำไม่ผิดถูกถ่วงน้ำหนักไว้ประมาณ 15 กิโลกรัม ลดลงมาเหลือ 10 กิโลกรัม และ 8 กิโลกรัม

อย่างไรก็ตาม เมื่อผ่าตัดครบ 7 ครั้ง แพทย์ต้องนำกระดูกข้อที่ 5 ซึ่งแตกเป็นเศษเล็กๆ ออกมา หลังจากนั้นได้ผ่าตัดนำกระดูกเชิงกรานด้านขวาไปใส่แทน โดยการมัดลวดเอาไว้…

ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้อีก :

หลังจากอุบัติเหตุอันร้ายแรง และการผ่าตัดผ่านพ้นไป อรุณวดีก็ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้อีกเลย เธอเล่าว่า การที่กระดูกคอหักมันส่งผลกระทบต่อตัวเราอย่างมาก เราไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้อีกเลย ตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอน

"น้องลองนึกง่ายๆ ว่า ปกติแล้วเวลาคนเราตื่น ก็จะมีบิดขี้เกียจหรือบิดตัว ก่อนจะเด้งตัวลุกขึ้นมานั่ง แต่พี่ทำอะไรไม่ได้เลย ไม่สามารถพลิกตัวได้ แม้กระทั่งยกแขนก็ยังทำไม่ได้ ถ้าคนจัดให้นอนท่าไหน ก็ต้องนอนอยู่ท่านั้น จนกว่าจะมีคนมาช่วยเปลี่ยนท่า อย่างคนปกติอยากยกแขนเขาก็ยก แต่ถ้าเรายกปุ๊บ แขนมันจะตกลงมาตีหน้าปั๊บ"

พี่ต่าย กล่าวต่อว่า แขนพี่ยกไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ มือกำไม่ได้ นิ้วกระดิกไม่ได้ ขาก็ขยับไม่ได้ นอกจากว่ามันจะเกร็งแล้วดีดขึ้นไปเอง ตั้งแต่วันนั้นจนวันนี้ ชีวิตของพี่ผ่านมา 30 กว่าปี อาการดีขึ้นมาเพียงเล็กน้อย เพราะได้ทำกายภาพบำบัด แต่มันก็แค่ยกไหล่ได้นิดหน่อย ประคองช้อนกินข้าวได้เล็กน้อย ถึงจะยกแขนได้ก็ยังยกไม่สุด

อรุณวดี บรรยายภาพวิธีกินข้าวของเธอ ผ่านคำพูดที่ทำให้เราพอจะนึกภาพตามได้ว่า เวลาทานข้าวพี่อาศัยการใช้ฝ่ามือ นิ้วโป้ง และนิ้วชี้ น้องลองนึกภาพตามนะ เราต้องใช้ช้อนด้ามยาวๆ ที่คล้ายของเกาหลี เอาด้ามช้อนสอดเข้าไประหว่างนิ้วโป้งและนิ้วชี้ หลังจากนั้นเอาฝ่ามือช่วยประคองมันขึ้นมา พี่ถึงจะยกข้าวเข้าปากได้

การสูญเสียของพี่ต่ายไม่ได้หมดลงเพียงเท่านั้น เพราะเธอบอกว่า "พี่กินเข้าไปได้ แต่ตอนขับถ่ายนี่สิ มันถ่ายไม่ได้" เธอขยายความว่า พี่สูญเสียการควบคุมระบบต่างๆ ข้างในหมดเลย ทำให้เราควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ นอกจากนั้น ระบบหายใจของเราก็สูญเสียด้วย ร่างกายทำงานไม่ปกติอีกต่อไป

"เวลาพี่พูดเร็ว จะรู้สึกเหนื่อยและหายใจไม่ทัน ทำให้ต้องหยุดพูดกลางคันอยู่บ่อยๆ อีกทั้งเวลาออกไปข้างนอกแล้วเจอกับอากาศร้อน เหงื่อจะไม่ออก ทำให้มันระบายความร้อนไม่ได้ ความร้อนจึงตีกลับเข้าไปข้างใน ส่งผลให้เราหายใจไม่ทัน บางครั้งพานจะเป็นลมเอา ไม่ใช่แค่ร้อนนะ หนาวเกินไปก็แย่เหมือนกัน เพราะจะรู้สึกหนาวกว่าคนทั่วไป"

"พูดง่ายๆ ว่า พี่กลายเป็นคนความรู้สึกไวกว่าคนอื่น ร่างกายมีสภาพความพิการสูง ระบบสมองไม่สามารถสั่งงานอะไรได้ ควบคุมระบบหายใจและระบบขับถ่ายไม่ได้ มันจะชอบมีอาการปวดท้อง เราบอกได้ว่าปวดท้อง แต่เราไม่สามารถรู้ได้ว่าปวดท้องอะไร" พี่ต่ายกล่าวสรุปความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย หลังจากเกิดอุบัติเหตุ

ไม่มีวันไหนไม่คิดฆ่าตัวตาย เพราะชีวิตต้อง 'รอ' :

ทีมข่าวฯ ถามพี่ต่ายสั้นๆ ว่า "พี่ทรมานไหมครับ?" ปลายสายเงียบไปสักครู่พลางส่งเสียง "อืม..." ในลำคอเล็กน้อย คล้ายกับกำลังครุ่นคิดบางอย่าง ก่อนจะเอ่ยตอบกลับเรามาว่า…

"ถ้าถามว่าทรมานไหม พี่ต้องบอกว่า ช่วง 2 ปีแรกที่ชีวิตเราเปลี่ยนไป ไม่มีวันไหนไม่คิดฆ่าตัวตาย เพราะเราเคยทำอะไรได้เองหมดทุกอย่าง ขับรถได้ มือหยิบปากกาเขียนหนังสือได้ หั่นของได้ ทำทุกอย่างด้วยตัวเองได้หมด"

"เดี๋ยวนะ…"

ปลายสายเงียบไปอีกครั้ง ก่อนที่จะมีเสียงสะอื้นตามมา เราจึงพอเข้าใจได้ว่า การต้องบรรยายความทุกข์ที่ผ่านมาคงจะทำให้ผู้หญิงคนนี้เจ็บปวดมากจริงๆ อย่างไรก็ตาม เธอยังคงเข้มแข็งและถ่ายทอดเรื่องราวให้เราฟังต่อได้ แม้จะยังมีเสียงสะอื้นแทรกมาเป็นระยะก็ตาม

"หลังจากต้องมาอยู่ในสภาพนี้ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับคำว่ารอ รอว่าเมื่อไรคนที่บ้านจะสะดวกมาดึงเราขึ้นนั่ง รอว่าเมื่อไรเขาจะมาช่วยทำความสะอาดเรื่องขับถ่าย พี่พูดแบบไม่อายเลยนะ เวลาที่พี่นอน พี่จะขับถ่ายออกมาโดยที่ไม่รู้สึก มันถ่ายออกมาโดยที่พี่ไม่รู้ตัว แต่พี่ได้กลิ่น พี่เลยต้องนอนอยู่กับกลิ่นอย่างนั้น รอจนกว่าจะมีคนมาช่วยทำความสะอาดให้"

ครอบครัวล่มสลาย :

อย่างที่เราได้เกริ่นไปตั้งแต่ต้น 'ครอบครัว' ของพี่ต่ายกำลังสวยงามทุกอย่าง เธอมีธุรกิจส่วนตัวที่สร้างรายได้มากถึงเดือนละ 1-2 แสนบาท มีสามีที่เธอรัก และมีลูกสาวที่เพิ่งลืมตาดูโลก แต่แล้วเหตุการณ์ครั้งนั้น ก็ทำให้ทุกอย่างแย่ลง จนเธอถึงกับเอ่ยปากกับทีมข่าวฯ เองว่า "หลังจากนั้นครอบครัวก็ล่มสลาย"

อรุณวดี เล่าว่า ตอนล้มป่วยเราก็ไม่ได้เข้าไปยุ่งกับธุรกิจอีกเลย เพราะทำต่อไม่ไหว อีกทั้งคู่กรณีที่หาตัวไม่ได้ ทำให้เคสของเราไร้คนรับผิดชอบ เราต้องเสียค่ารักษาเองทั้งหมด ตั้งแต่เรื่องผ่าตัด ไปจนถึงรักษาแผลกดทับ สูญเงินไปถึงหลักล้าน

"ทางด้านสามีเขาก็มาดูแลบ้างในช่วงแรกๆ แต่หลังจากเดือนพฤษภาคมปีนั้น เขาก็ไม่ได้มาดูแลอีก 'หลังจากนั้นครอบครัวก็ล่มสลาย' ไม่ได้อยู่ด้วยกันอีก พี่บอกเขาว่า ขอให้คุณมีชีวิตที่ดี ถ้ามีภรรยาใหม่ก็ขอให้เจอคนดีๆ พี่เองไม่อยากรั้งเขาไว้"

แล้วในฐานะแม่ของลูกสาว รู้สึกอย่างไรบ้าง? ทีมข่าวฯ ถามต่อไป

"อย่างที่พี่บอกเลยค่ะ ไม่มีวันไหนที่เราไม่อยากฆ่าตัวตาย ถามว่าเป็นห่วงลูกสาวไหม ก็เป็นห่วงเขา แต่เราคิดว่าเราตายได้ ไม่มีอะไรต้องห่วง เพราะเขามีคุณยาย มีคุณป้าคอยดูแล ไม่มีเราก็ได้ ความคิดนั้นยิ่งตอกย้ำให้เราอยากฆ่าตัวตายไปอีก"

"แล้วตอนที่เราทำงานได้แล้ว เราก็คิดว่าจะทำงานหาเงินมาดูแลครอบครัวตัวเอง จะมาดูแลพ่อแม่ด้วย แต่กลับกลายเป็นว่าเขาต้องมาดูแลเราแทน มันไม่ใช่แค่ศูนย์ แต่นี่คือติดลบเลย เพราะเรากลับมาเป็นภาระให้พ่อแม่อีกครั้ง แล้วยังเอาลูกสาวให้เขาเลี้ยงอีก"

พี่ต่ายกล่าวประโยคนั้นจบ เธอก็สะอื้นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เราในฐานะ 'ผู้ฟัง' ที่กำลังใจจดใจจ่อต่อเรื่องราวของชีวิตเธอ ยอมรับอย่างเต็มอกว่า รู้สึกสะเทือนใจและเห็นใจผู้หญิงที่อยู่ปลายสายคนนี้จริงๆ

ย้ายที่อยู่ ชีวิตเริ่มเปลี่ยน :

ช่วงที่พี่ต่ายช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เหมือนเดิม คนที่คอยดูแลเธอก็คือครอบครัว แต่เมื่อคุณพ่อและคุณแม่อายุมากขึ้น พี่ต่ายจึงจ้างคนมาช่วยดูแล วนเปลี่ยนไปเรื่อยๆ

"การใช้ชีวิตก็ยังเหมือนเดิม คือเราต้องพึ่งพาคนอื่น ตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอน ทุกวันนี้ก็มีลูกสาวช่วยดูแลบ้าง แต่เขาก็โตแล้วเราก็เกรงใจ เพราะเขามีครอบครัวของเขา ทางพี่สาวก็ช่วยดูแล แต่เขาก็มีภารกิจของเขา เราก็เลยจ้างคนอื่นมาช่วยดูแลด้วย"

"พี่ใช้ชีวิตอยู่กับคำว่ารอ ต้องพึ่งพิง พึ่งพาคนอื่นตลอด เก็บตัวอยู่ในบ้าน 11 ปี มีออกไปข้างนอกบ้างเป็นครั้งคราว เพราะครอบครัวเขาอยากให้เราหาย เขาก็พาไปสูดอากาศ ไปหาหมอ แต่มันก็ไม่ดีขึ้น มีแต่หมดเงินเพิ่ม แต่หลังจากผ่านไป 11 ปี พี่สาวสร้างบ้านเรียบร้อย เขาเลยไปรับเราจากชลบุรี มาอยู่ที่นนทบุรี"

และนี่คือจุดเปลี่ยนอีกครั้งของชีวิต…

พี่ต่าย เล่าว่า ช่วงที่มาอยู่ จ.นนทบุรี มีโอกาสฟังรายการวิทยุที่ 'พี่บี' (ภัทรพันธุ์ กฤษณา ประธานเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ) จัด รายการนั้นชื่อว่า ชั่วโมงสุขภาพ ทำให้เราได้รู้ว่า การที่เราเป็นคนพิการ เรามีสิทธิ์ที่จะขึ้นทะเบียนคนพิการ ทำให้เราได้รู้ถึงสิทธิ์บางอย่าง ช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นมาบ้าง เราเข้าถึงสิทธิ์ได้มากขึ้น รู้สิทธิ์เรื่องการจ้างงานของคนพิการ และได้รู้จักกับมูลนิธิเมาไม่ขับ

"ตอนนี้พี่ได้มาช่วยทำงานกับมูลนิธิเมาไม่ขับ โดยมีตำแหน่งเป็นประธานเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ ในมูลนิธิเมาไม่ขับ จ.นนทบุรี นอกจากทำเรื่องนี้ยังเป็นอาสาสมัครทำงานในองค์กรคนพิการ เพราะเราอยากให้ผู้พิการเข้าถึงสิทธิ์ เหมือนที่เราเข้าถึง"

"แล้วก็มีหารายได้บ้างเล็กๆ น้อยๆ ผ่านงานอดิเรกที่ชอบทำตั้งแต่สมัยเรียน คือการปักผ้าครอสติช กับงานครอสติชคริสตัล ถามว่าเราใช้มือทำได้ยังไง ก็ต้องบอกว่าฝึกทำช่วงกายภาพ เลยกลับมาทำได้นิดหน่อย ถือว่ายังดีแม้จะไม่สมบูรณ์ 100%"

ฝากถึงคนเมาแล้วขับ :

เดินทางมาถึงเรื่องราวช่วงสุดท้าย ของ 'ต่าย-อรุณวดี ลิ้มอังกูร' คุณผู้อ่านคงจะได้เห็นกันแล้วว่า ชีวิตคนคนหนึ่งที่ต้องสูญเสียเพราะเมาแล้วขับนั้นเป็นอย่างไร

"ความจริงแล้ว ถ้าคุณเมาก็ไม่ใช่เรื่องผิดหรอก เพราะมันเป็นสุขภาพและเงินของคุณ แต่ขอเรื่องเดียว ถ้าเมาแล้วเปลี่ยนพฤติกรรมได้ไหม ไม่ต้องออกมาขับรถ จะได้ไม่ต้องมาสร้างผลกระทบหรือสร้างเหยื่อเพิ่ม"

"คุณไม่มีทางรู้เลยว่า ถ้าเมาแล้วขับมันจะเกิดผลกระทบอะไรบ้าง คุณอาจจะคิดว่ามันห่างไกลชีวิตคุณ แต่สุดท้ายถ้าคุณไม่ทำคนอื่นเดือดร้อน คุณก็อาจจะทำครอบครัวตัวเองเดือดร้อน คิดถึงคนที่รักคุณ และคนที่คุณรักไว้มากๆ ถ้าเมาเราแนะนำว่าเรียกรถกลับดีกว่า ปลอดภัยทั้งตัวเองและคนร่วมทาง"

อรุณวดี ฝากทิ้งท้ายก่อนการสนทนาจะจบลง…

ขอบคุณ... https://www.thairath.co.th/scoop/interview/2784074

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 9 พ.ค.67
วันที่โพสต์: 9/05/2567 เวลา 14:33:43 ดูภาพสไลด์โชว์ เพราะเมาแล้วขับ EP.3 พิการ 30 ปี สูญทุกสิ่ง ไร้ผู้รับผิด