LOGA : ที่มาของการผลิตเมาส์เพื่อผู้พิการที่รักการเล่นเกม

LOGA : ที่มาของการผลิตเมาส์เพื่อผู้พิการที่รักการเล่นเกม

หากพูดถึงเกมมิ่งเกียร์สายเลือดไทยในเวลานี้ แน่นอนว่าชื่อของ LOGA เป็นที่รู้จักอย่างดีสำหรับวงการเกมในไทย นี่คือแบรนด์ผู้ผลิตอุปกรณ์เล่นเกมที่มีจุดเด่นต้องการผลิตเกมมิ่งเกียร์คุณภาพดี ให้เหล่าคนไทยได้ใช้กันในราคาประหยัด และมีเป้าหมายใหญ่พาเกมมิ่งเกียร์สัญชาติไทย ปักหมุดไกลในวงการอีสปอร์ตโลก

ไอซ์ – อรรถวุฒิ เสริมเลขาวิลาศ คือผู้ก่อตั้งแบรนด์ LOGA ที่เรากำลังพูดถึง และวันนี้พวกเขาก้าวไปอีกขั้นกับการพัฒนาเกมมิ่งเกียร์ ซึ่งครั้งนี้มีจุดเริ่มต้นจากความเข้าใจ และต้องการตอบโจทย์ความต้องการของผู้รักเกมบางกลุ่ม นั่นคือกลุ่มผู้พิการ

ไอเดียนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร? ดีไซน์จะน่าสนใจแค่ไหน และเป้าหมายในโปรเจกต์นี้ของ LOGA เป็นอย่างไรบ้าง ONE Esports ขอพาคุณไปร่วมหาคำตอบผ่านบทสัมภาษณ์ของผู้ก่อตั้งแบรนด์ LOGA ที่จะมาตอบคำถามด้วยตัวเอง…

LOGA : ที่มาของการผลิตเมาส์เพื่อผู้พิการที่รักการเล่นเกม

แรงบันดาลใจของ LOGA

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงเดือนเมษายน 2566 อรรถวุฒิ ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงโปรเจกต์ใหม่ของ LOGA เตรียมพัฒนาเมาส์สำหรับผู้พิการ ซึ่งที่มาที่ไปของโปรเจกต์เกิดจากความน่าทึ่งในความบังเอิญที่ได้เห็นการเล่น Valorant ของเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่ฝีมือเก่งกาจ สิ่งที่น่าทึ่งคือเขาไม่ได้ใช้มือเล่นเหมือนคนทั่วไป แต่กลับใช้เท้าเล่นแทน

“เรื่องนี้เกิดจากที่พนักงานในออฟฟิศเจอน้องทีน ที่ใช้เท้าเคลื่อนเมาส์เล่น Valorant ใน Twitch ผมเลยสนใจเข้าไปดู แล้วรู้สึกว่าอยากจะสนับสนุนเขา” อรรถวุฒิ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นโปรเจคต์นี้

“แต่หลังจากที่ได้พูดคุยกันในทีม รู้สึกว่าแทนที่เราจะแค่สนับสนุนเป็นตัวเงินหรือสินค้า เราสามารถทำได้มากกว่านั้น เราอยากลองดีไซน์เมาส์ที่ใช้เท้าได้ ซึ่งในตอนนี้เราได้ทำเมาส์ใหม่อยู่กับทาง Dots Design Studio เราจึงสอบถามว่าถามนั้นจะพร้อมร่วมงานกับเราในโปรเจกต์นี้ไหม ซึ่งน้องก็ตอบว่าพร้อมลุย เราก็เลยลุยกันเลย”

“คุณตั้ม กฤษณ์ พุฒพิมพ์ ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัท Dots Design Studio ลงมาทำด้วยตัวเอง ส่วนคุณเจ พศิน เพ็ชรพูล ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลโปรเจคฝั่ง Dot และ Designer คุณตั้มได้ตอบตกลงทันที วันที่ผมได้โทรไปปรึกษาถึงโปรเจกต์นี้ เพราฉะนั้นการทำงานจึงแบ่งออกเป็น 2 ทีมคือ ทีมผมจะดูแลการใช้งานโดยรวม และระบบ electronic เเพื่อเน้นโจทย์ด้านการแข่งขัน”

“ส่วน ทาง dot design จะเน้นเรื่องการ สวมใส่, วัสดุ, การออกแบบของรูปทรงเท้า และผลิตต้นแบบ 3D Print มาทดสอบ”

สำหรับ Tean Pracharapon หรือน้องทีน ถือเป็นเกมเมอร์ Valorant ที่ฝีมือไม่ธรรมดา เขามักเล่น Valorant ด้วยการใช้เท้าบังคับ และจะสตรีมลงบนช่องของตัวเองบน Tiktok และ Twitch อยู่เสมอ ท่ามกลางความสนใจจากคอมมูนิตี้ที่ต่างชอบดูการเล่นของเขาจากความมหัศจรรย์ที่แม้จะใช้เท้าเล่น แต่กลับไม่เป็นอุปสรรคต่อเขาเลยแม้แต่น้อย

“ผมมองว่า เมื่อเราฝึกฝนมากๆ เราจะเก่งขึ้นแน่ๆ ไม่ว่าจะใช้มือหรือเท้า แต่มันอาจจะยังขาดอุปกรณ์ตรงนี้อยู่” อรรถวุฒิ กล่าวต่อถึงมุมมองในฐานะผู้ผลิตเกมมิ่งเกียร์ที่มีต่อเกมเมอร์ที่เป็นผู้พิการ

“เราเชื่อว่าถ้ามีพาราลิมปิกอยู่ อีสปอร์ตก็สามารถบรรจุลงไปได้เช่นกัน เราต้องการพื้นที่และโอกาสที่ให้บุคคลเหล่านี้ตามล่าความฝันของตัวเองไปเป็นแชมป์ เหมือนทีมอื่นๆที่เราสนับสนุน และมันคงจะดีถ้าเรามีอุปกรณ์ที่ช่วยให้เก่งขึ้นได้ เหมือนที่นักวิ่งมีขาเทียม”

“มันเกิดจากที่ผมเชื่อในความไม่แน่นอนของชีวิตด้วย เราไม่รู้ว่าเมื่อไรที่เราจะมีปัญหาทางกายภาพเช่นกัน ทุกวันนี้อายุจะ 40 ปี แล้วยังรู้สึกว่า ร่างกายแย่ลงๆ ทุกวันหรืออาจจะเกิดจากอุบัติเหตุก็ได้”

“แน่นอนว่าพอคิดแบบนี้มันไม่ใช่แค่น้องทีนคนเดียวแล้ว มันมีอีกหลายคน และเราเป็นเกมเมอร์เช่นกัน ถ้าเราไม่สามารถใช้แขนได้ เราก็ยังคงอยากเล่นอยู่ดี และมันก็คงจะดีกว่ามากๆถ้ามันมีเมาส์สำหรับเท้าเพื่อให้เราเล่นได้ดีขึ้นกับเพื่อนๆคนอื่นๆ”

หากมองภาพรวมของวงการเกมในปัจจุบันได้มีการสนับสนุนผู้พิการมาตลอด โดยในปี 2019 One Game บริษัทออร์แกไนซ์ และ Unsold Stuff Gaming กลุ่มโปรเพลเยอร์ที่ก่อตั้งขึ้นในประเทศญี่ปุ่น เคยจัดงาน 1st eSports Event for Disabled in 2019 GUNMA การแข่งขันอีสปอร์ตส์สำหรับผู้พิการเป็นครั้งแรกของโลกมาแล้ว ซึ่งเป็นทัวร์นาเมนต์ League of Legends ที่ชิงเงินรางวัลกว่า 1 ล้านเยน

หรือแม้แต่ความหลากหลายที่วงการเกมไม่ได้ปิดกั้นที่มีการชื่นชมผู้พิการ แต่มีฝีมือการเล่นอันน่าทึ่งอยู่เสมอ เช่น Cheyenne Serria Demar หรือ braintumormama เกมเมอร์สาวที่ป่วยเป็นอัมพาต แต่มีผู้ติดตามกว่าสามหมื่นคนบน TikTok ซึ่งเธอมักโชว์การเล่น Call of Duty ด้วยมือ และเท้าข้างเดียวที่สู้กับศัตรูได้คล่องแคล่วด้วยอุปกรณ์ที่ดัดแปลงโดยเฉพาะของ Xbox

เช่นเดียวกับน้องทีน ที่มีสกิลการเล่นไม่ธรรมดา และเป็นที่มาที่ไปที่ทำให้ LOGA เห็นถึงความสามารถ และอยากมีส่วนร่วมในการพัฒนาตามแบบที่พวกเขาถนัด นั่นคือการสร้างอุปกรณ์เกมมิ่งเกียร์เฉพาะทาง

LOGA : ที่มาของการผลิตเมาส์เพื่อผู้พิการที่รักการเล่นเกม

“ผมให้น้องในออฟฟิศติดต่อไปหาน้องเขาก่อน” อรรถวุฒิ เล่าถึงการติดต่อน้องทีนเพื่อร่วมโปรเจกต์พิเศษ

“จากนั้นเราก็ได้พูดคุยกับน้องโดยตรง ครั้งแรกที่เจอตัวจริงคือผมไปหาที่บ้านพร้อมทีมดีไซน์ และ Dots Design Studio”

“ครั้งแรกที่เห็นคือ เขามีสกิลไม่น้อยไปกว่าคนทั่วไปเลยแม้แต่นิด ถ้าเกมมิ่งเกียร์มันเสริมตรงนี้เข้าไปได้ อาจจะช่วยลดช่องว่างระหว่างความสามารถทางกายภาพลงได้อีก นอกจากนี้ผมยังขอน้องเล่นเครื่องเล่นเกมอื่นๆ ของน้องกันอีก (ฮา) เป็นเกมเมอร์กันทั้งหมดในวันนั้น”

LOGA ได้เปิดโอกาสให้น้องทีนได้มีส่วนร่วมกับโปรเจกต์นี้โดยตรง ซึ่งเป็นการเริ่มต้นการทำงานด้วยการสอบถามถึงปัญหาจากผู้ใช้งานจริงทั้งในแง่ของข้อดีข้อเสียที่ต้องนำมาปรับปรุงเพื่อสร้างสรรค์เมาส์พิเศษนี้ขึ้นมา

“เท้าของน้องถูกวัด และแกะแบบเพื่อทำต้นแบบแรก และได้มีการออกความเห็นในการใช้งานจริงๆ เช่นกัน ตอนแรกรู้สึกได้ว่าน้องดีใจที่มีคนมองเห็นคุณค่า และสิ่งที่น้องทีนร่วมงานกันจะช่วยเหลือคนได้อีกหลายล้านคน”

“วันที่น้องได้ลองทดสอบต้นแบบแรกของเรา น้องหันกลับมาจากคอมแล้วพูดว่า ผมเริ่มสนุกแล้วครับ ซึ่งเราดีใจมากๆ นะเหมือนโปรเจกต์นี้มันเติมเต็มส่วนที่เราขาด ปกติเราทำงานผลิตสินค้าเพื่อแข่งกับคนอื่น แต่โปรเจกต์นี้มันไม่ใช่การแข่งขัน ผมอยากให้แบรนด์อื่นๆ มาช่วยกันทำด้วยซ้ำ ผมอยากให้เป็น Unity แห่ง esport”

“สิ่งที่เรากำลังทำเป็นเมาส์สำหรับเท้าโดยเฉพาะ และตอนนี้ต้นแบบเราทำมาเพื่อใช้งานควบคู่กับรุ่น Garuda plus ที่เป็นไร้สาย และชาร์จแบตสลับได้ตลอด ยิ่งทำให้ไม่ต้องมีสายมาถ่วงระหว่างใช้เมาส์เท้าตัวนี้ ตัวต้นแบบจะเป็นแม่เหล็กเกาะไปบนเมาส์มืออีกที การใช้งานก็จะเหมือนสวมรองเท้าเลยครับ พร้อมใช้งานไร้สายได้ตลอดเวลา”

ไม่ได้ทำเพื่อแข่งขัน แต่ทำเพื่อผู้อื่น

เราอาจจะยังไม่ได้เห็นหน้าตาของเมาส์เท้าจาก LOGA แต่การสร้างสรรค์เมาสืเพื่อผู้พิการในครั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ได้เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่ทำให้วงการเกมรวมถึงอีสปอร์ตสามารถเล็งเห็น และมองโอกาสถึงในการผลักดันผู้เล่นเหล่านี้ได้

ในส่วนของ LOGA ที่เป็นเจ้าของโปรเจกต์นี้ พวกเขาไม่ได้มีเป้าหมายอยู่ที่การขายทำกำไร หากแต่สิ่งที่อยากเห็นคือการช่วยเหลือพัฒนาที่จะทำให้ผู้คนเหล่านี้ได้สิ่งที่ตอบโจทย์ความต้องการได้

“เราคาดหวังว่าจะมีคนเห็นและช่วยนำไปต่อยอดสำหรับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือในด้านอื่นๆ สำหรับการเล่นเกม หรือแข่งขัน Esport หรือมาร่วมพัฒนากับเราให้เป็นจริง เพราะต้องบอกกันตามตรงเลยว่า ถ้าจะนำไปผลิตจำนวนมาก ยังต้องพัฒนาอีกเยอะ”

“แต่จะเปิดตัวเมื่อไหร่ ตรงนี้ผมยังไม่แน่ใจ คาดว่าน่า จะช่วงกลางๆ ปี แต่คิดว่าออกมาเป็นตัวทดลองมากๆ อยู่ดี”

“เราอยากทำขายนะ แต่อาจจะต้องให้มันสมบูรณ์จริงๆ ยังมีสิ่งที่ต้องปรับอีกมาก อยากให้เป็นเมาส์เท้า 100% เลย ไม่ใช่แค่ระบบรวมร่างกันเฉยๆ“

การผนึกกำลังของ LOGA กับ Dots Design Studio อาจยังเป็นเพียงการเริ่มต้น แต่บันไดก้าวแรกที่พวกเขาสร้างขึ้นก็ตรงตามเป้าหมายไปแล้ว เพราะจะทำให้ผู้เล่นเหล่านี้ได้รู้ว่า ยังมีคนเห็นถึงความสามารถ และพร้อมสนับสนุนพวกเขาอยู่เสมอ

“ผมอยากให้ผู้พิการด้านต่างๆ ได้เข้าใจว่า มีคนที่ทำเพื่อพวกเค้าอยู่จริงๆ เขาไม่ได้โดนทอดทิ้งจากสังคม เราจะทำเต็มที่เท่าที่เราทำได้ เราอยากสร้างโอกาสให้ผู้พิการมีอาชีพที่มากขึ้น ถ้าไม่ได้นำไปเล่นเกม ก็สามารถใช้ทำงานอื่นๆ ในคอมพิวเตอร์ได้สะดวกขึ้นเช่นกัน”

“และผมอยากจุดประกายให้องกรณ์อื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมด้วยกันในด้านนี้ สุดท้ายผมก็หวังว่า จะมีการแข่ง Esport สำหรับผู้พิการมากขึ้นในอนาคต” อรรถวุฒิ ปิดท้าย

ขอบคุณ... https://shorturl.asia/uheX5

ที่มา: oneesports.co.th/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 29 พ.ค. 66
วันที่โพสต์: 29/05/2566 เวลา 10:03:37 ดูภาพสไลด์โชว์ LOGA : ที่มาของการผลิตเมาส์เพื่อผู้พิการที่รักการเล่นเกม