TTRS ขาดงบกระทบคนหูหนวก ปิดบริการ ‘ชั่วคราว’ ทุกระบบ 3 แสนคนเจออุปสรรคทุกมิติ
ศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารฯ TTRS ประกาศปิดบริการสื่อสารแทนคนหูหนวกชั่วคราว เหตุไม่ได้รับงบจาก กสทช. 2 ปี แบกต้นทุนค่าบริการไม่ไหว ยอมรับคนพิการกว่า 3 แสนคนจะเจอผลกระทบทุกมิติ โดยเฉพาะการเข้ารับบริการสาธารณสุข
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2568 ศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย (TTRS) ได้ประกาศผ่านทางเพจ Facebook “TTRS Thailand” ระบุว่า จะยุติการถ่ายทอดการสื่อสาร หรือการให้บริการล่ามแปลภาษามือ สำหรับคนพิการทางการได้ยินในกรณีที่ติดต่อหน่วยงาน องค์กร หรือการไปรับบริการสาธารณสุขทุกระบบ และทุกแพลตฟอร์ม เป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 13 มิ.ย. 2568 โดยให้เหตุผลว่า ขาดการสนับสนุนงบประมาณจาก สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นเวลา 2 ปี ทำให้ไม่สามารถจัดบริการถ่ายทอดการสื่อสารได้ แต่หากได้รับจัดสรรงบประมาณแล้ว จะกลับมาให้บริการอีกครั้งนั้น
ล่าสุด “The Coverage” ประสานไปยังศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารฯ TTRS โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ เปิดเผยว่า การยุติบริการชั่วคราว เพื่อลดค่าใช้จ่ายการให้บริการที่เกิดขึ้น เกิดจากการไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจาก กสทช. ที่เป็นข้อตกลงร่วมกันมากว่า 2 ปี ทำให้ต้องแบกรับต้นทุนค่าบริการเองและบานปลายไปอย่างมาก จึงจำเป็นต้องปิดบริการชั่วคราวในทุกแพลตฟอร์ม ทั้งแอปพลิเคชัน TTRS Live chat แอปฯ TTRS VIDEO และตู้ TTRS ที่ตั้งอยู่ในหลายหน่วยงาน และองค์กร รวมถึงสนทนาแบบวิดีโอคอล จากเครื่องโทรศัพท์วิดีโอคอลด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ หลังจากประกาศยุติการให้บริการชั่วคราว พบว่า คนพิการทางการได้ยิน และคนหูหนวกต้องเจอกับอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวัน เนื่องจากเป็นกลุ่มประชาชนที่ต้องอาศัยการถ่ายทอดเพื่อสื่อสาร ในกรณีติดต่อหน่วยงานราชการ หรือการไปรับบริการสาธารณสุขและบริการทางการแพทย์ หรือการสื่อสารในชีวิตประจำวัน
อย่างไรก็ตาม ศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารฯ TTRS ยืนยันว่าจะให้ศูนย์บริการ กลับมาให้บริการอีกครั้งหลังจากได้รับจัดสรรงบประมาณจาก กสทช. อย่างแน่นอน
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารฯ TTRS กล่าวอีกว่า หลังปิดให้บริการชั่วคราว มีประชาชนเข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่ระบุว่า บริการของ TTRS เป็นเครื่องมือที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการสื่อสาร โดยเฉพาะการเข้ารับบริการสาธารณสุขในหน่วยบริการได้เป็นอย่างดี ซึ่งการปิดบริการชั่วคราวในครั้งนี้ ทำให้เกิดความกังวล และอาจส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพและบริการด้านอื่น ๆ ของผู้พิการทางการได้ยินเป็นอย่างมาก
“ปัจจุบันมีผู้พิการทางการได้ยิน ใช้บริการของ TTRS อยู่ราว 3 แสนคน มีเจ้าหน้าที่ล่ามภาษามือ 40 คน ให้บริการเฉลี่ยวันละ 1,400 – 1,600 ครั้ง หรือราว 4 แสนครั้งต่อปี ซึ่งบริการมาก ก็มีค่าใช้จ่ายมาก ทาง TTRS จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปิดการให้บริการไปชั่วคราว แม้จะมีความเข้าใจถึงความยากลำบากที่จะตามมาของผู้พิการทางการได้ยินอย่างมาก” เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารฯ TTRS กล่าว
เมื่อถามว่ามีแนวทางการแก้ไขอย่างไร เพื่อให้กลับมาเปิดบริการได้อีกครั้ง เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารฯ TTRS กล่าวว่า หาก กสทช. ไม่สามารถจัดสรรงบประมาณให้ได้แล้ว ก็อยากให้มีหน่วยงงานที่เกี่ยวข้องในด้านการดูแลคนพิการ อย่างเช่น กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่หากมีงบประมาณเพียงพอและเข้ามาสนนับสนุนได้ ก็จะเป็นประโยชน์แก่คนพิการทางการได้ยินเป็นอย่างยิ่ง
"TTRS หวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือด้านงบประมาณเร็วที่สุด เพื่อให้การบริการเดินหน้าต่อไปได้ และทำให้คนพิการทางการได้ยิน สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติอีก” เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารฯ TTRS กล่าว
เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารฯ TTRS กล่าวอีกด้วยว่า ในส่วนประเด็นการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของคนพิการทางการได้ยิน ที่หลายส่วนกังวลว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการปิดบริการชั่วคราวนั้น ที่ผ่านมา TTRS ได้ประชาสัมพันธ์ต่อเนื่อง และเริ่มขยายการใช้แอปพลิเคชันต่างๆ รวมถึงแพลตฟอร์มต่างๆ สำหรับสื่อสารกับคนพิการทางการได้ยินในโรงพยาบาล และหน่วยบริการหลายแห่ง เพื่อให้เป็นเครื่องมือระหว่างบุคลากรแพทย์ และคนพิการที่เข้ารับบริการ พร้อมกับอบรมแนะนำการใช้แอปฯ กับบุคลากรทางการแพทย์
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้ TTRS ต้องปิดบริการชั่วคราว ก็จะทำให้เกิดอุปสรรคในด้านการสื่อสารระหว่างบุคลากรแพทย์ และคนพิการที่ตามมาในหน่วยบริการ ซึ่งก็เป็นอีกข้อกังวลของ TTRS ที่อยากให้มีการเร่งแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็ว