นาฏศิลป์ร่วมสมัย ถอดความหมาย 7 สนธิสัญญาสิทธิมนุษยชน

นาฏศิลป์ร่วมสมัย ถอดความหมาย 7 สนธิสัญญาสิทธิมนุษยชน

ศิลปินนักเต้นที่สร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่อง "พิเชษฐ กลั่นชื่น" ทำผลงานชิ้นใหม่ล่าสุด ที่ใช้เวลาศึกษาปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย นำสนธิสัญญาหลักด้านสิทธิมนุษยชน 7 ฉบับ มาถอดความหมายถ่ายทอดเป็นการแสดงนาฏศิลป์ร่วมสมัยในชื่อ "7 ทศวรรษแห่งสิทธิมนุษยชน" จัดแสดงในงาน "7 ทศวรรษแห่งสิทธิมนุษยชน" วันที่ 7-8 ธ.ค.2563 ที่สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ ซึ่งจัดโดยคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เนื่องในวันสิทธิมนุษยชน 2563 โดยพิเชษฐแสดงร่วมกับนักเต้นจาก Pichet Klunchun Dance Company และนักเต้นอิสระอีก 10 คน ร่วมกันสื่อสารหัวใจสำคัญให้เคารพสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

การแสดงร่วมสมัยครั้งนี้ แบ่งเรื่องราวออกเป็น 7 ซีน เริ่มจากซีนที่ 1 สิทธิที่จะหลุดพ้นจากการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลทางเชื้อชาติ เสนอเรื่องความหลากหลายทางชาติพันธุ์, ซีนที่ 2 สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม, ซีนที่ 3 สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม, ซีนที่ 4 สิทธิของคนพิการ, ซีนที่ 5 สิทธิของเด็กที่จะได้รับการคุ้มครองร่างกาย ชีวิต เสรีภาพ และสวัสดิภาพ, ซีนที่ 6 สิทธิของสตรีที่จะไม่ถูกเลือกปฏิบัติหรือกีดกันไม่ว่ารูปแบบใด ปิดท้ายด้วยซีนที่ 7 สิทธิที่จะไม่ถูกทรมาน หรือตกเป็นเหยื่อของการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี โดยพิเชษฐร่วมแสดงในซีนที่ 3 สวมบทบาทเป็นคนไร้บ้านในเมืองใหญ่

" ผมนำเรื่องราวสิทธิมนุษยชนมาตีความเป็นท่าเต้น อุปกรณ์ และใช้ศิลปะจำลองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในสังคมขึ้นมา สร้างจินตนาการและการตระหนักรู้สิทธิมนุษยชนแก่ผู้ชม ซึ่งยากมากกับการพูดถึงหัวข้อหนักๆ ถึง 7 สนธิสัญญาให้คนรับรู้ นำมาสู่การสร้างนกเป็นสัญลักษณ์ของสิทธิ เสรีภาพ และอิสรภาพ อย่างซีนแรก เสนอเรื่องความหลากหลายทางชาติพันธุ์ แทนค่าผ่านสีของนกที่มีสีต่างกัน ผมมองชาติพันธุ์คือ มนุษย์ทั้งโลก มีอิสระในทุกภาคส่วน ยกเป็นเรื่องเปิด ซึ่งทุกซีนมีนกเข้ามาเกี่ยวข้องเล่าเรื่องที่เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ในสนธิสัญญานั้นๆ รวมถึงจับประเด็นใหญ่ในสนธิสัญญามาเล่าเรื่อง ซีนสุดท้ายเสนอการย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยเจ้าหน้าที่รัฐ ซีนนี้ออกแบบให้เจ้าหน้าที่รัฐแปลงร่างเป็นนกยักษ์ อยู่เหนือกฎเสียเอง ในฉากมีตัวละครที่ถูกกระทำ ท้ายสุดถูกอุ้มหายไป" พิเชษฐ กล่าว

ส่วนการแสดงถึงสิทธิสตรี พิเชษฐเล่าว่า หยิบยกวรรณกรรมรามเกียรติ์ นำตัวนางมาสื่อสาร อย่างนางสีดาถือป้ายเขียนว่า “ฉันถูกคนเป็นพ่อสั่งให้ฆ่าในวันที่ฉันเกิด ฉันถูกพ่อบุญธรรมขังในดิน 16 ปี ฉันถูกผู้ชายที่บอกว่ารักขังไว้ในสวนขวัญอีก 14 ปี และฉันถูกผู้ชายที่แต่งงานด้วย ขังไว้อีก 285 ปี” จากนั้นนางเบญจกายชูป้าย "ฉันถูกข่มขืนในสงคราม" และนางสำมนักขาชูป้าย "ฉันหลงรักผู้ชาย แต่สองคนพี่น้องมองว่าฉันผิด ตัดจมูก หู และขาฉัน" ทั้ง 3 ตัวละครจะชูป้ายพร้อมกัน "เราขอเรียกร้องสิทธิ อยากให้ถอดถอนเราออกจากวรรณกรรมรามเกียรติ์" ตนเสนอมุมมองในฐานะอยู่ในแวดวงโขนละคร และชวนถกเถียงวัฒนธรรมมีส่วนกดทับคนในสังคม

ส่วนสิทธิคนพิการ ศิลปินนักเต้นบอกว่า เก็บรายละเอียดของคนพิการที่มีชุดภาษาการใช้ร่างกายอีกแบบหนึ่ง มาสร้างศิลปะการเต้นรำ สะท้อนแม้นักแสดงร่างกายไม่สมบูรณ์ ก็สามารถทำการแสดงบนเวทีได้ ซึ่งโลกตะวันตกปัจจุบันมีโรงละครสำหรับผู้พิการโดยเฉพาะ ศิลปินนักแสดงมีร่างกายเพียงท่อนบน แต่สร้างศิลปะได้

สำหรับสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ซีนที่ 3 แสดงออกด้วยเรื่องราวคนไร้บ้าน นอกจากศิลปินทำการแสดงแล้ว ยังมีคลิปเสียงของคนไร้บ้าน ซึ่งเป็นผลจากการทำงานศึกษาข้อมูล มาประกอบ เพิ่มพลังการสื่อสารให้งานศิลปะชุดนี้

"ผมพบคนไร้บ้านคนหนึ่ง ได้พูดคุยถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ ไม่มีบัตรประชาชน สมัครงานไม่ได้ ทำธุรกรรมไม่ได้ ถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยพระสงฆ์ เขารู้สึกไม่มีความเป็นมนุษย์หลงเหลืออยู่ เขาอธิบายเหตุที่นอนกลางวัน เพราะกลางคืนอันตราย ต้องตื่นตลอดเวลา คนกลับมองว่าขี้เกียจ ส่วนที่ไม่อาบน้ำ เพื่อใช้ความสกปรกเป็นเกราะป้องกันตัวเอง ทำให้คนถอยห่าง แล้วยังมีระบบเศรษฐกิจของคนไร้บ้านน่าสนใจ ใช้ชีวิตอยู่ได้จากเทศกาลเทกระจาด เงินโปรยทานจากงานบวช ไปตรอกเล้าหมูทำงานหาเงิน การผลิตผลงานครั้งนี้ท้าทายรวม 7 ประเด็นบนเวทีให้ได้ ทำให้ผู้ชมรับรู้และเข้าใจสิทธิมนุษยชนที่มีอยู่ในแต่ละสนธิสัญญา" พิเชษฐกล่าว

การแสดงนาฏศิลป์ร่วมสมัยในชื่อ "7 ทศวรรษแห่งสิทธิมนุษยชน" ครั้งนี้ มีการรวมศิลปะการเต้นรำทั้งแบบประเพณี โมเดิร์นแดนซ์ และนาฏศิลป์ร่วมสมัย แตกต่างกันไปตามเรื่องราวแต่ละซีน อีกทั้งรังสรรค์เครื่องแต่งกายขึ้นใหม่ บอกเล่าคาแรคเตอร์ตัวละครในฉากนั้นๆ นี่คือการสร้างสรรค์งานศิลปะเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม สำหรับรอบแรกวันที่ 7 ธ.ค. จะแสดงรอบนักการทูต ผู้แทนจากหน่วยงานรัฐที่ขับเคลื่อนการปฏิบัติตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ผู้แทนภาคประชาสังคม และองค์กรระหว่างประเทศ โดยมี เปียร์กา ตาปิโอลา เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย พร้อมทั้งนายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ร่วมเปิดงานหลังจากการแสดงเสร็จสิ้น

ส่วนรอบที่สอง วันที่ 8 ธ.ค. เปิดรอบประชาชน เข้าชมฟรี และผู้ชมจะได้ร่วมสนทนากับพิเชษฐ กลั่นชื่น ศิลปินอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ผู้สนใจต้องลงทะเบียนล่วงหน้าที่เว็บไซต์ engage.eu

ขอบคุณ... https://www.thaipost.net/main/detail/84329

ที่มา: thaipost.net/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 19 พ.ย.63
วันที่โพสต์: 20/11/2563 เวลา 10:08:17 ดูภาพสไลด์โชว์ นาฏศิลป์ร่วมสมัย ถอดความหมาย 7 สนธิสัญญาสิทธิมนุษยชน