ฟังเสียงสะท้อน ‘คนหูหนวก’ ในวันที่ ‘สิทธิการสื่อสาร’ ถูกพราก เหตุจากปัญหาการจัดสรรงบ
[/p]
[b]การสื่อสารคือสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ ซึ่งสำหรับ “คนหูหนวก” แม้การพูดจะไม่ใช่วิธีสื่อสารที่เขามีอยู่ หากแต่บริการล่ามภาษามือจาก ศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย (Thailand Telecommunication Relay Service : TTRS) คือเครื่องมือสำคัญที่ทำให้พวกเขาสื่อสารกับโลกได้อย่างเท่าเทียมและมีศักดิ์ศรี[/b]
อย่างไรก็ตาม สิทธิในการสื่อสารนั้นกลับถูกลิดรอนไปในช่วงกลางเดือน มิ.ย. 2568 เมื่อบริการ TTRS ได้ยุติให้บริการลงชั่วคราว อันเนื่องมาจากขาดเงินสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทำให้คนหูหนวกนับหมื่นคนทั่วประเทศต้องเผชิญกับข้อจำกัดในการดำรงชีวิตประจำวัน ทั้งเรื่องงาน สุขภาพ ความปลอดภัย
ทั้งหมดนี้กลายเป็นเหตุที่ผลักดันให้คนพิการทางการได้ยินหลายสิบชีวิต ต้องรวมตัวกันออกมาเรียกร้องสิทธิดังกล่าวบริเวณหน้าตึกสำนักงาน กสทช. ในวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อทวงคืนสิทธิของพวกเขา ด้วยความหวังว่าชีวิตของพวกเขาจะกลับมาสื่อสารได้ดังเดิมอีกครั้ง
"The Coverage" ได้รับฟังเสียงสะท้อนจากกลุ่มคนพิการทางการได้ยินที่เดินทางมาเรียกร้อง ผ่านล่ามภาษามือ เพื่อสื่อสารถึงผลกระทบที่พวกเขาต้องเผชิญ ภายหลังจากสิทธิในการสื่อสารเดียวที่มีนั้นถูกลิดรอนไป อันเนื่องมาจากการบริหารงบประมาณที่ไม่ลงตัว
[b]ย้อนเล่าวันวาน เมื่อ ‘TTRS’ เคยเป็นสิทธิในการสื่อสาร[/b]
สายัณห์ อินทโต ตัวแทนไรเดอร์ผู้พิการทางการได้ยิน เล่าว่า เขาใช้บริการของ TTRS มาตั้งแต่ยังเป็นระบบคอมพิวเตอร์ ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งทำให้ชีวิตง่ายขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะกับผู้ประกอบอาชีพไรเดอร์ ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงการสื่อสารกับคนทั่วไปได้ ซึ่งตัวเขาเองก็ได้ใช้บริการดังกล่าวมาเป็นเวลามากกว่า 15 ปี
ขณะที่ โอภาส นันทนานิมิตกุล คนพิการทางการได้ยินอีกราย บอกเล่าเรื่องราวของตนเองว่า ก่อนที่จะรู้จักบริการของ TTRS หากมีความต้องการให้ล่ามพาไปโรงพยาบาล จะต้องใช้ล่ามจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ซึ่งต้องติดต่อล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน และต้องรอคิวต่อจากผู้อื่น เนื่องจากล่ามมีจำนวนจำกัด
อย่างไรก็ดี เมื่อได้รู้จักบริการของ TTRS โอภาส ระบุว่า ชีวิตของเขาเปลี่ยนไปอย่างไม่คาดคิด เพราะเขาสามารถสื่อสารกับคนทั่วไปได้อย่างไม่มีข้อจำกัด ทั้งด้านการทำงาน การใช้ชีวิตประจำวัน และที่สำคัญอย่างยิ่งคือในกรณีฉุกเฉิน ที่ปกติแล้วเขาไม่รู้ว่าจะติดต่อหาใคร แต่แอปพลิเคชันของ TTRS กลับมีบริการปุ่มฉุกเฉินที่พร้อมช่วยเหลือเขาตลอดเวลา นับตั้งแต่บริการติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไปจนถึงบริการแพทย์ฉุกเฉิน
ทั้งหมดนี้คือภาพสะท้อนสำคัญว่า เหตุใดพวกเขาจึงจำเป็นต้องออกเดินทางมารวมตัวกันเสนอข้อเรียกร้องแก่ กสทช. ให้เร่งจัดสรรงบประมาณ เพื่อให้ชีวิตของพวกเขากลับมาสื่อสารกับคนทั่วไปได้อีกครั้ง
ฟังเสียงสะท้อน ‘คนหูหนวก’ ในวันที่ ‘สิทธิการสื่อสาร’ ถูกพราก เหตุจากปัญหาการจัดสรรงบ