ฮอร์ติ เอเชีย เปิดโลกเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ ที่เข้าถึงได้
ในการจัดงาน ฮอร์ติ เอเชีย 2007 ที่ผ่านมา มีการเสวนาถึงโอกาสทางการเกษตรของเกษตรกรไทย และโมเดลเทคโนโลยีไต้หวัน สู่การปรับตัวของเกษตรกรไทย โดยมี คุณศักดิ์ สมบุญโต ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี คุณมนตรี เชื้อใจ รักษาราชการแทนเกษตรจังหวัดกาญจนบุรี คุณเปรม ณ สงขลา บรรณาธิการวารสารเคหการเกษตร และ คุณชินกฤต วิภาวกิจ ผู้จัดการโครงการอาวุโส ฮอร์ติ เอเชีย 2007 ร่วมเสวนา ทั้งนี้ ยังมี คุณประเมศร์ สมพงษ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดเชิงพาณิชย์ บริษัท เนต้าฟิม (ประเทศไทย) จำกัด ให้ความรู้เรื่องระบบน้ำ โดยมีต้นแบบการจัดการระบบน้ำของประเทศอิสราเอลมาเผยแพร่
ความสำคัญของการเกษตร สู่การเสริมสร้างรากฐานของเศรษฐกิจไทย
คุณมนตรี เชื้อใจ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต รักษาราชการแทนเกษตรจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า ตอนนี้รัฐบาลได้ประกาศนโยบายขับเคลื่อนประเทศด้วยกลไกประชารัฐ ซึ่งเป็นการสานพลัง ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ซึ่งนับจากนี้ต่อไป ทุกภาคส่วนของประเทศจะร่วมแรงร่วมใจกันสนับสนุนและเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากของเมืองไทยให้เจริญเติบโตอย่างเข้มแข็ง สมดุล และยั่งยืน โดยใช้ยุทธศาสตร์หลัก 4 ด้าน คือ 1. ยึดหลักธรรมาภิบาล 2. ใช้นวัตกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ 3. ยกระดับทุนมนุษย์ 4. การมีส่วนร่วมในความมั่งคั่ง
ดังนั้น สำนักงานเกษตรจังหวัดกาญจนบุรี จึงจัดเวทีเสวนาเรื่อง “ความสำคัญของเทคโนโลยีและโอกาสทางการเกษตรของเกษตรกรไทย’’ และการเสวนาหัวข้อ “โมเดลเทคโนโลยีไต้หวัน สู่การปรับตัวทางการเกษตรของไทย’’ ขึ้น เพื่อพัฒนาเกษตรกรให้มีความรู้และสามารถนำไปใช้ปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ส่งเสริมให้เกษตรกรมีความเข้าใจพัฒนาศักยภาพผลผลิตของสินค้าทางการเกษตรตามความต้องการของผู้ประกอบการ ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรอย่างปลอดภัย และสินค้าเกษตรแนวใหม่เพื่อใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการควบคู่ อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาความรู้ความสามารถของเกษตรกร และยังเป็นการพบปะของเกษตรกรกับผู้ประกอบการที่มีส่วนสำคัญในการควบคุมปัจจัยการผลิต
แก้ปัญหาวิกฤตทางเกษตร ด้วย 4 หลักพัฒนาการเกษตร
คุณศักดิ์ สมบุญโต ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เผยถึงเป้าหมายหลักในการพัฒนาภาคเกษตรกรรมของจังหวัดกาญจนบุรี มี 4 ประการ ดังนี้
1. ขยายผลเกษตรทฤษฎีใหม่ไปทุกตำบล ทุกหมู่บ้าน โดยผลักดันให้มีแหล่งน้ำเป็นของตนเอง และมีความหลากหลายในการทำการเกษตรในพื้นที่ที่ตนมีอยู่
2. ขยายผลโครงการปลูกป่า นำพืชไม้ผลไปปลูกในพื้นที่ป่าของจังหวัดเพื่อให้สามารถเก็บผลผลิตได้ ซึ่งทางเกษตรจังหวัดมีโครงการเตรียมแจกกิ่งตอนของไม้ผลหลายชนิด ทั้งเงาะ ลำไย ทุเรียน มะม่วง ขนุน ส้มโอ เป็นต้น โดยมีข้อแม้ว่าในพื้นที่เกษตรกรต้องมีความพร้อมทางแหล่งน้ำ
3. ทำการตลาดและส่งเสริมการปลูกผักผลไม้ปลอดสารเคมี และ
4. การพัฒนาภาคเกษตรโดยใช้การตลาดนำร่อง โดยส่งเสริมให้เกษตรกรที่วางแผนจะปลูกพืชมาปรึกษาเจ้าหน้าที่เกษตรจังหวัดก่อนลงมือปลูกจริง และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรในพื้นที่ใกล้กับแหล่งท่องเที่ยวหลักของจังหวัดเพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอีกทางหนึ่ง
ทั้งนี้ จะพบว่าปัญหาทางด้านการเกษตรของประเทศไทย ส่วนใหญ่จะเกิดจากการที่ต้นทุนการผลิตสูงเกินไปและทางผลผลิตต่อไร่ก็มีรายได้ที่ต่ำ ส่วนสินค้าทางการเกษตรก็ออกมาได้ไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร ซึ่งเกิดจากปัญหาภัยพิบัติต่างๆ เกษตรกรขาดการรวมกลุ่มกัน ทำให้ไม่มีอำนาจต่อรอง และขาดความรู้ความเข้าใจในการผลิตพืชและการตลาด
เรียนรู้เทคโนโลยีไต้หวัน เพื่อการปรับตัวของเกษตรกรไทย
ในการเสวนาเรื่องการเรียนรู้เทคโนโลยีไต้หวัน เพื่อการปรับตัวของเกษตรกรไทย มี คุณเปรม ณ สงขลาบรรณาธิการวารสารเคหการเกษตร กล่าวให้ข้อคิดไว้ว่า ไต้หวันคือหนึ่งในประเทศเกิดใหม่หลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีประชากรจำนวน 23 ล้านคน โดยแยกตัวมาจากประเทศจีนแผ่นดินใหญ่มาที่เกาะฟอร์โมซาหรือเกาะไต้หวันในปัจจุบัน ส่วนเศรษฐกิจพื้นฐานเดิมของไต้หวันคือเกษตรกรรมเป็นหลัก แต่ ณ ปัจจุบัน ไต้หวันได้พัฒนาประเทศให้ก้าวข้ามจากเกษตรกรรมสู่อุตสาหกรรมและบริการในปัจจุบันไปเป็นที่เรียบร้อย
โดยรัฐบาลของไต้หวันได้วางแผน เริ่มจากการปฏิรูปที่ดินให้เกษตรกรเป็นเจ้าของที่ดินทำกินเป็นของตนเอง รัฐซื้อคืนที่ดินจากเจ้าของที่ดินเดิมด้วยเงินสดส่วนหนึ่ง และหุ้นในภาคอุตสาหกรรมอีกส่วนหนึ่ง การพัฒนาสมาคมการเกษตรในระดับต่างๆ เพื่อประสานเชื่อมโยงระบบการส่งเสริม การผลิต เชื่อมโยงกับการตลาดให้เกิดความสมดุล ในช่วงแรก GDP ภาคเกษตรของไต้หวันเพิ่มขึ้นมาก แต่ต่อมาได้ลดลงเมื่ออุตสาหกรรมและภาคบริการได้ก้าวหน้าขึ้น
“ซึ่งช่วงหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือช่วงของการเกิดเงินเฟ้อที่ค่อนข้างรุนแรง รัฐบาลจึงได้ทำการปรับนโยบายให้มีการเน้นการผลิตสินค้าการเกษตรที่มีคุณภาพมากกว่าเน้นไปที่จำนวนของปริมาณ โดยในช่วงปัจจุบันนอกจากคุณภาพแล้ว ยังได้เข้าสู่เกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์เป็นสำคัญ ทั้งนี้ เพื่อเน้นการเพิ่มมูลค่าแล้ว” คุณเปรม กล่าว
คุณเปรม กล่าวอีกว่า ความสำเร็จของการก้าวข้ามกับดักความลำบากยากจนกลายเป็นประเทศพัฒนาใหม่ คือ กฎหมายที่เป็นธรรม องค์กรความยุติธรรมที่เข้มแข็งมีความเป็นอิสระจากการเมือง ระบบภาษีที่เป็นธรรม การพัฒนาคุณภาพคนหรือระบบการศึกษาอย่างจริงจัง สิ่งเสริมทำให้ไต้หวันกลายเป็นประเทศที่ถือว่าพัฒนาแล้ว และไต้หวันมีจุดเด่นอย่างชัดเจน เช่น พันธุ์พืชใหม่ที่พัฒนาออกมาอย่างต่อเนื่อง ระบบการผลิตเพื่อปกป้องปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น โรงเรือน การพัฒนาระบบอัตโนมัติเพื่อลดต้นทุนการผลิต การพัฒนาเกษตรปลอดภัย/เกษตรอินทรีย์ ระบบสหกรณ์และการตลาด เป็นต้น
ด้าน คุณชินกฤต วิภาวกิจ ผู้จัดการโครงการอาวุโส จากบริษัท วีเอ็นยู เอ็กซิบิชั่นส์ เอเชีย แปซิฟิค จำกัด เปิดเผยว่า วีเอ็นยู ได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรของไทยให้ก้าวหน้าทัดเทียมระดับนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชีย ซึ่งในปี 2559-2560 ทางวีเอ็นยู มุ่งเน้นที่จะพัฒนาธุรกิจและกระตุ้นตลาดภาคเกษตรและปศุสัตว์ในประเทศ จึงสร้างแคมเปญเกษตรสัญจรขึ้น ให้เกษตรกรได้มาเรียนรู้ เพื่อต่อยอดมีความคิดทางด้านการเกษตร ให้รู้จักการวางแผนธุรกิจให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดระดับเอเชีย เพิ่มโอกาสทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการและเกษตรกรในต่างจังหวัด ผลักดันสู่การเปิดธุรกิจรายย่อยในอนาคตอย่างสมบูรณ์
ขอบคุณ... https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_10938