เลี้ยงไก่พื้นเมืองไม่ใช่เรื่องยาก ปล่อยตามธรรมชาติ หาอาหารกินเอง ไก่แข็งแรง ประหยัดต้นทุน เป็นที่ต้องการของตลาด

เลี้ยงไก่พื้นเมืองไม่ใช่เรื่องยาก ปล่อยตามธรรมชาติ หาอาหารกินเอง

ไก่พื้นเมือง เป็นไก่ที่เลี้ยงง่าย มีความต้านทานโรคสูง หากผู้ที่เลี้ยงได้ทำการศึกษาถึงอุปนิสัยและวิธีการเลี้ยงไก่พื้นเมืองให้ถ่องแท้ การเลี้ยงไก่พื้นเมืองก็จะไม่ใช่เรื่องยาก เพราะหาอาหารกินเองได้ โดยเฉพาะแมลง ไก่พื้นเมืองก็กินได้ จึงทำให้สามารถปล่อยเลี้ยงแบบธรรมชาติได้

ในเรื่องของการตลาดนั้นผู้บริโภคยังมีความต้องการ เพราะเนื้อไก่พื้นเมืองมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เมื่อนำมาประกอบอาหารมีความอร่อย แต่เมื่อเทียบจำนวนผู้เลี้ยงเพื่อจำหน่ายแล้ว ยังถือว่ามีอยู่จำนวนน้อยและตลาดยังมีความต้องการ จึงทำให้ราคาจำหน่ายของไก่พื้นเมืองมีราคาที่ดีตามไปด้วย

ผู้ใหญ่ณรงค์ กิ่งแก้ว อยู่บ้านเลขที่ 44 หมู่ที่ 14 ตำบลซับสนุ่น อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี เป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่พื้นเมืองเป็นอาชีพเสริม โดยที่การเลี้ยงไม่ได้ลงทุนอะไรมาก จึงทำให้การจำหน่ายมีกำไรและสามารถมีรายได้ใช้จ่ายภายในครัวเรือนได้เป็นอย่างดี

ผู้ใหญ่ณรงค์ กิ่งแก้ว

อาชีพหลักเลี้ยงโคนม เลี้ยงไก่พื้นเมืองเสริมรายได้

ผู้ใหญ่ณรงค์ เล่าให้ฟังว่า มีโอกาสได้มาอยู่ในจังหวัดสระบุรี เพราะเมื่อประมาณปี 2530 ทางรัฐบาลได้เปิดรับสมัครนักศึกษาที่จบทางด้านการเกษตร เข้าโครงการเกษตรกรก้าวหน้าเพื่อทำอาชีพเกี่ยวกับการเกษตร โดยทำการคัดเลือกให้เข้ามาอยู่ในพื้นที่ประมาณ 40 ราย โดยภาครัฐได้จัดสรรทั้งที่ดินและแหล่งเงินทุนให้กับผู้ที่เข้าโครงการ เมื่อสามารถประกอบอาชีพจนมีรายได้จึงผ่อนชำระเงินได้เรื่อยๆ จนเป็นเจ้าของที่ดินที่ส่งต่อไปให้กับลูกหลานได้

หาแมลงตามคอกโคนมกิน

“ช่วงที่เข้ามาอยู่ที่นี่ อาชีพที่ทำแรกๆ ก็คือเลี้ยงโคนม ถือว่าเป็นอาชีพพระราชทาน ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทุกคนที่เข้าโครงการนี้ก็จะเลี้ยงโคนมกันทุกคน ซึ่งจากวันนั้นจนมาถึงวันนี้ ก็เป็นเวลาได้ 30 ปีแล้ว เมื่อการเลี้ยงโคนมเราเริ่มอยู่ตัว พื้นที่ว่างของเรายังมีอยู่ ก็เลยคิดที่อยากจะหาสัตว์อย่างอื่นมาเลี้ยงด้วย ก็เลยได้ไก่พื้นเมืองมาเลี้ยงเป็นอาชีพเสริม เพราะคิดว่าเป็นสัตว์ที่อยู่ใกล้ตัวมากที่สุดสำหรับผมนะ มันดูจะเลี้ยงง่ายไม่ต้องใช้เงินทุนสูง จึงได้ตัดสินใจเลี้ยงตั้งแต่นั้นมา” ผู้ใหญ่ณรงค์ เล่าถึงที่มา

แม่ไก่เลี้ยงลูกไก่

ซึ่งไก่พื้นเมืองที่ได้นำมาเลี้ยงเป็นอาชีพเสริมนั้น ผู้ใหญ่ณรงค์ บอกว่า เป็นไก่ที่ญาติมาฝากเลี้ยงไว้และทางกรมปศุสัตว์ได้นำมาแจกให้กับผู้ที่สนใจอยากจะเลี้ยงเมื่อ 7 ปีที่แล้ว จึงทำให้เขาได้มีโอกาสเลี้ยงและขยายพันธุ์มาเรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้

เลี้ยงแบบปล่อยตามธรรมชาติ

ในเรื่องของการเลี้ยงไก่พื้นเมืองให้เจริญเติบโต ผู้ใหญ่ณรงค์ บอกว่า ไม่ได้มีวิธีหรือเตรียมการอะไรที่ซับซ้อน เพียงทำโรงเรือนนอนสำหรับหลบแดดหลบฝนแบบง่ายๆ เพราะส่วนใหญ่ไก่พื้นเมืองที่เลี้ยงจะเน้นปล่อยให้หากินเองตามธรรมชาติ โดยที่เขาไม่ต้องไปดูแลจัดการหรือควบคุมการเลี้ยงใดๆ ทั้งสิ้น

“เราเน้นเลี้ยงแบบปล่อยตามธรรมชาติ จะเดินหาอะไรกินก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ โดยที่เราไม่ต้องไปหาอาหารอะไรให้เลย เห็นแล้วไก่ก็มีความแข็งแรงดี และที่สำคัญบริเวณบ้านเราเลี้ยงโคนม จำเป็นที่จะต้องมีฟางข้าว ไก่ก็จะไปคุ้ยเขี่ยหาเมล็ดข้าวพวกนั้นกินเอง และที่สำคัญเศษอาหารที่ได้จากครัวเรือนไก่พื้นเมืองก็สามารถกินได้อีกด้วย ยิ่งแมลงที่มาเกาะกับโค ไก่พวกนี้ช่วยกินหมด ก็ถือว่ามีประโยชน์มากในเรื่องนี้” ผู้ใหญ่ณรงค์ บอก

แม่ไก่เลี้ยงลูกไก่

หาแมลงตามคอกโคนมกิน

ซึ่งไก่พื้นเมืองเมื่อเลี้ยงจนโตเต็มที่ ตัวเมียจะมีน้ำหนักอยู่ที่ 2 กิโลกรัมขึ้นไป ส่วนตัวผู้จะมีน้ำหนักประมาณ 3 กิโลกรัม โดยเมื่อทุกตัวเข้าสู่วัยผสมพันธุ์ได้ ก็จะปล่อยให้ไก่ผสมพันธุ์กันเอง ไม่ได้มีการจับคู่เหมือนกับการเลี้ยงแบบทำเป็นไก่ชนทั่วไป เพราะจะเน้นเป็นแบบจำหน่ายเป็นไก่เป็นให้กับลูกค้าที่จะมารับซื้อไปทำชำแหละเนื้อจำหน่ายเป็นไก่สดที่ตลาด

ซึ่งลูกไข่ที่ออกมาหากแม่ไก่ไม่ฟัก ผู้ใหญ่ณรงค์จะมีตู้ฟัก ทำการนำไข่ไปฟักเองที่เครื่อง เมื่อได้ลูกไก่ออกมาจากไข่แล้ว ก็จะกกให้มีความแข็งแรงสักระยะ พอลูกไก่มีความแข็งแรงก็จะปล่อยให้ไปอยู่ในฝูงตามธรรมชาติเหมือนเช่นตัวอื่นๆ

“การป้องกันโรคก็จะมีการทำวัคซีนให้บ้างในช่วงที่เป็นลูกไก่อยู่ พอไก่เจริญเติบโตมากขึ้นก็หมั่นดูบ้างว่ามีลักษณะอย่างไร ถ้าเหมือนจะเป็นช่วงที่มีโรคระบาด ก็จะหาซื้อยาปฏิชีวนะมาผสมกับน้ำให้ไก่กิน ก็จะช่วยป้องกันในเรื่องของโรคได้อยู่บ้าง เพราะบางทีโรคมามาก ถึงไก่จะเลี้ยงแบบนี้มีความแข็งแรงอยู่แล้ว แต่ก็ควรที่จะป้องกันไว้บ้าง ในช่วงที่เราคิดว่าน่าเป็นห่วง” ผู้ใหญ่ณรงค์ บอกถึงวิธีการดูแล

จับจำหน่ายปีละ 2 ครั้ง

เนื่องจากการเลี้ยงไก่พื้นเมืองของผู้ใหญ่ณรงค์ เป็นแบบการเลี้ยงให้อยู่เชิงธรรมชาติ ไม่ได้เน้นให้อาหารเสริมหรืออาหารข้นที่มีจำนวนโปรตีนมากๆ ไก่อาจจะเจริญเติบโตได้ช้ากว่าปกติ แต่ในเรื่องของรสชาติ เนื้อมีความอร่อยแน่นอน ถึงกับมีแม่ค้ามาติดต่อขอซื้อเพื่อไปจำหน่ายเป็นไก่สดถึงบ้านกันเลยทีเดียว

“พอถึงเวลาทุก 6 เดือน แม่ค้าที่เขามารับซื้อประจำ เขาก็จะมาติดต่อขอซื้อถึงบ้าน เขาก็จะนำคนมาจับเอง โดยที่เราไม่ต้องไปยุ่งวุ่นวายในเรื่องของการจับ เขามาจับไปต่อครั้งก็ 50-60 กิโลกรัม ต่อครั้ง ราคาขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 80 บาท ซึ่งต่อปีก็ถือว่าเป็นอาชีพเสริมที่ทำรายได้พอสมควร จากปริมาณที่ขายได้แบบอาชีพเสริม” ผู้ใหญ่ณรงค์ บอก

หาแมลงตามคอกโคนมกิน

สำหรับผู้ที่สนใจอยากเลี้ยงไก่พื้นเมืองเป็นอาชีพเสริม ผู้ใหญ่ณรงค์ บอกว่า ไม่ต้องคิดอะไรมาก ไก่พื้นเมืองถือว่าเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย เมื่อเทียบกับสัตว์ชนิดอื่นๆ โดยที่ผู้เลี้ยงไม่ต้องดูแลเอาใจใส่มาก สามารถหาอาหารกินเองได้ เมื่อโตจนจับจำหน่ายได้ก็ทำให้ผู้เลี้ยงมีรายได้ไว้ใช้จ่ายภายในครอบครัว และที่สำคัญไก่ที่เลี้ยงยังสามารถนำมาประกอบอาหารภายในครัวเรือนได้อีกด้วย

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ผู้ใหญ่ณรงค์ กิ่งแก้ว หมายเลขโทรศัพท์ (086) 044-8739

ในวันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2560 ทางนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ได้จัดสัมมนา ไก่เนื้อ ไก่พื้นเมือง สัตว์เศรษฐกิจทำเงิน “แนะนำวิธีการเลี้ยงไก่เชิงการค้า การป้องกันโรคระบาดสัตว์ อุตสาหกรรมแปรรูปไก่เนื้อจนถึงการส่งออก” ณ ห้องประชุมใหญ่ หนังสือพิมพ์ข่าวสด สำหรับท่านใดที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ (02) 580-0021 ต่อ 2335, 2339, 2342, 2343 หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Error! Hyperlink reference not valid.

ขอบคุณ... https://www.technologychaoban.com/livestock-technology/article_34928

ที่มา: เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 31 ต.ค.60
วันที่โพสต์: 31/10/2560 เวลา 09:53:38 ดูภาพสไลด์โชว์ เลี้ยงไก่พื้นเมืองไม่ใช่เรื่องยาก ปล่อยตามธรรมชาติ หาอาหารกินเอง ไก่แข็งแรง ประหยัดต้นทุน เป็นที่ต้องการของตลาด