สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยในใจของผม

แสดงความคิดเห็น

สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยในใจของผม

คำว่า “ในใจ” ผมหมายถึง...

-เป็นความทรงจำ

-เป็นสิ่งที่รัก

-เป็นความคาดหวัง

และเป็นเรื่องเล่าสู่กันฟัง (อย่างกระชับ) เป็นตอนๆ ดังนี้

1. กำเนิดผู้นำ

 -บ้านผมอยู่พิษณุโลก ผมพิการด้วยโรคซูซูกิ แขนขาอ่อนแรงมาเป็นเวลา 4 ปีกว่าแล้ว ก่อนที่ผมจะตัดสินใจเดินทาง(กึ่งหนีออกจากบ้าน) ไปเข้ารับการฝึกอาชีพที่ศูนย์ฟื้นฟูอาชีพคนพิการหยาดฝน จังหวัดเชียงใหม่ และผมได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธานรุ่นที่ 7 เมื่อปี 2536

 -ผมเพิ่งได้พบ ได้เห็น ได้รู้จากที่ศูนย์ฯว่า มีคนพิการอยู่เป็นจำนวนมากในประเทศไทย และมีหลากหลายสภาพความพิการ ทั้งที่เดินได้และเดินไม่ได้ ทั้งที่ได้เรียนหนังสือและไม่ได้เรียน

 -ผมสอนหนังสือให้น้องๆที่อ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้ 7 คน ซึ่งพวกเขาตั้งใจเรียนรู้จนสามารถฝึกอาชีพต่อไปได้

 -ความคิดที่ว่า “ถ้าอยู่ไม่ได้ก็จะฆ่าตัวตายโดยจะไม่ให้ญาติพี่น้องเดือดร้อนแม้แต่เรื่องเผาศพ” ก็ค่อยๆหมดไป เมื่อผมรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าเมื่ออยู่กับคนพิการด้วยกัน

 -เพราะได้อ่านวารสาร “เพื่อนเชียงใหม่” ของกลุ่มคนพิการเชียงใหม่ซึ่งจัดพิมพ์ขึ้นแล้วเอาไปมอบให้ศูนย์ฯหยาดฝนจึงทำให้ผมได้รู้จักและโทรฯไปคุยกับ อ.พิพัฒน์ ประสาธสุวรรณ์ ซึ่งท่านแนะนำให้ผมได้รู้จัก(ทางโทรศัพท์)กับท่านพันโทต่อพงษ์ กุลครรชิต ซึ่งเป็นนายกสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยในขณะนั้น

 -อ.พิพัฒน์ ได้ให้ทุนผมเดินทางไปเข้าร่วมประชุมใหญ่สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยที่ จ.นครราชสีมา พร้อมกับเพื่อนคนพิการเชียงใหม่

 -ผมได้ลุกขึ้นแสดงความคิดเห็นในประเด็นที่หมอไม่ยอมออกเอกสารรับรองความพิการว่า “หมอโง่” เพราะบอกว่า “คนเดินขาเป๋” เป็น “คนไม่พิการ” โดยหมอคิดเอาว่า “การใส่เสื้อผ้า การนั่งขี้ และการเดินขึ้นบันไดได้” เป็นข้อวินิจฉัยว่า “ไม่พิการ” ทั้งๆที่ในหมู่บ้านตัดสินและเรียกคนพวกนี้ว่า “ไอ้เป๋/อีเปลี้ย” และกลายเป็นคนที่เสียเปรียบทางสังคมไปแล้ว!

 -ผมมารู้ภายหลังตอนแยกประชุมแต่ละประเภทความพิการจาก อ.ณรงค์ ปฏิบัติสรกิจ อดีตนายกสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยคนแรก ว่า “ผู้อำนวยศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ” ร้องไห้บนเวทีด้วยคำพูดของผม!

 -ท่านพันโทต่อพงษ์ พูดว่า “วันนี้ผมดีใจที่ได้เห็นผู้นำคนพิการรุ่นใหม่ปรากฏตัวขึ้น สามารถแย่งไมค์มาจากเพื่อนคนพิการตาบอดได้” แต่ผมไม่ได้คิดว่าเป็นตัวเอง เพราะดูแต่ละคนเป็นผู้ยิ่งใหญ่มากๆ (ซึ่งหลายคนบอกว่าจำผมได้เป็นอย่างดีนับจากวันนั้น)

 -ในการประชุมครั้งนั้น ทำให้ผมได้รู้ว่า อ.ณรงค์ ป่วยด้วยโรคข้อกระดูกยึดติดทั้งตัว เมื่อนอนท่านก็จะนอนตัวแข็ง เมื่อลุกขึ้นท่านก็จะต้องยืนทันที นั่งไม่ได้ และถ้าทำงาน ท่านก็จะต้องยืนทั้งวัน ไปจนกว่าจะล้มตัวลงนอน เมื่อมองไปที่ขาของท่านเราจะเห็นเส้นเลือดขอดที่ข้อเท้าของท่านเป็นสีดำทั้ง 2 ข้าง และพันโทต่อพงษ์ เป็นอัมพาตทั้งตัว แขนขาอ่อนแรง มือขยับได้ แกว่งได้ แต่หยิบ จับ หรือกำไม่ได้ทั้งสองข้าง ต้องนั่งบนรถเข็นทั้งวันนับตั้งแต่ลุกจากที่นอน!

 -ท่านแนะนำให้ผมสมัครเป็นสมาชิกสมาคมฯซึ่งต่อมาผมก็ได้สมัครและได้เป็นสมาชิกลำดับที่ 1327 และได้รับและอ่านวารสาร “สายสัมพันธ์” ของสมาคมฯนับจากนั้น

 -หลังจากที่ได้พูดคุยทางโทรศัพท์กันระยะหนึ่ง ท่านพันโทต่อพงษ์ ได้ให้เกียรติแก่กลุ่มเพื่อนคนพิการเชียงใหม่โดยการไปจัดอบรมสัมมนาเรื่องการก่อตั้งองค์กรของคนพิการ โดยคนพิการ เพื่อคนพิการ ที่โรงแรมเชียงใหม่ โดยผมมีส่วนนำคนพิการจากศูนย์ฯหยาดฝนเข้าร่วมงานด้วย

 -อีกไม่นานหลังจากนั้นก็ได้มีการก่อตั้ง “ชมรมคนพิการจังหวัดเชียงใหม่” ขึ้น โดยมีผมร่วมเป็นคณะกรรมการก่อตั้ง บุคคลสำคัญที่ผมจำชื่อได้คือคุณลำยอง และคุณอรพันธ์ กันนัย ซึ่งยังมีบทบาทสำคัญจนถึงปัจจุบัน.คุณนฤมล ผู้หญิงที่เล่นเทนนิสคนแรกของเชียงใหม่ (และยังมีคุณพยาบาล...จำชื่อไม่ได้แล้ว...ถ้าคุณลำยอง/อรพันธ์ ได้อ่านก็กรุณาเติมให้ด้วย)

 -แล้วผมก็เรียนจบหลักสูตร “จิ้มดีด” (มือข้างเดียว-เครื่องพิมพ์ดีดธรรมดา) จากศูนย์ฯหยาดฝนในเดือนตุลาคม 2536 และได้เดินทางเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯกับโรงละครภัทราวดีเธียร์เตอร์ ของคุณภัทราวดี มีชูธน ในตำแหน่งผู้ช่วยประชาสัมพันธ์

 -ผมจะเดินทางไปที่สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย เพื่อเรียนรู้ และช่วยทำงานบ้างตามที่ได้รับมอบหมายจากท่านผู้พันฯ แต่ก็ไม่ได้ไปบ่อยๆ เพราะค่ารถแพงมาก ไป-กลับ 6-700 บาท ในแต่ละครั้ง

 -ผมจำได้ว่า ในครั้งแรกที่ไปสมาคมฯ ผมนั่งเรือข้ามฟากจากฝั่งวังหลังมาขึ้นรถเมล์ ซึ่งวิ่งจากบางประกอกไปปากเกร็ด ที่ฝั่งท่าช้าง เมื่อรถมาถึง ผมก็ต้องรอให้ผู้โดยสารขึ้นรถไปให้หมดเสียก่อนแล้วผมจึงขึ้นเป็นคนสุดท้าย และเมื่อเท้าผมพ้นพื้นดิน รถเมล์กรุงเทพฯก็ออกตัวตัวตามสไตล์ ซึ่งทำให้ผมเซถลาเกือบตกรถ....และนั่นคือการขึ้นรถเมล์ในกรุงเทพฯครั้งแรกและครั้งสุดท้ายของผม!!! ทุกท่านคงทราบแล้วว่า ผมเดินทางด้วยรถอะไร ทำไมจึงต้องจ่ายแพง!

 -ในเดือนสิงหาคม 2537 ท่านผู้พันฯได้จัดอบรมพัฒนาศักยภาพผู้นำขึ้นที่จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งผมได้รับเชิญให้เข้ารับการฝึกอบรมด้วย ในขณะฝึกนั้น ผมได้รับบทบาทสมมุติให้เป็นประชาสงเคราะห์จังหวัด(พมจ.ในปัจจุบัน)และก็จบมาได้เป็น “ผู้นำคนพิการรุ่นที่ 1 สุรินทร์” นับตั้งแต่บัดนั้น

.........ใครจะแสดงความคิดเห็น/ซักถาม ก็ได้นะครับ..........

ที่มา: อรรถพล ขาวแจ่ม
วันที่โพสต์: 7/04/2556 เวลา 21:17:32

1 2456dan 12/07/2563 07:02:56

รับนวดนอกและในสถานที่0992399199

2 ถุย 13/07/2556 14:30:55

สมาคมอะไรก็เหมือนๆกันแหละ มีเพื่ออะไรไม่เคยเห็นจะทำอะไรเป็นประโยชน์กับคนพิการจริงๆจังๆสักที่

จุดประสงค์ก็แค่หาประโยชน์เข้าตัวทั้งนั้นควรยุบทิ้งให้หมดไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมสักอย่างมีแต่ชื่อและโลโก้ให้เกะกะ

3 ณรงค์ชัย ประธานราษกร์ 11/07/2556 10:49:27

คนพิตาบอดตาข้างเดียวถือว่าเป็นคนพิการหรือไม่ขอความคิดเห็น

4 อรรถพล ขาวแจ่ม 10/04/2556 13:07:27

สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยในใจของผม

9. เป็นอุปนายกฯสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย

 -จากเดือนมีนาคม 2544 ที่ผมหมดวาระจากการเป็นเลขาฯสมาคมฯ ผมก็กลับมาทำงานชมรมคนพิการพิษณุโลกและหารายได้เลี้ยงชีพด้วยการขายล็อตเตอรี่ อาชีพที่ผมไม่ชอบในตอนแรก จนมาถึงปี 2546 ผมก็เกิดปัญหาภรรยามีแฟนใหม่ ผมจึงเป็นเสมือนบุคคลไร้ความสามารถและประกาศลาออกจากการเป็นประธานชมรมคนพิการพิษณุโลก โดยคุณประสิทธิ์ จันทร์วิสิทธิ์ ได้รับเลือกให้เป็นประธานชมรมฯคนต่อไป

 -ถึงปี 2548 คุณประสิทธิ์ ขอลาออกจากประธานชมรมฯ คณะกรรมการก็ขอให้ผมกลับมารับตำแหน่งประธานฯต่อ ผมจึงก่อตั้ง สภาคนพิการทุกประเภทจังหวัดพิษณุโลก ขึ้นและขอให้คุณประสิทธิ์มารับเป็นประธานคนแรก และผมก็ขอจดทะเบียนเปลี่ยนชมรมฯ เป็นสมาคมคนพิการจังหวัดพิษณุโลกมาตั้งแต่นั้น

 -เมื่อนายพันตรี นายกสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย หมดวาระลง คุณศุภชีพ ก็ได้รับเลือกตั้งให้เป็นนายกสมาคมคนใหม่และเชิญผมให้เข้าร่วมเป็นกรรมการในตำแหน่งอุปนายกสมาคมฯด้วย ซึ่งผมก็ตกลงเพราะคุณศุภชีพรับปากว่าจะให้มีการก่อตั้งศูนย์ประสานงานสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยขึ้นทั้ง 4 ภาค โดยผมมีเหตุผลว่า...

1.สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย จะลงไปทำงานเองทั้ง 76 จังหวัดคงไม่ไหวและไม่สมควรทำ

2.เพื่อให้องค์กรเครือข่ายในแต่ละจังหวัดได้ออกกำลังกายคิดเอง พูดเอง ทำเอง เคลื่อนไหวเอง ทั้งด้านนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนงาน และโครงการ ถ้าไม่ทำเองก็จะไม่มีความน่าเชื่อถือและไม่มีความเข้มแข็ง

3.สิ่งที่สมาคมฯแห่งประเทศไทยควรทำคือ สนับสนุนวิชาการ สนับสนุนบุคลากร สนับสนุนเอกสารวิธีการ สนับสนุนงบประมาณ และไปร่วมให้กำลังเมื่อเขาจัดงานหรือไปร่วมแก้ไขเมื่อเขามีปัญหา

 -มีข้อเสนอที่มีความขัดแย้งอยู่ 1ข้อ ในเวทีแห่งนี้ คือ นายกฯคนใหม่เสนอให้ทุกจังหวัดไปจัดตั้งเป็น “สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยประจำจังหวัด...แล้วสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย(โดยนายกฯศุภชีพ)จะให้เงินสนับสนุนจังหวัดละ 10,000 บาท ผมบอกว่ามันทำได้ยากทั้งการบริหารจัดการ, การเงินการบัญชี, และการเคลื่อนไหวภายในจังหวัดแต่ใช้ชื่อ “แห่งประเทศไทย”

 -มีการจัดตั้งคณะกรรมการศูนย์ประสานงานสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย ขึ้นทั้ง 4 ภาค โดยผมเป็นประธานภาคเหนือ แต่ไม่ได้รับเงินบริหาร จนกระทั่งผ่านไป 8 เดือน จึงมีการโอนเงินมาให้ 30,000 บาท(สามหมื่นบาทถ้วน) (แต่คนให้ชอบเอาไปพูดว่า 50,000 บาท) เมื่อประชุมคณะกรรมการผมก็จ่ายเบี้ยประชุมให้คนละ 300 บาท ค่าน้ำมันตามระยะทาง เมื่อท่านนายกฯลงพื้นที่ผมก็ใช้เงินนี้เลี้ยงต้อนรับ เมื่อไปอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ผมก็ใช้งบนี้เติมน้ำมันให้รถที่ไป 3 คัน เงินมันก็หมด คิดว่าจะได้การสนับสนุนอีกแต่ไม่มีมาอีกเลย ดังนั้น การบริหารศูนย์ประสานงานฯภาค จึงล้มเหลวเพราะขาดงบประมาณ

 -6 ปีต่อมาผมจึงได้ข่าวว่ามีผู้ไปจดทะเบียน “สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยจังหวัด....ได้ 2 จังหวัด และ นายกฯสมาคม 1 ใน 2 จังหวัดนั้นโทรศัพท์มาบอกผมเองว่าทำงาน-เคลื่อนไหวในนามแห่งประเทศไทยในจังหวัดไม่ได้จริงๆ!

 -ผมเดินทางเข้ากรุงเทพฯด้วยการขับรถยนต์กระบะ ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นไทเกอร์ จะไปเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการบริหารสมาคมฯแห่งประเทศไทย เพื่อวางแผนการจัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2551 ที่จังหวัดกระบี่ แต่รถผมหม้อน้ำพังเมื่อถึงเขตอุตสาหกรรมนวนคร จึงได้จ้างช่างลากรถเข้าไปซ่อมที่ร้านในเขตนวนคร โดยมีคุณชูเกียรติ สิงห์สูง แวะเข้าไปเยี่ยมตามที่ผมโทรเล่าให้ฟังและฝากแจ้งที่ประชุมให้ทราบถึงปัญหาของผมด้วย และในตอนคืนวันนั้น ฝนตกหนักมากผมมองไม่เห็นว่าเป็นพื้นต่างระดับที่อยู่ในน้ำ เมื่อผมก้าวเดินลงไป ทำให้ผมล้มหัวฟาดกับพื้นหัวแตกเลือดไหลออกมาเป็นจำนวนมาก ช่างจึงพาผมไปส่งที่โรงพยาบาลนวนคร ให้หมอเย็บ 4 เข็ม ต้องนอนที่นั่น 4 คืน จึงกลับบ้านพิษณุโลกได้ งานนี้ผมมีบาดแผลทั้งที่หัว และที่กระเป๋าสตังค์ที่ทำเงินขาดหายไปเกือบ 7 หมื่นบาท(ยกเครื่องใหม่ไปซื้อได้ที่ จ.สระบุรี) ใน 4 คืนนั้นผมคิดมากว่า “ผมสมควรจะเป็นผู้บริหารสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยต่อไปหรือไม่?” และ 7 หมื่นบาทมันส่งผลให้ผมต้องเป็นหนี้มาจนถึงปัจจุบัน!

5 อรรถพล ขาวแจ่ม 10/04/2556 13:06:24

สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยในใจของผม

8. ขับไล่นายพันให้พ้นจากการเป็นนายกฯ

 -ผมได้รับสำเนาเอกสารแสดงสถานะการใช้จ่ายเงินของนายพันตรีนายกสมาคมฯ ว่ามีการอนุมัติเป็นเงินเดือนให้ตัวเองและภรรยาเป็นจำนวนเงินหลายหมื่นบาท และคนส่งเอกสารให้ผมก็บอกให้ผมเข้าร่วมการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2545 เพื่อขับไล่นายกสมาคมฯและเพื่อปกป้องสมาคมฯไปพร้อมกันด้วย

 -คณะกรรมการบริหารสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย ในช่วงที่นายศุภชีพเป็นนายกฯนั้น แทบจะไม่เบิกเงินเกินกว่าค่าเดินทาง ค่าที่พัก ตามจริงเลย และผมเป็นคนพูดคนแรกเองว่า “ทำงานด้านคนพิการทำไปร้องให้ไป” เพราะมันไม่มีรายได้ แถมยังจ่ายเงินตัวเองอีก พอเห็นเอกสาร(ก็คงเป็นกรรมการในสมาคมฯนั่นแหละเอาออกมา) ก็คิดว่า “โอ้โห ! เอากันอย่างนี้เชียวหรือ ต้องไปร่วมกับเขาแล้วละ”

 -การประชุมใหญ่จัดขึ้นที่ศาลาประชาคมจังหวัดนนทบุรี ในวันนั้นมีสมาชิกเข้าประชุมเยอะมาก มากกว่าการประชุมที่ศูนย์กีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดงเสียอีก และประมาณ 1 ใน 5 ของสมาชิกในวันนั้นเป็นทหารผ่านศึกพิการ

 -เมื่อเริ่มการแถลงผลการปฏิบัติงานของสมาคมฯก็มีสมาชิกยกมือขึ้นถามแล้วก็ลามไปถึงเรื่องตั้งเงินเดือนให้ตัวเองและภรรยาตามเอกสารที่ถูกแจกจ่ายไปทั่ว จนการประชุมไม่สามารถดำเนินต่อไป ซึ่งผมเป็นคนสุดท้ายที่ลุกขึ้นไปขอไมค์และเดินไปพูดติดกับโต๊ะกรรมการที่แถลงผลงานอยู่ ผมชี้ให้เห็นเป็นข้อๆว่ามันผิด ไม่มีใครเขาเคยทำกัน มันผิด มันน่ารังเกียจ น่าขยะแขยง ไม่มีคุณธรรมอย่างไร สมาชิกที่เข้าร่วมประชุมก็โห่ฮา ตะโกนขับไล่รวมทั้งทหารผ่านศึกพิการซึ่งในตอนแรกผมคิดว่าเป็นฝ่ายของนายพันตรีนั่นด้วย

 -ในที่สุด นายพันตรีก็ยอมจำนน และประกาศลาออกกลางที่ประชุมใหญ่เมื่อตอนบ่ายแก่ๆ สมาชิกผู้เข้าร่วมประชุมต่างก็ปรบมือดีใจกันสนั่นหวั่นไหวแล้วค่อยๆทยอยกันกลับบ้าน

 -เป็นที่น่าสังเกตว่า ในระหว่างการกล่าวโจมตีจากคนหลายคน จากไมค์หลายอัน(ไม่รู้มาจากไหน) อย่างต่อเนื่องอยู่นั้น นายกฯนายพันตรีจะใช้โทรศัพท์ติดต่อพูดคุยอยู่กับใครบางคนที่พวกเรามองไม่เห็นอยู่ตลอดเวลา

 -ผมมาทราบภายหลังว่า นายพันตรีไม่ออกจากตำแห่งนายกสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยตามที่ประกาศไว้และยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเรื่อยๆโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทั้งยังสามารถยกฐานะตนเองขึ้นไปเป็นประธานสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยได้อีกด้วย

 -***มีข้อที่ควรคิดอยู่ 2 หรือ 3 ข้อ คือ

1. ขณะประชุมและนายกฯนายพันตรีประกาศลาออกนั้น มีแต่คนปรบมือแล้วก็รีบกลับบ้านแต่ไม่มีใครคิดกำหนดข้อปฏิบัติเพื่อให้การลาออกนั้นมีผลบังคับ

2. มีบารมีที่มองไม่เห็นคอยคุ้มครองป้องกันภัยให้นายกฯนายพันตรีปฏิบัติหน้าที่ต่อไป/หรือไม่?

หรือ 3. เป็นความใจกล้า หน้าด้าน ของท่านนายกฯเอง

6 อรรถพล ขาวแจ่ม 9/04/2556 13:16:46

สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยในใจของผม

7. เป็นเลขานุการสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย และ ประธานส่งเสริมองค์กรคนพิการ

ส่วนภูมิภาค ระหว่างปี 2542-2543(ความภาคภูมิใจบนความทุกข์ทรมาน)

 -ผมได้รับการติดต่อและขอร้องจากผู้ใหญ่ ให้ช่วยรับเป็นเลขานุการสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย ซึ่งในตอนนั้นคุณเกลียว (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นศุภชีพ ดิษเทศ) ได้รับการเลือกตั้งแทนคุณสุทธิพงษ์ รัตโนสถ ซึ่งหมดวาระไป ผมถามว่า สมาคมฯควรจะสนับสนุนการก่อตั้งชมรมคนพิการในต่างจังหวัดไหม? ผู้ใหญ่ท่านนั้นตอบว่า “ต้องทำและคุณเป็นผู้ที่เหมาะสม” ผมจึงรับเป็นเลขาฯสมาคมฯ

 -เลขานุการ คือตำแหน่งสำคัญขององค์กรในการจัดทำเอกสารและการติดต่อประสานงาน จึงเป็นงานที่หนัก และที่หนักมากขึ้นไปอีกคือ กรรมการ 5 คน ของทุกสมาคมฯแห่งประเทศไทยในแต่ละความพิการจะต้องไปเป็นกรรมการบริหารสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยด้วย และผมอยู่ในจำนวน 5 คนนั้น

 -การทำหน้าที่เลขาฯของผมคือ ต้องสะพายกระเป๋าเสื้อผ้าและเอกสารเดินทางด้วยรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างออกจากบ้านตอน 5 ทุ่ม ไปขึ้นรถโดยสารเข้ากรุงเทพฯ ถึงสถานีขนส่งหมอชิตใหม่ตอนตี 4 ต้องนั่งรอจนถึง 7 โมงเช้า จึงเดินตุปัดตุเป่ไปขึ้นรถแท็กซี่ไปที่ทำการสมาคมฯที่ถนนติวานนท์ ซอย 8 แล้วนั่งรอจนกว่าจะถึงเวลาประชุม 9 โมงเช้า แต่กว่ากรรมการจะมาครบก็ 10 โมงโน่น และคนที่มาช้าที่สุดคือตัวนายกฯ (ไม่รู้ปรับปรุงหรือยัง) แล้วก็เริ่มประชุมไปตามวาระที่ผมร่างส่งมาให้คุณกิตติพงษ์(ตุ๋ง)หาดทวายกาญจน์ เจ้าหน้าที่สมาคมฯจัดเตรียมถ่ายเอกสารไว้ให้ กว่าจะประชุมกันเสร็จก็บ่าย 3 บ่าย 4 โมง แล้วผมก็เดินตูดปัดออกมาเรียกแท็กซี่ที่ปากซอย(ตอนนั้นแท็กซี่ไม่มีโทรศัพท์)เพื่อไปขึ้นรถที่หมอชิตกลับพิษณุโลก หรือถ้ามีประชุม 2-3 วัน ก็ให้แท็กซี่ไปส่งที่โรงแรมม่านรูดที่แคราย เพื่อประหยัดเงินให้ทั้งตัวเองและสมาคมฯ (ในตอนนั้นสมาคมฯมีรายได้ไม่มาก ผมต้องจ่ายไปก่อนแล้วเบิกทีหลัง) กว่าจะกลับถึงบ้านก็ตี 2 ตี 3 ทุกครั้ง ในขณะที่กรรมการส่วนใหญ่อยู่ปริมณฑลหรือไม่ไกลจากกรุงเทพฯนัก เมื่อประชุมเสร็จพวกเขาก็จบ แต่ผมเมื่อกลับถึงบ้านแล้วก็ต้องมาพิมพ์บันทึกการประชุมอีก พิมพ์หนังสือก็พิมพ์ได้นิ้วเดียว กว่าจะเสร็จก็หลายหน้า

 -จากประสบการณ์การก่อตั้งชมรมคนพิการคือ

1.มีใจ 2.ไปประชาสงเคราะห์ 3.เลือกเฉพาะผู้นำ 4.ทำไปตามลำดับ 5.จับเอามาทำงาน

ที่ผมเคยใช้ เมื่อผมได้เป็น “ประธานส่งเสริมองค์กรคนพิการส่วนภูมิภาค” ผมก็คิดยุทธศาสตร์ขึ้นมาใหม่ว่า

1. กระตุ้นให้เกิดกลุ่ม 2. อุ้มให้เกิดองค์กร 3. สอนให้ทำงาน 4. ประสานสายสัมพันธ์

และ 5. รายงานความสำเร็จ

ตอนนั้นทำงานหนักและเหนื่อยมาก ร่างกายก็ทรุดโทรม รายได้ก็ไม่มีทดแทน งานชมรมพิษณุโลกก็อ่อนลง แต่ก็สนุกที่ได้เรียนรู้และได้อยู่กับงานเอกสาร ซึ่งทำให้เราทราบและมีข้อมูลมากกว่าใครๆ และตื่นเต้นดีใจทุกครั้งที่ได้เดินทางไปพูดหรือเปิดชมรมคนพิการตามจังหวัดต่างๆ เช่น ยะลา เชียงราย แม่สอด หนองคาย เป็นต้น เรียกว่า เหนือ-ใต้-ออก-ตก ไปมาหมดแล้ว

 -ผมได้รับการคัดเลือกให้เป็นคนพิการดีเด่นของสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์และได้รับประทานโล่คนพิการดีเด่นจากพระองค์เจ้าโสมสวลีพระวรราชานัดดามาตุ ณ สวนอัมพร ก็ปี 2542 นี้

 -ผมทำสรุปไปรายงานให้ที่ประชุมใหญ่ในวันที่ผมหมดวาระให้ได้ทราบทั่วกันว่า ระหว่างผมเป็นเลขานุการและประธานส่งเสริมองค์กรคนพิการส่วนภูมิภาค ระหว่างปี 2542-2543 นั้น ผมสามารถสร้างเครือข่ายที่เป็นบุคคลและองค์กรได้ถึง 69 จังหวัด จากทั้งหมด 76 จังหวัด ...ภูมิใจไหมล่ะ!?!

-***ทราบไว้ว่า

1. ผมเหนื่อยจริงๆและเบื่อแล้วที่จะเดินทางเข้ามาทำหน้าที่เลขาฯสมาคมฯในกรุงเทพฯ ดังนั้น เมื่อนายทหารพิการยศ พันตรี มาติดต่อให้ผมร่วมเป็นคณะกรรมการชุดต่อไปร่วมกัน ผมจึงตอบปฏิเสธ และในการเลือกตั้งครั้งนั้นนายพันผู้นี้ก็ได้เป็นนายกสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยคนใหม่แทนนายศุภชีพ ดิษเทศ ซึ่งแพ้เลือกตั้ง

2. มียอดสมาชิกเข้าร่วมประชุมใหญ่ในครั้งนี้โดยไม่มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้าเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มคนพิการโรคเรื้อน ซึ่งถูกนำมาโดยทีมงานของนายพันตรี ทำให้เกิดปัญหาทั้งเรื่องการลงทะเบียน การทำบัตรเลือกตั้ง การจัดหาอาหารและเครื่องดื่ม และการลงคะแนนที่ควบคุมไม่ได้

3. ทีมงานของนายพันตรีมีการแจกแบบสอบถามให้สมาชิกทุกคนที่มาร่วมประชุมโดยโฆษณาว่า ถ้ากรอกแบบสอบถามชัดเจนถูกต้องจะได้โควต้าสลากฯทุกคน ซึ่งผมทราบภายหลังว่า มันเป็นยุทธศาสตร์โค่นล้มนายกศุภชีพ โดยการเอาผลประโยชน์เข้าล่อ และก็ได้ผล!

7 อรรถพล ขาวแจ่ม 9/04/2556 13:05:24

สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยในใจของผม

6. ผลงานก่อนการเป็นเลขาฯแห่งประเทศไทย

 ในการประชุมเพื่อเปิดชมรมเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2538 ปรากฏว่า คุณสมาน ประทีปจรัส เจ้าของธุรกิจร้าน ป.ปลางาม ได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธานชมรมคนพิการพิษณุโลก คนแรก โดยมีผมเป็นเลขานุการ แต่ต่อมา คุณสมานได้ล้มป่วยลงจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ จึงแจ้งให้คณะกรรมการประชุมกันเพื่อเลือกประธานชมรมฯคนใหม่ ซึ่งผมได้รับเลือกให้เป็นประธานเป็นคนที่ 2 โดยต้องปฏิบัติหน้าที่เลขานุการชมรมฯไปพร้อมๆกันเพราะไม่มีใครทำเป็น

 แม้จะก่อตั้งชมรมฯได้แล้วแต่ผมก็ยังต้องทำงานอยู่กับคุณภัทราวดี มีชูธน ที่ภัทราวดีเธียเตอร์ เพราะมันเป็นรายได้ทางเดียวที่ผมได้รับ จนกระทั่งเกิดการปรับปรุงตำแหน่งในสำนักงานและเขาจะย้ายให้ผมไปอยู่ฝ่ายการเงินซึ่งผมไม่ถนัด จึงสบโอกาสขอลาออกและเดินทางกลับมาเช่าบ้านเป็นสำนักงานที่พิษณุโลกเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2539 โดยได้รับเงินสนับสนุนจากคุณภัทราวดี 25,000 บาท บวกกับเงินตัวเองอีกหมื่นกว่าบาท

 วันที่ 29 กันยายน 2539 ผมใช้ฐานข้อมูลจาก สำนักงานประชาสงเคราะห์จังหวัด (พมจ.ในปัจจุบัน) ค้นหากลุ่มเป้าหมายและเชิญให้มาประชุมเพื่อรับการศึกษา ณ ห้องสมุดประชาชนจังหวัดพิษณุโลก(สังกัดศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน) ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุม 39 คน

 ผมเริ่มจัดการศึกษาให้คนพิการทั้งในระดับประถมและมัธยม มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2539 โดยมีนักเรียนทั้ง 2 ระดับ จำนวน 43 คน โดยได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดฯและคุณเฟื่องฟ้า ภู่สวาสดิ์ หัวหน้ากลุ่มงานสวัสดิการ สำนักงานประชาเคราะห์จังหวัดฯ

 ได้รับการร้องขอจากโรงเรียนอาชีวะพระมหาไถ่ให้ช่วยค้นหาและประชาสัมพันธ์พร้อมทั้งจัดเตรียมสถานที่สอบคัดเลือกคนพิการเพื่อเข้าเรียนโรงเรียนอาชีวะพระมหาไถ่ ซึ่งผมได้ให้ความร่วมมือมาตั้งแต่ต้นปี 2539 ซึ่งในตอนแรกๆมีคนพิการเดินทางมาสอบเป็นจำนวนมาก และยังจัดเตรียมสถานที่สอบพร้อมทั้งประชาสัมพันธ์มาจนถึงปัจจุบัน แต่จำนวนผู้เข้าสอบก็น้อยลงเรื่อยๆ

 ปลายปี 2539 ได้เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทย ครั้ง ที่ 17 ที่จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นครั้งแรกของคนพิการจังหวัดพิษณุโลก โดยมีนักกีฬา 3 คน มีคุณบุญสม อินทรทัศน์ เป็นตัวเด่นเพราะผ่านการเล่นกีฬาให้โรงเรียนอาชีวะพระมหาไถ่มาแล้ว

 ***ในการเข้าร่วมแข่งขันกีฬาในครั้งนั้น ผมมีเรื่องประทับใจ 3 เรื่อง คือ 1. เข้าร่วมครั้งแรก 2.ได้ออกความเห็นให้อาจารย์สุภรธรรมนำเอาไปตีพิมพ์พาดหัวข่าววารสารด้วยข้อความว่า “นครสวรรค์ทำเท่...ตีกลองยาวล่อมังกร...เปิดกีฬาคนพิการ” และ 3. ได้พบคุณเสริมกิจ สรวงวัฒนา ที่เป็นข้าราชการคนพิการและมาปรึกษาเรื่องวิธีการเปิดชมรมคนพิการ ***

 ปี 2540 ได้รับงบประมาณจากกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ จำนวน 180,000 บาท(หนึ่งแสนแปดหมื่นบาทถ้วน) เพื่อให้มาดำเนิน “โครงการรณรงค์เพื่อการรับทราบข่าวสารของคนพิการจังหวัดพิษณุโลก” ทั้ง 9 อำเภอ และทำให้ชมรมฯมีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 3,200 คน พร้อมทั้งมีองค์กรเครือข่าย “ชมรมคนพิการอำเภอ....” ครบทุกอำเภอเป็นจังหวัดแรกของประเทศไทย

 ผมภูมิใจมากที่ได้รับความไว้วางใจให้เป็นเจ้าภาพจัดเวที “ประชาพิจารณ์รัฐธรรมนูญ 2540” ของภาคเหนือ ซึ่งงานก็ผ่านไปได้ด้วยดี

 ปี 2541 รับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย ณ โรงแรมน่านเจ้า มีคนพิการและผู้เกี่ยวข้องมาร่วมงานกว่า 400 คน

 ได้ส่งนายอรชุณร์ อ่อนด้วง และนายสมหมาย มีปรางค์ เข้าไปอบรมการทำรถเข็นที่สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยร่วมกับมูลนิธิอาซาอีชิมบุน จากประเทศญี่ปุ่นจัดขึ้นที่จังหวัดนนทบุรี

 เมื่อกลับมาแล้วก็ได้จัดตั้ง “ร้าน WORKSHOP คนพิการ” ขึ้น เพื่อรับทำรถโยกให้สำนักงานประชาเคราะห์จังหวัดฯ จำนวน 40 คันๆละ 4,000 บาท แต่ทำได้ครั้งเดียวเพราะกำนันที่เราไปอาศัยบ้านเขารับเอาเงินไปหมด ไม่แบ่งให้ชมรมฯไว้ทำทุนใหม่เลย

 ต้นปี 2542 รับเป็นเจ้าภาพฝึกอบรมการทำรถเข็นนานาชาติที่สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยร่วมกับมูลนิธิอาซาอีชิมบุน จากประเทศญี่ปุ่นจัดขึ้น โดยมีชาวต่างชาติจาก 8 ประเทศ มาเข้าร่วมโครงการ โดยผมต้องทำหน้าที่เป็นล่ามด้วย....ต้องขอพูดระบายไว้ตรงนี้ว่า เมื่อเสร็จสิ้นโครงการนี้ ทั้งสมาคมฯและมูลนิธิฯจะมอบอุปกรณ์เครื่องเชื่อมให้กับชมรมคนพิการพิษณุโลก แต่ที่เขาทำพิธีมอบให้ในวันปิดโครงการคือเครื่องมือ 1 ชุด โดยรับปากว่าจะนำเครื่องเชื่อมมาให้ภายหลัง จนกระทั่งทุกวันนี้ผมก็ยังไม่รับ แต่มีคนไปพูดเอาหน้าว่า เคยมอบอุปกรณ์ให้ผมแล้ว...ผมจำหน้าคนโกหกได้ทุกคนเลย...จริงๆ.

***หมายเหตุไว้ตรงนี้สักนิดว่า

1. ในปี 2538 สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล มีนโยบายจะจัดสรรโควตาสลากฯให้กับองค์กรด้านคนพิการทุกองค์กร ได้มากได้น้อยขึ้นอยู่กับจำนวนสมาชิก ซึ่งสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย จะได้รับการจัดสรรจำนวน 2,000 เล่ม(เล็ก) แต่ในขณะนั้นคณะกรรมการมีความคิดเห็นแตกเป็น 2 อย่าง คือเอา กับ ไม่เอา

คนที่ไม่เอามีเหตุผลว่า สลากฯไม่ใช่อาชีพพัฒนาคนพิการ เป็นอาชีพมอมเมาประชาชน เป็นอาชีพกึ่งขายกึ่งขอ(ทาน) ถ้าผลประโยชน์เข้าสู่สมาคมฯ ไม่นานสมาคมฯก็จะล่มสลาย เพราะมีแต่คนจะแก่งแย่งเอาผลประโยชน์โดยไม่คิดถึงคุณธรรม สู้ส่งเสริมการศึกษา พัฒนาอาชีพในด้านอื่นๆ และหาตำแหน่งงานให้ทำตามสถานที่ต่างๆไม่ได้ พร้อมทั้งมีการประกาศตัวต่อต้านอย่างรุนแรง “มันมากูไป จะไม่ให้ความเคารพทั้งหัวหงอกหัวดำ”

คนที่เอา ก็มีเหตุผลว่า ในปัจจุบันสมาคมฯไม่มีรายได้อะไรเลย นอกจากเงินโครงการและค่าสมัครสมาชิกเล็กน้อย ซึ่งก็ไม่แน่นอนในแต่ละปี ถ้ามีรายได้จากการจัดสรรสลากฯให้สมาชิกนำไปจำหน่ายก็จะทำให้สมาคมฯมีรายได้ประจำที่แน่นอน สามารถบริหารงานได้อย่างไม่มีปัญหาทางการเงินเหมือนปัจจุบัน

ท่านผู้พันฯถามผมในเรื่องนี้ว่ามีความเห็นอย่างไร ผมได้ตอบไปว่า “สมาชิกส่วนใหญ่อายุมากแล้ว คงไม่สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษา แต่คงอยากได้อาชีพมากกว่า ถ้าได้สลากฯมาก็คงจะดี เพราะสมาชิกของสมาคมฯจะรู้สึกว่าได้หยิบจับรับอะไรๆ จากสมาคมฯบ้าง ซึ่งแม้ว่าผมจะตอบท่านไปอย่างนั้น แต่ผมก็รู้ว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มของผู้รังเกียจอาชีพขายสลากฯด้วย และเมื่อสลากฯเข้ามาในสมาคมฯผมก็ได้รับการจัดสรรด้วย จำนวน 10 เล่ม(เล็ก) ซึ่งผมก็ไม่สนใจที่จะขายจึงนำไปมอบให้เพื่อนที่ทำงานในสมาคมฯไว้โดยไม่เรียกร้องค่าตอบแทนใดๆ

ต่อจากนั้นไม่นานนักผมก็ได้ข่าวว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นโดยมีคุณสุทธิพงษ์ รัตโนสถ มาเป็นนายกสมาคมฯแทนท่านผู้พันต่อพงษ์ และท่านผู้พันฯได้ไปเป็นเลขาธิการคณะกรรมการเตรียมทีมนักกีฬาคนพิการ เฟสปิกเกมส์

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสมาคมฯผมไม่ได้ให้น้ำหนักเรื่องสลากฯอย่างเดียว แต่การเตรียมทีมนักกีฬาก็สำคัญและในขณะนั้นก็ไม่มีใครเหมาะสมเท่ากับท่านผู้พันฯ.

8 อรรถพล ขาวแจ่ม 8/04/2556 07:28:51

สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยในใจของผม

5. เป็นวิทยากรครั้งแรก

 -นับตั้งแต่ผ่านการอบรมการเป็นผู้นำ “สุรินทร์ 1” และเริ่มมีบทบาทในการร่วมขบวนเพื่อเรียกร้องให้คนพิการใช้รถไฟฟ้าธนายงแล้ว ผมก็จะได้รับเชิญจากสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยให้เข้าร่วมการอบรม-สัมมนาอีกหลายแห่ง ซึ่งในแต่ละแห่งผมจะตักตวงเอาความรู้ที่ผมควรจะได้รับให้ได้มากที่สุด โดยการซักถามเอาจากวิทยากรท่านผู้รู้ มีบางครั้งที่ผมถูกตำหนิจากเพื่อนผู้เข้าร่วมงานว่า ถามมาก พูดมาก...ซึ่งผมก็รู้สึกว่า “เราทำไมถึงโง่กว่าใครๆจังเลย” และหลายคน จะขำในคำถามของผม ซึ่งผมก็รู้สึก “อาย” แต่ไม่หยุดที่จะพูด จะถาม เพราะผมคิดว่า เพื่อนที่ตำหนิผม...ไม่ใช่คนเก่ง แต่คนที่ผมถามเก่งกว่า และผมก็มีคติเตือนใจที่ได้จาก เดลล์ คาร์เนลสกี้ ว่า “จงยอมรับในสิ่งที่เราไม่รู้ เพราะการยอมรับนั้นจะทำให้เราฉลาดขึ้น” ซึ่งต่อมาในตอนหลังๆ มีทั้งวิทยากรบนเวทีและเพื่อนๆผู้เข้าร่วมประชุม ขอร้องให้ผมช่วยตั้งคำถาม “นำ” ให้ด้วย ซึ่งผมเองก็แปลกใจ

 -ท่านผู้พันฯได้เชิญผมให้เข้าร่วมประชุมสัมมนาเรื่อง การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการฯ ที่จังหวัดภูเก็ต โดยนัดหมายให้ไปขึ้นเครื่องบินที่สนามบินทหารอากาศดอนเมือง ซึ่งผมได้ไปพบผู้นำคนพิการทั้งแขน-ขาและตาบอดหลายคนรออยู่ที่นั่น รวมทั้งคุณจรัญ แซ่จิว ผู้นำคนพิการจากจังหวัดสุโขทัย ซึ่งมานั่งรอทำตัวเล็กๆอยู่ปากประตูทางเข้าด้วย ซึ่งผมก็ไปเรียกให้เจ้าหน้าที่มาดูแล แล้วเจ้าหน้าที่ก็พาพวกเราไปขึ้นเครื่องบินทหาร ซึ่งเป็นเรื่องตื่นเต้นสำหรับพวกเรา โดยเฉพาะเพื่อนคนพิการตาบอดที่พูดออกมาและผมจำไม่ลืมว่า “เครื่องบินทหารเหรอ เออ...เครื่องมันดังเหมือนรถอีแต๋นเลยเนาะ”

 -***ต้องขอขยายเรื่องคุณจรัญไว้ตรงนี้นิดนึงว่า เขาเป็นคนพิการที่เดินไม่ได้ แต่จะคลานไปโดยใช้สันกำปั้นของมือทั้ง 2 ข้างเป็นเท้าหน้า และเข่าทั้ง 2 เป็นเท้าหลัง ซึ่งเข่าทั้ง 2 ข้างก็ไม่เท่ากัน เวลาเคลื่อนไหวจึงไปได้อย่างช้าๆ ยากลำบาก และน่าสมเพชมาก แต่ในภายหลังคุณจรัญได้รับการคัดเลือกจากสมาชิกภาคเหนือให้ขึ้นไปเป็นกรรมการบริหารสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยและมีบทบาทอย่างมากในภาพของคนพิการทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศ***

 -ในเวทีสัมมนาผมได้รับบทบาทสมมุติ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการประจำจังหวัดด้วย (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อไปเป็น กก.ส่งเสริมฯตามชื่อ พรบ.)

 -ผมได้เป็นวิทยากรครั้งแรกในหัวข้อเรื่องว่า “วิธีการก่อตั้งชมรมคนพิการ” โดยได้ขึ้นเวทีร่วมกับ อาจารย์ณรงค์ พี่...อะไรจำไม่ได้ เป็นอัมพาตท่อนล่าง อยู่นครศรีธรรมราช(เสียชีวิตแล้ว) พี่ไสว พรหมจินดา โดยมีท่านผู้พันฯเป็นผู้ดำเนินรายการ

 -ผมใช้ประสบการณ์ตรงของผมในการบรรยายในครั้งนั้น ซึ่งผมเรียงลำดับเป็นแผนงานไว้ว่า

1.มีใจ

2.ไปประชาสงเคราะห์

3.เลือกเฉพาะผู้นำ

4.ทำไปตามลำดับ

5.จับเอามาทำงาน

โดยมีคำอธิบายว่า มีใจที่อยากจะก่อตั้งชมรมคนพิการ...ก็ให้ไปที่สำนักงานประชาสงเคราะห์ เพราะที่นั่นเป็นสำนักงานทะเบียนแหล่งรวมรายชื่อของคนพิการ...คัดเลือกเอาคนพิการที่เราเห็นว่าเหมาะสม คือมีความรู้ มีอาชีพ มีประสบการณ์...อยู่ไม่ไกล...พิการไม่มาก...จำนวนไม่เกิน 20 คน...แล้วก็เขียนจดหมายไปปรึกษาพร้อมทั้งชักชวนให้มาประชุมกินข้าวร่วมกันโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย...ถ้าตกลงเห็นชอบ ก็มอบหมายงาน ใครคัดรายชื่อ ใครติดต่อประธาน ใครติดต่อสถานที่ เมื่อถึงวันที่จัดประชุมใหญ่มีคนมาจำนวนมาก เราก็คัดเอาบุคคลที่เราเห็นว่าเหมาะสมเข้ามาเป็นกรรมการของเราได้อย่างสบายๆ ที่เหลือนอกนั้นก็มีชื่อและที่อยู่เพื่อการติดต่อให้เป็นเครือข่ายอย่างดีต่อไป

-ผมไม่มีความตื่นเต้นในการเป็นวิทยากรครั้งแรกเลย เพราะมันเป็นเรื่องเล่าในสิ่งที่ผมได้กระทำแล้ว แต่เมื่อผมลงจากเวทีมาข้างล่างก็มีทั้งเพื่อนคนพิการและไม่พิการมาแสดงความชื่นชมกับผมเป็นจำนวนมาก และนับตั้งแต่บัดนั้น เขาก็จัดให้ผมได้นั่งรับประทานอาหารร่วมกับผู้ใหญ่เสมอๆ แต่ผมก็พยายามปฏิเสธ เพราะการนั่งกับเพื่อนๆผู้น้อยต่างจังหวัด จะได้รับความรู้และรับทราบอารมณ์ที่หลากหลายมากกว่า.

9 ผ่านมาเห็น 8/04/2556 05:48:44

ย้อนไปซะเกิดไม่ทัน หาเสียงลงนายก ป่ะ

10 อรรถพล ขาวแจ่ม 8/04/2556 03:50:21

สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยในใจของผม

4. ร่วมประท้วงรถไฟฟ้า BTS (รถไฟฟ้าธนายง-กรุงเทพมหานคร)

 -ในการประชุมเพื่อเปิดชมรมคนพิการพิษณุโลก ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2538 นั้น ท่านพันโทต่อพงษ์ ได้กล่าวชักชวนท้าทายในที่ประชุมไว้ว่า “ชมรมฯพิษณุโลก” จะเข้าร่วมเดินขบวนเรียกร้องให้คนพิการใช้บริการรถไฟฟ้า BTS ที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2538 ได้หรือไม่? ซึ่งผมก็ถามที่ประชุมว่า “มีใครอยากจะไปบ้าง” ปรากฏว่ามีคนยกมือ รวมทั้งผมด้วย 20 คนพอดี คนพิการจังหวัดพิษณุโลกจึงได้เข้าร่วมงานกับสมาคมคนพิการแห่งประเทศนับตั้งแต่ก่อตั้งเป็นชมรมฯได้เพียง 6 วัน (โดยได้รับการสนับสนุนค่าอาหารและการเดินทางจากคุณเฟื่องฟ้า ภู่สวาสดิ์ หัวหน้ากลุ่มงานสวัสดิการ ในสมัยนั้น) และเข้าร่วมกิจกรรมกับสมาคมฯตามวาระโอกาสต่างๆมาจนถึงปัจจุบันนี้

 -พวกเราเดินทางด้วยรถตู้ 2 คัน ไปร่วมขบวนกับเพื่อนคนพิการอื่นๆที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน ในตอนเช้ามืด ซึ่งมีเพื่อนคนพิการจากสถานที่ต่างๆมาร่วมเดินขบวนเป็นจำนวนมาก โดยท่านผู้พันฯได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและยวดยานพาหนะที่ผ่านไปมาให้ได้ทราบว่าคนพิการจำนวนมากมาทำอะไรกันในวันนี้

 -เมื่อถึงเวลา 7 นาฬิกา ขบวนก็เคลื่อนตัวไปยังที่ว่าการกรุงเทพมหานคร ติดกับวัดสุทัศน์ แล้วท่านผู้พันฯก็เริ่มประกาศโจมตี วิธีคิดและการกระทำของ ม.ร.ว.กฤษฎา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ว่าการกรุงเทพมหานครในขณะนั้นว่าไม่มีวิสัยทัศน์และเลือกปฏิบัติต่อคนพิการอย่างไม่เป็นธรรม

 -พวกเรารู้สึกตื่นเต้นและตั้งใจฟังในเรื่องที่ผู้พันฯพูดเป็นอย่างมาก ที่ตื่นเต้นเพราะท่านผู้พันฯเป็นคนพิการขนาดหนัก เป็นอัมพาตทั้งตัว พูดไปก็หอบหายใจไป และต้องฉีดน้ำเป็นฝอยใส่หน้า ใส่คออยู่ตลอดเวลา แต่ในคำพูดนั้นห้าวหาญมาก ทั้งขู่ทั้งปลอบ ที่ขู่คือจะเผาทั้งรถเข็นเก่าและไม้ค้ำยันที่นำมากองไว้หน้าที่ว่าการฯ ที่ปลอบคือบอกให้คิดใหม่และแก้สัญญาจัดทำลิฟท์และทางลาดเพื่อให้คนพิการมีสิทธิ์มีส่วนใช้รถไฟฟ้าได้ด้วย เพราะมันเป็นความเท่าเทียมของมนุษย์และจะแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์แห่งคุณธรรมของผู้บริหารกรุงเทพมหานคร

 -เวลาประมาณ 10.00 น. มีเจ้าหน้าที่มาเชิญผู้แทนผู้แทนคนพิการขึ้นไปเข้าร่วมประชุมกับคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร โดยผู้ท่านพันฯเรียกผมเข้าไปพบและสั่งว่า “ช่วยเป็นโฆษกประกาศกระตุ้นให้เพื่อนๆตะโกนเสียงดังๆ เพื่อกดดันเวทีประชุมข้างบนด้วย อย่าอยู่กันเงียบๆ ผมจึงได้เป็นโฆษกโดยไม่รู้ตัวมาก่อน แต่ก็พยายามประกาศให้เพื่อนๆตะโกนเสียงดังๆ โดยใช้วิธีตะโกนถาม-ตะโกนตอบเป็นคำสั้นๆ เช่น

-พวกเราเป็นคนไทยใช่ไม๊ เพื่อนๆก็ตะโกนตอบว่า ใช่

-มีสิทธิ์ขึ้นรถไฟใช่ไม๊ เพื่อนๆก็ตะโกนตอบว่า ใช่

-ต้องทำให้พวกเราไม๊ เพื่อนๆก็ตะโกนตอบว่า ต้องทำ

-ถ้าไม่ทำ เลวไม๊ เพื่อนๆก็ตะโกนตอบว่า เลว

-ถ้าไม่ทำ ชั่วไม๊ เพื่อนๆก็ตะโกนตอบว่า ชั่ว

-กฤษฎา โง่ไม๊ เพื่อนๆก็ตะโกนตอบว่า โง่

-พวกเราสู้ไม๊ เพื่อนๆก็ตะโกนตอบว่า สู้ เป็นต้น ซึ่งตอนนั้นผมรู้สึกฮึกเหิมและเร้าใจมาก

 -ในตอนสายๆมีคนพิการตาบอด ชื่อ “สำราญ เสมาทอง” มาช่วยเป็นโฆษกด้วย และผมก็เพิ่งเห็นลีลาของเพื่อนตาบอดว่า “เขาใช้คำพูดที่รุนแรงมาก...ไอ้เหี้ย...ไอ้สัตว์...ไอ้ชาติชั่ว...โคตรพ่อโคตรแม่มึง... มีหมดและมีมากกว่านี้ พร้อมทั้งแช่งให้พิการก่อนตายและตายไปให้ตกนรกต่อ” ผมฟังแล้วขนหัวลุกและจำได้ตั้งแต่บัดนั้นว่าคนตาบอดด่าใคร...ไม่มีการมองหน้า...

 -***คุณสำราญ ถูกยิงตายในอีกไม่กี่ปีต่อมา ด้วยสาเหตุใดผมไม่ทราบ***

 -ผลการเจรจาปรากฏว่าล้มเหลว และกลุ่มผู้นำคนพิการก็พากันกลับลงมาตอนเที่ยงวันกว่าๆ โดยที่ท่านผู้พันฯมีสภาพที่โทรมมาก เมื่อลงมาก็ไปนอนพักในทันทีโดยห้ามทุกคนไปรบกวน

 -พวกเราอยู่ในอาการมึนงงกับผลการเจรจา และพักกินข้าวกล่องกลางวันกัน ในขณะที่ท่านอาจารย์ณรงค์กับกลุ่มผู้นำในส่วนกลาง เช่น คุณธีรวัฒน์ ศรีปฐมสวัสดิ์ อาจารย์สุภรธรรม มงคลสวัสดิ์ จากโรงเรียนมหาไถ่ ก็ประชุมกันและเชิญผมให้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย

 -ในการประชุมนั้นมีผู้นำท่านหนึ่งพูดว่า “พวกเราล้ากันแล้ว คงจะประท้วงต่อไปไม่ไหว ปล่อยกับไปบ้านก่อนดีไม๊” -ผมแย้งว่า “พวกเรายังไหวครับแต่ขอพักหลบแดดซักครู่ ตอนนี้ร้อนมาก”

 -อาจารย์ณรงค์กล่าวว่า “อรรถพลมั่นใจหรือ” ผมตอบว่า “มั่นใจครับ เดี๋ยวผมปลุกระดมเอง” อาจารย์ณรงค์ก็บอกว่า “ถ้าอรรถพลทำได้ เราจะไปบ้านนายกฯบรรหารกัน”

 -แล้วผมก็แยกตัวออกมาเดินไปในกลุ่มต่างๆ โดยการประชุมของคณะผู้นำก็ดำเนินต่อไป

 -บ่าย 3 โมง ผมก็ไปจับไมค์ หลังจากที่ปล่อยให้เงียบมานาน และเริ่มต้นประโยคว่า “ขอเสียงหน่อย พวกเรายังสู้อยู่ไม๊” ซึ่งเสียงตอบรับก็กระหึ่มเหมือนเดิม ผมพูดเร้าอารมณ์ไปซักพักก็เชิญอาจารย์ณรงค์มาพูดต่อ แล้วเราก็มีมติเดินเท้าไปบ้านนายบรรหาร ศิลปะอาชา นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ซึ่งเป็นเจ้านายใหญ่ของ ม.ร.ว.กฤษฎา อีกชั้นหนึ่ง

 -ตอนตั้งขบวนนั้นผมอยู่ข้างหน้าเพื่อประกาศและกระตุ้น แต่พอเริ่มเดินยังไม่พ้นโค้ง ผมก็หลุดมาอยู่ท้ายขบวน แล้วก็ต้องเหมารถแท็กซี่ขับตามไปจนถึงบ้านนายกฯ บรรหาร ซึ่งนายกฯบรรหารรับปากว่าจะจัดการเพิ่มงบประมาณและจัดทำลิฟท์และทางลาดให้คนพิการอย่างแน่นอน พวกเราจึงแยกย้ายกันกลับบ้าน ซึ่งผมจำได้ว่า ผมส่งคนพิการถึงบ้านที่พิษณุโลกคนสุดท้ายมันเป็นเวลาตี 3 แล้ว

 -ผมได้รับการติดต่อให้เข้าร่วมประท้วงรถไฟฟ้าธนายง นับตั้งแต่ปี 2538 จนถึงปี 2547 ในการติดต่อนั้น เป็นคำสั่งกรายๆว่า ผมต้องเข้าร่วมให้ได้ และเมื่อผมไปถึง หน้าที่ของผมคือโฆษกประจำขบวน ต้องนั่งไปบนรถเครื่องเสียงทุกครั้ง ซึ่งก็มีผู้นำคนพิการอื่นๆสลับกันมาร่วมบ้าง

 -ครั้งสุดท้ายที่ผมเข้าร่วมคือปี 2547 มีจำนวนคนร่วมไปในครั้งนี้มากที่สุด เต็ม 1 คันรถบัส โดยพาคนพิการแวะเข้าไปในศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพแห่งชาติที่นนทบุรีก่อน ซึ่งวันนั้นจำได้ว่าเพื่อนๆได้รับรถเข็น 8 คัน ไม้ค้ำยัน 2 คู่ แล้วเราก็ไปจอดรถที่สถานีหมอชิตเก่าเพื่อขึ้นรถไฟฟ้าธนายงเที่ยวปฐมฤกษ์ โดยมี พลตรีสนั่น ขจรประสาธน์ เป็นคนขับ.

-***ลองนับดูซิครับ จากปี 38 ถึง 47 ผมได้ไปร่วมรวมแล้วกี่ปี และในระหว่างหลายปีนั้น... “มัน” ทำไมไม่สร้าง?***

แสดงความคิดเห็น

รอตรวจสอบ
จัดฟอร์แม็ต ดูการแสดงผล

รอตรวจสอบ

รอตรวจสอบ

รอตรวจสอบ

ยกเลิก

รายละเอียดกระทู้

สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยในใจของผม คำว่า “ในใจ” ผมหมายถึง... -เป็นความทรงจำ -เป็นสิ่งที่รัก -เป็นความคาดหวัง และเป็นเรื่องเล่าสู่กันฟัง (อย่างกระชับ) เป็นตอนๆ ดังนี้ 1. กำเนิดผู้นำ  -บ้านผมอยู่พิษณุโลก ผมพิการด้วยโรคซูซูกิ แขนขาอ่อนแรงมาเป็นเวลา 4 ปีกว่าแล้ว ก่อนที่ผมจะตัดสินใจเดินทาง(กึ่งหนีออกจากบ้าน) ไปเข้ารับการฝึกอาชีพที่ศูนย์ฟื้นฟูอาชีพคนพิการหยาดฝน จังหวัดเชียงใหม่ และผมได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธานรุ่นที่ 7 เมื่อปี 2536  -ผมเพิ่งได้พบ ได้เห็น ได้รู้จากที่ศูนย์ฯว่า มีคนพิการอยู่เป็นจำนวนมากในประเทศไทย และมีหลากหลายสภาพความพิการ ทั้งที่เดินได้และเดินไม่ได้ ทั้งที่ได้เรียนหนังสือและไม่ได้เรียน  -ผมสอนหนังสือให้น้องๆที่อ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้ 7 คน ซึ่งพวกเขาตั้งใจเรียนรู้จนสามารถฝึกอาชีพต่อไปได้  -ความคิดที่ว่า “ถ้าอยู่ไม่ได้ก็จะฆ่าตัวตายโดยจะไม่ให้ญาติพี่น้องเดือดร้อนแม้แต่เรื่องเผาศพ” ก็ค่อยๆหมดไป เมื่อผมรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าเมื่ออยู่กับคนพิการด้วยกัน  -เพราะได้อ่านวารสาร “เพื่อนเชียงใหม่” ของกลุ่มคนพิการเชียงใหม่ซึ่งจัดพิมพ์ขึ้นแล้วเอาไปมอบให้ศูนย์ฯหยาดฝนจึงทำให้ผมได้รู้จักและโทรฯไปคุยกับ อ.พิพัฒน์ ประสาธสุวรรณ์ ซึ่งท่านแนะนำให้ผมได้รู้จัก(ทางโทรศัพท์)กับท่านพันโทต่อพงษ์ กุลครรชิต ซึ่งเป็นนายกสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยในขณะนั้น  -อ.พิพัฒน์ ได้ให้ทุนผมเดินทางไปเข้าร่วมประชุมใหญ่สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยที่ จ.นครราชสีมา พร้อมกับเพื่อนคนพิการเชียงใหม่  -ผมได้ลุกขึ้นแสดงความคิดเห็นในประเด็นที่หมอไม่ยอมออกเอกสารรับรองความพิการว่า “หมอโง่” เพราะบอกว่า “คนเดินขาเป๋” เป็น “คนไม่พิการ” โดยหมอคิดเอาว่า “การใส่เสื้อผ้า การนั่งขี้ และการเดินขึ้นบันไดได้” เป็นข้อวินิจฉัยว่า “ไม่พิการ” ทั้งๆที่ในหมู่บ้านตัดสินและเรียกคนพวกนี้ว่า “ไอ้เป๋/อีเปลี้ย” และกลายเป็นคนที่เสียเปรียบทางสังคมไปแล้ว!  -ผมมารู้ภายหลังตอนแยกประชุมแต่ละประเภทความพิการจาก อ.ณรงค์ ปฏิบัติสรกิจ อดีตนายกสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยคนแรก ว่า “ผู้อำนวยศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ” ร้องไห้บนเวทีด้วยคำพูดของผม!  -ท่านพันโทต่อพงษ์ พูดว่า “วันนี้ผมดีใจที่ได้เห็นผู้นำคนพิการรุ่นใหม่ปรากฏตัวขึ้น สามารถแย่งไมค์มาจากเพื่อนคนพิการตาบอดได้” แต่ผมไม่ได้คิดว่าเป็นตัวเอง เพราะดูแต่ละคนเป็นผู้ยิ่งใหญ่มากๆ (ซึ่งหลายคนบอกว่าจำผมได้เป็นอย่างดีนับจากวันนั้น)  -ในการประชุมครั้งนั้น ทำให้ผมได้รู้ว่า อ.ณรงค์ ป่วยด้วยโรคข้อกระดูกยึดติดทั้งตัว เมื่อนอนท่านก็จะนอนตัวแข็ง เมื่อลุกขึ้นท่านก็จะต้องยืนทันที นั่งไม่ได้ และถ้าทำงาน ท่านก็จะต้องยืนทั้งวัน ไปจนกว่าจะล้มตัวลงนอน เมื่อมองไปที่ขาของท่านเราจะเห็นเส้นเลือดขอดที่ข้อเท้าของท่านเป็นสีดำทั้ง 2 ข้าง และพันโทต่อพงษ์ เป็นอัมพาตทั้งตัว แขนขาอ่อนแรง มือขยับได้ แกว่งได้ แต่หยิบ จับ หรือกำไม่ได้ทั้งสองข้าง ต้องนั่งบนรถเข็นทั้งวันนับตั้งแต่ลุกจากที่นอน!  -ท่านแนะนำให้ผมสมัครเป็นสมาชิกสมาคมฯซึ่งต่อมาผมก็ได้สมัครและได้เป็นสมาชิกลำดับที่ 1327 และได้รับและอ่านวารสาร “สายสัมพันธ์” ของสมาคมฯนับจากนั้น  -หลังจากที่ได้พูดคุยทางโทรศัพท์กันระยะหนึ่ง ท่านพันโทต่อพงษ์ ได้ให้เกียรติแก่กลุ่มเพื่อนคนพิการเชียงใหม่โดยการไปจัดอบรมสัมมนาเรื่องการก่อตั้งองค์กรของคนพิการ โดยคนพิการ เพื่อคนพิการ ที่โรงแรมเชียงใหม่ โดยผมมีส่วนนำคนพิการจากศูนย์ฯหยาดฝนเข้าร่วมงานด้วย  -อีกไม่นานหลังจากนั้นก็ได้มีการก่อตั้ง “ชมรมคนพิการจังหวัดเชียงใหม่” ขึ้น โดยมีผมร่วมเป็นคณะกรรมการก่อตั้ง บุคคลสำคัญที่ผมจำชื่อได้คือคุณลำยอง และคุณอรพันธ์ กันนัย ซึ่งยังมีบทบาทสำคัญจนถึงปัจจุบัน.คุณนฤมล ผู้หญิงที่เล่นเทนนิสคนแรกของเชียงใหม่ (และยังมีคุณพยาบาล...จำชื่อไม่ได้แล้ว...ถ้าคุณลำยอง/อรพันธ์ ได้อ่านก็กรุณาเติมให้ด้วย)  -แล้วผมก็เรียนจบหลักสูตร “จิ้มดีด” (มือข้างเดียว-เครื่องพิมพ์ดีดธรรมดา) จากศูนย์ฯหยาดฝนในเดือนตุลาคม 2536 และได้เดินทางเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯกับโรงละครภัทราวดีเธียร์เตอร์ ของคุณภัทราวดี มีชูธน ในตำแหน่งผู้ช่วยประชาสัมพันธ์  -ผมจะเดินทางไปที่สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย เพื่อเรียนรู้ และช่วยทำงานบ้างตามที่ได้รับมอบหมายจากท่านผู้พันฯ แต่ก็ไม่ได้ไปบ่อยๆ เพราะค่ารถแพงมาก ไป-กลับ 6-700 บาท ในแต่ละครั้ง  -ผมจำได้ว่า ในครั้งแรกที่ไปสมาคมฯ ผมนั่งเรือข้ามฟากจากฝั่งวังหลังมาขึ้นรถเมล์ ซึ่งวิ่งจากบางประกอกไปปากเกร็ด ที่ฝั่งท่าช้าง เมื่อรถมาถึง ผมก็ต้องรอให้ผู้โดยสารขึ้นรถไปให้หมดเสียก่อนแล้วผมจึงขึ้นเป็นคนสุดท้าย และเมื่อเท้าผมพ้นพื้นดิน รถเมล์กรุงเทพฯก็ออกตัวตัวตามสไตล์ ซึ่งทำให้ผมเซถลาเกือบตกรถ....และนั่นคือการขึ้นรถเมล์ในกรุงเทพฯครั้งแรกและครั้งสุดท้ายของผม!!! ทุกท่านคงทราบแล้วว่า ผมเดินทางด้วยรถอะไร ทำไมจึงต้องจ่ายแพง!  -ในเดือนสิงหาคม 2537 ท่านผู้พันฯได้จัดอบรมพัฒนาศักยภาพผู้นำขึ้นที่จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งผมได้รับเชิญให้เข้ารับการฝึกอบรมด้วย ในขณะฝึกนั้น ผมได้รับบทบาทสมมุติให้เป็นประชาสงเคราะห์จังหวัด(พมจ.ในปัจจุบัน)และก็จบมาได้เป็น “ผู้นำคนพิการรุ่นที่ 1 สุรินทร์” นับตั้งแต่บัดนั้น .........ใครจะแสดงความคิดเห็น/ซักถาม ก็ได้นะครับ..........

จัดฟอร์แม็ตข้อความและมัลติมีเดีย

  1. เพิ่ม
  2. เพิ่ม ลบ
  3. เพิ่ม ลบ
  4. เพิ่ม ลบ
  5. เพิ่ม ลบ
  6. เพิ่ม ลบ
  7. เพิ่ม ลบ
  8. เพิ่ม ลบ
  9. เพิ่ม ลบ
  10. ลบ
เลือกการตกแต่งที่ต้องการ

ตกลง ยกเลิก

รายละเอียดการใส่ ลิงค์ รูปภาพ วิดีโอ เพลง (Soundcloud)

Waiting...

ห้องกระทู้