พิการแต่เพศไม่พิการ! เปิดโลก (18+) ของคนหูหนวก

พิการแต่เพศไม่พิการ! เปิดโลก (18+) ของคนหูหนวก

"พิการแล้วยังคิดเรื่องเพศอีก" "ดูแลตัวเองให้รอดปลอดภัยก็พอแล้ว" "ความรักชีวิตครอบครัวไม่ต้องมีก็ได้" คือส่วนหนึ่งของอคติทางความคิดที่คนในสังคมยังมีต่อเรื่องเพศของคนพิการ หรือคนหูหนวก ทำให้คนกลุ่มนี้ถูกแยกขาดออกจากเรื่องเพศอย่างสิ้นเชิง ทั้งที่ความจริงแล้ว พวกเขาก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน มีความต้องการพื้นฐานเหมือนกัน โดยเฉพาะเรื่องเพศ

ที่น่าห่วงมากกว่านั้น ส่วนใหญ่ยังพบปัญหาเรื่องการอ่าน ใช้วิธีเรียนรู้เรื่องเพศจากเพื่อนและคนรอบข้าง ซึ่งความรู้และทักษะบางอย่างอาจไม่ถูกต้อง นำไปสู่ความเสี่ยงเรื่องการตั้งครรภ์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการจัดการปัญหาที่ถูกต้อง

"เด็กหูหนวกยังขาดความรู้เท่าทันสื่อ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ ทำให้มีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ปลอดภัย เด็กเกือบทุกคนมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน บางครั้งมีเพศสัมพันธ์แบบไม่พร้อม เช่น การหลั่งนอก ไม่ใช้ถุงยางอนามัย ด้วยเหตุผลเพราะเชื่อใจคนรัก หรือบางครั้งไม่ได้เตรียมไว้ หรือคนรักไม่ชอบใส่ถุงยางอนามัย"

พิการแต่เพศไม่พิการ! เปิดโลก (18+) ของคนหูหนวก

ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. เผยความน่าเป็นห่วงจากผลสำรวจความคิดเห็นต่อเรื่องเพศของนักเรียนหญิงหูหนวกมัธยมปลายโรงเรียนโสตศึกษาชลบุรี และโรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆแบบ focus group จำนวน 24 คน และกระบวนการอบรมแกนนำนักเรียน จาก 4 สถานศึกษา ได้แก่ โรงเรียนโสตศึกษาชลบุรี วิทยาลัยเทคนิคบางแสน โรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ และวิทยาลัยดอนบอสโก ซึ่งพบว่า เด็กหูหนวกมีความรู้เรื่องเพศอยู่บ้าง แต่เป็นความรู้แบบรู้ไม่ครบ รู้คลาดเคลื่อน

ยกตัวอย่างเช่น หากทานยาคุมกำเนิดมากเกินไปจะทำให้เป็นบ้า หรือนั่งติดกับคนมีเชื้อโรคเอดส์จะทำให้ติดเอดส์ได้ ที่น่าตกใจคือ ความเชื่อว่าการมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันจะไม่ทำให้ติดโรคเอดส์ และด้วยข้อจำกัดทางการได้ยิน ทำให้เด็กหูหนวกเข้าไม่ถึงข้อมูลเรื่องเพศเชิงบวก ขาดประสบการณ์ และข้อมูลเรื่องเพศที่ถูกต้อง เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพทางเพศ เสี่ยงต่อการถูกเอาเปรียบ และล่วงละเมิดทางเพศ นอกจากนั้นยังพบว่า สื่อการเรียนรู้ที่เด็กหูหนวกให้ความสนใจ ไม่ใช่หนังสือ แผ่นพับ หรือคู่มือ แต่เป็นสื่อวีดีโอภาษามือ รองลงมาคือเพื่อนหูหนวก พ่อแม่ และคนหูดีที่ให้คำปรึกษาได้

ดังนั้นจึงเป็นที่มาของโครงการพัฒนารูปแบบและกระบวนการในการดูแลส่งเสริมสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ และสุขภาวะทางเพศสำหรับผู้หญิงพิการ ซึ่งทางสสส. เข้าไปสนับสนุนเพื่อพัฒนาเครื่องมือในการสร้างความรอบรู้ในการส่งเสริมสุขภาวะทางเพศ และอนามัยเจริญพันธุ์ให้เด็กหญิงหูหนวก โดยการมีส่วนร่วมของแกนนำนักเรียน แกนนำผู้ปกครอง ล่ามภาษามือ และสถานศึกษา

แน่นอนว่า หลังจากมีโครงการดังกล่าวเกิดขึ้น โลกของคนหูหนวกที่ค่อนข้างลึกลับซับซ้อน ค่อยๆ ถูกทำให้เข้าใจ ช่วยให้ครู และเพื่อนในโรงเรียน ได้ยินเสียงที่ไม่ได้ยินจากเด็กกลุ่มนี้ชัดขึ้น รวมไปถึงนักเรียนหูหนวกเองที่เกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องเพศเชิงบวก ซึ่งการมีองค์ความรู้เหล่านี้ย่อมช่วยลดความเสี่ยง และสร้างภูมิคุ้มให้แก่พวกเขาได้

บอกเล่าได้จาก ปริญญาดา มาตย์มาลี ตัวแทนนักเรียนโรงเรียนโสตศึกษา จังหวัดชลบุรี (สัมภาษณ์ผ่านล่ามภาษามือ) เมื่อก่อนไม่เข้าใจคำว่าเพศสัมพันธ์ หลังจากได้เข้าอบรม ทำให้เข้าใจเรื่องเพศในเชิงรูปธรรมมากขึ้น รวมไปถึงความรู้ในการป้องกันตัวเองอย่างถูกวิธี เช่น การกินยาเม็ดคุมกำเนิดเพื่อป้องกันการท้องก่อนวัยอันควร นอกจากนั้น "สื่อใจวัยรุ่น" ซึ่งเป็นสื่อวีดีโอเกี่ยวกับสุขภาวะทางเพศที่ใช้ภาษามือเป็นหลัก ถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เข้าใจเรื่องเพศได้ง่ายขึ้น สามารถนำไปออกแบบกิจกรรมในโรงเรียน รวมไปครู หรือผู้ใหญ่สามารถนำไปใช้สอน และทำความเข้าใจเรื่องเพศกับเด็กหญิงหูหนวกได้เป็นอย่างดี

ด้าน อณุภา คงปราโมทย์ ตัวแทนอาจารย์จากวิทยาลัยเทคโนโลยีดอนบอสโก บอกว่า คนหูหนวกยังมีข้อจำกัดด้านสื่อ หลายคนมีปัญหาเรื่องการอ่าน ทำให้เข้าถึงทรัพยากรในสังคมได้น้อย โดยเฉพาะทรัพยากรด้านข้อมูลที่ส่งผลให้ขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องเพศ และอนามัยเจริญพันธุ์ ไม่แปลกที่เด็กหูหนวกในโรงเรียนหลายคนจะรู้เรื่องเพศแบบไม่ครบ หรือมีความเข้าใจไม่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องเพศ

หนึ่งในจำนวนนั้นคือ ประกายทิพย์ หะโท อายุ 21 ปี และ พิพัฒน์พงศ์ ศรีมงคลงาม อายุ 20 ปี ตัวแทนนักเรียนจากวิทยาลัยเทคโนโลยีดอนบอสโก พวกเขาสื่อสารผ่านครูอณุภา ซึ่งเป็นล่ามภาษามือ บอกว่า เคยกินยาเม็ดคุมกำเนิดแบบผิดๆ มาโดยตลอด กินๆ หยุดๆ ไม่ต่อเนื่อง หรือฝ่ายชายเล่าว่า ขนาดถุงยางอนามัยยังใส่ และฉีกไม่เป็นเลย เนื่องจากอ่านวิธีใช้แล้วไม่เข้าใจ ทำให้บางครั้งมักเลือกที่จะหลั่งนอกแทน ดังนั้นจึงอยากให้มีการออกแบบสื่อเกี่ยวกับเพศศึกษาด้วยภาษามืออย่างจริงจัง และทำให้เข้าถึงง่าย

ถึงบรรทัดนี้ คงพอจะเข้าใจแล้วว่า หูพิการ แต่เพศไม่ได้พิการอย่างที่ใครหลายคนตัดสิน ซึ่งนอกจากเรื่องเพศที่ต้องการสื่อวิดีโอเป็นภาษามือแบบเห็นภาพ เข้าใจง่ายแล้ว พวกเขายังมีความละเอียดอ่อนในเชิงสุขภาพที่ต้องการการดูแลอย่างถูกต้องด้วย แต่ปัจจุบันยังขาดหน่วยงานที่ทำหน้าที่ให้ความรู้อย่างจริงจัง ขาดระบบสื่อสารกับสังคมที่มีประสิทธิภาพมากพอ เมื่อเกิดโรคหรือปัญหาไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ควรกินยาหรือดูแลตัวเองแบบไหน เพราะมีข้อจำกัดในการสื่อสารกับหมอหรือผู้เชี่ยวชาญ

อย่าลืมว่ามีคนพิการอีกมากที่ต่อสู้ และช่วยเหลือสังคม แม้จะเป็นพลังเล็กๆ แต่เมื่อรวมกันแล้วย่อมเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ ดังนั้น ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญ และเลิกมองว่าเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าเพียงแค่วิธีคิดแคบๆ "คนพิการไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของสังคม"

ขอบคุณ... https://bit.ly/36GN2ib (ขนาดไฟล์: 143)

ที่มา: mgronline.com/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 3 พ.ย.62
วันที่โพสต์: 7/11/2562 เวลา 10:09:46 ดูภาพสไลด์โชว์ พิการแต่เพศไม่พิการ! เปิดโลก (18+) ของคนหูหนวก