‘TTRS’ หยุดบริการทั้งน้ำตา เมื่องบประมาณ ‘ไม่มี’ คนหูหนวก (อาจ) ไม่ได้ยินเสียงอีกต่อไป?
[/p]
“แรกเริ่ม TTRS ศึกษาโมเดลจากต่างประเทศอย่างละเอียด แล้วพบว่าหลายประเทศที่ใช้ระบบชื่อ รีเลย์เซอร์วิส (Relay Service) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ทำให้คนพิการทางการได้ยินสามารถโทรศัพท์หรือสื่อสารกับคนทั่วไปได้ ผ่านกระบวนการแปลภาษาโดยล่ามภาษามือแบบเรียลไทม์ ซึ่งโมเดลนี้ช่วยให้พวกเขาใช้ชีวิตในสังคมได้ใกล้เคียงกับคนทั่วไปมากขึ้น” วันทนีย์ เล่า
ทั้งนี้ ภายหลังจากการศึกษาโมเดลจากหลายประเทศอย่างถี่ถ้วน TTRS ได้จัดทำรายงานเสนอให้ กสทช. และข้อเสนอดังกล่าวได้รับความเห็นชอบ เนื่องจาก กสทช. เล็งเห็นว่านี่คือภารกิจสำคัญที่สอดคล้องกับ “แผนยูโซ” (Universal Service Obligation) หรือแผนบริการโทรคมนาคมพื้นฐานที่ต้องครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มทั่วประเทศ ซึ่งเป็นโครงการของ กสทช. ที่ได้ก่อตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนทุกคน โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสหรือแม้แต่ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล สามารถเข้าถึงบริการโทรคมนาคมพื้นฐานได้ในราคาที่เหมาะสม
[b]ยกระดับ TTRS ต่อเนื่อง เป็นส่วนหนึ่งของคนพิการ[/b]
วันทนีย์ เล่าถึงการดำเนินการตลอดระยะเวลาราว 14 ปี ว่า ในช่วงแผนยูโซ 1 ศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารฯ TTRS ได้ให้บริการผ่านระบบที่คล้ายคลึงกับต่างประเทศ โดยใช้ Teletypewriter (TTY) ซึ่งเป็นอุปกรณ์สื่อสารในยุคก่อน ที่จะให้คนพิการทางการได้ยินพิมพ์ข้อความที่ตนเองต้องการสื่อสารเพื่อส่งไปยังโทรศัพท์อีกเครื่องหนึ่ง โดยจะมีเจ้าหน้าที่กลางคอยแปลงข้อความนั้นให้ออกมาเป็นคำพูด ก่อนจะส่งต่อไปยังปลายสาย พร้อมกับนำเสียงการตอบกลับจากปลายสายมาแปลงเป็นข้อความเพื่อส่งกลับไปให้คนพิการทางการได้ยินอ่านอีกทีหนึ่ง
อย่างไรก็ดี เมื่อสังคมเริ่มเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลที่ระบบอินเทอร์เน็ตมีความเสถียรมากยิ่งขึ้น TTRS ได้เริ่มพัฒนาบริการใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเสริมการสื่อสารให้แก่ผ่านคนพิการทางการได้ยิน โดยทุกนวัตกรรมจะดำเนินงานในรูปแบบเรียลไทม์ ที่มีล่ามภาษามือคอยเป็นตัวกลางในการแปลงภาษาให้บุคคลทั่วไป เขาใจถึงสิ่งที่คนพิการทางการได้ยินต้องการจะสื่อสารได้
โดยในช่วงที่ผ่านมา TTRS มีบริการทั้งหมด 9 รูปแบบ แต่เนื่องจากแผนยูโซ 4 ที่เป็นเวอร์ชันล่าสุด ที่ผ่านมาได้มีการรับฟังความคิดเห็นกับสำรวจรูปแบบการใช้งานที่จำเป็นจริงๆ จึงลดเหลือรูปแบบการบริการเพียง 4 รูปแบบ ได้แก่ แอปพลิเคชัน TTRS LIVE chat, แอปพลิเคชัน TTRS Video, ตู้ TTRS และตู้ถ่ายทอดการสื่อสารแบบสนทนาวิดีโอผ่านโทรศัพท์มือถือ
[b]เทคโนโลยีล่าสุด ช่วยคนพิการได้มากขึ้น[/b]
วันทนีย์ เล่าต่อไปว่า ความเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจนหลังจากมีบริการผ่านรูปแบบแอปพลิเคชันของ TTRS คือเพิ่มความสะดวกสบายในการเข้ารับบริการที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันของคนพิการทางการได้ยิน โดยเฉพาะการเข้ารับบริการด้านสาธารณสุข ซึ่งเดิมทีก่อนจะมีบริการของ TTRS กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ได้ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักที่จัดสรรล่ามภาษามือแบบรายบุคคลให้ผู้พิการสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้
‘TTRS’ หยุดบริการทั้งน้ำตา เมื่องบประมาณ ‘ไม่มี’ คนหูหนวก (อาจ) ไม่ได้ยินเสียงอีกต่อไป?