วารสาร ม.พ.พ.ท. ประจำเดือนสิงหาคม 2567

วารสาร ม.พ.พ.ท. ประจำเดือนสิงหาคม 2567

กำหนดลักษณะหรือจัดให้มีอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกทุกมิติเพื่อคนพิการ

(6 ส.ค. 67) ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะ หรือการจัดให้มีอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก หรือบริการในอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ และบริการขนส่ง เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ พ.ศ. .... ตามที่ กระทรวงคมนาคม เสนอ ซึ่งเป็นการแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวง กำหนดลักษณะ หรือการจัดให้มีอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก หรือบริการในอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ และบริการขนส่ง เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ พ.ศ. 2556 ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพและคนชรา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 และสภาพการณ์ในปัจจุบัน เช่น การเพิ่มสัญญาณเสียง และสัญญาณไฟ ในการแจ้งชื่อสถานีขนส่ง การปรับปรุงลักษณะอุปกรณ์ในการเดินทาง เพื่ออำนวยความสะดวกและบริการให้กับผู้พิการ

สถานการณ์คนพิการในประเทศไทย จากข้อมูลสถานการณ์คนพิการในประเทศไทยของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ก.ค. 67) เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนคนพิการในประเทศ 2,199,978 คน คิดเป็น 3.33% ของประชากรไทย แบ่งเป็นเพศหญิง 1,058,048 คน (48.09%) และเพศชาย 1,141,930 คน (51.91%) ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 1,269,323 คน (57.70%) และประเภทของคนพิการที่มีจำนวนมากที่สุด ได้แก่ ความพิการทางการเคลื่อนไหว/ทางร่างกาย จำนวน 1,115,969 คน (50.73%) รองลงมา คือ ความพิการทางการได้ยิน/สื่อความหมาย จำนวน 420,861 คน (19.13%) และความพิการทางการเห็น จำนวน 178,103 คน (8.10%) ตามลำดับ

เปิด 9 สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงฯ ที่มีการแก้ไข/ปรับปรุง

1. ให้ยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดลักษณะ หรือการจัดให้มีอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวก หรือบริการในอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ และบริการขนส่ง เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ พ.ศ. 2556

2. กำหนดบทนิยามเพิ่มเติมจากกฎกระทรวงเดิม ได้แก่ “ท่าเทียบเรือ” “เรือโดยสาร” “บริการขนส่ง” และ “พื้นที่หลบภัย”

3. กำหนดให้การจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับคนพิการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร

4. กำหนดให้ยานพาหนะ เช่น รถไฟตามกฎหมายว่าด้วยการจัดวางการรถไฟ และทางหลวง รถไฟฟ้ากฎหมายว่าด้วยการรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย อากาศยานขนส่งตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ ฯลฯ ต้องจัดให้มีอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกหรือบริการ เพื่อให้การบริการที่เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงและการปฏิบัติ

5. กำหนดให้รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารประเภทการขนส่งประจำทางและไม่ประจำทาง ให้มีอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก หรือบริการ เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ เช่น ประตูรถ อุปกรณ์นำพาคนพิการหรืออุปกรณ์ยกรถเข็นคนพิการขึ้นและลงจากรถ โดยลักษณะของอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก หรือบริการให้เป็นไปตามรายการอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก หรือบริการในรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่กำหนดในบัญชีท้ายกฎกระทรวงนี้

6. กำหนดให้รถไฟตามกฎหมายว่าด้วยการจัดวางการรถไฟและทางหลวง ให้มีห้องส้วมและห้องนอนสำหรับคนพิการ ที่นั่งสำหรับคนพิการ การประกาศแจ้งชื่อสถานีถัดไป สัญญาณเสียง สัญญาณไฟ

7. กำหนดให้เรือโดยสารตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย ให้มีห้องนอนสำหรับคนพิการสำหรับเรือโดยสารที่มีห้องนอน บันได ที่นั่งสำหรับคนพิการ เจ้าหน้าที่ประจำเรือ ซึ่งผ่านการฝึกอบรม และมีคุณสมบัติ

ตรงกับความต้องการของคนพิการแต่ละประเภทอย่างน้อยหนึ่งคนเพื่อให้บริการในการขึ้นและลงเรือ

8. กำหนดให้สถานีขนส่งผู้โดยสาร สถานีรถไฟและสถานีรถไฟฟ้าท่าเทียบเรือและท่าอากาศยาน ให้มีอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก หรือบริการเพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ เช่น ประตู พื้นผิวต่างสัมผัสสำหรับคนพิการทางการเห็น ที่นั่งสำหรับคนพิการหรือพื้นที่สำหรับจอดรถเข็นสำหรับคนพิการ แผนผังที่ตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกในสถานี บันไดและราวจับ

9. กำหนดให้มีบัญชีท้ายร่างกฎกระทรวงฯ เพื่อกำหนดลักษณะของอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกหรือบริการ เช่น ป้ายแสดงอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการให้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก เรื่อง มาตรฐานป้ายสัญลักษณ์ในระบบขนส่งสาธารณะ คู่มือแปลภาษา หรือป้ายสัญลักษณ์ภาษา สำหรับเจ้าหน้าที่ประจำรถเพื่อใช้สื่อสารกับคนพิการให้เป็นไปตามคู่มือฯ ของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ช่องขายตั๋วโดยสารที่มีพื้นที่และความสูงสำหรับรถเข็นคนพิการ นายกฯ เน้นย้ำถึงความสำคัญ และสั่งการให้ คค. และ พม. บูรณาการทำงานร่วมกัน(prd.go.th 9 ส.ค.67)

ดาวน์โหลดเอกสาร วารสาร ม.พ.พ.ท. ประจำเดือนสิงหาคม 2567

4/09/2567 เวลา 10:12:54ที่มา: มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย ดูภาพสไลด์โชว์ วารสาร ม.พ.พ.ท. ประจำเดือนสิงหาคม 2567