สภาผู้บริโภค-กรมรางฯ สำรวจ ‘รถไฟฟ้าสายสีแดง’ เร่งแก้ทางที่เป็นอุปสรรคต่อ ‘ผู้พิการ’
“สภาผู้บริโภค” จับมือ “กรมขนส่งทางราง” ลงพื้นที่ สำรวจปัญหาจุดเชื่อมต่อสถานีรถไฟชานเมืองสายสีแดง พบหลายสถานีไม่มีรถสาธารณะให้บริการ ทางเดินคนพิการไม่สะดวก กรมรางฯ เร่งรัดหน่วยงานดำเนินงานให้เสร็จ 2 เดือน หวังดึงยอดผู้โดยสารเพิ่ม เชื่อมต่อการเดินทางอย่างไร้รอยต่อ
สภาผู้บริโภค ร่วมกับกรมการขนส่งทางราง บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้ให้บริการสายสีแดง กรมการขนส่งทางบก องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ พร้อมเครือข่ายผู้บริโภค และผู้พิการร่วมเดินทาง สำรวจเส้นทางรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง โดยสำรวจ 5 สถานี จาก 13 สถานี ประกอบด้วย รังสิต หลักหก หลักสี่ ทุ่งสองห้อง และตลิ่งชัน เพื่อนำเสนอแนวทางในการปรับปรุง ระบบขนส่งการเชื่อมต่อหรือ feeder เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการและจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้น
นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท แม้จำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นถึง 43.9% หรือราว 4 – 4.5 หมื่นคนต่อวัน แต่ความสามารถในการรองรับผู้โดยสารในเส้นนี้ได้ถึง 8 หมื่นคนต่อวัน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องลดอุปสรรคต่างๆ เพื่อดึงดูดให้ผู้โดยสารมาใช้บริการมากขึ้น
ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่สำรวจ 5 สถานีของสภาผู้บริโภคและคณะทำงาน พบว่ามีปัญหา ดังนี้สถานีทุ่งสองห้อง ไม่มีป้ายบอกข้อมูลการเดินทางไปป้ายรถเมล์ ไม่มีทางให้วีลแชร์ หากลงผิดทางจะไม่สามารถไปเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะอื่นได้ สถานีหลักสี่ มีความยากลำบากในการเดินทางจุดเชื่อมต่อกับสายสีชมพู ฟุตบาทแคบ มีสิ่งกีดขวางทางสัญจร เป็นอุปสรรคต่อผู้พิการวีลแชร์ สถานีหลักหก (มหาวิทยาลัยรังสิต) ไม่มีรถสาธารณะให้บริการ ทางเดินคนพิการกลายเป็นจุดจอดรถจักรยานยนต์ ทางลาดเอียงไม่ได้มาตรฐาน มีสิ่งกีดขวางบนทางของผู้พิการ
อีกทั้งยังว่าบางแห่งจุดขึ้นรถสองแถวไกลเป็นระยะทางกว่า 300 เมตร สถานีรังสิต (ห้างฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต) เป็นจุดต้นทางปลายทางที่ไม่มีรถเมล์ให้บริการ ทางลาดเอียงไม่ได้มาตรฐาน ทางเท้าชำรุด ไม่สามารถใช้ งานได้ ผู้พิการมีความยากลำบากในการใช้ทาง และสถานีตลิ่งชัน เป็นจุดต้นทางปลายทางที่ขาดระบบขนส่งสาธารณะเชื่อมต่อการเดินทางที่เพียงพอ
หลังจากนี้กรมการขนส่งทางรางจะมีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การรถไฟแห่งประเทศไทย บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด กรมการขนส่งทางบก องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ เพื่อให้เร่งดำเนินการแก้ไข ในจุดที่เป็นปัญหา โดยเฉพาะระบบ Feeder รถ ขสมก. แม้ในช่วงแรกจะไม่คุ้มทุน แต่ขอให้ดำเนินการจัดหารถมาบริการไปก่อน เพื่อดึงให้ประชาชนมาใช้บริการ โดยจะเร่งรัดให้หน่วยงานดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1-2 เดือนนี้
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาผู้บริโภค กล่าวว่า วันนี้สภาผู้บริโภคได้ ร่วมกับกรมขนส่งทางราง สำรวจปัญหาการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดงซึ่งพบว่ามีปัญหาการชื่อมต่อหลายสถานี โดยเฉพาะไม่มีระบบขนส่งสาธารณะให้บริการและความสะดวกของผู้พิการ ซึ่งหลังจากนี้จะนำข้อมูลผลการสำรวจเพื่อเสนอต่ออธิบดีกรมการขนส่งทางรางขอให้ตั้งคณะทำงานร่วมแก้ไขปัญหาสายสีแดงเชื่อมต่อการเดินทางให้ผู้บริโภคอย่างไร้รอยต่อเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารรถไฟฟ้ามากขึ้น เพราะระบบขนส่งสาธารณะที่ดีเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคทุกคน
นอกจากนี้ จากการสำรวจสถานีรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงของทีมงานสภาผู้บริโภคในสถานีอื่นๆ ยังพบปัญหาเหมือนกันในหลายสถานี เช่น 1. สถานีจตุจักร มีปัญหาชื่อสถานีที่ไม่ตรงสถานที่และไม่เชื่อมต่อกับชุมชนหลักทำให้มีผู้ใช้บริการน้อย 2. สถานีวัดเสมียนนารี มีปัญหาไม่เชื่อมกับป้ายรถเมล์ มีระยะทางไกล ขณะที่มีทางที่ติดป้ายรถเมล์แต่ป้ายนั้นไม่ได้เปิดใช้งาน 3. สถานีบางเขน ฝั่งมหาวิทยาลัยเกษตรไม่มีป้ายรถเมล์ ขณะที่ไม่มีจุดเชื่อมต่อไปยังถนนงามวงศ์วานขาเข้าให้กับผู้บริโภค ทำให้ต้องเดินข้ามถนนที่เสี่ยงต่ออันตราย 4. สถานีดอนเมือง จุดเชื่อมต่อสกายวอร์คไปดอนเมืองระยะทางไกล
“สำหรับนโยบายของรัฐบาล ที่จะเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท ในทุกสี ทุกสาย และทุกเส้นทาง ภายในเดือน ก.ย. 2568 นั้น ในระหว่างนี้อยากให้หน่วยงานเร่งแก้ปัญหาจุดเชื่อมต่อระบบขนส่งให้แล้วเสร็จ เพื่อให้ประชาชนใช้บริการรถไฟฟ้าให้มากขึ้น สามารถเดินทางได้ง่ายในทุกวัน เนื่องจากรถไฟฟ้าเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้งบประมาณในการดำเนินโครงการมหาศาล ต้องอำนวยความสะดวกใช้เกิดการใช้งานที่คุ้มค่ากับงบประมาณที่ได้ลงทุนไป”
ด้าน นายสว่าง ศรีสม อนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ ในฐานะเครือข่ายผู้พิการ กลุ่มภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ กล่าวว่า จากการร่วมสำรวจปัญหาการเชื่อมต่อของสายสีแดงพบว่ามีปัญหาผู้ใช้บริการเข้าถึงยาก เมื่อเข้ามาใช้บริการไม่สามารถเดินทางต่อไปได้เพราะปัญหาจุดเชื่อมต่อ ซึ่งสำหรับผู้พิการแล้วมีปัญหาในการเดินทางมากกว่าคนปกติหลายเท่า เนื่องจากบางสถานีผู้พิการไม่สามารถใช้งานได้จริง เช่น สถานีทุ่งสองห้อง หรือสถานีหลักหก
อย่างไรก็ตาม ตัวแทนสายสีแดง บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือ ผู้ให้บริการสายสีแดง ซึ่งร่วมเดินทางสำรวจด้วย รับทราบถึงปัญหาการเข้าถึงของผู้โดยสารในการใช้บริการในหลายสถานี โดยขณะนี้ได้พยายามปรับปรุงเส้นทาง feeder เพื่อเชื่อมให้ผู้โดยสารเข้าถึงการให้บริการสายสีแดงได้มากขึ้น