พลังเซ็นเพื่อสังคม มอบอาชีพ ‘คนพิการ’ มีรายได้ยั่งยืน

พลังเซ็นเพื่อสังคม มอบอาชีพ ‘คนพิการ’ มีรายได้ยั่งยืน

ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 กำหนดให้สถานประกอบการต้องจ้างงานคนพิการตามมาตรา 33 ในอัตราส่วน 100 : 1 แต่ทั้งนั้น หากสถานประกอบการใดไม่สามารถจ้างคนพิการทำงานได้ครบตามจำนวน บริษัทนั้น ๆ จะต้องทำการส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการตามมาตรา 34

ดังนั้นเมื่อดูข้อมูลจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2558 ปรากฏว่ามีการจ้างงานคนพิการตามมาตรา 33 เพียง 28,358 คน ขณะเดียวกันก็มีการสนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมให้คนพิการประกอบอาชีพตามมาตรา 35 จำนวน 6,025 คน และยังไม่สามารถจ้างงานอีกประมาณ 21,000 คน

ฉะนั้นจึงมีคนพิการอีกจำนวนมากที่มีศักยภาพทำงานได้แต่ไม่พร้อม หรือไม่ประสงค์ที่จะย้ายถิ่นฐานเข้าหาโอกาสงานในสถานประกอบการที่ตั้งอยู่ห่างไกลภูมิลำเนาออกไป ดังนั้นหากบริษัทใด ๆ สามารถสร้างโอกาสงานให้เกิดขึ้นในท้องถิ่นที่อยู่ของคนพิการที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ก็จะเอื้อให้คนพิการเหล่านี้มีงานทำ และกลายมาเป็นพลังสำคัญของสังคมอีกทางหนึ่ง

ผลเช่นนี้จึงทำให้บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ “เซ็น กรุ๊ป” หนึ่งในผู้นำด้านธุรกิจร้านอาหาร โดยมีแบรนด์ภายใต้การบริหารทั้งหมด 15 แบรนด์ ล้วนต่างให้ความสำคัญต่อการสร้างอาชีพให้กับกลุ่มคนพิการ ตามโครงการ “พลังเซ็นเพื่อสังคม” (ZEN Spirit) ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2560 โดยให้การสนับสนุนกลุ่มคนพิการประกอบอาชีพเกษตรกร สร้างงาน สร้างรายได้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเองและครอบครัวให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

ด้วยการสนับสนุนโครงการวิสาหกิจชุมชน “Empowerment Plus” ในการพัฒนาทักษะการประกอบอาชีพเกษตรกรสมัยใหม่ ด้วยการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้อย่างเหมาะสม สำหรับการปลูกเมล่อนสายพันธุ์ซูบาริคิงจากประเทศญี่ปุ่น ในระบบฟาร์มปิดเป็นแห่งแรกที่ ต.หันคา อ.หันคา จ.ชัยนาท ก่อนที่จะพัฒนาต่อไปยัง ต.ไพรนกยูง อ.หันคา จ.ชัยนาท และ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ตามลำดับ

พลังเซ็นเพื่อสังคม มอบอาชีพ ‘คนพิการ’ มีรายได้ยั่งยืน

ภายใต้ผลผลิตที่ชื่อแบรนด์ว่า “ใจดีฟาร์ม”

เบื้องต้น “บุญยง ตันสกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ “เซ็น กรุ๊ป” กล่าวว่า ในพันธกิจของบริษัทให้ความสำคัญอยู่ 4 เรื่อง คือ ผู้บริโภค, พนักงาน, สังคมและสิ่งแวดล้อม และผู้ถือหุ้น โดยเฉพาะในเรื่องของสังคมและสิ่งแวดล้อม เรากำหนดเป็นพันธกิจชัดเจนเลยว่าจะยึดมั่นปฏิบัติตามนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี และมุ่งมั่นต่อการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

“ดังนั้นเมื่อมาดู CSR in Process ของบริษัทก็จะให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้ไว้ 3 เรื่องด้วยกันคือเพื่อสังคม, เพื่อการศึกษา และเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยทุก ๆ เรื่องที่ทำจะคู่ขนานไปกับการดำเนินธุรกิจ แต่สำหรับเหตุผลที่เรามาให้ความสำคัญต่อการสร้างอาชีพให้กับคนพิการมีงานทำ เพราะมีความรู้สึกว่าแต่ละปีที่บริษัทส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการตามมาตรา 34 เราไม่รู้จริง ๆ ว่าเงินที่ส่งไป อยู่ตรงไหน และสร้างประโยชน์อะไรให้กับคนพิการในเชิงรูปธรรมบ้าง”

“ผมและทีมงานจึงมานั่งคิดว่าเมื่อมีช่องว่างให้เราสามารถสร้างอาชีพให้กับคนพิการตาม พ.ร.บ. อีกทั้งยังช่วยทำให้ผู้พิการประกอบอาชีพการเกษตรสมัยใหม่ได้ในละแวกบ้านใกล้เรือนเคียงของตัวเอง โดยไม่ต้องย้ายถิ่นฐานจึงเป็นสิ่งที่น่าทำ จนที่สุดจึงเกิดโครงการพลังเซ็นเพื่อสังคม (ZEN Spirit) ขึ้นเมื่อปี 2560 ด้วยการเข้าไปสนับสนุนโครงการวิสาหกิจชุมชน เพื่อพัฒนาทักษะการประกอบอาชีพเกษตรกรสมัยใหม่ ด้วยการปลูกเมล่อนสายพันธุ์ซูบาริคิงจากประเทศญี่ปุ่นในระบบฟาร์มปิด”

“โดยมอบหมายให้ น.อ.ภราดร คุ้มทรัพย์ ประธานมูลนิธิพัฒนาศักยภาพคนพิการเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ส่วนทางเซ็น กรุ๊ปจะมอบเงินจำนวน 2,628,600 บาท ให้กับผู้พิการจำนวน 24 สิทธิ ดำเนินการก่อสร้างอาคารปฏิบัติงาน, ระบบน้ำประปา,ระบบไฟฟ้า และสร้างโรงเรือนสำหรับปลูกเมล่อนปลอดสาร สายพันธุ์ซูบาริคิงจำนวน 3 โรงเรือน ที่ ต.หันคา อ.หันคา จ.ชัยนาท เป็นพื้นที่แรก”

ต่อจากนั้นในปี 2561 เซ็น กรุ๊ปจึงสนับสนุนโครงการดังกล่าวเป็นปีที่ 2 โดยมอบเงินอีกจำนวน 3,066,000 บาท ให้กับผู้พิการจำนวน 28 สิทธิ เพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูกเมล่อนปลอดสารสายพันธุ์ซูบาริคิงไปยัง ต.ไพรนกยูง อ.หันคา จ.ชัยนาท อีก 7 โรงเรือน พร้อมกับปรับภูมิทัศน์เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้สำหรับกลุ่มผู้พิการเครือข่ายนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป

ในปีเดียวกัน เซ็น กรุ๊ปยังสร้างแบรนด์ “ใจดีฟาร์ม” เพื่อช่วยทำการตลาดและประชาสัมพันธ์ผลผลิตในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับร้านอาหาร และสื่อประชาสัมพันธ์ออนไลน์เพื่อเพิ่มยอดจำหน่ายเมล่อนให้กับใจดีฟาร์มอีกด้วย

สำหรับในปี 2562 เซ็น กรุ๊ปสนับสนุนโครงการดังกล่าวเป็นปีที่ 3 โดยมอบเงินจำนวน 3,254,020 บาท ให้กับผู้พิการจำนวน 28 สิทธิ เพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูกเมล่อนปลอดสารที่ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ จำนวน 6 โรงเรือน แปลงปลูกผักออร์แกนิกจำนวน 4 โรงเรือน พร้อมกับสร้างศูนย์การเรียนรู้ให้กับนักเรียนในพื้นที่ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์

ส่วนปี 2563 เซ็น กรุ๊ปยังคงให้การสนับสนุนโครงการวิสาหกิจชุมชน “Empowerment Plus” (ใจดีฟาร์ม) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โดยมอบเงินจำนวน 2,698,080 บาท ให้กับผู้พิการจำนวน 24 สิทธิ เพื่อสนับสนุนการปลูกเมล่อนและผักออร์แกนิกที่จังหวัดชัยนาทและนครสวรรค์ ทั้งยังสนับสนุนเงินจำนวน 1,011,780 บาท ให้กับผู้พิการจำนวน 9 สิทธิ ให้แก่กลุ่มขอบฟ้ากว้าง จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นกลุ่มอาชีพของผู้ปกครองเด็กพิการที่บกพร่องทางสติปัญญา ออทิสติก และสมาธิสั้นที่มารวมกลุ่มกันในการผลิตตัดเย็บผ้าในรูปแบบต่าง ๆ เช่น กระเป๋าผ้า, ผ้ากันเปื้อน และอื่น ๆ

“บุญยง” กล่าวเพิ่มเติมว่า จริง ๆ โครงการพลังเซ็นเพื่อสังคมค่อย ๆ เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และผู้พิการแต่ละสิทธิ แต่ละกลุ่มค่อย ๆ พัฒนาตัวเองในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมสมัยใหม่ จนมีผลผลิตที่น่าพอใจ ที่สำคัญเราคิดต่อยอดไปถึงการทำ ecotourism หรือการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่มาชมสวนนกชัยนาทมีโอกาสมาเที่ยวที่ศูนย์การเรียนรู้ในการเพาะปลูกเมล่อนของเราด้วย ซึ่งไม่เพียงนักท่องเที่ยวจะได้ชมโรงเรือนสำหรับปลูกเมล่อน และรับประทานเมล่อนสด ๆ ยังจะได้ชมโรงเรือนสำหรับผักออร์แกนิก พร้อมกับเลือกซื้อผลผลิตจากใจดีฟาร์มอีกด้วย

“ที่สำคัญ ตอนนี้เรากำลังทดลองปลูกเมล่อนพันธุ์เขียวจากประเทศญี่ปุ่นเพิ่ม ซึ่งผลผลิตของเมล่อนชนิดนี้ราคาค่อนข้างแพง ตกลูกละประมาณ 2,000 กว่าบาท และตอนนี้เราสามารถทำได้แล้ว และคาดว่าผลผลิตลอตแรกจะออกมาราวเดือนมิถุนายน โดยผลผลิตส่วนหนึ่งจะนำไปเสิร์ฟในร้านอาหารญี่ปุ่นของเรา ยิ่งเฉพาะลูกค้าท่านใดที่สั่ง set lunch ก็จะได้ทานเมล่อนสายพันธุ์ซูบาริคิงไปพร้อม ๆ กันด้วย ส่วนนอกเหนือจากนั้นเราจะขายเมล่อนผ่านออนไลน์ ยิ่งถ้าผลผลิตดี ๆ จะมีลูกค้าจองล่วงหน้า จนทำให้เกษตรกรของเรามีหลักประกันว่าตลาดมี และเขาจะมีเงินทุนหมุนเวียนในการบริหารจัดการต่อไป”

“เพราะทางเซ็น กรุ๊ปจะไม่เข้าไปยุ่งในเรื่องของการบริหารจัดการ แต่เราปล่อยให้เขาบริหารจัดการกันเอง เราเพียงทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง และหาผู้มีความรู้ในเรื่องของการเกษตรไปช่วยพวกเขา ขณะเดียวกันเขาจะตั้งหน่วยงานคนพิการขึ้นมา ด้วยการจ้างงานตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ซึ่งพวกเขาจะนั่งวีลแชร์มาผสมเกสรเมล่อน, ตัด, เก็บผลผลิต และอื่น ๆ จนเมื่อพวกเขาขายผลผลิตได้ เงินทั้งหมดจะกลับมาเป็นทุนหมุนเวียน และมาจ้างคนพิการทำงานต่อไป”

“เนื่องจากคนพิการส่วนใหญ่จะอยู่แถบละแวกนั้น และตอนนี้ทราบข่าวว่าเขาคิดจะทำหอพักเพื่อให้ลูกจ้างคนพิการตื่นขึ้นมาแล้วสามารถทำงานได้ทันที นอกจากนั้นเขายังออกแบบพื้นที่ใช้สอยเพิ่มเติม ด้วยการทำห้องประชุม ห้องน้ำคนพิการ และอื่น ๆ เนื่องจากตอนนี้ผลผลิตทั้งหมดไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า ทั้ง ๆ ที่เรามี 300 กว่าสาขา แต่เราจะส่งผลผลิตเพียงบางสาขาเท่านั้น โดยเฉพาะสาขาที่เป็นร้านอาหารญี่ปุ่นก่อน จากนั้นถึงค่อยส่งไปยังสาขาอื่น ๆ ที่สามารถประยุกต์ไปทำของหวานได้”

เพราะการเพาะปลูกเมล่อนแต่ละรอบจะเริ่มปลูกราวเดือนเมษายนเป็นต้นไป และเดือนเดือนหนึ่งผลผลิตจะออกประมาณ 3 รอบ รอบละประมาณ 500 ลูกดังนั้นทางแก้เพื่อให้ผลผลิตเพียงพอต่อความต้องการของลูกค้าจึงต้องพยายามปลูกหมุนเวียนสลับกันไปในแต่ละโรงเรือน เพื่อจะให้ได้เมล่อนมาบริโภคตลอดทั้งปี

นอกจากนั้น “บุญยง” ยังเล่าให้ฟังถึงการทำกิจกรรมเพื่อสังคมกับมูลนิธิขอบฟ้ากว้าง จ.ขอนแก่นให้ฟังว่า ตอนนี้เราร่วมมือกับมูลนิธิขอบฟ้ากว้างด้วยการส่งเสริมสนับสนุนเยาวชนและผู้ปกครองของกลุ่มเด็กพิเศษให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ด้วยการสอนเย็บปักถักร้อย เพราะในร้านของเราจะมีผ้ากันเปื้อนที่ใช้อยู่เป็นลายผ้าขาวม้า ซึ่งคือเครื่องแบบพนักงานร้านตำมั่วของเราประมาณ 100 กว่าสาขา แต่เมื่อสถานการณ์ของไวรัสโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดหนักขึ้น เราจึงให้พวกเขาหันมาเย็บหน้ากากอนามัยแทน พร้อม ๆ กับเย็บกระเป๋าผ้าแจกลูกค้าที่ทานอาหารตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป ก็จะได้กระเป๋าผ้า 1 ใบ ซึ่งในส่วนนี้เราสนับสนุนทุนตั้งต้นให้กับพวกเขาประมาณ 1 ล้านกว่าบาท

“อีกเรื่องหนึ่งที่เราส่งเสริมสนับสนุนเยาวชนและผู้ปกครองของกลุ่มเด็กพิเศษให้มีรายได้เพิ่มขึ้นคือการสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน ด้วยการสั่งซื้อ “ไก่ 3 โลว์” (Low-Uric Low-fat Low Cholesterol) หรือไก่พันธุ์ KKU1 ที่วิจัยโดยคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เนื่องจากมีจุดเด่นด้านปริมาณไขมัน คอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์และยูริกต่ำ เพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในร้านอาหารเครือ ZEN เพราะไก่ 3 โลว์จะเหมาะอย่างยิ่งกับลูกค้า หรือผู้บริโภคท่านใดที่ป่วยเป็นโรคเกาต์ เพราะเมื่อรับประทานแล้วจะไม่เกิดการอักเสบเฉียบพลันของข้อ หรือเนื้อเยื่อรอบ ๆ ข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้าและข้อเข่า”

“พูดง่าย ๆ ว่าไก่ 3 โลว์ เราจะนำมาทำเป็นเมนูไก่ 3 โลว์ เมนูไก่ต้มริมโขงที่จะเสิร์ฟให้บริการลูกค้าที่ร้านตำมั่ว และร้านลาวญวน แต่ต่อไปอาจจะแทรกอยู่ในร้านอื่น ๆ ด้วยก็ได้ เพราะเมนูนี้เป็นฟาร์ม ทู เทเบิล และจริง ๆ ผมต้องการไก่ในปริมาณค่อนข้างเยอะ เมื่อปีที่แล้วผมซื้อไก่ 3 โลว์จากชาวบ้านประมาณ 3,000 กว่ากิโลกรัม หรือประมาณ 3,000 กว่าตัว เพราะไก่ตัวหนึ่งหนัก 1 กิโลกรัม รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4 ล้านกว่าบาท ที่เรามีโอกาสอุดหนุนวิสาหกิจชุมชน จนทำให้ชาวบ้านมีรายได้เฉลี่ย 15,000-30,000 บาท/รอบ/เดือน เพราะต่อไปเราคิดว่าจะนำไก่พันธุ์นี้มาทำข้าวมันไก่ด้วย”

“ดังนั้นสิ่งที่เซ็น กรุ๊ปทำกิจกรรมเพื่อสังคมผ่านมา จึงไม่เพียงเป็นการทำ CSR in Process หากยังเป็นการทำ CSR after Process ไปพร้อม ๆ กัน ยิ่งเฉพาะในเรื่องของการนำความเชื่อมโยงกับชุมชนต่าง ๆ มาพัฒนาจนทำให้ชุมชนเหล่านั้นสามารถประกอบสัมมาชีพเลี้ยงตัวได้อย่างยั่งยืน เพราะเป้าหมายในการทำ CSR ของเซ็น กรุ๊ปไม่เพียงให้ความสำคัญต่อเรื่องสังคม,การศึกษา และสิ่งแวดล้อมอย่างค่อยเป็นค่อยไป หากในลำดับต่อไปยังมองไปถึงเรื่อง ESG (Environmental, Social and Governance) และ DJSI (Dow Jones Sustainability Indexes) ต่อไปในอนาคตด้วย”

เพียงแต่ตอนนี้ “เซ็น กรุ๊ป” ขอเริ่มต้นทำกิจการเพื่อสังคมในสิ่งที่สามารถทำได้ก่อนเป็นลำดับแรก ๆ และเมื่อถึงจุดจุดหนึ่งคงเชื่อแน่ว่า “เซ็น กรุ๊ป” คงจะมองสเต็ปต่อ ๆ ไป เพื่อที่จะนำพาองค์กรในธุรกิจร้านอาหารก้าวไปสู่ความยั่งยืนในระดับสากล

ขอบคุณ... https://www.prachachat.net/csr-hr/news-449911

ที่มา: prachachat.net/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 15 เม.ย.63
วันที่โพสต์: 16/04/2563 เวลา 12:59:56 ดูภาพสไลด์โชว์ พลังเซ็นเพื่อสังคม มอบอาชีพ ‘คนพิการ’ มีรายได้ยั่งยืน