จากชีวิตคนพิการไร้บัตรประชาชน กับเส้นทางค้นหาตัวตน-คืนสิทธิคนไทยที่พาไปโดย ‘ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง’
แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จะกำหนดให้ “การเข้าถึงบริการสุขภาพ” เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทยทุกคน ทว่าในความเป็นจริงกลับมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังตกหล่นจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเป็นกลไกที่ช่วยดูแลผู้คนไม่ให้ล้มละลายจากค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล
นั่นก็เพราะยังมี กลุ่มประชากรคนไทยที่ตกหล่นจากสถานะทางทะเบียนอีกมาก โดยข้อมูลจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่าปัจจุบันมีคนกลุ่มนี้กว่า 5.2 แสนคน ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ได้มีความร่วมมือระหว่าง 9 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินงานพัฒนาการเข้าถึงสิทธิของคนไทยไร้สิทธิและกลุ่มชาติพันธุ์ให้เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สิทธิ จนเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) และสิทธิสุขภาพที่เหมาะสมไปได้แล้วราว 2,570 คน
หนึ่งในกลไกที่มีส่วนสำคัญร่วมแก้ไขปัญหานี้ คือ “หน่วยรับเรื่องร้องเรียนตามมาตรา 50 (5)” แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2551 โดยเปิดทางให้หน่วยงานภายนอก ทั้งภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และภาคเอกชน เข้ามาทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน เพื่อสร้างกลไกคุ้มครองสิทธิบัตรทองที่เข้าถึงง่าย และเป็นอิสระจากสถานบริการโดยตรง
ต่อมาในปี 2566 หน่วยงานดังกล่าวได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง” พร้อมขยายบทบาทในการรับเรื่องร้องเรียน ตรวจสอบข้อเท็จจริง ปกป้องสิทธิประชาชน และผลักดันให้หน่วยบริการยกระดับมาตรฐานการดูแลรักษา
เส้นทางชีวิต 40 ปีของ ‘คนพิการ’ ที่ไร้ตัวตน
จรินพร ศรีสังข์ คือหนึ่งในผู้ที่ได้รับโอกาสครั้งสำคัญจาก ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง จ.พระนครศรีอยุธยา โดยชีวิตของเธอเริ่มต้นอย่างยากลำบาก ตั้งแต่การเกิดมาเป็นคนพิการ เติบโตมาด้วยการถูกฝากเลี้ยงไว้กับคนแปลกหน้า ก่อนที่แม่แท้ๆ จะหายตัวไป และแม้จะได้พบกับแม่อีกครั้งเมื่ออายุ 6 ขวบ แต่การกลับมานั้นก็เพื่อเอาเงินและจากไปตลอดกาล ทิ้งให้เธอต้องเติบโตอย่างโดดเดี่ยวมาเป็นเวลากว่า 40 ปี
“หนูไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีสิทธิอะไรเลย ตอนป่วยก็ต้องหายาเอง นั่งรอทั้งวันในโรงพยาบาล ไม่มีใครสนใจ” จรินพร สะท้อนภาพการเข้ารับบริการสุขภาพในช่วงชีวิตที่ผ่านมา
จนกระทั่งวันหนึ่ง เสียงจากคลื่นวิทยุชุมชนได้นำพาเธอให้ไปพบกับ “ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง” ซึ่งต่อมากลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ชีวิตเธอเริ่มมีความหวัง
ผู้ที่รับเรื่องของจรินพรเข้ามาคือ ชลดา บุญเกษม ผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือต่อในทันที โดยเธอได้พาจรินพร ตระเวนไปยังสำนักงานอำเภอ เทศบาล และสถาบันนิติเวช เพื่อค้นหาหลักฐานพิสูจน์ตัวตน
เส้นทางแรกเริ่มตั้งแต่เบาะแสจากร้านก๋วยเตี๋ยวในชุมชน ที่มาพร้อมกับเรื่องราวของพระรูปหนึ่งซึ่งเคยเล่าว่ามีลูกพิการกับหญิงขายบริการ ทางศูนย์ฯ จึงดำเนินการตรวจ DNA ในทันที หากแต่ผลปรากฏว่า “ไม่ตรงกัน”
แม้ความพยายามแรกจะล้มเหลว แต่ทางศูนย์ฯ ก็ยังไม่ละทิ้งความหวัง ชลดาและทีมงานยังคงเดินหน้าตามหาผู้ดูแลจรินพรในอดีต กระทั่งไปพบว่าผู้ที่เลี้ยงดูเธอมานั้นได้เสียชีวิตแล้ว หากแต่ด้วยความร่วมมือของผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ และการสืบค้นข้อมูลทะเบียนราษฎร์อย่างละเอียด ทำให้ในที่สุด ภายหลังความพยายามต่อสู้มายาวนาน 3-4 ปี จรินพร ก็สามารถพิสูจน์ตัวตนสำเร็จและได้รับบัตรประชาชน
ศูนย์ฯ ประสานความร่วมมือจนส่งมอบ ‘สิทธิ-สวัสดิการ’
เมื่อมาถึงวันที่ จรินพร ได้รับสายโทรศัพท์เพื่อบอกให้ไปรับบัตรประชาชน เธอร้องไห้ออกมาด้วยความดีใจ และรีบติดต่อไปยังชลดาเป็นคนแรกเพื่อแจ้งข่าวดีนี้ เพราะบัตรประชาชนไม่ใช่เพียงเครื่องยืนยันว่าเธอเป็นคนไทยเท่านั้น หากแต่ยังช่วยให้เธอเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลตามระบบบัตรทอง รวมทั้งสิทธิผู้พิการที่มาพร้อมเงินเบี้ยยังชีพผู้พิการ ซึ่งล้วนเป็นสิทธิที่เธอควรจะได้รับมาตั้งแต่แรก
“ก่อนมีบัตรประชาชน เวลาป่วยต้องนั่งรออย่างไร้ความหวัง ไม่มีเงินซื้อยาก็ต้องทนร้องไห้เอาเอง แต่วันนี้หนูไม่กลัวแล้ว หนูมีสิทธิทุกอย่าง เหมือนได้ชีวิตใหม่ ต้องขอบคุณพี่ตู่ (ชลดา) ที่ไม่เคยทิ้งหนูเลย” จรินพร ถ่ายทอดความตื้นตันใจ
ในส่วนของ ชลดา เธอเล่าว่าการดำเนินงานตลอด 2 ปีที่ผ่านมาของ ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง จ.พระนครศรีอยุธยา ได้ช่วยประสานงานกรณีคนไร้สถานะไปแล้ว 7 ราย แม้ไม่ใช่ทุกรายที่จะประสบความสำเร็จ หากแต่กรณีของจรินพร ถือเป็นเคสแรกที่ฝ่าฟันอุปสรรคได้จนสำเร็จ
“การเดินเรื่องให้คนหนึ่งคน ที่ไม่มีเอกสารอะไรแม้แต่ใบแจ้งเกิด ต้องใช้เวลา 3-4 ปี ต้องอาศัยทั้งความตั้งใจของเจ้าหน้าที่ และการสนับสนุนจากผู้นำชุมชน ท้องถิ่น และหน่วยงานราชการในพื้นที่” ชลดา ฉายที่มาความสำเร็จ
เธอเสริมอีกว่า “ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง” จึงไม่ใช่เพียงหน่วยที่ทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนเท่านั้น หากแต่ยังทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการสะท้อนปัญหา พร้อมเชื่อมประสานระหว่างผู้รับบริการและหน่วยบริการ เพื่อพัฒนาระบบสุขภาพให้มีมาตรฐานและเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ หากประชาชนท่านไหนต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง ได้ทาง สายด่วนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 1330 หรือเว็บไซต์ https://www.nhso.go.th/