คลังเคาะภาษีความหวาน ให้เวลาปรับตัวเริ่มใช้ปี61
สศค.เผยได้ข้อสรุปภาษีความหวานแล้ว หลังถกเอกชน ให้เวลา 2 ปีปรับตัวผ่านมาตรการที่ไม่ใช่ ระบุฉลากชัด ก่อนใช้มาตรการภาษีคาดเริ่มปี 2561 ชี้ข้อเสนอของผู้ประกอบการที่ให้ยืดระยะเวลา 5 ปี นานเกิน ขณะที่ซีเอฟโอ KTIS “สิริวุทธิ์” ห่วงกระทบผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ด้าน “ตัน ภาสกรนที” พร้อมหนุนนโยบายรัฐ เผยคนให้ความสำคัญสุขภาพมากขึ้นสะท้อนจากยอดขาย “ชาเขียวชูการ์ฟรี”
จากการที่ผู้ประกอบการและสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย สมาคมอุตสาหกรรมน้ำตาล สมาคมอุตสาหกรรมอาหารและนม และองค์กรชาวไร่อ้อย ต้องการให้รัฐบาลยืดระยะเวลาเรียกเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐานสุขภาพออกไปอีก 5 ปี พร้อมๆ กับดำเนินมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีควบคู่
ต่อประเด็นดังกล่าวนายลวรณ แสงสนิท ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าขณะนี้คณะทำงานกำลังดูข้อสรุปสุดท้ายถึงทิศทางการจัดเก็บภาษีจากเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐานสุขภาพ ก่อนเสนอให้ผู้บริหารกระทรวงการคลัง เนื่องจากขณะนี้ได้ครบกำหนดระยะเวลาการศึกษา 2 เดือนแล้ว
โดยขั้นตอนต่อไป คณะทำงานจะต้องนำผลการศึกษาตลอดจนข้อสรุป เสนอให้แก่นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง โดยในเบื้องต้นตอนนี้ สศค. มองว่า จำเป็นต้องใช้มาตรการภาษีและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีควบคู่กันไป ซึ่งจากผลการศึกษามีด้วยกัน 4-5 มาตรการด้วยกัน โดยจะเริ่มที่มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี คือ การให้เอกชนปรับสูตรเครื่องดื่มซึ่งสามารถทำได้ทันทีเลย ข้อนี้เอกชนและภาครัฐได้ทำการตกลงกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
หากมองย้อนกลับไปในอดีต ภาครัฐจะเป็นฝ่ายเดินหน้ามาตรการที่ไม่ใช่ภาษี เช่น กระทรวงสาธารณสุขที่ออกกฎว่าให้ผู้ผลิตทำการปรับสูตรการผลิตสินค้า ซึ่งครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่มีการใช้ 2 มาตรการเดินหน้าไปพร้อมกัน ซึ่งสิ่งที่จะได้เห็น คือ ผู้ผลิตต้องปรับสูตรเครื่องดื่มให้ลดความหวานลง ตลอดจนต้องเร่งการสร้างความรู้ความเข้าใจกับผู้บริโภคว่าหากทานหวานแล้วจะไม่ดีต่อสุขภาพหรือมีโทษอย่างไร และครั้งนี้ที่เพิ่มเติมขึ้นมา คือ ผู้ผลิตจะต้องใช้สลากพิเศษพร้อมทั้งระบุอย่างชัดเจนบนขวดหรือภาชนะว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพหรือไม่ดีต่อสุขภาพ เหล่านี้จะเป็นมาตรการที่จะออกมาซึ่งน่าจะเห็นในเร็วๆ นี้ และผ่านไปสักระยะหนึ่งแล้ว ทาง สศค.จะเริ่มประเมินผลว่า มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีที่ผู้ผลิตนำมาปรับใช้นั้นได้ผลมากน้อยเพียงใด
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ภาครัฐและเอกชนมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ การจะเริ่มใช้มาตรการทางภาษีจะต้องมีระยะเวลาการผ่อนผัน ให้กับผู้ผลิต เพื่อให้สามารถปรับตัวได้ทันก่อนที่มาตรการทางภาษีจะมีผลบังคับใช้ โดยกรอบระยะเวลากำหนดระยะเวลาผ่อนผัน 2 ปี คือในปี 2559-2560 ที่ให้ใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีไปก่อน จากนั้นมาตรการภาษีควรเริ่มในปีที่ 3-5 คือตั้งแต่ปี 2561- 2564 เป็นต้นไป
“ตั้งแต่ปี 2561 กระทรวงการคลัง จะเริ่มปรับขึ้นภาษีที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ใช้ความหวานพร้อมแบ่งตามประเภทกลุ่มสินค้าว่าสินค้ากลุ่มใดจะถูกจัดเก็บภาษีภายในปีไหนและคิดสัดส่วนอัตราภาษีที่ปรับขึ้นคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์
สาเหตุที่ต้องเริ่มจากเครื่องดื่มเนื่องจากเครื่องดื่มเป็นตลาดใหญ่สุด มีสัดส่วนการใช้น้ำตาลสูงถึง 30% ของตลาดรวม สิ่งที่เราต้องการเห็น คือ ทำให้น้ำผลไม้หรือเครื่องดื่มใช้น้ำตาลอยู่ที่ 10 กรัมต่อ 100 ซีซี หากผลิตภัณฑ์ใดที่มีความหวานใกล้เคียงจากปริมาณที่กระทรวงการคลังกำหนดคือ 12 กรัมต่อ 100 ซีซี ผลิตภัณฑ์เหล่านั้น การจะปรับสูตรความหวานก็น่าจะทำได้เร็วมาก แต่หากปริมาณผลิตภัณฑ์ใดที่มีความหวานสูงถึง 20 กรัมต่อ 100 ซีซี อาจใช้เวลาในการปรับสูตรหรือใช้เวลาในการปรับตัวมากกว่า”
จากผลการศึกษาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มในท้องตลาดปัจจุบันพบว่า กลุ่มที่ค่อนข้างจะมีปัญหาเนื่องจากมีน้ำตาลสูงหรือใช้น้ำตาลสูง ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มน้ำผักและผลไม้ที่มีการใช้น้ำหวานจากธรรมชาติและมีค่าความหวานสูงถึง 20 กว่ากรัมต่อปริมาณ 100 กรัม โดยทางผู้ผลิตได้ส่งข้อมูล ว่าปกติแล้วผลิตภัณฑ์เหล่านี้แทบไม่มีการเติมน้ำตาลเข้ามาเพิ่มแต่อย่างใด เนื่องจากน้ำผักและผลไม้มีความหวานจากน้ำตาลตามธรรมชาติหรือน้ำตาลฟรุกโตส
สำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่มีความหวานจากธรรมชาติที่ไม่เติมน้ำตาล กลุ่มนี้ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ก่อผลเสียต่อสุขภาพมากนัก ดังนั้นกระทรวงการคลังก็อาจจะมีการยืดระยะเวลาให้ตามข้อเท็จจริง แต่ไม่ใช่ว่าจะให้กับทุกกลุ่มเช่น ที่มีการขอยืดเวลาไปถึง 5 ปีให้กับทั้งอุตสาหกรรมนั้นก็คงจะเป็นไปไม่ได้
“มาตรการภาษีน้ำตาล ระยะที่ 1.จะนำร่องใช้กับผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มก่อน และระยะที่ 2 จะขยายไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆที่ใช้น้ำตาลเป็นส่วนประกอบ โดยเฉพาะกลุ่มอาหาร เพราะปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์อาหารจำนวนไม่น้อยใช้น้ำตาลเป็นส่วนประกอบ”
ด้านนายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ให้ความเห็นเรื่องว่า แนวนโยบายที่จะให้เก็บภาษีความหวาน โดยจะให้เริ่มกันในปี 2561 เป็นต้นไป คงต้องนำไปหารือในที่ประชุมร่วมระหว่างภาครัฐ กับผู้ประกอบการ สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและน้ำตาลที่เกี่ยวข้อง เพราะในหลักการเดิมที่เจรจากันคือเห็นควรให้ดำเนินไปพร้อม ๆกันทั้งมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี เพื่อกระตุ้นให้เกิดความรับผิดชอบต่อสังคม สร้างความรู้ถึงผลกระทบต่อสุขภาพจากการทานน้ำตาลเกินเกณฑ์ ควบคู่กันกับใช้มาตรการภาษี แต่จะเริ่มปีไหนอย่างไร ยังไม่มีข้อสรุป
“ถ้าจะใช้มาตรการภาษี ต้องพิจารณาว่าจะส่งผลกระทบโดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หรืออย่างร้านกาแฟจะต้องถูกจัดเก็บภาษีด้วยไหม ถ้าไม่จะเป็นความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นรายละเอียดปลีกย่อยที่ต้องศึกษา” เขายกตัวอย่าง
นายตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มชาเขียว “อิชิตัน” กล่าวแสดงความคิดเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การที่ภาครัฐมีแนวคิดและมาตรการในการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคลดการบริโภคน้ำหวานลง นั้น ถือเป็นแนวคิดที่ดีที่ให้ความสำคัญกับปัญหาสุขภาพของประชาชน ซึ่งในฐานะผู้ประกอบการพร้อมให้การสนับสนุนและจะดำเนินการในกรอบที่กำหนดไว้
ทั้งนี้อิชิตัน เริ่มพัฒนาและวางจำหน่ายชาเขียวสูตรชูการ์ ฟี ตั้งแต่ 2 ปีก่อนและมียอดขายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่าปัจจุบันผู้บริโภคคนไทยเองให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ และเลือกเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากขึ้น และล่าสุดบริษัทมีแผนจะวางจำหน่ายชาเขียวพรีเมียมสูตรชูการ์ฟรี ออกวางจำหน่ายในเร็วๆ นี้ หลังจากเปิดตัว “อิชิตัน ซีเล็คเต็ด” ชาเขียวสูตรใหม่เพื่อสุขภาพ หวานน้อย แคลอรีต่ำ 2 รสชาติได้แก่ อิชิตัน ซีเล็คเต็ด มัทชะ และอิชิตัน ซีเล็คเต็ด อูหลง ในปลายปี 2557 ซึ่งได้รับการตอบรับดี
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,187 วันที่ 28 – 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559
ขอบคุณ... http://www.thansettakij.com/2016/08/29/90774 (ขนาดไฟล์: 167)