คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกำหนดให้เดือนพฤษภาคมของทุกปี เป็นเดือนแห่งสุขภาพใจ (Mind Month)
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่รายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2568 ทางคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกำหนดให้เดือนพฤษภาคมของทุกปีเป็นเดือนแห่งสุขภาพใจ (Mind Month) มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสุขภาพจิต เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการจัดกิจกรรมรณรงค์และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ
ตามนิยามขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ระบุว่า “สุขภาพจิตที่ดีหมายถึง ภาวะที่บุคคลสามารถรับรู้ศักยภาพของตนเอง จัดการกับความเครียดในชีวิต ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีส่วนร่วมในสังคม” แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของสุขภาพจิตที่ไม่เพียงมีผลต่อตนเอง แต่ยังมีผลต่อคนรอบข้างและส่งผลต่อสังคมอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีประชากรมากกว่าหนึ่งพันล้านคนทั่วโลก ที่ประสบปัญหาความผิดปกติทางจิตหรือการติดสารเสพติด ทำให้ปัญหาสุขภาพจิตเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของความพิการ และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
สถานการณ์สุขภาพจิตในประเทศไทยปัจจุบันเผชิญปัญหาสุขภาพจิตที่ทวีความรุนแรงขึ้น จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิตพบว่าการประเมินผ่านแอปพลิเคชัน Mental Health Check In (1 ม.ค. 2563 - 20 ก.พ. 2568) จากจำนวน 6,154,474 ราย พบความเสี่ยงซึมเศร้าร้อยละ 9.14 (562,289 คน) เสี่ยงฆ่าตัวตายร้อยละ 5.18 (318,917 คน) และความเครียดสูงร้อยละ 7.87 (484,313 คน) โดยกลุ่มอายุ 20 - 29 ปี มีความเสี่ยงสูงสุด ในส่วนสถานการณ์ปัญหาจิตเวชสำคัญ พบว่าผู้ป่วยจิตเวชและสารเสพติด เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ประมาณ 5 แสนคน (ข้อมูล Health Data Center (HDC) เดือนพฤศจิกายน 2567) ในขณะที่ข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังป้องกันการฆ่าตัวตาย (2567) พบคนไทยเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย 5,217 คน หรือเท่ากับ 8.02 ต่อแสนประชากร เฉลี่ยวันละ 15 คน หรือเสียชีวิต 1 คน ในทุก 2 ชั่วโมง (มบ.1กองยุทธศาสตร์และแผนงาน, 2567) และคนไทยพยายามฆ่าตัวตาย 33,926 คน หรือเท่ากับ 52.07 ต่อแสนประชากร เฉลี่ยวันละ 93 คน หรือมีผู้พยายามฆ่าตัวตาย 7 คน ในทุก 2 ชั่วโมง และจากศูนย์ความรู้โรคซึมเศร้าไทย (2567) คาดการณ์ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอายุ 15 ปีขึ้นไป มีจำนวน 1,357,562 คน อีกด้วย
นอกจากผลกระทบด้านสุขภาพแล้ว ปัญหาสุขภาพจิตยังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจ ทั้งผลกระทบทางตรง เช่น ค่าใช้จ่ายในการรักษา ค่าเดินทางพบแพทย์ ผลกระทบทางอ้อม เช่น การสูญเสียรายได้และผลิตภาพแรงงานจากการขาดงานหรือทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพและผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม การลดกำลังแรงงานย่อมส่งผลให้ผลผลิตทางเศรษฐกิจลดลง
กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสุขภาพจิต ตระหนักดีว่าปัญหาสุขภาพจิตเป็นเรื่องสำคัญที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตประชาชนในวงกว้าง การจัดการปัญหานี้ไม่สามารถดำเนินการเพียงหน่วยงานเดียวได้เนื่องจากลักษณะของปัญหาที่ซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับหลายมิติ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การศึกษาและการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ดังนั้น การขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพจิตอย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องอาศัยการทำงานร่วมกันในลักษณะเครือข่ายความร่วมมือ ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม
การประกาศให้เดือนพฤษภาคมเป็นเดือนแห่งสุขภาพใจ (Mind Month) เป็นมติคณะรัฐมนตรี จะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความชัดเจน ด้านนโยบายและกำหนดกรอบการดำเนินงานร่วมกันระหว่างทุกภาคส่วนในประเทศ และมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสุขภาพจิตเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการจัดกิจกรรมรณรงค์และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โดยเครือข่ายในการขับเคลื่อนกิจกรรมเดือนแห่งสุขภาพใจ ซึ่งจะร่วมกันขับเคลื่อน เน้นหนักในประเด็น การลดการตีตรา , การสร้างความตระหนักรู้ , การเข้าถึงบริการสุขภาพจิต และการสร้างพื้นที่ปลอดภัย
ขอบคุณ... https://thainews.prd.go.th/thainews/news/view/1105909/?bid=1