โรงเรียนตชด.บ้านทุ่งสบายใจ สะเดา สงขลา สอนเกษตร เพื่ออนาคตของชาติ
แม้จะเป็นโรงเรียนในสังกัดกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภายใต้กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน แต่ก็สร้างสถิติของการสอนได้อย่างมีคุณภาพ เทียบเท่าและไม่แตกต่างจากโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
ในระดับโรงเรียนสังกัดเดียวกัน โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านทุ่งสบายใจ หมู่ที่ 6 ตำบลทุ่งหมอ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา จัดว่าเป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพด้านวิชาการอันดับต้นของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลาทั้งหมด 4 โรง
บุคลากรครู 6 คน เด็กนักเรียน 135 คน มีการเรียนการสอนในระดับอนุบาล และประถมศึกษา
ร.ต.ท. ประพันธ์ รัตนอุดม ครูใหญ่ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านทุ่งสบายใจ เล่าให้ฟังว่า โรงเรียนมีเด็กนักเรียนจากหมู่บ้าน 3 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ 6 หมู่ที่ 7 และหมู่ที่ 8 รัศมีการเดินทางจากบ้านมาโรงเรียน ในระยะ 5-6 กิโลเมตร ในทุกวันเด็กนักเรียนจะมาถึงโรงเรียนก่อนเวลา 07.00 น. เพื่อรับประทานอาหารเช้าร่วมกันในเวลา 07.00 น. โดยโรงเรียนจัดหาไว้ให้ รวมถึงมื้อกลางวันที่โรงเรียนก็จัดหาไว้ให้นักเรียนด้วยเช่นกัน แม้ว่าจะได้รับงบประมาณสำหรับอาหารกลางวันจากภาครัฐ แต่โรงเรียนเห็นว่าสภาพภูมิประเทศแถบนี้เป็นอุปสรรคต่อการเดินทางมาเรียนก็มากเพียงพอแล้ว การมีอาหารมื้อเช้าไว้ให้เด็กรับประทาน นอกจากจะช่วยให้เด็กได้มีโภชนาการที่ครบถ้วน ก็ยังเป็นการช่วยลดภาระผู้ปกครองได้อีกทางหนึ่งด้วย
“โรงเรียนเรามีพื้นที่ทั้งสิ้น 14 ไร่ เด็กนักเรียนมี 135 คน ครูผู้สอนรวมทั้งครูใหญ่ มีเพียง 6 คน ดูเหมือนจะไม่เพียงพอ แต่ครูทุกคนก็ตั้งใจแบ่งเวลาและทุ่มเทให้กับการสอน ให้เพียงพอกับสิ่งที่เด็กนักเรียนควรจะได้รับ ซึ่งโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ก็เป็นโครงการที่มีมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งโรงเรียนในปี พ.ศ. 2522 และอยู่ในโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี”
เพราะจำนวนเด็กน้อย แต่ต้องทำการเกษตรให้ครบถ้วน เพื่อสร้างรากฐานด้านการเกษตรให้กับเด็กนักเรียน โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านทุ่งสบายใจ จึงจัดสรรการเกษตรทั้งส่วนของแปลงผักสวนครัว ไม้ผล ประมง เห็ด และปศุสัตว์ รวมถึงพืชตระกูลถั่วที่ช่วยปรับปรุงดินให้อุดมสมบูรณ์ขึ้นมาอีกครั้ง
ครูใหญ่ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านทุ่งสบายใจ บอกด้วยว่า ดินบริเวณโรงเรียนเป็นดินเหนียวปนกรวด และเป็นกรดในบางพื้นที่ ทำให้การปลูกพืชต้องเลือกชนิดที่เหมาะสมกับดิน สำหรับดินเป็นกรด ก็แก้ไขด้วยการโรยปูนโดโรไมท์และใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก รวมถึงการปลูกพืชตระกูลถั่วไว้ หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ใช้วิธีไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสดให้กับดินไป
แปลงผัก เป็นแปลงที่ก่อขึ้นด้วยอิฐ มีจำนวนกว่า 20 แปลง ปลูกผักกินใบสำหรับสวนครัว หมุนเวียนตลอดทั้งปี
ไม้ผล ปลูกมะละกอ กล้วย ขนุน จำปาดะ มะพร้าว มังคุด กระท้อน ทั้งหมดปลูกแทรกไปทุกพื้นที่ของโรงเรียน เท่าที่สามารถปลูกได้
บ่อดินขุดไว้ขนาดครึ่งไร่ต่อบ่อ มีจำนวน 2 บ่อ ปล่อยปลากินพืชไว้ เช่น ปลานิล ปลาตะเพียน ปลาสวาย ทยอยจับขึ้นมา เมื่อปลามีขนาดโตพอนำมาประกอบอาหารได้ ไม่จับพร้อมกันทั้งหมด เพื่อให้เด็กนักเรียนมีรับประทานตลอดเทอม ยกเว้นกรณีที่ปิดภาคเรียนนาน จะจับปลาขึ้นมาในครั้งเดียว และจำหน่ายให้กับผู้ปกครองนักเรียน
ปลาดุก เลี้ยงในบ่อซีเมนต์ จำนวน 2 บ่อ การเลี้ยงดูและการจับปลา ใช้วิธีเดียวกับการดูแลปลากินพืช คือ ทยอยจับมาประกอบอาหาร แต่จะจับจำหน่ายให้กับผู้ปกครองนักเรียน หากเป็นช่วงปิดภาคเรียน
ไก่ไข่ เลี้ยงแบบยืนกรงในโรงเรือน จำนวน 100 ตัว เก็บไข่ได้อย่างน้อยวันละไม่ต่ำกว่า 80 ฟอง
ไก่พื้นบ้าน เลี้ยงไว้เพื่อขยายพันธุ์และขายต่อให้กับชุมชน หรือให้เด็กนักเรียนที่มีใจรักนำกลับไปเลี้ยงที่บ้าน จากนั้นเมื่อขยายพันธุ์ได้ให้นำกลับมาคืนให้กับโรงเรียน ส่วนผลผลิตที่ได้ก็เป็นกำไรให้กับนักเรียนไป
ถั่วมะแฮะ เป็นกระแสรับสั่งของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้ลงปลูกทุกที่ที่มีพื้นที่ว่าง เพื่อเป็นพืชบำรุงดิน ทำให้เกือบทุกพื้นที่ที่ว่าง เต็มไปด้วยถั่วหลายชนิด โดยเฉพาะถั่วมะแฮะและถั่วหรั่ง
“แม้จะเป็นพืชตระกูลถั่วใช้สำหรับปรับปรุงดิน ตามกระแสรับสั่งของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แต่เพราะดินบริเวณโรงเรียนไม่ดี เป็นกรด และเป็นดินเหนียวปนกรวด สำหรับถั่วมะแฮะ ไม่มีปัญหา เพราะเป็นไม้ยืนต้น ฝักอ่อนผัดผักได้ ฝักแก่ต้มเกลือรับประทาน เมล็ดแห้งนำไปตากแดดใช้ประกอบอาหารหวาน คล้ายถั่วดำ ส่วนถั่วหรั่ง ตอนนี้โรงเรียนทดลองปลูก เพราะถั่วหรั่งเจริญเติบโตได้ไม่ดีในดินเหนียวปนกรวด แต่ก็บำรุงด้วยปุ๋ยคอกให้มาก เพื่อให้ถั่วหรั่งเจริญเติบโตได้ดี”
พื้นที่โดยรวมทั้งหมดของแปลงเกษตรทั้งพืชและสัตว์ ราว 4 ไร่เศษ คิดเป็นพื้นที่เกือบ 1 ใน 3 ของพื้นที่โรงเรียนทั้งหมด และแม้จะมากพอเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนบุคลากรผู้สอนกับเด็กนักเรียนแล้ว ถือว่าสัดส่วนอยู่ในเกณฑ์เหมาะสม แต่โรงเรียนก็ยังต้องการการสนับสนุนในกิจกรรมการเกษตรอยู่
ด.ต. วิรัช ศรีสุวรรณชนะ ผบ.หมู่ กก.ตชด.43 ครูเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านทุ่งสบายใจ กล่าวว่า กิจกรรมในภาคเกษตรที่ยังต้องการการสนับสนุน คือ การทำโรงเรือนถาวรให้กับไก่พื้นบ้าน และสิ่งที่ต้องการมากกว่านั้น คือ บุคลากรที่เป็นครูและมีความรู้ด้านเกษตร เพราะปัจจุบัน อาศัยครูในโรงเรียนที่มี นำพื้นฐานเท่าที่พอมีอยู่นำมาถ่ายทอดให้กับเด็กนักเรียน
สำหรับการแบ่งกิจกรรมการเกษตรให้เด็กนักเรียน ด.ต. วิรัช บอกว่า เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนต้น จะไม่ให้ทำกิจกรรมหนัก และให้ลงแปลงเฉพาะในวิชาเรียนการงานพื้นฐานอาชีพ เพราะเป็นเด็กเล็ก เช่น ถอนวัชพืช รดน้ำ พรวนดิน เพาะต้นกล้า เป็นต้น ส่วนงานเกษตรที่ต้องใช้แรงงานและความรับผิดชอบสูง เป็นหน้าที่ของเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนปลาย
การดูแลกิจกรรมเกษตรแต่ละกิจกรรม ให้เด็กแบ่งกลุ่มตามความสมัครใจ จากนั้นมอบหมายการดูแล เช่น แปลงผักสวนครัว ไม้ผลและไม้ยืนต้น ไก่ไข่ โรงเรือนเพาะเห็ด (ตามฤดูกาล) ไก่พื้นบ้าน ปลากินพืชในบ่อดิน และปลาดุกบ่อซีเมนต์
ด.ต. วิรัช บอกด้วยว่า การแบ่งหน้าที่ให้กับเด็กนักเรียนไม่ต้องพูดกันมาก เพราะเด็กนักเรียนรักและชอบด้านเกษตรอยู่แล้ว เนื่องจากแต่ละครอบครัวก็มีพื้นฐานในการทำการเกษตร การดูแลผัก ผลไม้ สัตว์ ในกิจกรรมเกษตร จึงไม่ใช่เรื่องยาก ซึ่งที่ผ่านมาเด็กนักเรียนจะทำกิจกรรมหลังรับประทานอาหารเช้าเรียบร้อย และเข้าไปดูความเรียบร้อยหรือทำกิจกรรมเพิ่มเติมในแปลงหลังเลิกเรียน
แม้จะไม่มีกฎเกณฑ์มาตีกรอบให้เด็กนักเรียนต้องทำหน้าที่ในกิจกรรมเกษตรของโรงเรียน แต่เด็กนักเรียนที่นี่มีความรักและความผูกพัน จึงทำหน้าที่ของตนเองโดยไม่ต้องใช้ระเบียบใดๆ มาบังคับ ทำให้กิจกรรมเกษตรและละกิจกรรม ดำเนินไปด้วยดีและประสบความสำเร็จมาโดยตลอด
อเด็กชายศุภกิตติ์ บุญรัศมี หรือ น้องกัณฑ์ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 อายุ 12 ปี เล่าให้ฟังว่า เริ่มทำการเกษตรในโรงเรียนครั้งแรกเมื่อศึกษาอยู่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ตอนนั้นเริ่มทำเพียงถอนวัชพืชและรดน้ำต้นไม้ แต่เมื่อโตขึ้นและต้องรับผิดชอบมากขึ้น ก็ไม่ได้รู้สึกว่าการเกษตรเป็นเรื่องหนัก เพราะทุกวันที่ลงมือทำก็เหมือนเป็นหน้าที่ไปโดยปริยาย โดยส่วนตัวชอบปลูกผัก เพราะการดูแลจะแตกต่างกับการเลี้ยงสัตว์ที่ต้องละเอียดมากกว่าพืช ซึ่งพืชนอกเหนือจากการรดน้ำแล้ว ให้หมั่นสังเกตศัตรูพืชหรือแมลงรบกวน หากพบก็กำจัดทิ้ง และหมั่นใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก เพียงเท่านี้การปลูกพืชก็ได้ผลผลิตตามต้องการ
ด้าน เด็กชายพัฒศพงษ์ บุญร่วมแก้ว หรือ น้องโปรเจ็ค นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 อายุ 12 ปี บอกว่า ครอบครัวทำสวนยางพารา เวลาว่างจะออกไปช่วยพ่อแม่ทำสวนยางพารา ด้วยการเก็บยางถ้วย ซึ่งครอบครัวก็สนับสนุนหากสนใจด้านเกษตร สำหรับตนเองแล้ว เห็นว่าการออกไปสวนยางพาราพร้อมกับพ่อและแม่ ถือเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัว นอกจากนี้ กิจกรรมด้านการเกษตรที่ชอบ คือ การเลี้ยงไก่ไข่ เพราะเห็นผลผลิตทุกวัน และในแต่ละวันการดูแลไม่มาก ลำดับการดูแลไก่ไข่เริ่มจากการให้อาหาร เก็บไข่ ทำความสะอาดเล้าไก่ นำขี้ไก่ไปรวมไว้ที่บ่อกักเก็บ เพื่อกำจัดทิ้ง หรือนำไปตากแห้ง ใช้สำหรับเป็นปุ๋ยให้กับต้นไม้ได้อีกด้วย
สำหรับ เด็กชายณัฐวุฒิ ทองแกมแก้ว หรือ น้องมิก นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 อายุ 12 ปี เล่าว่า ในแต่ละวันของการมาเรียนหนังสือ ตระหนักอยู่เสมอว่ามีภารกิจที่ต้องรับผิดชอบในการเกษตรของโรงเรียน สำหรับตนรับผิดชอบปศุสัตว์และประมง ในทุกวันต้องดูแลไก่ไข่ ไก่พื้นบ้าน ปลากินพืชในบ่อดิน และปลาดุกในบ่อซีเมนต์
“ทุกวันผมมีความสุขกับการดูแลสัตว์ครับ ถึงแม้ว่าจริงๆ ผมจะชอบการปลูกผักมากกว่าก็ตาม แต่การทำการเกษตรเป็นทุกอย่างก็เป็นเรื่องดี หากอนาคตจำเป็นต้องใช้ ก็สามารถนำออกมาใช้ได้โดยไม่ต้องไปเรียนรู้ใหม่”
อย่างที่กล่าวไว้เบื้องต้น ว่าโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านทุ่งสบายใจแห่งนี้มีบุคลากรผู้สอนน้อย แต่ทุกท่านก็พยายามเติมเต็มทุกอย่างให้กับเด็กนักเรียนเท่าที่จะทำได้ ส่วนสิ่งที่ขาดมากน้อยตามที่ครูผู้สอนกล่าวไว้ หากจะมีท่านใดมีจิตศรัทธาส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาเด็กนักเรียนในภาคเกษตร โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านทุ่งสบายใจแห่งนี้ก็ยินดี สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ร.ต.ท. ประพันธ์ รัตนอุดม ครูใหญ่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านทุ่งสบายใจ หมู่ที่ 6 ตำบลทุ่งหมอ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา โทรศัพท์ (095) 431-3993 หรือ ด.ต. วิรัช ศรีสุวรรณชนะ ผบ.หมู่ กก.ตชด.43 ครูเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน โทรศัพท์ (080) 710-1206
ขอบคุณ... https://www.technologychaoban.com/young-farmer/article_27390