กีฬาคนพิการ กับวิกฤติแห่งการเปลี่ยนแปลง

กีฬาคนพิการ กับวิกฤติแห่งการเปลี่ยนแปลง

คณะกรรมการพาราลิมปิกสากล (ไอพีซี) กำลังปรับเปลี่ยนกีฬาคนพิการบางชนิดที่ส่งผลกระทบกับไทย

นักกีฬาคนพิการทีมชาติไทย กำลังอยู่ในระหว่างการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนพาราเกมส์ ครั้งที่ 3 ซึ่งจะแข่งขันวันที่ 6-13 ตุลาคม นี้

เจ้าภาพบรรจุกีฬาแข่งขันทั้งสิ้น 18 ชนิดประกอบด้วย ยิงธนู, กรีฑา, แบดมินตัน, บ็อคเชีย, หมากรุกสากล, จักรยาน, โกลบอล, ยูโด, ลอนโบวล์ส, ยกน้ำหนัก,ยิงปืน, ว่ายน้ำ, เทเบิลเทนนิส, โบว์ลิ่ง, วอลเลย์บอล, เทนนิส, บาสเกตบอล และฟันดาบ

จากความพ่ายแพ้ในการแข่งขันกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 9 ที่มาเลเซีย เมื่อปีก่อน นักกีฬาคนพิการไทย ได้อันดับ 3 หลังพ่ายให้กับ อินโดนีเซีย ซึ่งครองเจ้าเหรียญทอง ทำได้ 126 ทอง และมาเลเซีย อันดับ 2 ได้ 90 ทอง ในขณะที่ไทย ได้เพียง 68 เหรียญทองเท่านั้น

พล.ต.โอสถ ภาวิไล เลขาธิการคณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาของไทย คือ นักกีฬาชุดเก่าเริ่มมีอายุมากขึ้น นักกีฬาหน้าใหม่ขึ้นมาเสริมไม่ทัน

นอกจากนี้ ในการเวิร์คช็อปของคณะกรรมการพาราลิมปิกสากล (ไอพีซี) ที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อเตรียมเข้าสู่การแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกเกมส์ 2020 ที่โตเกียว ซึ่งมีผู้แทนองค์กรกีฬาคนพิการทั่วเอเชียเข้าร่วม พล.ต.โอสถ เล่าว่า หลังจากที่ได้เข้าร่วมเวิร์คช็อป ก็ได้ข้อมูลว่า การแข่งขันกีฬาหลายชนิดในพาราลิมปิกเกมส์ จะมีการปรับเปลี่ยนครั้งสำคัญ ในกีฬาบางชนิด อาทิ กรีฑา, ว่ายน้ำ โดยประเภททีมผลัดนั้น ยกตัวอย่างจากเดิม วีลแชร์เรซซิ่ง 4x100 ม. หรือ 4x400 ม.ซึ่งนักกีฬาไทยอยู่ในระดับแชมป์พาราลิมปิกเกมส์ และแชมป์โลกนั้น จะมีการ “รวมคลาส” หรือรวมระดับความพิการ ทั้งแขน-ขา, ตาบอด, สมอง เข้าเป็นทีมเดียวกัน และแต่ละทีมจะต้องมีนักกีฬาแบ่งเป็น ชาย 2 คน หญิง 2 คน เป็นต้น ซึ่งเป็นอีเวนท์ใหม่ ที่จะเข้ามาแทนอีเวนท์เดิม เนื่องจาก ไอพีซี เห็นว่า ระดับความพิการในบางประเภทกีฬาไม่สามารถคัดเลือกนักกีฬามาแข่งขันได้ จึงเห็นว่าควรจะมีการ “รวมคลาส” เพื่อจะแข่งขันกันได้

ทั้งนี้ อีเวนท์กีฬาใหม่ดังกล่าว อาจจะเริ่มใช้ทดลองในกีฬาเอเชี่ยนพาราเกมส์ ครั้งที่ 3 ที่อินโดนีเซีย นี้ด้วย หากได้ผลดีก็นำไปใช้ในกีฬาพาราลิมปิกเกมส์ 2020 ต่อไป โดย พล.ต.โอสถ กล่าวว่า เรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อนักกีฬาไทยพอสมควรเพราะ วีลแชร์เรซซิ่ง เป็นกีฬาที่นักกีฬาไทยสร้างผลงานยอดเยี่ยมมาตลอด เมื่ออีเวนท์ที่เคยสร้างชื่อหายไป เหรียญทองก็จะหดหายไปด้วย

“เราจะต้องคัดเลือกนักกีฬาหน้าใหม่เพิ่มมากขึ้น และเปลี่ยนวิธีการเก็บตัวฝึกซ้อมใหม่ทั้งหมด จากเดิมแยกกันฝึกซ้อมแต่ละความพิการ บางกีฬาในประเภททีม หรือ ทีมผลัดก็จะต้องมาฝึกซ้อมรวมกัน ส่วนการคัดเลือกนักกีฬานั้น เดิมมีโครงการสานฝันฮีโร่ คัดเลือกนักกีฬาที่เป็นทหารในภาคใต้ ก็จะต้องขยายโครงการให้กว้างขวางและยกระดับความเข้มข้นในการคัดเลือกมากขึ้น”

สำหรับการแข่งขันเอเชี่ยนพาราเกมส์ เมื่อปี 2014 ที่อินชอน เกาหลีใต้ นั้น ทัพนักกีฬาไทยทำได้ 21 ทอง 39 เงิน 47 ทองแดง คว้าอันดับ 6 ตามหลัง จีน 174 ทอง 95 เงิน 48 ทองแดง ,เกาหลีใต้ (72 -62-77) ,ญี่ปุ่น (38-49-56), อิหร่าน (37-52-31) และ อุซเบกิสถาน (22-5-4) ซึ่งในเอเชี่ยนพาราเกมส์ ที่เมืองอิเหนาครั้งนี้ พล.ต.โอสถ ยอมรับว่า แค่ทำผลงานให้เท่าเดิมก็เต็มกลืนแล้ว

และถ้าหากไม่ทำอะไรสักอย่าง นั่นอาจจะหมายถึง กีฬาคนพิการ กำลังเดินเข้าสู่วิกฤติแห่งการเปลี่ยนแปลง

ขอบคุณ... http://www.komchadluek.net/news/sport/314539

ที่มา: komchadluek.net /มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 26 ก.พ.61
วันที่โพสต์: 27/02/2561 เวลา 10:47:23 ดูภาพสไลด์โชว์ กีฬาคนพิการ กับวิกฤติแห่งการเปลี่ยนแปลง