จิตอาสาคุณภาพ พลังสังคมลดเหลื่อมล้ำพัฒนาการเด็กไทย

จิตอาสาคุณภาพ พลังสังคมลดเหลื่อมล้ำพัฒนาการเด็กไทย

จากความคิดสั้นๆ ที่ต้องการหากิจกรรมที่ได้ประโยชน์กับตัวเองและคนอื่น กลายเป็นจุดเปลี่ยนของ มนัฐนันท์ คงคาหลวง หรือ ”จูน”

จูนเป็นพนักงานบริษัทในเครือเอสซีจี ที่ใช้เวลาทุกวันเสาร์ช่วงเช้า มาตลอดกว่า 6 ปี กับการเดินทางมาเป็นพี่เลี้ยงอาสาสมัคร ให้กับน้องๆ ที่สถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านนนทภูมิ

“เราลองเปิดเว็บไซต์จิตอาสาเห็นเขารับ ก็ไม่รู้หรอกว่าจะทำได้ไหม ตอนแรกไม่ได้คิดว่าจะทำนานขนาดนี้เลย จึงลองสมัครทำสามเดือน แต่พอทำมาเรื่อยๆ ก็ 6 ปีแล้ว”

จูนเรียนจบจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก แต่ชีวิตการทำงานบริษัทอาจไม่ค่อยได้ใช้ความรู้ที่เรียนมา จึงตั้งใจนำมาใช้กับที่นี่ ซึ่งสิ่งที่เด็กๆ ในสถานสงเคราะห์เด็กพิการต้องการ คืออยากให้สอนเรื่องพัฒนาการเรียนรู้ทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กทั่วไปอาจจะมีพ่อแม่ช่วยฝึก แต่ของที่นี่พวกเขาไม่มีใครที่จะช่วยสอนได้

กิจกรรมที่จูนออกแบบมีทั้งเกมที่ช่วยฝึกให้เขามีพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็กได้ ดีขึ้น ส่วนในน้องรุ่นโต สิ่งที่เสริมมาคือพัฒนาการทางสังคม

“ต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจก่อน ว่าน้องที่เราดูแลต้องการจะพัฒนาเรื่องอะไร แน่นอนว่า เขาจำเป็นต้องออกไปใช้ชีวิตภายนอก เราก็จะเป็นพี่เลี้ยงที่ให้คำปรึกษาการใช้ชีวิต อยู่กับเพื่อนๆ ได้ เพราะเด็กที่นี่ ชีวิตเขาจะเหมือนเทศกาลไงคะ วันเสาร์อาทิตย์เราจะเห็นคนเอาอาหาร ของเล่นมาเลี้ยง บางทีเยอะจนล้น แต่บางวันก็ไม่มีเลย ทุกคนที่ให้ก็เพราะสงสาร มันยิ่งทำให้เขาคิดว่าเขาเป็นผู้ด้อยโอกาส สามารถร้องขอได้ แต่เราไม่อยากให้น้องเราคิดแบบนั้น ไม่งั้นเขาจะเป็นเด็กที่คิดว่าความพิการเป็นโอกาสที่จะเรียกร้อง เราพยายามบอกเขาว่า จะพิการหรือปกติไม่ต่างกัน ถ้าคุณอยากเท่ากับคนอื่นคุณต้องใช้เกฎเกณฑ์เดียวกับคนอื่นนะ”

ยังเล่าถึง “นิรันดร์” หนึ่งในน้องชายคนโปรด ที่จูนมาคอยดูแลให้คำแนะนำอย่างสม่ำเสมอ จูนดูแลจนปัจจุบันนิรันดร์เรียนจบ ปวช. เตรียมทำงานได้แล้ว และเธอก็ยังคงทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงดูแลน้องคนใหม่ต่อไป

“มีตั้งแต่ช่วยสอนการบ้าน ช่วยเสริมเรื่องพัฒนาการด้านอารมณ์และทักษะการใช้ชีวิต ปรึกษาพูดคุย เวลาเขาไม่มั่นใจ หรือมีเรื่องทะเลาะกับใคร เราจะสอนชี้ให้เห็น ซึ่งสิ่งที่เราเห็นความเปลี่ยนแปลงคือ เขาเริ่มเรียนรู้เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น เมื่อก่อนจะรับแต่ความช่วยเหลือคนอื่น แต่ตอนนี้เขาเริ่มรับผิดชอบตัวเองได้ และเรียนรู้แบ่งเบาภาระ ที่สำคัญเขาเคารพกติกา เพื่ออยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้”

จูนเอ่ยว่า คนมาสถานสงเคราะห์มักคิดว่าตัวเองเป็นผู้ให้ แต่จริงๆ แล้ว เธอเองกลับรู้สึกว่าได้เป็นผู้รับด้วย ซึ่งผลตอบแทนที่เธอได้รับคือการทำความเข้าใจและเรียนรู้ที่จะปรับตัวเอง ได้ฝึกตัวเองให้ใจเย็น อดทน มีวินัยมากขึ้น และได้เอาความรู้ที่มีปรับใช้ด้วย ส่วนแรงจูงใจที่ทำให้เธอยังอยากเป็นจิตอาสามายาวนานถึง 6 ปี ก็เพราะ

“เรารู้สึกว่าน้องเขาจะรอ มันกลายเป็นสิ่งที่เราติดไปแล้ว”

เมื่อถามจูนว่าไม่เสียดายวันพักผ่อนหรือจูนให้ข้อคิดว่า

“ถ้าก่อนหน้านี้ ช่วงวัยรุ่นเราคงเอาเวลาตรงนี้ไปนอนตื่นสายๆ แต่เรามาคิดว่าเราตื่นเช้าไม่กี่ชั่วโมงแค่อาทิตย์ละวัน แต่สามารถทำให้ชีวิตคนอื่นดีขึ้น ไม่ได้ต้องลงทุนอะไรเยอะ และยังฝึกให้เราเองมีวินัย แล้วทำไมไม่ทำล่ะ” จูนกล่าวยิ้มๆ

ส่วน “กอล์ฟ” เป็นอีกคนที่ยอมรับว่า ถ้าก้าวมาในวงการอาสาแล้วออกยาก

“การทำงานมันเหมือนเติมเต็มเราทางร่างกาย เพราะเราต้องกินต้องใช้ แต่งานอาสามันเติมเต็มจิตใจค่ะ” เธอว่า

กิจกรรมจิตอาสาแรกๆ ที่กอล์ฟทำ เริ่มจากสมัยเป็นพนักงานที่บริษัทอเมริกัน ที่จัดกิจกรรมซีเอสอาร์ ให้พนักงานไปสอนการบ้านน้องๆ ที่โรงเรียนคนตาบอด

“คือเราเคยคิดว่าเด็กตาบอดเป็นปมด้อยต้องรู้สึกแย่กับชีวิตเขา เปล่าเลย เขาสุขภาพจิตดีมาก เขาจะมองโลกบวก ไม่เคยคิดว่าเขามีปม เราเลยไปเป็นประจำ พอไปทำสักพักเราก็รู้สึกดีก็เลยไปทำต่อ”

แต่เป็นอาสาสมัครได้ประมาณหนึ่งปีเธอก็ต้องย้ายไปทำงานต่างประเทศ เมื่อกลับมาเมืองไทยอีกครั้ง กอล์ฟได้เห็นบ้านรังสิตประกาศเปิดรับอาสมัครดูแลเด็กเล็กที่บ้านรังสิต จึงคิดอยากหวนคืนสู่วงการอีกรอบ

“เราว่างอยู่เลยไปสมัครเพราะใกล้บ้านที่รังสิต แต่ตอนนี้เราย้ายมาบางนาแล้วนะ แต่ก็ยังไป” เธอกล่าวพร้อมรอยยิ้ม

แต่การเริ่มเป็นอาสาครั้งแรกที่บ้านเด็กอ่อนรังสิต จะมีนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ จะต้องมีพีเลี้ยงจะมาแนะนำ ว่าควรทำอย่างไรบ้าง มีคู่มือให้ศึกษา เพราะน้องๆ เป็นเด็กเล็กต้องมีแนวปฏิบัติที่ถูกวิธี

“หน้าที่เราได้ดูแลน้องๆ อายุตั้งแต่ 1 ปีครึ่งเป็นต้นไป ที่บ้านจะมีเด็ก 20-30 คนต่อพี่เลี้ยง 1 คนเขาต้องทำทุกอย่าง ทำงานบ้าน บางทีเด็กอยากได้ความอบอุ่น ต้องการกอด แต่เขาไม่สามารถกอดเด็กทุกคนได้ครบไง น้องบางคนมีปัญหาเรื่องการพูด พี่เลี้ยงหรือแม่ประจำบ้านก็ไม่มีเวลาที่จะมาฝึกให้เขาได้

ไปครั้งแรกๆ น้องเขาไม่พูดด้วย เพราะเขาไม่เปิดรับคนแปลกหน้า บางคนมีใครไปเยี่ยมเขารู้สึกไม่ปลอดภัย ต้องใช้เวลาประมาณสองเดือน เขาถึงเริ่มพูดคุยเล่นกับเราได้ พอดูแลสักพักเราจะเข้าใจว่าชอบอะไร แต่เด็กจะมีความอ่อนไหวมาก ดังนั้น มันจำเป็นต้องมาเป็นประจำ เพราะความไม่สม่ำเสมอมันทำร้ายเด็กนะ แต่ของกอล์ฟ จัดเวลาได้”

แม้ต้องตื่นแต่เช้าทุกวันเสาร์ เธอก็ไม่เคยรู้สึกขี้เกียจเลยที่จะมาที่นี่ เพราะเป็นกิจกรรมที่เหมือนมาผ่อนคลาย “มันเป็นกิจกรรมมันเหมือนทำให้เรามีคุณค่าในตัวเอง ทำแล้วรู้สึกดี เลยอยู่ได้ ไม่เคยคิดจะเลิกแต่อาจท้อแท้บ้าง ถามว่าเรายังใช้ชีวิตปกติไหม ก็เหมือนคนอื่นไปเที่ยวไปนู่นนี่ได้ เพราะมันแค่วันเสาร์ครึ่งเช้า มันจัดการได้ เมื่อก่อนเคยทำงานบริษัทเกาหลีงานค่อนข้างกดดันมาก พอมาที่นี่ก็รู้สึกเป็นพลัง เพราะเด็กๆ เขามีความไร้เดียงสาที่ทำให้เรายิ้ม หัวเราะได้”

มีผลการศึกษานานาชาติระบุว่าช่วง1,000 วันของชีวิตเด็กนั้น มีความหมายและสำคัญยิ่ง เด็กต้องมีแม่เป็นผู้ใหญ่ 1คนในชีวิตจริง จะเป็นใครก็ตามมาพร้อมกับการกระตุ้นพัฒนาการ ด้วยมีฐานจากการรับรู้ว่ามีความรักที่มั่นคงพร้อมมีชีวิตต่อยอดได้ แต่สำหรับเด็กๆ ที่พร่องพ่อและแม่ พวกเขาจะทำอย่างไร?

มูลนิธิสุขภาพไทย สหทัยมูลนิธิ และมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา จึงได้ริเริ่มการส่งเสริมกิจกรรมอาสาสมัครในสถานสงเคราะห์ เพื่อมอบความสุขและส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ ให้กับเด็กที่ขาดโอกาส โดยริเริ่มที่สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนบ้านปากเกร็ด (บ้านปากเกร็ด) จ.นนทบุรี ด้วยการนำความรู้ด้านการนวดสัมผัสเด็กแรกเกิดถึง 2 ขวบ มาอบรมให้อาสาสมัคร ซึ่งความสำเร็จกำลังขยายผลไปยังสถานสงเคราะห์อื่นๆ

“มูลนิธิทำงานด้านสุขภาพมาก่อน เราทราบดีว่าการนวดสัมผัสเด็กมีผลต่อพัฒนาการ เราจึงรับอาสาโดยการเทรนก่อนให้อาสา หลังจากนั้นเราพบว่านวดอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีการเรียนรู้พัฒนาการต่างๆ อีกมาก จริงๆ เราต้องการอาสาสมัครระยะยาว แต่ถ้าเราจะหามาเลยคงยาก จึงใช้กลยุทธ์เปิดรับอาสาสมัครเป็นรุ่น รุ่นละ 3 เดือน”

วีรพงษ์ เกรียงสินยศ เลขาธิการมูลนิธิสุขภาพไทย เล่าว่า ร่วมมือกับบ้านปากเกร็ดเมื่อปี 2548

“ที่นี่ไม่ขาดด้านปัจจัย 4 แต่เขาต้องการทางด้านจิตใจ สายสัมพันธ์ กับพัฒนาการ เพราะเขามีต้นทุนทางสังคมน้อยกว่า เราออกแบบกลไกด้วยการตั้งคณะกรรมการทำงานภายในแต่ละบ้าน ช่วยในเชิงระบบ ปัจจุบันมีคนสมัครเข้ามาโดยตลอด ส่วนอาสาระยะยาวก็พบว่ามีอาสากลุ่มคุณภาพนี้เพิ่มขึ้น จากประมาณร้อยละ 10 หลังๆ เพิ่มเป็นร้อยละ 20-30”

วีรพงษ์บอกว่าอาสาสมัครมีมาครบทุกสาขาอาชีพ ตั้งแต่ หมอ วิศวกร นักธุรกิจ ครู นักเรียน ฯลฯ

“ผู้พิการที่มาเป็นอาสาสมัครก็มีมา ถ้าเขาพร้อมาเป็นเราโอเค อายุเท่าไหร่ก็ได้ แต่ตั้งต้นหน่วยงานราชการขอให้อย่างน้อย 18-20 ปี อย่างไรก็ดีเราพยายามทำให้เกิดอาสาในเชิงคุณภาพ คือมาสม่ำเสมอ อยู่เป็นเพื่อนเขาในเวลาคุณภาพ 2-3 ชั่วโมง เพื่อให้เด็กๆ เขาจะพร้อมที่จะเรียนรู้อย่างอื่นต่อไป”

ล่าสุดเมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนปากเกร็ด จ.นนทบุรี มูลนิธิสุขภาพไทย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ยังได้จัดกิจกรรม “วันคนอาสาสร้างสุขและเปิดบ้านเยี่ยมชมแหล่ง (ศูนย์) เรียนรู้ เพื่อส่งเสริมจิตอาสาและจุดประกายคนรุ่นใหม่ร่วมส่งมอบความสุขและส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ ให้กับเด็กที่ขาดโอกาสในสถานสงเคราะห์ โดยมี “จูน” และ “กอล์ฟ” ยังมาเป็นพี่เลี้ยงต้นแบบอาสาสมัครคุณภาพของกิจกรรมนี้

ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า สสส. ได้เข้ามาสนับสนุนเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เนื่องจากคณะกรรมการแผนด้านสุขภาวะเด็กได้รับนโยบายว่า นอกจาก สสส. ควรมีโปรแกรมสนับสนุนกับเด็กทั่วไปแล้ว เราควรไปดูเด็กกลุ่มเปราะบางหรือเด็กได้รับผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำด้านต่างๆ ด้วย

“เราได้เห็นว่ามูลนิธิเริ่มมาทำงานกับสถานสงเคราะห์อยุ่แล้วหลายปี และมีความก้าวหน้าเยอะ เพราะขยายจากบ้านเดียวมาเป็น 5 บ้านและพัฒนาระบบจนขั้นเป็นศูนย์เรียนรู้ วันนี้เราเลยชวนบ้านอื่นๆ มาดูงานวันนี้ด้วย ลองมาเป็นเครือข่ายทำดูไหม ก็คิดว่าสถานสงเคราะห์อีก 30 แห่งที่สนใจอยากให้กระบวนการอาสาสมัครเข้าไปหนุนเสริมก็มาเรียนรู้ดูงานที่นี่ได้ว่าเขาจัดระบบอย่างไร บริหารจัดการอย่างไร จนสามารถทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ได้”

ซึ่งตลอด14ปีที่ผ่านมา มีอาสาสมัครผลัดเปลี่ยนมาดูแลเด็กมากกว่า 2,000 คน มีทั้งอาสาสมัครระยะสั้น ระยะยาว ซึ่งจากการติดตามผลทั้งเด็กเล็ก เด็กโต และเด็กพิเศษที่มีพี่อาสานั้นจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ทั้งกายภาพและพฤติกรรมทางอารมณ์ สสส.จึงมองว่าเป็นสิ่งที่ควรต้องเดินหน้าต่อ

“แต่อีกเรื่องที่เรากำลังมองว่าจะอุดช่องโหว่อย่างไร คืออาสาระยะยาว ซึ่งเป็นกลุ่มอาสาคุณภาพนั้นหายาก เพราะการดูแลเด็กตั้งแต่วัยเล็กความสม่ำเสมอเป็นเรื่องสำคัญ การมีคนที่อยู่กับเขาให้เขามั่นคง เราเลยอยากได้คนที่อยู่กับเด็กยาวจนเขาออกไปอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ ซึ่งใน 100 คนจะได้แบบนี้ 5 คน อย่างบ้านปากเกร็ดเด็กประมาณ 300 คนได้อาสาระยะยาว 50-60 คน ถือว่ามากที่สุด”

แต่งานเหล่านี้เป็นงานเฉพาะทาง ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน รวมถึงวิธีการหรือแนวทางที่มาหนุนเสริมก็ต้องดูด้วยว่าสอดรับกับทางสถานสงเคราะห์หรือไม่ สสส.คิดว่าจะร่วมถอดบทเรียนกับทางมูลนิธิสุขภาพไทยต่อไปหลังเห็นผลลัพธ์ที่เป็นพัฒนาการเห็นชัดในเชิงบวก

ขอบคุณ... https://www.bangkokbiznews.com/recommended/detail/1630

ที่มา: bangkokbiznews.com/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 11 ก.ย.62
วันที่โพสต์: 11/09/2562 เวลา 10:25:37 ดูภาพสไลด์โชว์ จิตอาสาคุณภาพ พลังสังคมลดเหลื่อมล้ำพัฒนาการเด็กไทย