อดีตมนุษย์เงินเดือน หันมาทำ ‘ฟาร์มจิ้งหรีด’ รายได้เกือบ 5 หมื่นต่อเดือน
‘เกษตรสร้างรายได้‘ ในวันนี้ MThai News ขอพาทุกท่านไปพบกับคุณอัมพร เกิดปรางค์ หรือคุณโต้ง อายุ 54 ปี อดีตเคยทำงานด้านกราฟฟิกให้กับบริษัทเอเจนซี่ชั้นนำ รวมถึงสถานีข่าวชื่อดัง เป็นมนุษย์เงินเดือนมากว่า 10 ปี ปัจจุบันเป็นเจ้าของ ‘ฟาร์มจิ้งหรีด เมืองนนท์‘ ภายในซอยวัดขวัญเมือง ต.บางกร่าง อ.เมือง จ.นนทบุรี
โดยคุณโต้ง ได้เปิดเผยว่า เนื่องจากทำงานด้านกราฟฟิก ต้องใช้สายตาในการจ้องคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานตลอดทั้งวัน ทำให้เริ่มมีปัญหาเรื่องสุขภาพประกอบกับอายุเริ่มมากขึ้นแล้ว จึงมีความคิดที่อยากจะออกมาทำธุรกิจส่วนตัวของตนเอง ซึ่งเดิมรุ่นพ่อ แม่ ประกอบอาชีพเป็นชาวสวนทุเรียน จึงคิดที่อยากจะมาทำด้านการเกษตร เนื่องจากเป็นอาชีพที่ผูกพันมาตั้งแต่เด็กๆ
จนมีโอกาสได้ศึกษาหาความรู้ด้านการเกษตรอย่างจริงจัง ก่อนจะพุ่งเป้าไปที่การเลี้ยง ‘จิ้งหรีด’ ทันที เนื่องจากเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีระยะเวลาในการเลี้ยงดูไม่มากนัก ใช้เวลาประมาณ 37 วันก็สามารถนำออกจำหน่ายได้แล้ว จึงศึกษาวิธีการเลี้ยง ‘จิ้งหรีด‘ โดยตระเวนไปตามฟาร์มเลี้ยงต่างๆ และมีโอกาสได้พบกับเกษตรกรเลี้ยงจิ้งหรีด ที่ จ.สิงห์บุรี เป็นผู้เชี่ยวชาญโดยตรง ซึ่งได้แนะนำให้คุณโต้งเลี้ยงจิ้งหรีดด้วย ‘ลังไม้’
คุณโต้ง เผยว่าการเลี้ยงจิ้งหรีดด้วย ‘ลังไม้‘ กับแบบ ‘บ่อปูน‘ มีความแตกต่างกันอย่างมาก ข้อดีขอลังไม้สามารถควบคุมอากาศได้เป็นอย่างดี รวมทั้งสามารถดูดซับกลิ่นที่มาจากขี้จิ้งหรีดได้ ไม่มีกลิ่นรบกวน แต่มีต้นทุนสูง ในส่วนของบ่อปูนจะมีราคาที่ต่ำกว่า แต่ข้อเสียคือไม่สามารถควบคุมอากาศได้ เนื่องจากเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว หากภายในบ่อมีอากาศที่เย็นมากจนเกินไปจะทำให้จิ้งหรีดตายได้ และยังส่งผลไปถึงการวางไข่ที่น้อยลงอีกด้วย ที่ฟาร์มของคุณโต้งจึงใช้ลังไม้ในการเลี้ยงจิ้งหรีดมาโดยตลอด
โดยเริ่มลงมือทำฟาร์มอย่างจริงจังเมื่อ 2 ปีที่แล้ว สำหรับสถานที่ที่เลี้ยงต้องโปร่ง มีอากาศถ่ายเท หลังจากนั้นก็ประกอบลังไม้ขึ้นมาขนาด กว้าง 120 เซนติเมตร ยาว 240 เซนติเมตร สูง 120 เซนติเมตร ซึ่งเป็นขนาดมาตรฐานในการเลี้ยงจิ้งหรีด ใช้ไม้แบบ MDF หรือไม้กระดาษอัดมาเป็นวัสดุในการผลิตลังไม้ พร้อมกับติดสก็อตเทปไว้บริเวณขอบบนด้านในของลังไม้ เพื่อป้องกันไม่ให้จิ้งหรีดออกจากบ่อที่เลี้ยงไว้
เมื่อได้ลังไม้แล้ว ขั้นตอนต่อไปต้องใช้ยาชีวภาพพ่นให้ทั่วลังไม้ เพื่อฆ่าเชื้อราและตัวไร ก่อนจะนำแผงไข่แบบกระดาษมือสอง ซึ่งไปรับซื้อมาจากฟาร์มไข่ไก่ ราคาอยู่ที่แผงละ 1 บาท มาเรียงแบบประกบ 2 เรียงให้ทั่วลังไม้ ก่อนจะใช้ยาชีวภาพพ่นให้ทั่วแผงไข่ เพื่อป้องกันเชื้อราและตัวไรอีกรอบหนึ่ง โดยขั้นตอนนี้คุณโต้งเน้นย้ำว่าควรทำแบบนี้ทุกครั้งที่จะนำไข่จิ้งหรีดลงสู่บ่อเลี้ยง เนื่องจากจิ้งหรีดเป็นแมลงที่อ่อนต่อโรค พร้อมใช้ถ้วยใส่น้ำรองไว้บริเวณขาของลังไม้ เพื่อป้องกันมดซึ่งเป็นศัตรูตัวสำคัญของจิ้งหรีด
ส่วนสายพันธุ์ของจิ้งหรีดที่นำมาใช้มี 2 ชนิดคือ ทองแดง และทองดำ สาเหตุที่ต้องเลี้ยงผสมกันนั้น คุณโต้งบอกว่าเนื่องจากสายพันธุ์ทองดำ มีนิสัยค่อนข้างดุร้าย และกัดกินพวกเดียวกันเอง แต่หากนำ 2 สายพันธุ์มาเลี้ยงรวมกัน การกัดกินกันเองจะเกิดขึ้นน้อย เมื่อได้ไข่ของจิ้งหรีดมาแล้วก็นำมาวางให้ทั่วลังไม้ จะใช้เวลาประมาณ 7 วันก็จะฟักออกมาเป็นตัว ขนาดเท่ามดตัวเล็กๆ
เมื่อฟักตัวแล้วอาหารจะให้เป็น ‘หยวกกล้วย’ โดยให้ครั้งเดียวและปล่อยให้หยวกกล้วยเน่าไปเอง หลังจากนั้นเปลี่ยนมาให้หัวอาหารแบบโปรตีน 21% จะมีส่วนประกอบพวกข้าวโพด ข้าวสาร ปลาป่น และรำ สาเหตุที่ต้องให้อาหารแบบโปรตีน 21% นั้น เนื่องมาจากจิ้งหรีดในช่วงเล็กจะมี 2 เพศ หัวอาหารดังกล่าวจะไปเร่งให้จิ้งหรีดส่วนใหญ่เป็นเพศเมีย ทำให้ส่งผลดีต่อจำนวนของจิ้งหรีดในอนาคต ยิ่งมีเพศเมียมากยิ่งส่งผลดี โดยจะให้ในช่วงเช้าเวลาเดียวพอเพียงจนถึงหัวค่ำ
ในเรื่องการให้น้ำถ้าเป็นช่วงจิ้งหรีดตัวเล็กๆ จะใช้ท่อ PVC เจาะรูและสอดไส้ตะเกียงไว้เป็นจุดๆ เพื่อไม่ให้จิ้งหรีดรุมกินน้ำอยู่ ณ จุดจุดเดียวกันมากจนเกินไป หากจิ้งหรีดตัวโตขึ้นมาแล้ว ใช้เป็นถาดน้ำ ใส่เศษผ้าและหินกรวดสะอาดไว้ในถาดด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้จิ้งหรีดจมน้ำตาย
ถัดมาอีกประมาณ 35 วัน คราวนี้จิ้งหรีดตัวผู้จะเริ่มขัดปีกส่งเสียงดัง แสดงว่าเป็นช่วงที่ตัวเมียพร้อมวางไข่แล้ววิธีดูง่ายๆ คือตัวเมียจะมีพฤติกรรมใช้หางพยายามจิ้มที่หิน และให้ตรวจดูบริเวณใต้เศษผ้าที่วางรองไว้ในถาดน้ำ จะมีไข่ของจิ้งหรีดลักษณะจะคล้ายๆกับ เม็ดข้าวสาร
สิ่งที่ต้องเตรียมตัวในการเก็บไข่ ฟาร์มของคุณโต้งจะใช้ขุยมะพร้าวนำไปต้มเพื่อฆ่าเชื้อ ก่อนจะนำไปตากให้แห้งแล้วนำมาใส่ไว้ในขัน ลังไม้ 1 ลังจะได้ประมาณ 25 ขัน หรือประมาณ 20 กิโลกรัม เมื่อจิ้งหรีดวางไข่หมดแล้ว ก็จะเก็บจิ้งหรีดเพื่อส่งขายต่อไป ขั้นตอนการเก็บไข่นั้นคุณโต้งบอกเทคนิคดีๆอีกว่าไม่ควรใช้ดิน เนื่องจากเราไม่อาจทราบได้เลยว่าภายในดินจะมีเชื้อโรคหรือไม่
ซึ่งการเลี้ยงจิ้งหรีดเพื่อจำหน่ายนอกจากนำตัวจิ้งหรีด และไข่ ไปจำหน่ายได้แล้วนั้น สามารถนำขี้ของจิ้งหรีดไปจำหน่ายได้อีกด้วย โดยลังไม้ 1 ลังจะได้ประมาณ 30 กิโลกรัมขายได้ประมาณ 50 บาท
ส่วนราคาการจำหน่ายจิ้งหรีดขณะนี้จะอยู่ที่กิโลกรัมละ 80-100 บาท หากเป็นช่วงฤดูหนาวราคาจิ้งหรีดจะขยับตัวสูงขึ้น ส่วนไข่จิ้งหรีดจะขายได้ตกขันละ 50 บาท ส่วนใหญ่ลูกค้าจะเป็นแม่ค้าที่ขายแมลงทอดโดยตรง โรงงานต่างๆ รวมถึงนำไปจำหน่ายเพื่อเป็นเหยื่ออาหารให้กับสัตว์อาทิกิ้งก่า ปลามังกร เป็นต้น อีกทั้งยังมีการส่งทางไปรษณีย์ส่งแบบทั่วประเทศอีกด้วย รายได้ต่อเดือนจากการขายจิ้งหรีดเฉลี่ยเดือนละประมาณ 3 หมื่นบาท
แต่คุณโต้งยังต่อยอดการทำฟาร์มจิ้งหรีด ด้วยการแปรรูปเป็นจิ้งหรีดทอดทรงเครื่องต่างๆ อาทิรสเผ็ดมัน รสปาปริก้า รสสาหร่าย รสชีส จะบรรจุในแพ็กเกจขนาด 20 กรัม พร้อมออกแบบโลโก้ในแบบเฉพาะตัว โดยใช้ความรู้จากงานด้านกราฟฟิกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ จำหน่ายในห่อละ 20 บาทเท่านั้น ผลตอบรับอยู่ในเกณฑ์ดีเลยทีเดียว ซึ่งการแปรรูปจิ้งหรีดยังเพิ่มมูลค่าได้ถึงเดือนละเกือบ 1 หมื่นบาท หากคิดรายได้จากการทำฟาร์มจิ้งหรีดของคุณโต้งรวมทุกช่องทางแล้วสามารถสร้างรายได้ต่อเดือนประมาณ 40,000 – 50,000 บาท
ทั้งนี้ที่ฟาร์มของคุณโต้งยังทำชุดเลี้ยงจำหน่าย มีแบบชุดทดลองเลี้ยง และแบบชุดใหญ่ หากใครสนใจอยากเรียนรู้เกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีด หรือสนใจสั่งซื้อ สามารถติดต่อได้ที่ 094-428-2438 คุณโต้ง ฟาร์มจิ้งหรีด เมืองนนท์
ขอบคุณ... http://news.mthai.com/hot-news/economy-news/530288.html