“ธรรมศาสตร์” อบรมผลิตสื่อเสียงบรรยายภาพ (AD) ส่งเสริม "คนพิการทางสายตา" เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร

“ธรรมศาสตร์” อบรมผลิตสื่อเสียงบรรยายภาพ (AD) ส่งเสริม "คนพิการทางสายตา" เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร

การให้บริการเสียงบรรยายภาพ (Audio description) หรือ AD นอกจากจะเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยลดช่องว่างในการเข้าถึงสื่อต่าง ๆ ของคนพิการทางการเห็น ยังเป็นการยกระดับการพัฒนาคุณภาพของคนในประเทศให้ทัดเทียมในระดับสากลด้วย

สื่อ AD ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการเข้าถึงสื่อสำหรับคนพิการทางการเห็นในประเทศไทย ยังมีอยู่ค่อนข้างจำกัด คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงเดินหน้าสานต่อ “โครงการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านการผลิตบริการเสียงบรรยายภาพเพื่อการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของคนพิการ” จากการสนับสนุนของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ(กทปส.)

“ธรรมศาสตร์” อบรมผลิตสื่อเสียงบรรยายภาพ (AD) ส่งเสริม "คนพิการทางสายตา" เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร

เปิดอบรมให้กับประชาชนทั่วไป ที่มีความสนใจในการผลิตเสียงบรรยายภาพทางออนไลน์ในรูปแบบ pre-recorded video

อมีนา ทรงศิริ คนพิการทางการเห็น ที่ปรึกษาด้านสื่อและเสียงบรรยายภาพ หนึ่งในวิทยากรที่ร่วมถ่ายทอดความรู้ด้าน AD จะชวนผู้เข้าอบรมทำความเข้าใจกับโลกที่ไม่มีภาพ กับการบรรยายในหัวข้อ “การสื่อสารเพื่อการเข้าถึงสื่อของคนพิการทางการเห็น” กล่าวว่า โลกที่ไม่มีภาพ อาจจะทำความเข้าใจได้ยากสำหรับคนที่สายตาปกติ

“ธรรมศาสตร์” อบรมผลิตสื่อเสียงบรรยายภาพ (AD) ส่งเสริม "คนพิการทางสายตา" เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร

ดังนั้นการผลิตสื่อ AD จำเป็นต้องทำความรู้จักว่า ความพิการทางการเห็นไม่ได้มีแค่ตาบอดสนิทเท่านั้น บางคนก็สายตาเลือนรางซึ่งยังมองเห็นภาพ ในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป บางคนเห็นเป็นภาพเบลอ เห็นแค่บางมุมของลูกตา ในขณะที่บางคนมองไม่เห็นด้านข้างหรือไม่เห็นตรงกลาง

การทำสื่อเพื่อคนกลุ่มนี้ จึงจำเป็นต้องรู้ว่าคนเหล่านี้เข้าใจภาพแบบไหน อย่างไร มีการใช้ชีวิตโดยรวมเป็นอย่างไร ซึ่งถ้าเรารู้จักผู้ใช้สื่อก่อนก็จะช่วยให้การผลิตงาน AD ตอบโจทย์ความต้องการ เซกชั่นนี้จึงเกิดขึ้น” อมีนา เกริ่นนำถึงเนื้อหาที่ตนเตรียมจะถ่ายทอด

นอกจากนี้ ยังมีวิทยากรที่จะมาให้ความรู้และแลกเปลี่ยนกัน เช่น รศ.ดร.กุลนารี เสือโรจน์ นักวิชาการด้านสื่อและคนพิการ คณะวารสารศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะเล่าถึงประวัติและความสำคัญของเสียงบรรยายภาพ ทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมถึงการนำไปใช้ประโยชน์

รศ.ดร.อารดา ครุจิต นักวิชาการด้านเสียงบรรยายภาพผู้มากประสบการณ์ จากคณะวารสารศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการเขียนบทเสียงบรรยายภาพที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้ใช้งานเข้าใจเนื้อหาและได้รับอรรถรส

ดร.พันธกานต์ ทานนท์ ภาคีเครือข่ายจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จะมาแบ่งปันประสบการณ์และความท้าทาย ในการทำเสียงบรรยายภาพสำหรับรายการสาระและบันเทิง กมลวรรณ สุนทรธรรม ผู้ประกาศข่าวช่อง 3 มีประสบการณ์ลงเสียงบรรยายงาน AD จะอธิบายเทคนิคการลงเสียงบรรยายภาพ และเล่าถึงความแตกต่างของงานลงเสียงบรรยายภาพกับงานลงเสียงประเภทอื่น

ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล และปิยะวัลย์ องค์สุวรรณ จากมูลนิธิด้วยกัน เพื่อคนพิการและสังคม ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน Vohan และ Pannana จะมาแนะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ช่วยให้การผลิตและเข้าถึงเสียงบรรยายภาพง่ายขึ้นและใกล้ตัวมากขึ้น

อมีนากล่าวต่อว่า ถ้าคนทั่วไปเข้ามาเรียนรู้กันเยอะๆ และมีทักษะการผลิตเพิ่มขึ้น สื่อ AD ก็จะขยายวงกว้าง คนที่ใช้ก็จะเข้าถึงสื่อได้หลากหลาย ตรงกับความต้องการของคนพิการทางการเห็นมากขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถนำไปปรับใช้กับตัวเองได้ จะเป็น Content Creator ก็ยังได้ อย่างในต่างประเทศ

ตอนนี้ EU มีกฎหมายที่ผลักดันให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงบริการดิจิทัลได้อย่างเท่าเทียม เพราะการเข้าถึงเป็นสิทธิ สิ่งสำคัญอยากให้เข้าใจว่า การทำเรื่องนี้ เราไม่ได้ทำเพื่อการกุศล แต่เป็นบริการเพื่อความเท่าเทียมกัน ลดความเหลื่อมล้ำ ตามหลักการสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่สากลให้การยอมรับ

ด้าน ปิยะวัลย์ องค์สุวรรณ จากมูลนิธิด้วยกัน เพื่อคนพิการและสังคม ที่พัฒนาแอปพลิเคชัน Vohan และ Pannana ที่จะมาร่วมถ่ายทอดความรู้สื่อ AD ผ่านนวัตกรรมที่ยกระดับกระบวนการผลิตและการเผยแพร่เสียงบรรยายภาพ นอกจากทำให้เข้าถึงในสื่อภาพเคลื่อนไหวของคนพิการทางการเห็นมีความเท่าเทียมในการรับรู้ ผ่านเสียงแล้วยังช่วยให้มีส่วนร่วมกับคนอื่นๆ ในสังคมได้ด้วย

Vohan คือ โปรแกรมผลิตเสียงบรรยายกึ่งอัตโนมัติ ส่วนแอป Pannana คือเสียงบรรยายภาพที่คนพิการทางการเห็นสามารถติดตั้งไว้บนสมาร์ทโฟน และเปิดใช้ได้สะดวกเวลาที่ต้องการดูสื่อต่าง ๆ เช่น ภาพยนตร์ ละครทีวี หรือข่าวสาร

ที่ผ่านมาระบบเสียงไม่ได้มีการพัฒนาในรูปแบบนี้ ยังเป็นเสียงที่มาพร้อมกับลำโพง แต่เสียงบรรยายภาพ Pannana เพียงแค่กดเชื่อมต่อ ฟังผ่านหูฟัง ดูหนัง ฟังเพลงไปพร้อม ๆ กับคนตาดีได้โดยที่เสียงไม่รบกวนคนอื่น

นอกจากนี้เราได้ยังเตรียมที่เล่าประสบการณ์ ให้ผู้เข้าอบรมได้รู้ว่า นวัตกรรมง่ายๆ ที่ช่วยให้คนพิการทางการเห็น มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม กับคนอื่น ๆ ได้นั้นเป็นอย่างไร เช่น การช่วยให้เค้าได้ออกไปวิ่งออกกำลังกาย ด้วยการเป็นไกด์รันเนอร์-Guide Runner” หรือผู้นำทางให้ความช่วยเหลือระหว่างวิ่ง ก็ทำให้คนพิการทางสายตา สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้อย่างปลอดภัย และมีความสุขได้

ลองหลับตา แล้วจินตนาการถึงสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว สามารถรับรู้อะไรได้บ้าง หากยังมีข้อสงสัย เสียงบรรยายภาพ มีคำตอบ ผู้ที่สนใจการอบรมสามารถติดตามข่าวสารและกำหนดการเปิดลงทะเบียนได้ทางเพจ JC Thammasat

ขอบคุณ... https://www.thaipbs.or.th/news/content/354147

ที่มา: thaipbs.or.th/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 14 ก.ค.68
วันที่โพสต์: 14/07/2568 เวลา 13:56:21 ดูภาพสไลด์โชว์ “ธรรมศาสตร์” อบรมผลิตสื่อเสียงบรรยายภาพ (AD) ส่งเสริม "คนพิการทางสายตา" เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร