ไทยจับกระแสลดโลกร้อน รัฐ-เอกชนมุ่งผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน

ไทยจับกระแสลดโลกร้อน รัฐ-เอกชนมุ่งผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน

กระแสภาวะโลกร้อนที่ทุกประเทศกำลังตื่นตัวอยู่ในเวลานี้ กำลังเป็นจุดเปลี่ยนที่หลายๆ ประเทศพยายามจะหาเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ที่ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ต่ำที่สุด ซึ่งเห็นได้จากการประชุมการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกครั้งที่ 21 หรือ COP21 ในช่วงปลายปี 2558 ที่ผ่านมา หลายประเทศทั่วโลกต่างปรับแผนพลังงานให้เป็นไปตามเทรนด์ของโลกมากที่สุด ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยที่เร่งปรับ 5 แผนบูรณาการพลังงาน โดยกำหนดสัดส่วนการลดคาร์บอนไดออกไซด์ 20-25% ในปี 2573

ผลักดันพลังงานทดแทนสู่ฟอสซิล

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในงานสัมมนา Energy Symposium 2016 หัวข้อ พลังงานไทยในกระแสพลังงานโลก จัดโดยสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) โดยเน้นย้ำว่า หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญกับการลดภาวะโลกร้อนมากขึ้น และนำไปสู่การลงนามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ COP21 ซึ่งไทยได้ร่วมลงนามลดภาวะโลกร้อนด้วย และได้กำหนดแผนบูรณาการพลังงานของประเทศให้สอดคล้องกับ COP 21 เช่นกัน โดยเฉพาะการลดใช้พลังงานและการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน

โดยกระทรวงพลังงานจะผลักดันให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง และราคาต้องไม่แพงกว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหลัก อย่างก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน เป็นต้น พร้อมกันนี้เตรียมปรับลดเงินสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนตามต้นทุนที่แท้จริง(FiT) อาทิ โครงการโซลาร์ฟาร์มพบว่าต้นทุนลดลงมาก มองว่าจะช่วยให้ค่าไฟฟ้าโดยรวมของประเทศไม่สูงเกินไป ซึ่งเป็นความท้าทายที่กระทรวงพลังงานจะดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย ให้พลังงานทดแทนสามารถแข่งกับเชื้อเพลิงฟอสซิลได้

เอกชนพร้อมหนุนช่วยลดต้นทุน

ขณะที่นายวีรศักดิ์ โฆสิตไพศาล ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม และรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) คาดการณ์ว่าในปี 2573 พลังงานทางเลือกจะเป็นแหล่งพลังงานที่ใหญ่ของประเทศ โดยเฉพาะพลังงานน้ำจะมีสัดส่วนการผลิตสูงสุด รองลงมาคือ ลมและแสงอาทิตย์ เนื่องจากปัจจุบันแนวโน้มการใช้พลังงานทดแทนของไทยมีใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภาคธุรกิจมีการผลิตพลังงานทดแทนก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน เพราะช่วยลดต้นทุนการผลิตลงได้

ทั้งนี้ กระแสพลังงานที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จากตัวแปรทั้งทางด้านความต้องการของผู้บริโภค และกลไกทางการตลาด ทำให้ผู้ประกอบการต้องเตรียมความพร้อมในการรับมืออยู่เสมอ เนื่องจากพลังงานเป็นต้นทุนสำคัญในการประกอบกิจการ นอกจากนี้ ความต้องการพลังงานของโลกที่เพิ่มสูงขึ้น โดยภาคขนส่งมีความต้องการบริโภคน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น 25% และพลังงานหมุนเวียนก็มีสัดส่วนการใช้พลังงานที่เพิ่มมากขึ้น เป็นผลมาจากโครงสร้างพลังงานโลกได้ถูกขับเคลื่อนด้วยกลไกตลาดและการแข่งขันเสรี และส่งผลให้มีบทบาทต่อการกำหนดทิศทางการพัฒนาด้านพลังงานของโลกในอนาคต ปัจจุบันศูนย์กลางความต้องการพลังงานของโลกอยู่ที่กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งอาเซียนกลายเป็นภูมิภาคสำคัญที่มีความต้องการพลังงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

กฟผ.ขอโควตาผลิตไฟฟ้าเพิ่ม

นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการกิจการสังคม ในฐานะโฆษก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มองว่า ภาพรวมสถานการณ์พลังงานโลกพบว่ามีการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้ามากถึง 60-70% เนื่องจากถ่านหินมีปริมาณสำรองเกือบ 100 ปี และเป็นที่น่าสังเกตว่าหลายๆประเทศตื่นตัวที่จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนมากขึ้น และเมื่อมองลงมาในระดับอาเซียน พบว่ามีแนวโน้มความต้องการใช้พลังงานเติบโตขึ้นมาก แต่เชื้อเพลิงถ่านหินยังเป็นเชื้อเพลิงสำคัญในการผลิตไฟฟ้า ขณะที่ไทยนับว่าเป็นประเทศที่ใช้พลังงานสูงสุดเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน แต่มีสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินที่ต่ำมาก จึงทำให้ ประเทศนำเข้าน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม การที่กระทรวงพลังงานกำหนด 5 แผนบูรณาการด้านพลังงาน โดยเฉพาะแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาวปี 2558-2579 (พีดีพี 2015) ที่ต้องการกระจายเชื้อเพลิง จากปัจจุบันใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า 67% ลดลงเหลือ 30-40% ,ถ่านหิน 20% เป็น 20-25% และให้ความสำคัญกับการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน จากปัจจุบัน 9% เป็น 30% ในช่วงปลายแผน ซึ่งนับว่าไทยเป็นประเทศผู้นำด้านพลังงานทดแทน เทียบกับอาเซียนที่มีเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอีก 15-20% ในอีก 20 ปีข้างหน้า เป็น 23% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด

โดยในส่วนของ กฟผ. ปัจจุบันมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลังงานน้ำอยู่เกือบ 3,000 เมกะวัตต์ และมีแผนจะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอื่นๆเพิ่มขึ้นอีก 1,500-2,000 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำแผนเสนอคณะกรรมการ(บอร์ด) กฟผ.พิจารณา ก่อนจะนำเสนอขออนุมัติจากกระทรวงพลังงาน เพื่อกำหนดว่าจะเข้าไปอยู่ในโควตาเดิมในแผนพีดีพี 2015 หรือจะต้องกำหนดเป็นโควตาใหม่ เนื่องจากการลงทุนด้านพลังงานทดแทนของ กฟผ. ไม่ได้ต้องการแข่งขันกับเอกชนแต่อย่างใด

ขณะที่การขยายการลงทุนด้านพลังงานทดแทนของ กฟผ. จะพิจารณาในพื้นที่ของ กฟผ. ก่อน และมุ่งเน้นไปที่การผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล เนื่องจากเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรโดยตรง ซึ่งขณะนี้กำลังศึกษาพื้นที่ที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม กฟผ.จะไม่ปิดกั้นการลงทุนจากภาคเอกชน หากวงเงินลงทุนไม่เกินเพดานตาม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)การให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ(พีพีพี) ก็พร้อมลงทุนทันที

ปตท.จับกระแสรถยนต์อีวี

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) สะท้อนให้เห็นว่า ความต้องการใช้พลังงานของโลกเติบโตขึ้น โดยมองทิศทางทางราคาน้ำมันของโลกในระยะสั้นจะทรงตัวระดับ 40-50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ขณะที่ต้นทุนการผลิตเชลล์ออยล์และเชลล์แก๊ส อยู่ที่ 60 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ดังนั้น ในระยะยาวราคาน้ำมันดิบจะยังไม่เกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล เนื่องจากการผลิตเชลล์ออยล์ และเชลล์แก๊ส ยังจุดคุ้มทุนในการผลิตที่ 60 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล หากราคาน้ำมันดิบแตะ 60 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ผู้ผลิตเซลล์ออยล์ก็จะหันกลับมาผลิตน้ำมันมากขึ้น กดดันให้ราคาไม่ปรับตัวสูงมากนัก

ปัจจุบันพบว่าประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบมากถึง 80% ,ก๊าซธรรมชาติ 27% และถ่านหิน 70% มูลค่าการนำเข้ารวม 1 ล้านล้านบาทต่อปี ขณะเดียวกันประเทศไทยยังใช้พลังงานสูงเมื่อเทียบกับตัวเลขจีดีพี ซึ่ง ปตท. ในฐานะบริษัทที่ต้องดูแลความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ จำเป็นต้องเสาะแสวงหาแหล่งปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในราคาที่ยุติธรรม ซึ่งจะเห็นว่าบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เข้าไปลงทุนแหล่งสัมปทาน 33 โครงการใน 11 ประเทศทั่วโลก เพื่อเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน

อย่างไรก็ตาม ตามกระแสของโลก พบว่ามีการให้ความสำคัญกับพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคขนส่งจากปัจจุบันใช้น้ำมัน ในอนาคตของโลกจะหันไปสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้า(อีวี)กันมากขึ้น โดยปตท.เตรียมแผนรองรับสถานการณ์ดังกล่าว โดยขณะนี้ได้สร้างปั๊มชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์อีวีแล้ว 4 จุด และสิ้นปี 2559 นี้จะมีอีก 2 จุด ส่วนในปี 2560 จะสร้างเพิ่มรวมเป็น 20 จุด เพื่อรองรับการเติบโตของรถยนต์อีวีในอนาคต

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,191 วันที่ 11 – 14 กันยายน พ.ศ. 2559

ขอบคุณ... http://www.thansettakij.com/2016/09/14/96291 (ขนาดไฟล์: 167)

ที่มา: thansettakij.com/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 14 ก.ย.59
วันที่โพสต์: 14/09/2559 เวลา 09:49:16 ดูภาพสไลด์โชว์ ไทยจับกระแสลดโลกร้อน รัฐ-เอกชนมุ่งผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน