ส่องแนวคิด‘ไรเดอร์’ ณัฐสหัพย์ ตันติศุภพาณิชย์ ลงสมัคร ส.ว.กลุ่มผู้พิการ
เมื่อเห็นว่ามีการเชิญชวนให้มีการลงสมัครสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ก็อยากจะลงในกลุ่มคนพิการ อยากเข้าไปผลักดันสิทธิคนพิการ โดยเฉพาะเรื่องการจัดสรรอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้พิการ ซึ่งรัฐบาลมีการจัดสรรเงินให้เพียง 20,000 บาทเท่านั้น และเป็นอุปกรณ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยมีบริษัทเอกชนที่ผลิตอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้พิการ คอยรับจ้างผลิตอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งมีกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เป็นผู้สนับสนุน โดยกองทุนฯให้เงินสนับสนุนค่าอุปกรณ์คนละ 80,000 บาทต่อคน ใน 5 ปี ผมขออุปกรณ์ขาเทียมมาแต่ใช้งานไม่ได้ เขาก็ยัดมาให้เป็นของที่ไม่มีคุณภาพ ไม่มีการตรวจสอบ หลายโรงพยาบาลก็ใช้อุปกรณ์ไม่เหมือนกัน
ผมประสบอุบัติเหตุตั้งแต่ยังเด็ก ชีวิตดิ้นรน สมัยก่อนลำบากมาก ไปใช้ชีวิตที่เชียงใหม่ คอยซ่อมและขายคอมพิวเตอร์ เป็นลูกมือช่วยอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ช่วยทำงานวิจัย เก็บแบบสอบถาม คีย์ข้อมูล ผมเห็นกลุ่มคนพิการหลายคนที่ไปเป็น ส.ว.ก็ไม่เห็นมีการผลักดันอะไร มีแต่จะไปขอเศษเงิน แล้วเอาไปช่วยเหลือคนละ 500-1,000 บาท
สัปดาห์ที่แล้ว ก็มีน้องคนพิการโพสต์ในเพจว่าถูกตัดขาขาด 2 ข้าง ผมก็เลยแนะนำให้ไปปรึกษาที่สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ ซึ่งเขาไม่คิดว่าจะเดินขึ้นมาได้ แต่ละโรงพยาบาลคนละทิศคนละทาง ควรจะมีการสื่อสารให้ครอบคลุม ให้รู้ว่าแต่ละที่มีการผลิตอุปกรณ์ช่วยเหลือคนพิการ แต่ละอย่างเป็นอย่างไร ให้มีแพทเทิร์นเดียวกัน ในกรุงเทพฯ ยังดีที่มีแหล่งจำหน่ายอุปกรณ์ช่วยเหลือคนพิการ ซึ่งในต่างจังหวัดก็มี แต่คุณภาพสู้ในกรุงเทพฯไม่ได้ เพราะผมเคยอยู่ต่างจังหวัด ไปทำอุปกรณ์แห่งหนึ่งที่เชียงใหม่ ลองสวมขาเทียม 3-4 รอบ ก็เดินไม่ได้ และบริษัทนั้นนำสิทธิของผมไปเบิกกับทางรัฐบาลด้วย แต่ผมก็ไม่ได้ขาเทียมตัวนั้นกลับมา
อยากให้รัฐจัดสรรอุปกรณ์ที่มีคุณภาพ ขจัดพวกบริษัทที่หากินกับคนพิการ ปัจจุบันทำกันเป็นล่ำเป็นสัน มีการโฆษณาทางออนไลน์ตามหาคนพิการ เวลามีใครแนะนำ คนนั้นก็จะได้ค่าแนะนำ ใครเห็นคนพิการแขนขาขาดจากอุบัติเหตุ บริษัทพวกนี้ไม่มีแพทย์ที่ตรวจสอบว่าขาคุณใส่ได้ไหม หลายคนเอาไปแล้วใส่ไม่ได้ แต่ ขบ.ก็ไม่ตรวจสอบ สมัยก่อนผมร้องเรียน ขบ.ไปก็เงียบ บริษัทที่ทำแย่ก็ยังรับจ้างทำอยู่ ถ้าทำแล้วใส่ได้ก็ไม่ได้ว่าอะไร
กระบวนการของภาครัฐมีการซื้ออุปกรณ์มาในราคาถูก แต่ว่าเมื่อนำไปเบิกกลับมีราคาแพง ซึ่งมีการกินส่วนต่าง คนพิการจึงได้อุปกรณ์ไม่ดีเท่าที่ควร แต่เสียภาษีไปเต็มเหนี่ยว อย่างไรก็ตาม จะให้เงินกับคนพิการไปจัดซื้ออุปกรณ์เองก็คงไม่ได้ คนพิการก็ไม่ซื้ออยู่ดี อยากให้รัฐบาลทำสัญญาซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) กับบริษัทต่างประเทศโดยตรง โดยไม่ต้องคิดภาษีนำเข้า ซึ่งมีของบริษัทหนึ่งของเยอรมันที่ผลิตอุปกรณ์ได้อย่างดีเยี่ยม แต่มีราคาแพง ผมเลยคิดว่าคนไทยก็น่าจะสามารถพัฒนาอุปกรณ์ได้ โดยในประเทศไทยมีการเรียนการสอนกายอุปกรณ์ศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ สาขาวัสดุศาสตร์ เครื่องกล ก็น่าจะมีการร่วมมือกันพัฒนาได้
ส่วนกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ไม่ได้มีการทำงานเชิงรุก โดยเฉพาะสิทธิการกู้ยืมเงินเพื่อประกอบอาชีพของคนพิการและผู้ดูแลคนพิการ รายละไม่เกิน 60,000 บาท หรือไม่เกิน 120,000 บาท ไม่มีดอกเบี้ย แต่ละสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) แต่ละที่ก็ให้ไม่เหมือนกัน อย่างในกรุงเทพฯ ใช้บุคคลธรรมดาค้ำประกัน แต่ต่างจังหวัดต้องใช้เป็นข้าราชการระดับนายร้อย มาเป็นบุคคลค้ำประกัน แล้วใครจะมีนายร้อยไหนไปค้ำให้
ผมพูดคุยกับคนพิการหลายคนบอกว่ากู้ยากมาก โดยเฉพาะต่างจังหวัด ต้องวิ่งกันหลายรอบ ได้ทีต้องมีการเชิญข้าราชการทั้งหมดมาถ่ายรูปรับมอบโอ้โห เงินที่เราต้องกู้จะต้องมีพิธีรีตอง ถ้าผมมีโอกาส ผมจะเข้ามาแก้ตรงนี้ดีกว่า ผมจะเสนอข้อมูลให้กับรัฐบาลที่จริงใจกับประชาชน
นอกจากนี้ อยากให้คนพิการได้รับการศึกษาฟรีอย่างไม่มีลิมิต เพราะผมมองว่าถ้าคนพิการได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน จนถึงระดับปริญญาเอก จะสามารถช่วยเหลือตัวเอาเองได้ ซึ่งก็เป็นไปตามศักยภาพของความพิการนั้นๆ ไม่ใช่ว่าไปเรียนด้านวิศวกรรมศาสตร์ ที่ไม่สามารถไปทำงานได้ เพราะการศึกษาทำให้คนพิการอยู่รอดได้ ไม่ต้องไปนั่งขายของ ไม่ต้องลำบากเข็นรถวีลแชร์ หรือในอนาคตมีระบบ AI ที่จะทำให้คนพิการมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในอีก 20 ปีข้างหน้า โดยที่ไม่ต้องมานั่งขายลอตเตอรี่ หรือนั่งขายน้ำตามฟุตปาธ
ผมเคยเจอ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. ไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กอยู่ ผมบอกว่าทำไมไม่จัดโซนนิ่งให้คนพิการได้ขายของ เช่น ในตลาดใหญ่ๆ ให้เขาอยู่ปากทาง คงไม่ได้เสียพื้นที่อะไรมาก สิทธิพวกนี้ผมว่าคนปกติอาจจะมองไม่เห็น
รวมถึงอยากให้มีการเพิ่มเบี้ยคนพิการ จากเดือนละ 800 บาท เป็น 3,000 บาท ค่อยๆ ขึ้นเป็นขั้นบันได จะทำให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ขึ้นอยู่ทุกวัน รัฐบาลให้ 800 บาทมาตั้งนานแล้ว คนพิการก็ไม่ได้มีเยอะขนาดที่ต้องใช้เงินภาษีมากขนาดนั้น แต่รัฐบาลคงมองว่าคนพิการได้รับหลายสิทธิจากรัฐเยอะแล้ว
ที่กล่าวมานี้เป็นเหตุผลที่ผมจะลงสมัคร ส.ว. แต่ส่วนตัวก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้รับเลือก ขอแค่เข้าไปมีส่วนร่วม เพราะกลุ่ม ส.ว.ที่อยู่ก็เป็นกลุ่มเดิมๆ ที่เป็นประธานมูลนิธิ สมาคมต่างๆ ที่เอาโควต้าลอตเตอรี่ไป ในอดีตผมก็เคยถามว่าอยากได้ลอตเตอรี่ 5 เล่มมาขาย แต่เขาบอกไม่ได้แจกตัวลอตเตอรี่ แต่แจกเป็นเงินช่วยเหลือแค่ครั้งเดียว แต่ว่าเขาเอาชื่อเราไปขอลอตเตอรี่มาทุกงวด คนที่เข้าไปเป็นสมาชิกก็ไม่ได้
อย่างน้อยเราก็มีสิทธิเลือก ส.ว.ท่านอื่นที่มีแนวคิดเดียวกับเรา ใกล้เคียงกับเรา นึกถึงประชาชนเป็นหลัก แต่กลุ่มของผมที่ไม่เอาคือหัวหน้าองค์กรคนพิการ เพราะที่ผ่านมาไม่ได้ทำหน้าที่ให้คนพิการเลย ตั้งมาเพื่อผลประโยชน์แอบแฝงหรือไม่ ผมเลยไม่เอา เบื่อ
สำหรับเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ส่วนตัวอยากให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ไม่ต้องยกเว้นหมวดไหน ไม่ต้องมีถามประชามติที่มีความกำกวม ทำให้เลือกพลาด
ถามว่าถ้าเกิดได้เข้าไปเป็น ส.ว. ผมจะสนับสนุนการยกเลิก ส.ว.ให้เหลือแต่ ส.ส.ด้วยหรือไม่ ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องยาก ขนาดมี ส.ว.ตอนนี้ก็ยังมีปัญหาเลย ถ้ายกเลิกยิ่งมีปัญหาใหญ่ ไม่มีใครคานอำนาจใคร ด้วยความที่เป็นคนไทย มีความเป็นไทย ต้องมีเด็กบ้างผู้ใหญ่บ้าง ความเป็นไทยต้องมีความผสมผสาน แต่ไม่ใช่เข้าไปแล้วรวมกลุ่มแล้วมาต่อรองกัน มันก็ไม่ถูก ถ้าเป็นผมเข้าไปแบบอยู่ตัวคนเดียว ใครจะมาชวนเข้ากลุ่มก็ไม่สน ผมจะทำเพื่อประชาชน ให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด
การยกเลิก ส.ว. ผมยังมองไม่ขาดว่ายกเลิกแล้วจะเกิดอะไร แต่ถ้าปรับมาเป็นเลือกตั้ง หรือเลือกตั้ง + แต่งตั้ง คือเลือกตั้ง 60% แต่งตั้ง 40% เอามาคานกันก็ได้ แต่ถ้าไม่มีเลย มีแต่ ส.ส. 500 คน ถ้าอีกฟากนึงได้เข้าไป 300-400 เสียง แล้วไม่ฟังเสียงประชาชนก็เกิดขึ้นได้ เพราะเราสัมผัสมาแล้ว เวลาเข้าไปในรัฐสภา ส.ส. และ ส.ว.ไม่ฟังกันเลย ผลสุดท้ายก็ไม่แก้ไขให้ ประชาชนได้รับผลกระทบ ถ้าทำแบบนั้นอาจจะไม่มีใครค้านใครเลยก็ได้
เหมือนอย่างเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อยากให้แก้ไขกฎหมาย ให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่แจ้งความ ไม่อยากให้ประชาชนมีสิทธิฟ้องกันเอง เพราะอาจจะเป็นการกลั่นแกล้งกัน มันเป็นเรื่องที่พูดคุยกันได้ในรัฐสภา เพราะในอดีตก็มีการแก้ไขมาแล้ว ไม่เห็นมีใครคัดค้าน
อย่างไรก็ดี ส.ว.ในส่วนแต่งตั้ง เช่น ตัวแทนจากกองทัพ เอามาคานกันไม่ให้หนักเกินไปก็ได้ ฝ่ายความมั่นคงจะได้มีส่วนร่วม หรือภาคเอกชนอยากจะมีส่วนร่วมก็ควรจะทำได้ เพราะอย่าลืมว่าประชาชนอีกฟากนึงก็มีเหมือนกัน แต่ประชาชนที่อยากยกเลิก ส.ว.มี 60% แต่อีก 40% จะทิ้งเขาอยู่ข้างหลังหรือ? อย่างน้อยเอาข้อมูลไปบอกพวกเขา
อย่าลืมว่ายังมีคนปกติที่ไม่เอนเอียงพรรค การเมืองใด เราจะเห็นว่าช่วงเลือกตั้งนักการเมืองสนใจประชาชนเป็นที่ 1 แต่เวลาเข้าสภาไปแล้วทิ้งประชาชนไปเลย ทำให้ประชาชนที่เลือกเสียความรู้สึก เป็นแบบนี้มานานมาก สัญญาที่เคยให้ประชาชนไว้ก็หายไปหมด