‘TTRS’ หยุดบริการทั้งน้ำตา เมื่องบประมาณ ‘ไม่มี’ คนหูหนวก (อาจ) ไม่ได้ยินเสียงอีกต่อไป?
สักกลางเดือน มิ.ย. 2568 ที่ผ่านมา มีข่าวที่ช็อกความรู้สึกของคนพิการทางการได้ยินที่ได้รับข่าวสารเรื่องหนึ่ง ที่จะกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันของพวกเขาไปในทันที
การประกาศของ “ศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย (TTRS)” ที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือคนพิการทางการได้ยิน คนหูหนวก ได้ใช้ช่องทางต่างๆ ที่มีเพื่อสื่อสารกับสังคม สาธารณะ ทั้งการทำธุระส่วนตัวและใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งการไปติดต่อราชการ ไปธนาคาร และที่สำคัญคือไปหาหมอ ไปรับบริการทางการแพทย์และทางสาธารณสุขได้อย่างดี ราบรื่น มีประสิทธิภาพ ที่ต่อไปนี้ บริการต่างๆ ที่เคยดูแลกันอย่างไม่มีค่าใช้จ่าย จะปิดตัวลง
ด้วยเหตุผลว่า TTRS ไม่มีงบประมาณมาสนับสนุนเพื่อให้บริการกับคนพิการทางการได้ยิน และพวกเขาแบกรับกับต้นทุนบริการไม่ไหวอีกต่อไปแล้ว
ตอนนั้น “The Coverage” ได้สัมภาษณ์กับมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ และก็ทำให้ทราบว่า การยุติบริการของ TTRS นั้นเป็นการยุติแบบ “ชั่วคราว” และสาเหตุก็คือ ขาดการสนับสนุนงบประมาณต่อเนื่องจาก สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่คอยสนับสนุนให้ตามกฎหมาย มาเป็นเวลากว่า 2 ปี และทำให้ TTRS เดินหน้าต่อไปไม่ได้
มันจึงกลายเป็นข่าวร้ายสำหรับคนพิการทางการได้ยิน เพราะสิ่งนี้กระทบกับการเข้าถึงบริการต่างๆ สิทธิต่างๆ ที่พวกเขาควรจะได้รับ เนื่องจากตัวช่วยอย่าง TTRS ที่คอยแปล คอยสื่อสาร คอยให้ข้อมูล ไม่อยู่ทำหน้าที่นี้แล้ว
แต่เพื่อความกระจ่างในรายละเอียดของปัญหา และแสวงหาทางออกของเรื่องนี้ว่ามีหนทางใดบ้างที่พอจะมีการแก้ไขกันได้ เพื่อไม่ให้คนพิการทางการได้ยินได้รับผลกระทบต่างๆ
The Coverage ได้พูดคุยกับ วันทนีย์ พันธชาติ ผู้อำนวยการ ศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารฯ TTRS เพื่อหาทางออกในวิกฤตทีเกิดขึ้น ซึ่งเธอสะท้อนมุมมองของผู้ให้บริการ และเสียงจากผู้ใช้บริการที่เป็นคนพิการทางการได้ยินหลังจากที่ TTRS ปิดตัวลง
TTRS เปิดเสียงโลกทั้งใบให้คนพิการ
วันทนีย์ พาเราเล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นขององค์กรว่า TTRS เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ 3 หน่วยงาน ได้แก่ กสทช., มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) วางแผนร่วมกันศึกษาหาแนวทาง พัฒนาเครื่องมือและนวัตกรรมสำหรับคนพิการทางการได้ยินมาตั้งแต่ปี 2554
“แรกเริ่ม TTRS ศึกษาโมเดลจากต่างประเทศอย่างละเอียด แล้วพบว่าหลายประเทศที่ใช้ระบบชื่อ รีเลย์เซอร์วิส (Relay Service) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ทำให้คนพิการทางการได้ยินสามารถโทรศัพท์หรือสื่อสารกับคนทั่วไปได้ ผ่านกระบวนการแปลภาษาโดยล่ามภาษามือแบบเรียลไทม์ ซึ่งโมเดลนี้ช่วยให้พวกเขาใช้ชีวิตในสังคมได้ใกล้เคียงกับคนทั่วไปมากขึ้น” วันทนีย์ เล่า
ทั้งนี้ ภายหลังจากการศึกษาโมเดลจากหลายประเทศอย่างถี่ถ้วน TTRS ได้จัดทำรายงานเสนอให้ กสทช. และข้อเสนอดังกล่าวได้รับความเห็นชอบ เนื่องจาก กสทช. เล็งเห็นว่านี่คือภารกิจสำคัญที่สอดคล้องกับ “แผนยูโซ” (Universal Service Obligation) หรือแผนบริการโทรคมนาคมพื้นฐานที่ต้องครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มทั่วประเทศ ซึ่งเป็นโครงการของ กสทช. ที่ได้ก่อตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนทุกคน โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสหรือแม้แต่ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล สามารถเข้าถึงบริการโทรคมนาคมพื้นฐานได้ในราคาที่เหมาะสม
ยกระดับ TTRS ต่อเนื่อง เป็นส่วนหนึ่งของคนพิการ
วันทนีย์ เล่าถึงการดำเนินการตลอดระยะเวลาราว 14 ปี ว่า ในช่วงแผนยูโซ 1 ศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารฯ TTRS ได้ให้บริการผ่านระบบที่คล้ายคลึงกับต่างประเทศ โดยใช้ Teletypewriter (TTY) ซึ่งเป็นอุปกรณ์สื่อสารในยุคก่อน ที่จะให้คนพิการทางการได้ยินพิมพ์ข้อความที่ตนเองต้องการสื่อสารเพื่อส่งไปยังโทรศัพท์อีกเครื่องหนึ่ง โดยจะมีเจ้าหน้าที่กลางคอยแปลงข้อความนั้นให้ออกมาเป็นคำพูด ก่อนจะส่งต่อไปยังปลายสาย พร้อมกับนำเสียงการตอบกลับจากปลายสายมาแปลงเป็นข้อความเพื่อส่งกลับไปให้คนพิการทางการได้ยินอ่านอีกทีหนึ่ง
อย่างไรก็ดี เมื่อสังคมเริ่มเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลที่ระบบอินเทอร์เน็ตมีความเสถียรมากยิ่งขึ้น TTRS ได้เริ่มพัฒนาบริการใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเสริมการสื่อสารให้แก่ผ่านคนพิการทางการได้ยิน โดยทุกนวัตกรรมจะดำเนินงานในรูปแบบเรียลไทม์ ที่มีล่ามภาษามือคอยเป็นตัวกลางในการแปลงภาษาให้บุคคลทั่วไป เขาใจถึงสิ่งที่คนพิการทางการได้ยินต้องการจะสื่อสารได้
โดยในช่วงที่ผ่านมา TTRS มีบริการทั้งหมด 9 รูปแบบ แต่เนื่องจากแผนยูโซ 4 ที่เป็นเวอร์ชันล่าสุด ที่ผ่านมาได้มีการรับฟังความคิดเห็นกับสำรวจรูปแบบการใช้งานที่จำเป็นจริงๆ จึงลดเหลือรูปแบบการบริการเพียง 4 รูปแบบ ได้แก่ แอปพลิเคชัน TTRS LIVE chat, แอปพลิเคชัน TTRS Video, ตู้ TTRS และตู้ถ่ายทอดการสื่อสารแบบสนทนาวิดีโอผ่านโทรศัพท์มือถือ
เทคโนโลยีล่าสุด ช่วยคนพิการได้มากขึ้น
วันทนีย์ เล่าต่อไปว่า ความเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจนหลังจากมีบริการผ่านรูปแบบแอปพลิเคชันของ TTRS คือเพิ่มความสะดวกสบายในการเข้ารับบริการที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันของคนพิการทางการได้ยิน โดยเฉพาะการเข้ารับบริการด้านสาธารณสุข ซึ่งเดิมทีก่อนจะมีบริการของ TTRS กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ได้ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักที่จัดสรรล่ามภาษามือแบบรายบุคคลให้ผู้พิการสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้
ทั้งนี้ ล่ามภาษามือหนึ่งคนจะใช้เวลาร่วมกับคนพิการผู้ใช้บริการรายหนึ่งประมาณ 3 ชั่วโมง ในการพาไปเข้ารับบริการด้านสาธารณสุขที่โรงพยาบาล แต่เนื่องจาก ล่ามภาษามือ 1 คนสามารถเดินทางมาให้บริการได้เพียง 2 เคสต่อวันเท่านั้น อีกทั้งล่ามภาษามือทั่วประเทศมีจำนวนจำกัดเพียง 200 คน ขณะที่คนพิการทางการได้ยินซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ล่ามมีมากกว่า 5 หมื่นคน บริการล่ามของ พก. จึงยังมีข้อจำกัดที่ทำให้คนพิการทางการได้ยินไม่สามารถเข้าถึงการสื่อสารได้อย่างครอบคลุม
ข้อจำกัดนั้นสะท้อนให้เห็นว่า บริการผ่านรูปแบบแอปพลิเคชันของ TTRS ที่ถูกออกแบบระบบให้ล่าม 1 คน สามารถให้บริการได้มากถึง 60–120 เคสต่อวัน ขึ้นอยู่กับปริมาณสายที่เข้ามาในแต่ละวัน จึงเข้ามาช่วยให้คนพิการทางการได้ยินสามารถติดต่อสื่อสารกับบุคลลากรสาธารณสุข และบุคคลทั่วไปได้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น คนพิการทางการได้ยินก็จะสามารถเดินทางไปในที่ที่ตนเองต้องการอย่างอิสระได้โดยไม่ต้องรอล่ามตัวจริงเดินทางมาหา และพาไป
แต่ปัญหางบประมาณ สะเทือนถึงการได้ยิน
แม้ TTRS จะเข้ามาช่วยเปิดโอกาสให้คนพิการทางการได้ยินสามารถติดต่อสื่อสารในชีวิตประจำวันได้อย่างเสมอภาค ด้วยอัตราการให้บริการวันละ 1,200-1,600 สาย สิ่งที่ตามมากลับไม่ได้มีเพียงความสำเร็จ แต่เป็นภาระด้านงบประมาณที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับสถานการณ์ที่หน่วยงานผู้คอยจัดสรรงบประมาณอย่าง กสทช. กลับเกิดความติดขัดและล่าช้าในทุกรอยต่อระหว่างแผนยูโซระยะต่างๆ ในการให้การสนับสนุน ทำให้ TTRS เริ่มเจออุปสรรค และความท้าทายครั้งใหญ่ในการขับเคลื่อนงานของตัวเอง
วันทนีย์ เล่าด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา TTRS ได้เผชิญปัญหาความล่าช้า ในทุกช่วงรอยต่อระหว่างงบประมาณ ซึ่งมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ที่ดูแลการให้บริการ TTRS จำเป็นต้องออกเงินล่วงหน้าเพื่อให้การบริการไม่สะดุด
แต่เนื่องจากกระบวนการอนุมัติงบประมาณครั้งล่าสุดที่ล่าช้ามาเป็นระยะเวลาเกือบ 2 ปี อันเนื่องมาจากทาง กสทช. ได้เปลี่ยนเป็นระบบการอนุมัติงบประมาณ ทำให้ขณะนี้มีค่าใช้จ่ายที่ทางมูลนิธิฯ ไม่สามารถแบกรับได้อีกต่อไปสูงถึงจำนวน 150 ล้านบาท และนั่นทำให้ TTRS ต้องปิดบริการทุกอย่างลง เพื่อไม่ให้ค่าใช้จ่ายบานปลายไปมากกว่านี้
“ภายหลังจาก TTRS ได้ประกาศปิดบริการมาได้ระยะหนึ่ง มีคนพิการทางการได้ยินจำนวนหนึ่งโทรเข้ามาแจ้งปัญหาความเดือดร้อนที่พวกเขาพบเจอในทุกๆ วัน พวกเขาได้รับผลกระทบในการใช้ชีวิตในทุกมิติ เนื่องจากไม่สามารถติดต่อสื่อสารกับคนอื่นได้เลย แต่ในขณะเดียวกันก็มีคนพิการทางการได้ยินจำอีกนวนหนึ่ง ก็ได้เดินทางเข้ามาให้กำลังใจเจ้าหน้าที่เนื่องจากทราบถึงปัญหาที่ TTRS ต้องเผชิญ” วันทนีย์ เล่าด้วยเสียงสั่นเครือ
อย่างไรก็ดี วันทนีย์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ความล่าช้าในกระบวนการอนุมัติงบประมาณทำให้เกิดข้อสงสัยในหมู่ประชาชนบางส่วนคิดว่าทางมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินงาน TTRS อาจไม่ได้ส่งรายงานทางการเงินตามข้อกำหนดหรือไม่ แต่ในความเป็นจริง มูลนิธิฯ ส่งเอกสารทางการเงินอย่างต่อเนื่องและครบถ้วนมาโดยตลอด
ขณะเดียวกัน ขั้นตอนการตรวจสอบของภาครัฐ โดยเฉพาะในด้านบัญชีและการเงิน กลับเต็มไปด้วยข้อจำกัดและขั้นตอนที่ซับซ้อน จนกลายเป็นปัญหาคอขวดที่ทำให้ทุกอย่างล่าช้า และนำไปสู่ภาวะวิกฤตที่ไม่เพียงแต่กระทบต่อองค์กรเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงชีวิตประจำวันของคนพิการทางการได้ยินทั่วประเทศ ที่ต้องพึ่งพาบริการนี้ในการดำรงชีวิตอย่างเท่าเทียมในสังคม
กสทช.พยายามแก้ – มูลนิธิฯ ต้องวิ่งหาเงิน
เมื่อพูดคุยมาถึงจุดนี้ วันทนีย์ ย้ำว่า นับตั้งแต่มีการประกาศหยุดให้บริการอย่างเป็นทางการ ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ จาก กสทช. แม้ก่อนหน้านี้จะมีการหารือกันอย่างต่อเนื่องถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น แต่คำตอบที่ได้รับก็ยังเป็นเพียงแค่ “จะพยายามดำเนินการให้” โดยที่จนถึงวันนี้ โครงการก็ยังไม่ได้รับการอนุมัติงบประมาณตามวาระเร่งด่วนตามที่เสนอไป
“แม้ทางมูลนิธิฯ จะพยายามเร่งรัดและผลักดันโครงการเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ดโดยเร็วที่สุดแล้วก็ตาม เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็ยังตอบกลับเพียงว่ายังให้การสนับสนุนและจะพยายามหาทางช่วยเหลือ ซึ่งเราก็รอมาตลอดตั้งแต่เดือนธ.ค. ปีที่ผ่านมา จนทำให้ตอนนี้เราไม่มีเงินเดือนจะจ่ายพนักงานแล้วและต้องปิดบริการทุกรูปแบบลงชั่วคราว” วันทนีย์ ย้ำถึงผลกระทบจากปัญหา
อย่างไรก็ดี แม้จะต้องเผชิญปัญหาที่ยากลำบาก แต่ในช่วงที่ผ่านมา พก. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลคุณภาพชีวิตของคนพิการ ได้ลงพื้นที่มารับฟังปัญหาจากมูลนิธิฯ ด้วยตัวเอง เพื่อสำรวจสถานการณ์จริงและพิจารณาแนวทางในการเจ้ามาช่วยแก้ไขวิกฤตครั้งนี้ต่อไปในอนาคต
“เราอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ กสทช. เห็นใจในประเด็นสิทธิขั้นพื้นฐานด้านการสื่อสารของคนหูหนวก และอยากให้ พก. ที่มีงบสำหรับช่วยเหลืออยู่แล้ว เข้ามาพิจารณาว่าสามารถสนับสนุนเราได้หรือไม่ เราไม่ได้ต้องการแค่เงิน แต่ต้องการให้เกิดการขับเคลื่อนที่จริงจังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้กลุ่มคนที่เปราะบางที่สุดในสังคมต้องเผชิญปัญหาด้านการสื่อสาร ซึ่งควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เท่าเทียมของมนุษย์ทุกคน” วันทนีย์ กล่าวในตอนท้าย