‘พิพัฒน์-วราวุธ’ เอ็มโอยูฝึกอาชีพให้ผู้พิการกว่า 4 พันคน เสริมศักยภาพกำลังแรงงาน
เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ที่กระทรวงแรงงาน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมเปิดโครงการและลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) “โครงการส่งเสริมและพัฒนาทักษะอาชีพคนพิการและผู้ดูแลคนพิการสู่ความยั่งยืน” โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หน่วยงานภาครัฐ และเครือข่ายฝีมือแรงงานร่วมสนับสนุน 12 หน่วยงาน มีผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐ นายโชคชัย วิเชียรชัยยะ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ อธิบดี กพร.เข้าร่วม
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีคนพิการในวัยแรงงานราว 800,000 คน ซึ่งจำนวนมากยังขาดโอกาสในการเข้าถึงการฝึกอาชีพ กระทรวงแรงงานจึงร่วมกับ พม. และเครือข่ายฝีมือแรงงานทั่วประเทศ จัดหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อเสริมทักษะตามศักยภาพ และส่งต่อไปยังตลาดแรงงานอย่างเป็นระบบ โดยเน้นให้คนพิการสามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้อย่างมั่นคง
“ขอบคุณ พม.ที่ให้งบประมาณกว่า 21 ล้านบาท นำไปพัฒนาฝีมือแรงงานให้กับผู้พิการ เป็นหมุดหมายในการทำงานร่วมกันของ 2 กระทรวง ที่ต่างมีภารกิจเพื่อพี่น้องคนไทยเช่นเดียวกัน พร้อมทั้งร่วมกันวางระบบเพื่อให้ผู้พิการสามารถใช้ศักยภาพที่เขามีอยู่อย่างเต็มที่ ไม่ใช่ฝึกอาชีพเฉพาะทางเท่านั้น แต่ยังต้องเชื่อมโยงไปถึงโอกาสในการเข้าถึงงานจริง หรือสามารถเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระได้ โดยโครงการที่เราร่วมกันริเริ่มในวันนี้ได้วางแผนอย่างเป็นระบบด้วยการฝึกฝนที่ทันสมัยสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน มีการจับมือกับภาคเอกชนและเครือข่ายองค์กรผู้พิการทุกกรมเพื่อทำให้การฝึกอาชีพในวันนี้นำไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้นในวันข้างหน้า” นายพิพัฒน์ กล่าว
นายพิพัฒน์ กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ กระทรวงแรงงานได้ลงนามร่วมกับบริษัทชั้นนำ จำนวน 23 แห่ง เพื่อส่งเสริมการจ้างงานคนพิการอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีทั้งรูปแบบที่บริษัทจัดส่งแรงงานคนพิการให้ภาครัฐช่วยฝึกทักษะเพิ่มเติม และการที่ภาครัฐส่งเสริมแรงงานคนพิการที่ผ่านการฝึกอบรมให้มีโอกาสเข้าทำงานในสถานประกอบกิจการที่เหมาะสม ความร่วมมือครั้งนี้ ดำเนินงานโดยบูรณาการระหว่าง กรมการจัดหางาน (กกจ.) และ กพร. เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อกลุ่มแรงงานเปราะบาง โดยเฉพาะคนพิการ ให้สามารถเข้าถึงอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
นายวราวุธ กล่าวว่า การลงนามวันนี้ เป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่ส่งให้กับคนพิการทั่วประเทศว่า ภาครัฐในขณะนี้มีแนวทางสนับสนุนและดึงศักยภาพผู้พิการให้กลับมาเป็นพลังสำคัญของสังคมไทย โดยเฉพาะในยุคที่เด็กเกิดใหม่น้อยลง ผู้สูงอายุมากขึ้น
“จึงเกิดคำถามว่า จะเอาแรงงานมาจากไหน เพราะฉะนั้น คนที่มีศักยภาพไม่แพ้กลุ่มอื่นๆ คือ ผู้พิการกว่า 2 ล้านชีวิตที่ พม.และกระทรวงแรงงาน ดูแลอยู่ และด้วยเทคโนโลยีทุกวันนี้ แทบจะทำให้เส้นแบ่งความพิการมลายหายไป การทำงานของ พม.จะเป็นเครื่องยืนยันในการสร้างความหวังให้พี่น้องผู้พิการว่าจากนี้ไป ท่านจะเป็นหนึ่งพลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยไปด้วยกัน จะเดินไปด้วยกันครั้งหน้าไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังพม. ได้สนับสนุนงบจากกองทุนส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ จำนวน 21,519,349 ล้านบาท ให้กับ กพร. สำหรับการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพทักษะอาชีพของคนพิการและผู้ดูแลคนพิการ ซึ่งถือว่าไม่มาก เมื่อเทียบกับสิ่งที่ผู้พิการกว่า 4,000 คน จะได้รับจากโครงการ และอยากให้กระทรวงแรงงานทำโครงการเช่นนี้อีก ซึ่งเรามีงบสนับสนุนอยู่แล้วโครงการละไม่เกิน 30 ล้านบาท เป็นยอดที่สามารถพิจารณาได้โดยไม่ต้องนำเข้าไปพิจารณาในที่ประชุม นอกจากนี้ การจ้างงานผู้พิการนั้น นายจ้างยังสามารถนำค่าใช้จ่ายไปลดหย่อนภาษีได้ 1 เท่าอีกด้วย” นายวราวุธ กล่าว
นายวราวุธ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา มีการส่งเสริมศักยภาพผู้พิการให้มีงานทำมาตลอด โดยกว่าร้อยละ 80 เมื่อรับการอบรมส่งเสริมแล้ว สามารถมีงานทำได้ เช่น การจ้างงานผู้พิการทางสายตามาเป็นเจ้าหน้าที่ ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) 1330 ก็ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเป็นกลุ่มที่มีเซ้นส์ในการได้ยินเสียง และการรับฟังที่ดี
ขณะที่ นายเดชา กล่าวว่า ปี 2568 ตั้งเป้าฝึกอบรมคนพิการและผู้ดูแลคนพิการ 4,328 คน รวม 215 รุ่น ใน 5 กลุ่มอาชีพ ได้แก่ 1.เครื่องดื่มและอาหาร 2.เทคโนโลยีและช่างฝีมือ 3.ศิลปะประดิษฐ์และของที่ระลึก 4.เกษตรและอาหารแปรรูป 5.การขายสินค้าและบริการ โดยหลักสูตรที่เปิดอบรมครอบคลุมทั้งทักษะเฉพาะทาง เช่น การซ่อมรถเข็นคนพิการ การใช้เทคโนโลยีเพื่อค้าขายออนไลน์ การดูแลผู้สูงอายุ และงานบริการต่างๆ ซึ่งเมื่อจบหลักสูตร กพร.จะประสานงานกับ กกจ. และสถานประกอบกิจการ เพื่อให้ผู้ผ่านการอบรมได้มีโอกาสทำงานจริง หรือขอสินเชื่อประกอบอาชีพ ทั้งนี้ คุณสมบัติผู้สมัคร คือ มีอายุ 18 ปีขึ้นไป เป็นคนพิการหรือผู้ดูแลที่มีชื่อในบัตรประจำตัวคนพิการ มีความพร้อมฝึกจนจบหลักสูตร สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ (ยกเว้น จันทบุรีและสมุทรสาคร) หรือสายด่วน 1506 กด 4 กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
ขอบคุณ... https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_5170040