ฟังเสียงสะท้อน ‘คนหูหนวก’ ในวันที่ ‘สิทธิการสื่อสาร’ ถูกพราก เหตุจากปัญหาการจัดสรรงบ
การสื่อสารคือสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ ซึ่งสำหรับ “คนหูหนวก” แม้การพูดจะไม่ใช่วิธีสื่อสารที่เขามีอยู่ หากแต่บริการล่ามภาษามือจาก ศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย (Thailand Telecommunication Relay Service : TTRS) คือเครื่องมือสำคัญที่ทำให้พวกเขาสื่อสารกับโลกได้อย่างเท่าเทียมและมีศักดิ์ศรี
อย่างไรก็ตาม สิทธิในการสื่อสารนั้นกลับถูกลิดรอนไปในช่วงกลางเดือน มิ.ย. 2568 เมื่อบริการ TTRS ได้ยุติให้บริการลงชั่วคราว อันเนื่องมาจากขาดเงินสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทำให้คนหูหนวกนับหมื่นคนทั่วประเทศต้องเผชิญกับข้อจำกัดในการดำรงชีวิตประจำวัน ทั้งเรื่องงาน สุขภาพ ความปลอดภัย
ทั้งหมดนี้กลายเป็นเหตุที่ผลักดันให้คนพิการทางการได้ยินหลายสิบชีวิต ต้องรวมตัวกันออกมาเรียกร้องสิทธิดังกล่าวบริเวณหน้าตึกสำนักงาน กสทช. ในวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อทวงคืนสิทธิของพวกเขา ด้วยความหวังว่าชีวิตของพวกเขาจะกลับมาสื่อสารได้ดังเดิมอีกครั้ง
"The Coverage" ได้รับฟังเสียงสะท้อนจากกลุ่มคนพิการทางการได้ยินที่เดินทางมาเรียกร้อง ผ่านล่ามภาษามือ เพื่อสื่อสารถึงผลกระทบที่พวกเขาต้องเผชิญ ภายหลังจากสิทธิในการสื่อสารเดียวที่มีนั้นถูกลิดรอนไป อันเนื่องมาจากการบริหารงบประมาณที่ไม่ลงตัว
ย้อนเล่าวันวาน เมื่อ ‘TTRS’ เคยเป็นสิทธิในการสื่อสาร
สายัณห์ อินทโต ตัวแทนไรเดอร์ผู้พิการทางการได้ยิน เล่าว่า เขาใช้บริการของ TTRS มาตั้งแต่ยังเป็นระบบคอมพิวเตอร์ ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งทำให้ชีวิตง่ายขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะกับผู้ประกอบอาชีพไรเดอร์ ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงการสื่อสารกับคนทั่วไปได้ ซึ่งตัวเขาเองก็ได้ใช้บริการดังกล่าวมาเป็นเวลามากกว่า 15 ปี
ขณะที่ โอภาส นันทนานิมิตกุล คนพิการทางการได้ยินอีกราย บอกเล่าเรื่องราวของตนเองว่า ก่อนที่จะรู้จักบริการของ TTRS หากมีความต้องการให้ล่ามพาไปโรงพยาบาล จะต้องใช้ล่ามจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ซึ่งต้องติดต่อล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน และต้องรอคิวต่อจากผู้อื่น เนื่องจากล่ามมีจำนวนจำกัด
อย่างไรก็ดี เมื่อได้รู้จักบริการของ TTRS โอภาส ระบุว่า ชีวิตของเขาเปลี่ยนไปอย่างไม่คาดคิด เพราะเขาสามารถสื่อสารกับคนทั่วไปได้อย่างไม่มีข้อจำกัด ทั้งด้านการทำงาน การใช้ชีวิตประจำวัน และที่สำคัญอย่างยิ่งคือในกรณีฉุกเฉิน ที่ปกติแล้วเขาไม่รู้ว่าจะติดต่อหาใคร แต่แอปพลิเคชันของ TTRS กลับมีบริการปุ่มฉุกเฉินที่พร้อมช่วยเหลือเขาตลอดเวลา นับตั้งแต่บริการติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไปจนถึงบริการแพทย์ฉุกเฉิน
ทั้งหมดนี้คือภาพสะท้อนสำคัญว่า เหตุใดพวกเขาจึงจำเป็นต้องออกเดินทางมารวมตัวกันเสนอข้อเรียกร้องแก่ กสทช. ให้เร่งจัดสรรงบประมาณ เพื่อให้ชีวิตของพวกเขากลับมาสื่อสารกับคนทั่วไปได้อีกครั้ง
20 วันที่ไร้เสียง กับคุณภาพชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป
เพราะความเคยชินกับการสื่อสารที่ไร้ข้อจำกัด เมื่อ TTRS ปิดบริการลง สายัณห์ เผยว่าเกือบ 20 วันที่ไม่มีบริการ TTRS คนหูหนวกจำนวนมากได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วง จนหลายครั้งรู้สึกท้อใจเป็นอย่างมาก และตัวเขาเองในฐานะตัวแทนคนหูหนวกที่คอยรับฟังปัญหาจากหลายคน ก็รู้สึกสะเทือนใจเป็นอย่างมาก
“เพื่อนของผมที่ประกอบอาชีพไรเดอร์ มีหลายคนที่ติดต่อกับลูกค้าไม่ได้ ต้องให้คนหูดีช่วยพิมพ์ข้อความให้ การสื่อสารกับคนทั่วไปกลายเป็นเรื่องยาก บางคนใช้แพ็กเกจรายเดือน แต่ต้องเสียค่า SMS เพิ่มเนื่องจากโทรหาลูกค้าไม่ได้ ทำให้ไม่สามารถแจ้งเหตุฉุกเฉิน ตำรวจ ไฟไหม้ หรือแม้แต่ไปโรงพยาบาลเองได้”
ทั้งนี้ ระหว่างการพูดคุย หนึ่งในไรเดอร์คนพิการทางการได้ยิน ได้ก้าวออกมาเล่าถึงชีวิตของตนเองหลัง 20 วันที่ผ่านมา ระบุว่าตนเองรู้สึกเหนื่อยและเครียดเป็นอย่างมาก เนื่องจากการปิดบริการของ TTRS ทำให้รายได้ลดลงเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะในแง่คะแนนประเมินการทำงานที่ได้ลดลง เพราะลูกค้าไม่พึงพอใจ อันมาจากปัญหาเรื่องการสื่อสาร ซึ่งทางบริษัทไรเดอร์ก็ไม่ได้มีนโยบายที่จะเข้ามาช่วยเหลือปัญหาที่เกิดขึ้นในส่วนนี้
“แม้รายได้ที่ลดลงจะเป็นเงินจำนวนไม่กี่ร้อย ซึ่งอาจดูไม่เยอะมากสำหรับบางคน แต่ก็ถือว่าทำให้ผมและครอบครัวมีความลำบาก เนื่องจากพวกเราก็มีรายได้ที่ต้องรับผิดชอบค่อนข้างเยอะ” เขาระบุ
มากกว่าเรื่องงาน คือสิทธิขั้นพื้นฐาน และการเข้าถึงสาธารณสุข
นอกจากปัญหาสำคัญเรื่องการทำงานแล้ว อีกสิ่งสำคัญที่คนพิการทางการได้ยินออกมาสะท้อนร่วมกันก็คือ ความยากลำบากในการเข้าถึงบริการด้านการสาธารณสุขที่ติดขัดเป็นอย่างมาก เมื่อ TTRS ปิดบริการลง
โดยคนพิการทางการได้ยินจำนวนหนึ่งบอกเล่าว่า ก่อนหน้านี้พวกเขาใช้บริการล่ามของ TTRS ในการติดต่อสื่อสารกับแพทย์ แต่เมื่อ TTRS ปิดบริการลง คนพิการทางการได้ยินส่วนมากก็ต้องรบกวนให้สมาชิกในครอบครัวพาไปพบแพทย์ ซึ่งปัญหาสำคัญคือ ไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าใจในภาษามือที่คนพิการทางการได้ยินนั้นพยายามสื่อสารออกมา
เขายังสะท้อนความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า คนหูหนวกจำนวนมากไม่มีผู้ดูแล และไม่สามารถสื่อสารเองได้ในสถานพยาบาล ซึ่งทั้งหมดนี้นำไปสู่ความเสี่ยงที่แพทย์จะได้รับข้อมูลผิดพลาด อันจะส่งผลต่อคำวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้อง หรืออาจทำให้พวกเขาไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม
เสียงสะท้อนที่ฝากไว้ ในวันที่ความเงียบเข้าครอบงำ
ในช่วงสุดท้ายของการพูดคุย สายัณห์ ในฐานะตัวแทนคนหูหนวกที่เดินทางมาเรียกร้องในวันนี้ ได้อธิบายว่า พวกเขาไม่ได้ต้องการเดินทางมาเพื่อต่อว่าการทำงานของ กสทช. เพราะพวกเขาเองก็มีความเข้าใจกระบวนการทำงานที่ค่อนข้างซับซ้อน
แต่ทั้งนี้คนหูหนวกเองก็ลำบากมากเช่นกัน เมื่อรู้สึกว่าชีวิตที่เขาเคยสื่อสารได้ มาวันนี้กลับไม่สามารถติดต่อสื่อสารได้อีกตามที่ควรจะเป็น ซึ่งหลายครั้งอาจทำให้คนหูหนวกบางรายต้องสูญเสียศักดิ์ศรีของตนเองไป
“มีเพื่อนของผมคนหนึ่งเกิดอุบัติเหตุระหว่างการขับขี่ แต่เขาไม่สามารถติดต่อประกันได้ ทำให้ต้องยอมเป็นฝ่ายผิดและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งผมมองว่าสิ่งนี้ไม่ควรที่จะเกิดขึ้น เพราะพวกเราก็มีศักดิ์ศรีไม่ต่างจากคนทั่วไป” คำบอกเล่าบางช่วงบางตอนที่เขาสะท้อน
ในฐานะตัวแทนคนหูหนวก สายันห์ สื่อสารว่าเขาอยากขอขอบคุณ TTRS ที่คอยช่วยเหลือให้บริการล่ามมาตลอดระยะเวลาหลายปี และขอขอบคุณ กสทช. ที่ให้งบสนับสนุนมาโดยตลอด ซึ่งคนหูหนวกทุกคนหวังว่าหลังจากนี้ ทุกฝ่ายจะช่วยเหลือกันในการทำงาน และทำให้พวกเขากลับมาใช้ชีวิตได้ปกติเหมือนที่่ผ่านมาโดยเร็วที่สุด โดยคนหูหนวกจะรอติดตามผลการดำเนินงานของทั้งสองหน่วยงานต่อไปในอนาคต