อัปยศฮั้วประมูลสร้างโรงพัก โยงการเมืองหมัดน็อก ปชป.?

อัปยศฮั้วประมูลสร้างโรงพัก โยงการเมืองหมัดน็อก ปชป.?

โดย ทีมข่าวอาชญากรรม

ผู้จัดการรายวันออนไลน์ 10 กุมภาพันธ์ 2556 19:25 น.

กลายเป็นเรื่องอื้อฉาวในแวดวงสีกากีอีกครั้งกับปัญหาการก่อสร้างสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 แห่งทั่วประเทศ ที่ขณะนี้ยังเหลือเวลาอีกเพียงเดือนเศษก็จะครบกำหนดตามสัญญาในวันที่ 14 มี.ค.แต่ทว่าความคืบหน้าการก่อสร้างในแต่ละหน้างาน กลับดำเนินการไปน้อยมาก ขณะที่หลายแห่งยังไม่เริ่มดำเนินการก่อสร้างด้วยซ้ำ บางแห่งมีปัญหาผู้รับเหมาทิ้งงาน จึงอาจกล่าวได้ว่าห้วงระยะเวลาที่เหลือ บริษัทผู้รับเหมาไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จอย่างแน่นอน

ปัญหาที่ถูกกล่าวถึงอันดับแรก คือ ในการก่อสร้างมีการทุบทำลายสถานีตำรวจหลังเก่า เพื่อสร้างสถานีตำรวจหลังใหม่ทับในพื้นที่เดิม จนเป็นเหตุให้ตำรวจไม่มีสถานที่ทำงาน เพราะแม้จะมีการสร้างสถานีตำรวจชั่วคราว แต่นั่นก็ไม่เพียงพอในการปฏิบัติงาน หลายแห่งมีการปลูกสร้างที่ทำการชั่วคราวในลักษณะของเต็นท์ หรือ เพิงพัก บางแห่งมีการดัดแปลงตู้คอนเทนเนอร์มาใช้ ขณะที่บางโรงพักห้องควบคุมผู้ต้องหามีการก่อสร้างแบบชั่วคราวแบบตามมีตามเกิด หรือใช้บ้านพักตำรวจเป็นห้องขังจำเป็น ที่อนาถกว่านั้นในบางพื้นที่ถึงกับมีการนำผู้ต้องหาไปควบคุมในห้องน้ำก็มี

และยิ่งการก่อสร้างล่าช้าออกไป ความเดือดร้อนของตำรวจยิ่งมากขึ้นไปอีก เรื่องนี้จึงส่งผลกระทบต่อการให้บริการประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่สำคัญ ได้ทำให้ภาพลักษณ์ของตำรวจได้รับความเสียหาย และกระทบต่อความน่าความเชื่อถือ คนในแวดวงสีกากี หรือแม้แต่ประชาชนทั่วไปถึงกับเบือนหน้าหนี เมื่อเห็นสภาพของสถานีตำรวจเหล่านี้

อีกประเด็นที่ถูกจับตามองและวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางไม่แพ้กัน คือ การประมูลงานจัดจ้าง ที่ดำเนินการโดยบริษัทผู้รับเหมาเพียงรายเดียว คือ บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ทุนจดทะเบียนเพียง 500 ล้านบาท มารับงานอภิมหาโปรเจกต์ ซึ่งมีไซต์งานก่อสร้างสถานีตำรวจที่กระจายตัวอยู่ทั่วทุกมุมของประเทศ ขณะเดียวกัน หลังมีการตีแผ่ปัญหานี้ จึงเริ่มได้กลิ่นการทุจริต การฮั้วประมูล รวมทั้งความไม่ชอบมาพากลในการทำสัญญาที่เดิมทีมีการทำสัญญา 9 สัญญา ก่อนที่จะมีการรวบมาไว้เป็นสัญญาเดียว และให้บริษัทเดียวดำเนินการก่อสร้าง มิหนำซ้ำบริษัทแห่งนี้ ยังได้งานก่อสร้างแฟลตตำรวจทั่วประเทศกว่า 163 หลัง มูลค่ากว่า 3,800 ล้านบาท จนหลายฝ่ายเกิดความกังขาว่า บริษัทนี้ที่มีทุนจดทะเบียนเพียง 500 ล้านบาท แต่กลับได้รับการว่าจ้างให้สร้างโปรเจกต์ยักษ์ถึง 2 โครงการ รวมมูลค่าของโครงการเกือบ 1 หมื่นล้านบาท

ขณะเดียวกัน ก็ได้มีกระแสข่าวออกมาเป็นระยะ ว่า กรรมการของบริษัท พีซีซีฯ คือ นายพิบูลย์ อุดมสิทธิกุล ประธานกรรมการ และ นายวิษณุ วิเศษสิงห์ กรรมการ มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับพ่อตาของนักการเมืองใหญ่ทางภาคอีสาน จึงทำให้ได้งานดังกล่าว

ที่สำคัญ เรื่องนี้เป็นการเดินเกมของฝ่ายการเมือง เริ่มจากการเดินหน้าจี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ตรวจสอบปมการจัดซื้อจัดจ้างครั้งนี้ ว่า มีการฮั้วประมูล หรือ มีการดำเนินการโดยถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างหรือไม่ ขณะเดียวกัน ยังได้ยื่นเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง.ตรวจสอบเส้นทางการเงินของบริษัทผู้รับเหมา และข้าราชการที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด สอดรับกับท่าทีของ “บิ๊กเหลิม” ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ที่ออกโรงกำชับตำรวจให้ส่งข้อมูลการฮั้วประมูลกับดีเอสไอ รวมทั้งให้ความร่วมมือในการตรวจสอบเรื่องนี้

การเดินเกมของพรรคเพื่อไทย ย่อมทำให้ถูกมองว่าเรื่องนี้มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน โดยเฉพาะโครงการนี้ริเริ่มในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นขั้วการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลชุดปัจจุบัน

หลังรับลูกจากฝ่ายการเมือง นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ เดินหน้าเต็มสูบในการตรวจสอบ โดยเตรียมเรียกอดีต ผบ.ตร.3 คน ได้แก่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ และ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี มาให้ข้อมูลเรื่องนี้ โดยมีประเด็นสอบถาม พล.ต.อ.พัชรวาท ตั้งแต่การร่างสัญญาสัมปทาน ส่วน พล.ต.อ.ปทีป จะถูกสอบถามประเด็นการเปลี่ยนแปลงสัญญา จากสัญญาที่แยกตามสำนักงานตำรวจ 9 ภาค และให้รวมเป็นสัญญาเดียว โดยมีบริษัทเดียวได้รับสัมปทาน และ พล.ต.อ.วิเชียร จะถูกสอบถามประเด็นการลงนามสัญญาจ้าง และการติดตามงาน และสุดท้ายที่ถือเป็นไฺฮไลต์ของคดีนี้ คือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นผู้ลงนามอนุมัติโครงการนี้ เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงด้วย

ทั้งนี้ อธิบดี ดีเอสไอ ตั้งข้อสังเกต 6 ข้อ ว่า การสัญญาว่าจ้างครั้งนี้ เข้าข่ายฮั้วประมูล คือ การเสนอราคาประมูลที่ต่ำกว่าราคากลางถึง 540 ล้านบาท และยังพบว่าเป็นราคาที่ต่ำกว่า หจก.สามประสิทธิ์ คู่แข่งถึง 247 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขผิดปกติ ประเด็นการรวบสัญญา จาก 9 สัญญาให้เป็นสัญญาเดียว การจ่ายเงินงวดแรกเต็มเพดานร้อยละ15 ซึ่งปกติ หลายหน่วยงาน จะจ่ายเพียง ร้อยละ 7-8 ของมูลค่าโครงการ รวมทั้ง ประเด็นการจ้างบริษัทอื่นทำงานแทน และการทิ้งงาน

“เมื่อเห็นข้อมูลพิรุธทั้ง 6 กรณี จะเห็นว่า พฤติการณ์เรื่องนี้เข้าข่ายการกระทำความผิดตามกฎหมายฮั้วประมูล มาตรา 11, 13 และ 8 ในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐ จะเกี่ยวข้องกับมาตรา 11 ประเด็นเรื่องการกำหนดเงื่อนไข คือ มีเพียงบริษัทเดียว ไม่มีการแข่งขันกัน 9 ภาค ส่วนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเข้าข่าย มาตรา 13” นายธาริต ระบุ

นอกจากนี้ อธิบดีดีเอสไอ ยังได้อนุมัติให้มีการสืบสวนในเรื่องของการฉ้อโกง เนื่องจากวิเคราะห์จากการกระทำทั้ง 6 ขั้นตอน ที่ผ่านมา ตั้งข้อสังเกตว่า ทางบริษัท พีซีซีฯ รู้อยู่แล้วว่าไม่มีความสามารถที่จะสร้างสถานีตำรวจให้แล้วเสร็จตามสัญญา เพราะบริษัทเดียวรับผิดชอบงานก่อสร้างทั่วประเทศ ประกอบกับบริษัทมีทุนจดทะเบียนแค่ 500 ล้านบาท ไม่เคยรับงานใหญ่ขนาดนี้ แต่มีการสู้ราคาที่ต่ำมาก เพราะต้องการแค่ชนะ ให้ได้สัญญา เพื่อต้องการแค่สัญญา เบิกเงินล่วงหน้า และถ้ามีเรื่องเกิดขึ้นจะสู้ว่าเป็นความผิดทางแพ่ง เพราะมีการประมูลตามขั้นตอน เมื่อเกิดเหตุสุดวิสัย สร้างไม่ได้ หรือไม่ทันเวลา ก็ปล่อยบริษัทล้มละลาย ผู้บริหารไม่ต้องรับผิดทางอาญา ดังนั้น จึงสงสัยว่ามีเจตนาทุจริตหลอกลวงมาตั้งแต่ต้น ไม่ใช่ทำสัญญาทางแพ่งตามปกติ ทั้งนี้ คดีฉ้อโกงเป็นคดีเกี่ยวพัน พ.ร.บ.ฮั้ว ดีเอสไอ สามารถดำเนินการได้ทันที เพราะถือเป็นการอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่ร้ายแรง

สำหรับโครงการนี้ย้อนไปเมื่อปี 2552 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการในโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 หลัง วงเงินงบประมาณ 6,672,000,000 บาท แยกเป็นอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ 3 ขนาด คือ ขนาดใหญ่ 88 หลัง ขนาดกลาง 136 หลัง และ ขนาดเล็ก 172 หลัง ซึ่งตรงกับสมัย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.จากนั้นเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2552 มีการอนุมัติคำสั่งก่อสร้างครั้งแรกให้แยกเป็นรายกองบัญชาการ 1-9 แต่หลังจากนั้น 5 เดือน ในวันที่ 18 พ.ย.2552 ในสมัย พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รรท.ผบ.ตร.ได้มีการยกเลิกคำสั่งเดิมเป็นอนุมัติให้ประกวดราคารวมเข้าด้วยกันจากส่วนกลาง ก่อนมีการกำหนดประกวดราคาก่อสร้างด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ (อี-ออกชัน) โดยบริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ซึ่งเสนอราคาต่ำสุดเป็นผู้ชนะการประกวดราคาด้วยวงเงิน 5,848,000,000 บาท ต่ำกว่าราคากลางถึง 540 ล้านบาท เอาชนะ หจก.สามประสิทธิ์ จำกัด ที่เข้าร่วมเสนอราคา โดยเสนอราคาสู้ที่ 6,095 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลางเพียง 293 ล้านบาท

ในส่วนงบประมาณที่ใช้ดำเนินการก่อสร้าง สำนักงบประมาณได้จัดสรรงบประมาณก่อสร้างเป็นงบผูกพัน ตั้งแต่ปี 2552-2555 แยกเป็น ปี 2552 จำนวน 311,500,000 บาท, ปี 2553 จำนวน 1,174,000,000 บาท, ปี 2554 จำนวน 2,199,852,800 บาท และปี 2555 จำนวน 2,162,647,200 บาท โดยสัญญาก่อสร้างเริ่มตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 2554 สิ้นสุดวันที่ 17 มิ.ย. 2555 รวมเวลาก่อสร้างตามสัญญา 450 วัน แต่มีการขยายสัญญาเพิ่มเติมอีก 3 ครั้ง โดยอ้างปัญหาน้ำท่วม ครั้งแรกขยายออกไปอีก 30 วัน ครั้งที่ 2 ขยายไป 180 วัน และล่าสุด ครั้งที่ 3 ขยายไป 60 วัน ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญา ในวันที่ 14 มี.ค.2556 นี้

ทั้งนี้ ตามสัญญากำหนดให้มีการจ่ายเงินล่วงหน้าให้บริษัทผู้รับเหมาร้อยละ 15 ของราคาค่าจ้างคิดเป็นเงินจำนวน 877,200,000 บาท รวมทั้งมีการเบิกเงินค่างวดไปแล้วทั้งสิ้น 656,251,000 บาท รวมเป็นเงินที่มีการเบิกจ่ายไปแล้วทั้งสิ้น 1,533,451,000 บาท แต่จากข้อมูลของสำนักงานส่งกำลังบำรุง หรือ สกบ.ระบุความคืบหน้าการก่อสร้างของบริษัทผู้รับเหมามีการดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว 280 หลัง แต่ยังไม่มีหลังใดก่อสร้างแล้วเสร็จ ส่วนอีก 116 หลัง ที่เหลือยังไม่ดำเนินการก่อสร้าง

ขณะที่เรื่องนี้มีความเคลื่อนไหวในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา คณะกรรมการติดตามการดำเนินการโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) ที่มี พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รอง ผบ.ตร.เป็นประธานได้มีมติให้ยกเลิกสัญญากับบริษัทผู้รับเหมา โดยให้เหตุผลว่าอีกฝ่ายมีการทำผิดสัญญาที่ชัดเจน 2 ประการ ได้แก่ การฝ่าฝืนข้อห้ามในสัญญาที่ระบุว่าห้ามมีการจ้างช่วง ที่สำคัญที่สุด คือ การไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามกำหนดเวลา โดยมีแนวโน้มเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ที่จะบอกเลิกสัญญาหลังวันที่ 14 มี.ค.2555 ซึ่งเป็นวันที่ครบกำหนดตามสัญญา และเตรียมฟ้องเรียกค่าเสียหายกับบริษัท พีซีซีฯ นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้ฝ่ายอำนวยการดำเนินการเตรียมการทางธุรการเพื่อจัดการประมูลใหม่ ซึ่งครั้งนี้จะมีการกระจายสัญญา และเร่งดำเนินการก่อสร้างให้เร็วที่สุด ขณะเดียวกันในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ได้สั่งการให้มีการจัดสรรงบประมาณในการปรับปรุงสถานีตำรวจชั่วคราวที่อยู่ในสภาพทรุดโทรม ให้สามารถดำเนินการให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โครงการก่อสร้างสถานีตำรวจ จึงถือเป็นความอัปยศที่คนในแวดวงตำรวจไม่อาจลืมเลือน และเป็นประเด็นร้อนที่ประชาชนให้ความสนใจ ทั้งในเรื่องการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า รวมทั้งการดำเนินการทางแพ่งกับบริษัทผู้รับเหมาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และการดำเนินการสอบสวนหาตัวคนผู้กระทำผิด ทั้งในส่วนข้าราชการประจำ และนักการเมืองที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการอนุมัติโครงการดังกล่าว ของ ดีเอสไอ

ขณะที่ในมุมของการเมือง โครงการนี้อาจถือเป็นรอยด่างพร้อยของรัฐบาลประชาธิปัตย์ และกำลังถูกพรรคเพื่อไทยไล่บี้อย่างหนัก โดยฝ่ายหลังคาดหมายว่านี่จะเป็นหมัดเด็ดน็อก “สุเทพ เทือกสุบรรณ” คีย์แมนคนสำคัญของพรรค ส่วนใครอยู่ใครจะไปต้องติดตาม...

ที่มา: มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย
วันที่โพสต์: 11/02/2556 เวลา 03:03:02

ห้องการเมือง