“ชัยภูมิโมเดล” ยกระดับตลาดสินค้าอินทรีย์ เพิ่มรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย
ทุกวันนี้ สินค้าเกษตรอินทรีย์ทั่วโลกมีมูลค่ารวม 3 ล้านล้านบาท มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงปีละ 20% อันเป็นผลมาจากการที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการรักษาสุขภาพมากขึ้น การผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ช่วยให้เกษตรกรผู้ผลิตมีรายได้เพิ่มมากขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จูงใจให้เกษตรกรทั่วโลกหันมาปลูกสินค้าเกษตรอินทรีย์กว่า 318 ล้านไร่ ใน 183 ประเทศ
ในขณะที่ประเทศไทยมีพื้นที่ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ ประมาณ 3 แสนไร่ ตัวเลขพื้นที่ปลูกมากเป็น อันดับที่ 8 ของเอเชีย และเป็นอันดับที่ 60 ของโลก สินค้าเกษตรอินทรีย์สำคัญของไทย ได้แก่ กะทิ เครื่องแกง ซอส มูลค่า 1,201 ล้านบาท ข้าว 552 ล้านบาท และอื่นๆ เช่น มะพร้าวน้ำหอม ชา กาแฟ และสมุนไพร 558 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่ารวม 2,310 ล้านบาท มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี ไม่ต่ำกว่าปีละ 10%
ดังนั้น “ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์” จึงเป็นโอกาสและความหวังของเกษตรกรและรัฐบาลไทย ในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ พัฒนาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนในอนาคต รัฐบาลจึงกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ เพื่อผลักดันประเทศไทยก้าวเป็นผู้นำตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในเวทีตลาดโลก
กระทรวงพาณิชย์ ได้บูรณการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ฯลฯ ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์อย่างครบวงจร ตั้งแต่ขยายพื้นที่การปลูก เผยแพร่องค์ความรู้และนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น ควบคู่กับการลดต้นทุนการผลิต พัฒนาตลาดสินค้าและบริการ รับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ยกระดับคุณภาพสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้ซื้อ
หมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ “ORGANIC VILLAGE”
กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาตลาดสินค้าอินทรีย์ ปี 2560-2564 ภายใต้วิสัยทัศน์ “ไทยเป็นผู้นำด้านการผลิต การค้า และการบริโภคสินค้าอินทรีย์ในภูมิภาคอาเซียน” โดยจัดตั้ง หมู่บ้านเกษตรอินทรีย์“ORGANIC VILLAGE” ไม่ต่ำกว่าปีละ 4 หมู่บ้าน เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายควบคู่กับการขยายตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ และเพิ่มขีดความสามารถด้านการแปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรอินทรีย์ในแต่ละชุมชนเป้าหมาย
กระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายให้สำนักงานพาณิชย์ทั่วประเทศสำรวจและประเมินพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับจัดตั้ง “หมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ ORGANIC VILLAGE” โดยมีกติกาว่า ชุมชนดังกล่าวจะต้องมีเกษตรกรไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ของครัวเรือนทั้งหมด ที่พร้อมปรับตัวเข้าสู่ระบบการทำเกษตรอินทรีย์ สินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ผลิตได้จะใช้บริโภคภายในชุมชนก่อน ส่วนที่เหลือจากการบริโภคจะขายเข้าสู่ตลาดภายนอก
ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการจัดตั้งหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ไปแล้ว 4 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่บ้านริมสีม่วง ตำบลริมสีม่วง อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ หมู่บ้านทัพไทย ตำบลทมอ อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ หมู่บ้านโสกขุมปูน ตำบลนาโส่ อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร และหมู่บ้านห้วยพูล จังหวัดนครปฐม
ในปี 2560 กระทรวงพาณิชย์ได้ขยายพื้นที่เป้าหมายอีก 4 แห่ง ในจังหวัดนครพนม จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดลพบุรี และจังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้ อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดตั้งหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์อีก 2 แห่ง คือหมู่บ้านหนองสะโน ตำบลดอนนางหงส์ อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม และหมู่บ้านหนองหอย ตำบลกุดชุมแสง อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ
“ชัยภูมิโมเดล” หุบเขาอินทรีย์แห่งแรกของไทย
“เกษตรอินทรีย์” เป็นอาชีพทางเลือกของเกษตรกรชาวชัยภูมิ ที่ต้องการยกระดับคุณภาพผลผลิตให้มีคุณภาพดีและมีมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับของตลาด การผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ยังช่วยให้ขายสินค้าได้ราคาสูงขึ้น ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด ช่วยให้ผู้ซื้อมีทางเลือกในการบริโภคสินค้าที่ปลอดจากสารเคมีตกค้างมากขึ้นด้วย
“จังหวัดชัยภูมิ” ได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้ง เพราะมีพื้นที่ลุ่มอยู่ประมาณร้อยละ 45 อยู่ใกล้แม่น้ำชี ทำให้มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ แถมตัวเกษตรกรก็เชี่ยวชาญด้านเกษตรกรรม ขณะเดียวกัน “จังหวัดชัยภูมิ” ก็มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาอาชีพการเกษตร มุ่งส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถของเกษตรกรอย่างสม่ำเสมอ ทำให้เกิดความเข้มแข็งในภาคการผลิต นับเป็นปัจจัยบวกที่เอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาอาชีพการเกษตรของจังหวัดชัยภูมิ
อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ เป็นเขตพื้นที่ป่าผืนใหญ่ ที่มีความอุดมสมบูรณ์และเป็นแหล่งผลิตผลไม้ที่ขึ้นชื่อของจังหวัดชัยภูมิหลายชนิด เช่น มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง กล้วยหอมทอง ที่มีมูลค่าการส่งออกปีละกว่า 100 ล้านบาท โดยเฉพาะพื้นที่หมู่บ้านหนองหอย ตำบลกุดชุมแสง เป็นชุมชนที่เข้มแข็งมาก ทางกลุ่มได้ผลักดันให้มีการผลิตเกษตรอินทรีย์กระจายตัวไปยังหมู่บ้านอื่นๆ โดยรวมตัวกันทำ “เกษตรแปลงใหญ่” ตามนโยบายรัฐบาล พร้อมเชื่อมโยงการตลาดและนำไปสู่การท่องเที่ยวเชิงเกษตรแบบยั่งยืนอีกด้วย
ตำบลกุดชุมแสง อำเภอหนองบัวแดง เป็นหุบเขาที่โอบล้อมด้วยธรรมชาติที่สวยงาม เขตปกครองนี้ประกอบด้วย 18 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหนองหอย บ้านหนองแก บ้านภูมิมะค่า บ้านห้อหว้า บ้านหัวนาคำ บ้านกุดชุมแสง บ้านทุ่งแลนคา บ้านใหม่นาดี เป็นต้น สำนักงานพาณิชย์จังหวัดชัยภูมิได้สำรวจพบว่า ชุมชนแห่งนี้มีความเข้มแข็ง ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ แบบผสมผสานในวิถีเกษตรอินทรีย์ทั้งหุบเขา “กลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติหนองบัวแดง” เป็นกลุ่มเกษตรอินทรีย์แห่งแรกที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน Organic Thailand พ.ศ. 2560 ก่อนกระจายไปยังสินค้าเกษตรประเภทอื่นๆ
ปัจจุบัน สินค้าอินทรีย์ของชุมชนแห่งนี้มีวางจำหน่ายในร้านเลมอนฟาร์ม และร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าอินทรีย์ทั่วประเทศ ชาวบ้านในชุมชนดำรงชีวิตตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พวกเขาดูแลบริหารจัดการในชุมชนอย่างเป็นระบบ เช่น การใช้พลังงานสะอาด (โซลาร์เซลล์) ฯลฯ รวมทั้งพัฒนาเครือข่ายเชื่อมโยงการตลาด เพื่อซื้อขายสินค้าในกลุ่มเกษตรอินทรีย์ต่างๆ ในพื้นที่อำเภอหนองบัวแดง 7 กลุ่ม ได้แก่
1. กลุ่มนาแปลงใหญ่หนองบัวแดง นโยบายการทำเกษตรในรูปแบบแปลงใหญ่ ถือเป็นเครื่องมือในการยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร ซึ่งได้มีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การเป็นนาแปลงใหญ่ โดยการรวมกลุ่มเกษตรกรเข้มแข็ง จำนวน 30 รายขึ้นไป ให้มีพื้นที่จำนวน 300 ไร่ขึ้นไป เพื่อการบริหารจัดการเกษตรแปลงใหญ่ และการเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ในวงเงิน 10 ล้านบาท ดอกเบี้ย 0.01% ในระยะเวลา 5 ปี โดยผู้จัดการแปลงที่มีความเข้มแข็ง จะเชื่อมโยงการบูรณาการของหน่วยงาน โดยให้ความรู้ด้านการผลิต และช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ นอกจากนี้ สหกรณ์และพาณิชย์จังหวัดจะจัดการในเรื่องการตลาดโดยดำเนินโครงการจับคู่ธุรกิจระหว่างเกษตรกรกับผู้ซื้ออีกด้วย
2. กลุ่มวิสาหกิจกล้วยหอมทองเพื่อการส่งออกหนองบัวแดง เนื่องจากกล้วยหอมทองเป็นไม้ผลที่ต้องการสูงในตลาดญี่ปุ่น กล้วยหอมทองจึงกลายเป็นพืชความหวังใหม่ของชุมชนบ้านหัวนาคำ ตำบลถ้ำวัวแดง อำเภอหนองบัวแดง การผลิตกล้วยหอมทองแต่ละรอบจะใช้เวลาปลูกถึงการเก็บเกี่ยว 8-10 เดือน ผลผลิตเฉลี่ย 4,000 กิโลกรัม ต่อไร่ ราคากิโลกรัมละ 18 บาท สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรประมาณ 30,000-40,000 บาท ต่อไร่
3. กลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติหนองบัวแดง
4. กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงโคเนื้อบ้านหนองบัวแดง
5. กลุ่มส่งเสริมอาชีพคนพิการทอผ้าขาวม้าหนองบัวแดง
6. กลุ่มผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมบ้านนาทุ่งใหญ่
7. กลุ่มเกษตรอินทรีย์ระบบ PGS
นอกจากนี้ ยังได้เชื่อมโยงเครือข่ายการตลาดไปยังพื้นที่ใกล้เคียง คือกลุ่มเกษตรอินทรีย์ระบบ PGS อำเภอเกษตรสมบูรณ์
เมื่อเร็วๆ นี้ คุณอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ลงพื้นที่หารือร่วมกับภาคเอกชนและกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อินทรีย์ อำเภอหนองบัวแดง และอำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ เพื่อติดตามการทำเกษตรอินทรีย์ของชุมชน พร้อมสนับสนุนให้ชุมชนแห่งนี้เป็นต้นแบบของหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ (Organic Valley) แห่งแรกของไทย เนื่องจากเกษตรกรมีความเข้มแข็ง มีระบบการบริหารจัดการที่ดี ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง สร้างแรงบันดาลใจให้กับเกษตรกรในภูมิภาคอื่นต่อไปด้วย
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ วางแผนส่งเสริมด้านการตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาคเอกชน มุ่งพัฒนาสินค้าเกษตรอินทรีย์ในประเทศ เช่น สร้างเครือข่ายกับเกษตรกรไทย (Opportunity on Organic Farm) รับซื้อผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรอินทรีย์จากชุมชนต่างๆ การส่งเสริมการขายสินค้าเกษตรอินทรีย์ร่วม โมเดิร์นเทรดและห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ด้านตลาดต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จะสร้างเครือข่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ร่วมกับสมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ของสหรัฐอเมริกา นำสินค้าไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าเกษตรอินทรีย์ระดับโลก เช่น ANUGA BioFach และ All Things Organic เป็นต้น
ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ วางแผนผลักดันให้ไทยก้าวเป็นศูนย์กลางเกษตรอินทรีย์ของอาเซียนในอนาคตเนื่องจากไทยมีจุดแข็งในด้านศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่หลากหลาย รวมทั้งมีการขยายพื้นที่ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงผลักดันให้มีการสร้างเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ในกลุ่มประเทศ CLMVT ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยจะเชิญเกษตรกรจากประเทศเพื่อนบ้านมาร่วมเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำเกษตรอินทรีย์ระหว่างกัน ในลักษณะการจัดทำแปลงสาธิต จัดอบรมความรู้ด้านการตลาด และระบบโลจิสติกส์
ขอบคุณ... https://www.technologychaoban.com/agricultural-technology/article_27146