เร่งขยายผลการจ้างงานกระแสหลัก และคนพิการฐานรากมีรายได้พึ่งพาตัวเอง

เร่งขยายผลการจ้างงานกระแสหลัก และคนพิการฐานรากมีรายได้พึ่งพาตัวเอง

10 ปี นวัตกรรมการจ้างงานคนพิการ ไทยเพิ่มโอกาสจ้างงานเพิ่มปีละกว่า 7,000 คน มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม และ สสส. ร่วมกับสถานประกอบการกว่า 400 แห่ง ทำให้คนพิการฐานรากมีรายได้พึ่งพาตนเอง เป็นพลังของสังคม มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี

เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2567 มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม จัดงาน “10 ปี นวัตกรรมการจ้างงานคนพิการ” โดยมีการสรุปผลความสำเร็จการขับเคลื่อนนวัตกรรมจ้างงานคนพิการและกลไกยั่งยืน โดย ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในบทบาทของ สสส. เราให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นมนุษย์ เราไม่ได้พูดถึงการสงเคราะห์แต่เป็นการส่งเสริมสนับสนุน เพื่อเน้นศักยภาพที่แท้จริงของคนพิการ แนวคิดนี้เป็นหลักใหญ่ใจความที่เราพูดถึงการสร้างเสริมสุขภาพ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ สสส. มีบทบาทในการส่งเสริมโอกาสการมีงานทำ ในทุกช่วงวัยของคนพิการ ตั้งแต่เด็กไปจนถึงวัยทำงาน โดยปัจจุบันการทำงานร่วมกับมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม เราสามารถส่งเสริมการจ้างงานได้กว่า 7,000 อัตราต่อปี รวมทั้งหมดของการขับเคลื่อนงานกว่า 10 ปี มีคนพิการเข้าไปทำงานในสถานประกอบการจำนวน 400 แห่ง องค์กรสาธารณประโยชน์กว่า 2,000 แห่ง รวมทั้งสิ้น 50,000 โอกาสงาน มีคนพิการทุกประเภทความพิการ ทุกพื้นที่ ทุกระดับการศึกษา เป็นเม็ดเงินที่ตกถึงมือคนพิการโดยตรงกว่า 5,500 ล้านบาท

สำหรับการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางสังคม หรือ SROI (Social return on investment) ประเมินโดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ในปี 2564 ระบุว่าการใช้งบประมาณเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมการจ้างงานคนพิการเชิงสังคมนี้ ให้ผลตอบแทนทางสังคมกว่า 10.6 เท่า คนพิการที่ได้รับการจ้างงานมีสุขภาวะดีขึ้น ผ่านกิจกรรม 70 วันมหัศจรรย์ของฉัน พบว่า 80% ของคนพิการที่เข้าร่วมกิจกรรม สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพทั้ง 4 ด้าน คือ ออกกำลังกาย ลดหวาน ทานผักผลไม้ และดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว พร้อมทั้งมีคนพิการบางส่วน ที่สามารถลดการสูบบุหรี่และการดื่มสุราลงได้

“ขอชื่นชมในการทำงานของภาคีเครือข่ายที่ให้โอกาสการมีงานทำของคนพิการ และตัวคนพิการเอง ที่เตรียมความพร้อมและหมั่นพัฒนาศักยภาพในมิติต่าง ๆ ขอบคุณกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ที่มีส่วนร่วมต่อการขับเคลื่อนเรื่องราวต่าง ๆ ที่ว่านี้ให้ขึ้นจริงในสังคม”

ภรณี ภู่ประเสริฐ

สำหรับโครงการ 70 วันมหัศจรรย์ของฉัน มีการดำเนินงานแล้ว 3 ปี 9 ซีซัน มีคนพิการสมัครเข้าร่วมโครงการ ซีซันละ 1,200 คน ซึ่งมีส่วนร่วมสำคัญในการเปลี่ยนคนพิการให้ปากท้องดี มีศักดิ์ศรี มีพลังออกไปทำอะไรดี ๆ เพื่อสังคมต่อไป

เร่งขยายผลการจ้างงานกระแสหลัก และคนพิการฐานรากมีรายได้พึ่งพาตัวเอง

อภิชาติ การุณกรสกุล ประธานมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม กล่าวว่า 10 ปี ของการใช้นวัตกรรมการจ้างงานคนพิการ ทำให้คนพิการเข้าไปทำงานในหน่วยงานที่ดูแลชุมชน ดูแลสังคม กระจายอยู่ทั่วประเทศ เกาะติดกับคนพิการฐานราก ซึ่งการทำงานนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือกับบริษัทกว่า 400 แห่ง ซึ่งเดิมจะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มาตรา 33 ถ้ามีพนักงาน 100 คน ต้องจ้างคนพิการ 1 คน แต่เมื่อไม่สามารถจ้างได้ครบต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนตามมาตรา 34 มูลนิธิฯ ได้เชิญชวนให้บริษัททั้ง 400 แห่ง ร่วมกันนำเงินที่ต้องจ่ายเข้ากองทุน มาทำตามมาตรา 35 คือการจ้างงานเชิงสังคม จ้างคนพิการไปทำงานในหน่วยงานบริการสังคม เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ คนพิการได้งานทำใกล้บ้าน หน่วยงานได้คนเพิ่มไปบริการชุมชน และบริษัทเห็นประโยชน์จากเงินของตัวเองในทุก ๆ เดือน ที่ส่งไปที่คนพิการโดยตรง

ด้าน นาวาอากาศเอก สถิตพงศ์ อธิภิรมย์ศรี นายกสมาคมเสริมสร้างโอกาสและอาชีพคนพิการ (ส.อ.ค.) ในฐานะคนพิการ บอกว่า จากก้าวแรกจนถึงวันนี้ 10 ปี นวัตกรรมการจ้างงานเชิงสังคม ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงไปทั่วทั้งประเทศอย่างมหาศาล กับคนพิการที่ไม่มีงานทำ ไม่มีตัวตนในสังคม

“วันนี้พวกเขาลุกขึ้นมามีอาชีพที่มั่นคง มีคุณค่า มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ทำงานในชุมชนใกล้บ้านของตัวเอง นี่เป็นผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญยิ่งตลอด 10 ปีที่ผ่านมานี้ ส่วนในปีถัด ๆ ไป มีคำถามว่าถึงแม้จะไม่มีเงินทุนสนับสนุนจาก สสส. เราจะยังสามารถขับเคลื่อนงานต่อได้อย่างไร เพราะที่ผ่านมาเงินทุนของเราทั้งหมด 100% มาจาก สสส. จุดนี้เป็นที่มาของการก่อตั้ง สมาคมสร้างเสริมโอกาสและอาชีพคนพิการไทย (ส.อ.ค.) ซึ่งเป็นองค์กรของคนพิการ โดยคนพิการ เพื่อคนพิการอย่างแท้จริง”

นาวาอากาศเอก สถิตพงศ์ อธิภิรมย์ศรี

สำหรับภารกิจหลัก 3 ด้านของ ส.อ.ค. คือ 1) ทำให้บริษัทหรือสถานประกอบการ สนับสนุนอัตราให้เราต่อไป 2) ทำให้เกิดการพัฒนาคนพิการจากการจ้างงานที่เข้มข้มขึ้น และ 3) คือการสนับสนุนให้เกิดโมเดลวันละ 10 บาท ที่ให้คนพิการร่วมกันเก็บเงินวันละ 10 บาท หนึ่งปี 3,600 บาท มาเป็นทุนสมทบ ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนพิการรายใหม่ในปีถัด ๆ ไป โมเดลนี้จะทำให้การจ้างงานเชิงสังคมสามารถเดินต่อไปได้อย่างยั่งยืน

เร่งขยายผลการจ้างงานกระแสหลัก และคนพิการฐานรากมีรายได้พึ่งพาตัวเอง

ก้าวต่อไป…ยกระดับและขยายผลการจ้างงานกระแสหลัก

สำหรับวงเสวนา ก้าวต่อไป…ยกระดับและขยายผลการจ้างงานกระแสหลัก มีการหยิบยกประเด็น คนพิการทำงานในหน่วยงานบริการชุมชนใกล้บ้าน สู่การจ้างงานกระแสหลัก มีตัวแทนมูลนิธิฯ กรุงเทพมหานคร ภาคีนายจ้าง สถาบันการศึกษา และตัวแทนคนพิการ ร่วมพูดคุย

จินรัตน์ เทียมอริยะ ที่ปรึกษามูลนิธินวัตกรรมทางสังคม กล่าวถึง โครงการส่งเสริมการจ้างงานกระแสหลัก (Inclusive Workplace) หรือ IW ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเยาวชนพิการ ซึ่งเข้าสู่ระบบการศึกษาระดับสูง ซึ่งตัวโครงการมีการดำเนินการผ่าน 4 มิติ คือ 1) บัณฑิตพิการที่จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาแล้วแต่ยังหางานไม่ได้ ที่มีการรับสมัครเข้ามาใน IW Working Center ศูนย์บ่มเพาะ เพื่อพัฒนาตัวเองเตรียมความพร้อมสู่การทำงานและยกระดับความสามารถให้นายจ้างสนใจ 2) นักศึกษาพิการ มีการส่งเสริมให้เกิดการทำงานระหว่างเรียน ผ่านมาตรา 35 เข้าไปทำงานในศูนย์บริการนักศึกษาพิการของมหาวิทยาลัย เรียนรู้ผ่านการทำงานจริง ให้มีความพร้อมทำงาน 3) ประสานบริษัทเพื่อการจ้างงานคนพิการ คือ สนับสนุนให้บริษัทหาคนพิการที่มีคุณสมบัติให้เจอ พร้อมทั้งร่วมสร้างความตระหนักรู้เรื่องคนพิการ ความพิการ การออกแบบงานให้เหมาะสม ตอบโจทย์นายจ้าง ละสอดคล้องกับสภาพความพิการของแต่ละคน เพื่อให้คนพิการสามารถอยู่กับองค์กรได้ยาวนาน และ 4) นักเรียนพิการ ที่มีความท้าทายสูงในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา มีโอกาสที่จะหลุดจากระบบการศึกษาเพราะขาดแคลนทุนทรัพย์ จึงมีการจัดทำโมเดล โครงการอาชีพเพื่อครอบครัวเยาวชนพิการ ที่ให้นักเรียนพิการกับครอบครัวทำอาชีพตามความถนัด โดยสนับสนุนเงินจากมาตรา 35 เพื่อให้นักเรียนมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับครอบครัว ไม่ว่าจะได้เรียนต่อหรือไม่ก็ตาม ก็สามารถทำให้พวกเขามีอาชีพมีรายได้

“ตลอดระยะเวลา 5 ปี เริ่มจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของตัวคนพิการ และนายจ้าง จนกระทั่งเขาจ้างงานกันได้ ซึ่งนี่เป็นคำตอบของการจ้างงานกระแสหลัก และก้าวต่อไปเราจะทำอย่างไรให้เกิดการจ้างงานโดยมาตรา 33 คนพิการเข้าไปเป็นลูกจ้างจริง ๆ ในบริษัท ได้รับสวัสดิการเทียบเท่ากับคนที่ไม่พิการ และองค์กรต้องเข้าอกเข้าใจคนพิการ”

จินรัตน์ เทียมอริยะ

ด้าน ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แสดงความเห็นผ่านคลิปวิดีโอ ระบุถึงความพร้อมในการจ้างงานคนพิการในภาครัฐว่า กรุงเทพมหานครมีการสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานคนพิการ จ้างด้วยคุณค่าไม่ใช่เพราะความสงสาร พร้อมกำชับว่าเราให้งานที่มีคุณค่ากับทุก ๆ คน คนพิการเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร โดยปัจจุบัน กทม. จ้างคนพิการไปแล้วจำนวน 409 คน จากจำนวนที่ต้องจ้าง 660 คน กทม. หวังอย่างยิ่งว่าอยากที่จะเป็นต้นแบบองค์กรที่จ้างงานคนพิการให้ครบตามกฎหมาย และเราจะสร้างก้าวต่อไปร่วมกัน

มีการแบ่งปันประสบการณ์ โดย กรรณิการ์ วงเพ็ญ คนพิการทางด้านการมองเห็น ฝ่ายทะเบียนและประชาสัมพันธ์ สำนักงานเขตดุสิต ที่เล่าว่า ต้องนำเสนอตัวเองว่าจะเป็นประโยชน์อะไรได้บ้าง ต้องสร้างความเข้าใจร่วมกันกับคนในที่ทำงาน ปฏิบัติให้พวกเขาได้เห็นว่าเราสามารถทำงานได้ เมื่อเขาเห็นความสามารถ เห็นความตั้งใจของเรา เขาจะให้โอกาสเรา ซึ่งมีการประยุกต์ใช้ Universal Design โดยนำอักษรเบรลล์เข้ามาอำนวยความสะดวกในการทำงาน ให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“ทุกครั้งที่ประชาชนเข้ามารับบริการ เป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าวันนี้เราทำงานเพื่อทุกคนได้แล้ว มีคนพิการมากมายที่สามารถทำงานได้ เราต้องหาจุดตรงกลางร่วมกันในการทำงาน แล้วอุปสรรคก็ไม่ใช่อุปสรรคอีกต่อไป”

กรรณิการ์ วงเพ็ญ

ด้านตัวแทนจากภาคเอกชน อรทัย ถินประวัติ People Manager Employee Relations MINOR International PCL . บอกว่าการจ้างงานคนพิการเข้ามาทำงานในออฟฟิศ ให้ตรงกับตำแหน่งและความสามารถเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่เนื่องด้วยทางบริษัทมีนโยบายที่อยากจะส่งเสริมความเท่าเทียมในที่ทำงาน โดยเลือกจากคนที่เห็นว่ามีความตั้งใจและมีทัศคติที่ดีต่อการทำงานทั้งหมด 3 คน ฝึกงาน 5 เดือน ทำให้เห็นศักยภาพของคนพิการ ว่ามีความตั้งใจและทักษะที่เขามีเราสามารถพัฒนาเขาได้ นำมาสู่การออกแบบงานให้ตอบโจทย์ตรงกับความสามารถของคนพิการ

“หลังจบการฝึกงาน MINOR รับน้อง ๆ เข้ามาเป็นพนักงานประจำ ตามมาตรา 33 การปรับมุมมองทำให้เราเห็นโอกาส ซึ่งตอนนี้มีโอกาสอยู่อีกเยอะมากในองค์กรเอกชนที่จะรับคนพิการเข้าไปทำงานแบบกระแสหลัก ขอเพียงแค่ปรับมุมมองท่านก็จะมองคนพิการเปลี่ยนไป”

อรทัย ถินประวัติ

ในส่วนของมหาวิทยาลัย ปิยพงศ์ เอียดปุ่ม นักวิชาการการศึกษา ศูนย์บริการนักศึกษาพิการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าว่า มหาวิทยาลัยมีหน่วยงานที่เรียกว่า DSS ศูนย์บริการนักศึกษาพิการ ที่มีภารกิจหลักคือสนับสนุนช่วยเหลือนักศึกษาพิการให้สำเร็จการศึกษา และเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพออกสู่สังคม

“ผมคิดว่าการเตรียมความพร้อมจากการจ้างงานระหว่างเรียนนี้ นอกจากจะทำให้พวกเขามีรายได้ไปจุนเจือครอบครัว ยังก่อให้เกิดการจ้างงานในกระแสหลักได้จริง วันนี้ไม่ใช่แค่เพียงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่เรายังมีภาคีมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่ง พวกเรามีความยินดี มีความตั้งใจมุ่งมั่น อยากจะทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายบริษัทต่าง ๆ อยากรับรู้ความต้องการของบริษัทเพื่อนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนาศักยภาพนักศึกษาพิการของเรา ให้ตรงกับความต้องการและตอบโจทย์นายจ้างมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดการจ้างงานคนพิการที่ยั่งยืนต่อไป”

ปิยพงศ์ เอียดปุ่ม

ณภัทร วิชัยดิษฐ Accounting Officer คนพิการทางด้านการเคลื่อนไหวหรือร่างกาย เล่าว่าระหว่างศึกษาอยู่ปี 4 มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้เข้าร่วมโครงการการจ้างงานระหว่างเรียน ทำให้มองเห็นคุณค่าของตัวเอง กล้าออกมาใช้ชีวิต ช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัว พร้อมย้ำว่าอยากให้น้องนักศึกษาพิการได้รับโอกาสแบบที่ตนได้รับบ้าง เพราะเชื่อว่าถ้าปลูกฝังให้มีความพร้อมตั้งแต่ตอนเรียน จะทำให้มีโอกาสมากขึ้นในหลายมิติ

“ผมอยากจะบอกทุกคนว่าไม่ว่าเราจะเกิดมาเป็นอะไร เราสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตเราได้ ด้วยสองมือของเราเอง”

ณภัทร วิชัยดิษฐ

ขอบคุณ... https://theactive.net/news/marginal-people-20240308/

ที่มา: theactive.net/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 11 มี.ค. 67
วันที่โพสต์: 11/03/2567 เวลา 13:56:19 ดูภาพสไลด์โชว์ เร่งขยายผลการจ้างงานกระแสหลัก และคนพิการฐานรากมีรายได้พึ่งพาตัวเอง