แนะนำมูลนิธิ พัฒนาคนพิการไทย หน้า 1

ในความคิดของดิฉัน การได้เกิดมาเป็นคนที่มีความพร้อมนั้นเป็นโชคดีอย่างยิ่ง แต่จะมีประโยชน์อันใดถ้าเราไม่ใช้โอกาสแห่งความพร้อมที่เราไม่ใช้โอกาสแห่ง ความพร้อมที่เราพอจะมีมากกว่าคนอื่น ช่วยเหลือชีวิตอื่นๆ ที่ยังต้องการการค้ำจุนอยู่อีกมาก สิ่งที่เราได้รับกลับคืนมาชัดเจนที่สุดคือ ความสุขในจิตใจที่รู้สึกว่าชีวิตนี้ไม่ไร้ค่า แต่สามารถทำคุณให้กับชีวิตอื่นได้ด้วย

นางสาวกัญจนา ศิลปอาชา
ประธานกรรมการมูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย
รู้จักมูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย

รู้จักมูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย

มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2542 โดยสืบเนื่องจาก เมื่อครั้งที่ ประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเฟสปิกเกมส์ ระหว่างวันที่ 10 - 16 มกราคม 2541 ซึ่ง ฯพณฯ บรรหาร ศิลปอาชา ได้รับเชิญเป็นประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันเฟสปิกเกมส์ โดยที่การจัดการแข่งขันดังกล่าวประสบปัญหาด้านงบประมาณ ฯพณฯ บรรหาร ศิลปอาชา จึงให้จัดงานการกุศลเพื่อระดมทุน และพลังน้ำใจจากคนไทยทั่วทั้งประเทศ ให้มีส่วนร่วมในการสร้างเสริม และพัฒนาความสามารถของคนพิการไทยให้มีความเป็นเลิศในด้านกีฬา อันจะนำไปสู่โอกาสการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เมื่อการแข่งขันสิ้นสุดลง ฯพณฯ บรรหาร ศิลปอาชา ได้ผลักดันให้เกิดการดำเนินการก่อตั้ง “มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย” ขึ้น เพื่อให้ดำเนินงานสืบสานเจตนารมณ์ที่จะให้คนพิการไทย ได้รับการพัฒนาแบบยั่งยืน และมั่นคงตลอดไป ทั้งนี้ คณะผู้แทนคนพิการที่ร่วมก่อตั้งมูลนิธิฯ ได้เชิญ นางสาวกัญจนา ศิลปอาชา เป็นประธานมูลนิธิฯ ซึ่งต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

เป้าหมาย

  • ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการทุกประเภท เพื่อสนับสนุนให้คนพิการดำรงศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ และดำเนินชีวิตร่วมกับคนทั่วไปในสังคมอย่างอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน
  • สนับสนุนการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการอย่างยั่งยืน ด้วยการสามารถเข้า ถึงและใช้ประโยชน์จากบริการฟื้นฟูสมรรถภาพอย่างรอบด้านและครบวงจร ทั้งด้านการแพทย์ การศึกษา สังคม อาชีพ กีฬา นันทนาการ และวัฒนธรรม เป็นต้น
  • ส่งเสริมการจัดสภาพแวดล้อม และบริการข้อมูลข่าวสารให้คนพิการทุกประเภทสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มศักยภาพ ด้วยการออกแบบที่เป็นธรรมซึ่งทุกคนใช้ร่วมกันได้ การบริการเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เป็นสากลและทันสมัย รวมทั้ง การบริการช่วยเหลือที่สมเหตุสมผล เพื่อให้คนพิการสามารถพึ่งตนเองและดำรงชีวิตอย่างเป็นอิสระ
  • ส่งเสริมการบริการด้านข้อมูลข่าวสาร งานด้านวิชาการ และการศึกษาวิจัย เพื่อพัฒนาการเรียนรู้เรื่องคนพิการ การมีเจตคติเชิงสร้างสรรค์ต่อคนพิการและครอบครัว รวมทั้งการเปิดโอกาสให้คนพิการร่วมกิจกรรมของสังคมอย่างเท่าเทียมกับคนทั่วไป
  • ดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์ หรือร่วมมือกับองค์กรการกุศลอื่นๆ เพื่อสาธารณประโยชน์

บริการที่ให้แก่คนพิการ

  • บริการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการทุกประเภท โดยการมีส่วนร่วมยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ เผยแพร่ความรู้และข้อมูลข่าวสารเรื่องกฎหมายด้านคนพิการ ส่งเสริมการขับเคลื่อนเพื่อบังคับใช้กฎหมาย และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการ
  • บริการให้คำปรึกษาแนะแนว แก่คนพิการ และผู้เกี่ยวข้อง ทั้งที่สำนักงานมูลนิธิฯ ทางโทรศัพท์ โทรสาร ทางไปรษณีย์ อีเมล์ เว็บไซต์ เฟสบุก เอสเอ็มเอส เยี่ยมบ้าน และบริการอื่นๆ ตามความเหมาะสม
  • บริการให้สวัสดิการแก่คนพิการ โดยให้บริการแก้ไขปัญหาของคนพิการเป็นกลุ่มและเป็นรายบุคคล บริการช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน และเร่งด่วน เป็นต้น
  • บริการสนับสนุนกิจกรรมเกี่ยวกับคนพิการ โดยร่วมกิจกรรมด้านคนพิการกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน บริการประสานงานให้ความช่วยเหลือเรื่องคนพิการกับองค์กรภายใน ประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานของเครือข่ายด้านพิการ เป็นต้น
  • บริการด้านวิชาการ โดยจัดทำโครงการสัมมนา/ประชุม เพื่อแก้ไขปัญหาคนพิการในทุกมิติ ให้บริการข้อมูลข่าวสารเรื่องคนพิการ และบริการให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับงานศึกษาวิจัย เป็นต้น
  • บริการส่งเสริมอาชีพของคนพิการ โดยจัดทำโครงการฝึกอาชีพของคนพิการ จัดโครงการ ตลาดนัดผลิตภัณฑ์ของคนพิการ และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของคนพิการ เป็นต้น
  • บริการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเรื่องคนพิการ โดยจัดทำเว็บไซต์ เฟสบุก และทวิตเตอร์ ซึ่งปรับเพิ่มข้อมูลเป็นปัจจุบันทุกวัน มีสังคมออนไลน์ซึ่งบริการสื่อสาร และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ อย่างกว้างขวาง รวมถึง เผยแพร่สาร ม.พ.พ.ท. ซึ่งนำเสนอบทความเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการที่ทันสมัยในทุกมิติแก่คนพิการ ครอบครัว และผู้เกี่ยวข้องเป็นประจำทุกเดือน เป็นต้น
  • บริการสนับสนุนนักกีฬาพิการ เพื่อการแข่งขันทั้งระดับชาติ และระดับนานาชาติ

โลกที่ไม่พิการของคนพิการ (โลกสดใส-กายสุขสันต์) กับมูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย

ภาพกิจกรรมูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย

นับแต่อดีตกาลที่ผ่านมา คนพิการในสายตาและความรู้สึกของคนปกติจะถูกมองไปว่าเป็นคนมีกรรม ที่เกิดมาไม่สมประกอบเหมือนคนปกติทั่วไป และมีชีวิตที่ดำรงอยู่ ด้วยวิถีชีวิตที่มีคุณภาพชีวิต ที่ไม่เหมือนกับคนทั่วไป โอกาสต่างๆที่คนพิการจะได้รับจึง ด้อยกว่า คนปกติไปด้วย ปัจจุบัน คนพิการหลายคนพิสูจน์ให้คนปกติได้เห็นแล้วว่า พวกเขา มีความพิการแต่เฉพาะทางร่างกายเท่านั้น จิตใจ และมันสมองมิได้พิการไปด้วย

คุณค่าของคนพิการในยุคนี้จึงมีปรากฏให้คนปกติได้เห็นอย่างสม่ำเสมอว่า คุณภาพชีวิตของคนพิการไม่แตกต่างไปกว่าคนปกติเลย แถมบางคนยังมีอัจฉริยภาพมากกว่าคนปกติด้วยซ้ำไป จึงไม่น่าแปลกที่จะได้เห็น คนพิการ ยืนอยู่บนแท่นแห่งเกียรติยศ เช่นเดียวกับคนปกติทั่วๆไปในทุกวงการ ในแวดวงการศึกษา คนพิการ สามารถก้าวขึ้นสู่ สุดยอดแห่งมันสมองอัจฉริยะได้เช่นเดียวกับคนปกติทั่วๆไป และ พวกเขาเหล่านี้สามารถถ่ายทอดความรู้ความสามารถ ที่เขามีอยู่ไปสู่ลูกหลานในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังจะเห็นได้จาก ศาสตราจารย์ ผู้ช่วย ศาตราจารย์ ครู ตั้งแต่ระดับ ปริญญาตรีไปจนถึงระดับปริญญาเอก

ในแวดวงกีฬา คนพิการหลายคนก้าวขึ้นไปสู่ ความเป็น แชมเปี้ยนระดับโลก ที่ ทั่วโลกให้การยอมรับอย่างไม่มีข้อกังขา ในแวดวงศิลปะ-ดนตรี คนพิการมากมายกลายเป็นอัจริยทางดนตรี กลายเป็นอัจริยะทางจิตรกรรม และ กลายเป็นอัจริยะทางประติมากรรม รวมความแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ในแวดวงใดๆ ทุกวันนี้โลกของคนพิการ มิได้พิการไปตามสภาพร่างกายของพวกเขาแล้ว ยิ่งได้รับการส่งเสริม และสนับสนุน ทั้งจากภาครัฐ และเอกชน ทำให้ โลกของคนพิการยิ่งสดใสมากขึ้น จนเกือบจะทำให้ คำว่า "ความพิการคือปมด้อย"หายไปจาก โลกของคนพิการแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ ในความรู้สึกของคนดั้งเดิมที่มองว่า คนพิการเป็นปัญหาของสังคมจึงหมดสิ้นลงไป เพราะคนพิการไม่ได้เป็นตัวปัญหาของสังคมอีกต่อไปแล้ว แต่คนพิการสามารถช่วยเหลือ และส่งเสริมให้สังคมดีขึ้นได้เช่นเดียวกับคนปกติโดยทั่วไป

สังคมไทยวันนี้ ในบริบทแห่ง การงาน อาชีพ คนพิการ มีโอกาสได้เข้าไปร่วมทำงานกับคนปกติโดยทั่วไป ในบริบทแห่งการเรียนรู้ คนพิการก็มีโอกาสเพื่อการเรียนมากขึ้น โอกาสของคนพิการที่เคยขาดมาตั้งแต่อดีต ค่อยๆเปิดกว้างขึ้น เมื่อคนในสังคมยอมรับถึงความรู้ ความสามารถของคนพิการ โลกของคนพิการในปัจจุบันจึงเป็นโลกเดียวกับคนปกติ ที่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างไม่มีช่องว่างมากนัก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็มิได้หมายความว่า คนพิการจะสามารถยืนอยู่บนขาของตัวเองได้อย่างสมบูรณ์โดยไม่ต้องขอความช่วยเหลือจากคนปกติ ดังนั้น จึงได้เกิด มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย ขึ้นเมื่อ วันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๔๒ โดย ฯพณฯ บรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ได้ผลักดันให้ดำเนินการก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาคนพิการไทยขึ้น เพื่อให้ดำเนินงานสืบสานเจตนารมณ์ที่จะให้คนพิการไทย ได้รับการพัฒนาแบบยั่งยืน และมั่นคงตลอดไป โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมความมีโอกาสอันเท่าเทียมของคนพิการในสังคม และการเข้าไปมีส่วนร่วมของคนพิการในสังคม และสนับสนุนการพัฒนาคนพิการอย่างยั่งยืน ด้วยการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการด้านการแพทย์ การศึกษา อาชีพ กีฬา นันทนาการ วัฒนธรรม และสังคม ตลอดรวมไปถึงส่งเสริมงานด้านข้อมูลข่าวสาร และงานด้านวิชาการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคนพิการดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์ หรือร่วมมือกับองค์กรการกุศลอื่นๆ เพื่อสาธารณประโยชน์ ให้บริการให้คำปรึกษาแนะแนว แก่คนพิการ และผู้เกี่ยวข้องกับคนพิการ ทั้งที่สำนักงานมูลนิธิฯ ทางโทรศัพท์ ทางไปรษณีย์ เยี่ยมบ้าน และบริการอื่นๆ ตามความเหมาะสม

โลกของคนพิการในยุคนี้จึงดูสดใส ที่ ทำให้ จิตและวิญญาณของคนพิการเกิดความสุขมากขึ้น ซึ่งนับเป็นนิมิตรหมายอันดีสำหรับมวลมนุษยชาติที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขตลอดไป (แนวหน้าออนไลน์ โดย ปานมณี /มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย ๒๔ ก.พ. ๒๕๕๓ )