รพ.ศิริราช ผนึกกำลังภาครัฐ-เอกชน หนุน "โรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร" เพื่อผู้พิการด้อยโอกาส

รพ.ศิริราช ผนึกกำลังภาครัฐ-เอกชน หนุน "โรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร" เพื่อผู้พิการด้อยโอกาส

รพ.ศิริราช จับมือหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน เปิดตัวแคมเปญ “กายอุปกรณ์...เชื่อมใจให้ไปต่อ” ชวนบริจาคสมทบทุนสนับสนุนการสร้างนักกายอุปกรณ์ ช่วยผู้พิการด้อยโอกาสให้ได้รับอุปกรณ์และการรักษาที่ดี ภายใต้โครงการ “ศิริราชรวมพลังภาครัฐ-เอกชน เพื่อโรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร"

ทราบหรือไม่ว่า ในปัจจุบันขณะที่ประเทศไทยมีจำนวนผู้พิการทางการเคลื่อนไหวกว่า 1 ล้านคน แต่เรากลับมี "นักกายอุปกรณ์" ซึ่งเป็นผู้ให้บริการงานสาธารณสุขที่รองรับคนพิการทางการเคลื่อนไหวทั้งประเทศเพียง 200 กว่าคนเท่านั้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การเข้าถึงการรักษาของคนพิการยังน้อยมาก

อีกทั้ง ค่าใช้จ่ายในการผลิตนักศึกษากายอุปกรณ์สูงมากกว่าค่าเทอมหลายเท่าตัว เช่นที่ "โรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร" ซึ่งต้องรับภาระค่าใช้จ่ายส่วนเกินมาโดยตลอดทำให้ประสบภาวะขาดทุนจากการดำเนินงาน 50 ล้านบาทต่อปี และ "โรงพยาบาลศิริราช" ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้

เมื่อเร็วๆ นี้ โรงพยาบาลศิริราช จึงได้มีการจัดงานแถลงข่าว โครงการ “ศิริราชรวมพลังภาครัฐ-เอกชน เพื่อโรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร” ในการระดมทุนเพื่อโรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร โดยมี ศ. นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ศ. คลินิก นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช รศ. พญ.กุลภา ศรีสวัสดิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร พร้อมด้วยตัวแทนผู้บริหารภาคเอกชน ได้แก่ นายอาณัติ เมฆไพบูลย์วัฒนา รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และนางกัลยา สวัสดิชัย หัวหน้าฝ่ายขายด้านการศึกษา บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด นางพักร์วิมล สตะเวทิน รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายอีคอมเมิร์ซ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด ในเครือเซ็นทรัล รีเทล นางกนกพร รอดรุ่งเรือง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารชื่อเสียงองค์กรและกิจการเพื่อสังคม บริษัท ปตท. จํากัด (มหาชน) และ นาย เชาวลิต เอกบุตร กรรมการบริหารมูลนิธิเอสซีจี เข้าร่วม

ศ. นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่า โรงเรียนกายอุปกรณ์ สิรินธร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อตั้งเพื่อผลิตนักกายอุปกรณ์ที่มีคุณธรรมและคุณภาพ สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อพัฒนาผู้พิการและให้บริการด้านกายอุปกรณ์ด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ตามมาตรฐานสากล เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ที่มีความบกพร่องทางการเคลื่อนไหว ผู้สูงอายุ บุคคลทั่วไป รวมถึงนักกีฬา จัดการเรียนการสอนด้านกายอุปกรณ์ ในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอกระดับนานาชาติ ซึ่งถือเป็นหลักสูตรแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นหลักสูตรเดียวในประเทศไทย ดำเนินการเปิดหลักสูตรตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ผลิตบัณฑิตในประเทศและต่างประเทศไปแล้วเกือบ 400 คน

ศ. นพ. อภิชาติ กล่าวอีกว่า อีกหนึ่งพันธกิจของโรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร คือการมุ่งเน้นงานวิจัยร่วมกับหลายภาคส่วนเพื่อพัฒนาวัสดุท้องถิ่นและเทคโนโลยีภายในประเทศ (local Thailand materials and technologies) แต่อุปกรณ์และเครื่องมือสนับสนุนงานวิจัยยังขาดแคลน

ขณะเดียวกันในประเทศไทยมีจำนวน "นักกายอุปกรณ์" ผู้ให้บริการงานสาธารณสุขที่รองรับคนพิการทางการเคลื่อนไหวทั้งประเทศเพียง 200 กว่าคน เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การเข้าถึงการรักษาของคนพิการยังน้อยมาก อีกทั้ง ค่าใช้จ่ายในการผลิตนักศึกษากายอุปกรณ์สูงมากกว่าค่าเทอมหลายเท่าตัว ทางโรงเรียนฯ ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายส่วนเกินมาโดยตลอดทำให้ประสบภาวะขาดทุนจากการดำเนินงาน 50 ล้านบาทต่อปี โดย โรงพยาบาลศิริราชต้องแบกรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ดังนั้นการระดมทุนเพื่อสนับสนุนพันธกิจและการดำเนินงานของโรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธรจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

ด้าน ศ.คลินิก นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช กล่าวเสริมว่า การระดมทุนเพื่อโรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร นอกจากจะเป็นการสนับสนุนด้านการศึกษาเพื่อผลิตบุคลากรด้านกายอุปกรณ์แล้ว ยังมีส่วนช่วยในการจัดหาเครื่องมือวิจัยที่มีเทคโนโลยีทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูงและเพิ่มคุณภาพทางการรักษา

นอกจากนี้ เพื่อแก้ปัญหาคนพิการกว่า 40% เข้าไม่ถึงบริการด้านกายอุปกรณ์จากผู้มีความจำเป็นทั้งหมด 500,000 คน โรงเรียนฯ จำเป็นต้องพัฒนาระบบ

บริการกายอุปกรณ์ เพื่อการเข้าถึงสำหรับผู้ป่วยโดยการผสมผสานเทคโนโลยีและเครือข่ายการสื่อสารเข้ามาช่วยเสริม

"ไม่เพียงเท่านี้ โรงเรียนฯ ยังมีแผนงานปรับปรุงพื้นที่อาคารโรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธรตามหลักการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (Universal design for ALL) ที่เหมาะสมกับผู้ป่วยและพิการที่มีปัญหาในการเคลื่อนไหว ให้เป็นตัวอย่างของอารยสถาปัตย์ในหน่วยงานสาธารณสุข พร้อมสร้างความตระหนักให้สังคมว่า ‘คนพิการไม่ได้ต้องการความสงสารแต่ต้องการโอกาสในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม’ จึงมีความจำเป็นที่ทุกคนในสังคมต้องให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือ ไม่ใช่เป็นภาระและหน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ต้องอาศัยพลังความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน จึงอยากเชิญชวนให้ทุกท่านมาร่วมกันบริจาคเพื่อผลักดันให้คนเหล่านี้มีที่ยืนในสังคมร่วมกับพวกเรา"

รศ. พญ.กุลภา ศรีสวัสดิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร กล่าวว่า คลินิกหน่วยกายอุปกรณ์ให้บริการรักษาผู้ป่วยทุกเพศทุกวัยด้วยกายอุปกรณ์ที่ผลิตขึ้นเอง อาทิ แขนเทียม ขาเทียม อุปกรณ์ประคองขา แขน และลำตัว รองเท้าดัดแก้ไขความพิการ และแผ่นรองฝ่าเท้า หากแต่ที่ผ่านมา ผู้ป่วยกลุ่มนี้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ยากไร้และด้อยโอกาสจะได้รับกายอุปกรณ์ตามสิทธิขั้นพื้นฐานเท่านั้น เนื่องจากอุปกรณ์ส่วนใหญ่มีค่าใช้จ่ายส่วนเกินสิทธิ์พื้นฐาน เนื่องจากต้นทุนการผลิต วัสดุ

และส่วนประกอบหลายอย่างยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

"ด้วยเหตุนี้ทางโรงเรียนกายอุปกรณ์ฯ จึงจัดตั้งกองทุน “กายอุปกรณ์เพื่อผู้พิการ” ในศิริราชมูลนิธิ ตั้งแต่ปี 2559 เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยผู้พิการที่ยากไร้ให้ได้รับอุปกรณ์และการรักษาที่มีคุณภาพ โดยแต่ละปีเราได้สนับสนุนค่ารักษาพยาบาลกว่าหลายล้านบาท ช่วยให้ผู้ป่วยมากกว่า 1,000 ราย ได้เข้าถึงการรักษา

และในปีนี้เราขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคช่วยผู้พิการที่ยากไร้และด้อยโอกาสในแคมเปญ “กายอุปกรณ์...เชื่อมใจให้ไปต่อ” โดยคาดหวังว่าทุกการบริจาคที่สนับสนุนโรงเรียนกายอุปกรณ์ฯ จะช่วยเหลือผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างยั่งยืน เรามีตัวแทนผู้พิการแขนขาที่ได้รับการรักษาจากคลินิกหน่วยการอุปกรณ์ 3 ราย มาแบ่งปันเรื่องราวของตนเองเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนในสังคมและผู้พิการคนอื่นๆ ผ่านภาพยนตร์สั้น ซึ่งจะเผยแพร่ในช่องทางออนไลน์พร้อมกัน 1 ธันวาคม นี้ จึงอยากเชิญชวนให้ทุกท่านร่วมสนับสนุนแคมเปญนี้เพื่อส่งต่อการเป็นผู้ให้”

นอกจากนี้โรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร ยังได้ช่วยเหลือผู้ป่วยผู้พิการที่ยากไร้ โดยได้รับความร่วมมือและการสนับสนุน ผ่านกิจกรรมขององค์กรเอกชนต่างๆ ด้วยดีเสมอมา

เชาวลิต เอกบุตร กรรมการบริหารมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า เจตนารมณ์มุ่งมั่นของมูลนิธิคือ “เชื่อมั่นในคุณค่าของคน” เราจึงมีกิจกรรมโครงการต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับสถานการณ์และสภาพความจำเป็นของสังคม โดยในปีนี้มูลนิธิเอสซีจี ร่วมกับศิริราช เปิดโครงการ“เป๋าบุญ หนุนขา” สมทบกองทุนกายอุปกรณ์เพื่อผู้พิการ โดยผู้บริจาคจะได้รับกระเป๋าเอนกประสงค์ที่ผลิตจากถุงปูนซีเมนต์ที่ยังไม่ผ่านการใช้งานเป็นของที่ระลึก ซึ่งกระเป๋าดังกล่าวตัดเย็บโดยกลุ่มคนไร้ที่พึ่งที่ได้รับการส่งเสริมอาชีพและสร้างรายจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทุกการบริจาคจึงเป็นการให้บุญต่อบุญ

กนกพร รอดรุ่งเรือง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารชื่อเสียงองค์กรและกิจการเพื่อสังคม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติ หนึ่งในพันธกิจคือพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตของคนไทยให้เติบโตไปด้วยกัน ปตท.จึงสนับสนุนงบประมาณเพื่อปรับปรุงพื้นที่อาคารโรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธรตามหลักการออกแบบเพื่อคนทั้งมวลเพื่อให้เหมาะสมกับผู้ป่วยพร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้พิการตามเจตนารมย์ของโรงเรียนฯ

พักร์วิมล สตะเวทิน รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายอีคอมเมิร์ซ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด ในเครือเซ็นทรัล รีเทล กล่าวว่า ท็อปส์มีเจตนารมย์ที่จะดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง อยู่เคียงข้างสังคมไทยมาโดยตลอด มุ่งสร้างความเท่าเทียมและสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ของคนไทย จึงจัดทำโครงการต่าง ๆ ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2560 โดยในปีนี้ ท็อปส์จะนำรายได้ส่วนหนึ่งจากการจำหน่ายกระเช้าของขวัญ ท็อปส์ ร่วมสมทบทุน เพื่อการผลิตแขนขาเทียมกับโรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร ภายใต้แนวคิด "Every Day Discovery" พร้อมสมทบทุนผ่านกล่องบริจาคและสแกนคิวอาร์โค้ดได้ที่ท็อปส์ ท็อปส์ ฟู้ด ฮอลล์ ท็อปส์ ไฟน์ ฟู้ดส์ และแฟมิลี่มาร์ท ทุกสาขา โดยเริ่มแคมเปญตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 -31 มกราคม 2566 จึงอยากเชิญชวนลูกค้าของท็อปส์ทุกคนร่วมกันส่งต่อความสุขไปด้วยกัน

ไม่เพียงเท่านี้ โรงเรียนกายอุปกรณ์ฯ ยังร่วมกับบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด สร้างความตระหนักรู้และเห็นความสำคัญของกายอุปกรณ์ เครื่องมือในการสร้างโอกาสให้กับผู้พิการและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ผ่านแคมเปญสื่อออนไลน์ #อุปกรณ์ต่อฝันที่ขาดหาย “Start the Dream Again”

นอกจากองค์กรและหน่วยงานที่กล่าวมา ประชาชนผู้มีจิตศรัทธายังสามารถเติมเต็มโอกาสและคุณภาพชีวิตที่ดีแก่พวกเขา มาร่วมเป็น“ผู้ให้” เพราะทุกการให้จะเติมเต็มชีวิตใหม่ให้คนอีกนับล้าน

1. บริจาคเงินเข้าศิริราชมูลนิธิ ธนาคารกรุงเทพ ชื่อบัญชี ศิริราชมูลนิธิ เลขที่บัญชี 901-7-07188 โดยระบุในบันทึก "กองทุนกายอุปกรณ์เพื่อผู้พิการ" หรือ "กองทุน D003366"

2. บริจาคผ่าน Application ธนาคารที่ท่านมีบัญชีเงินฝาก โดยสแกนผ่าน QR CODE (กรุณาระบุ“กองทุนกายอุปกรณ์เพื่อผู้พิการ” หรือ “กองทุน D003366” )

3. สำหรับท่านที่ต้องการใบเสร็จรับเงิน รวมถึงการลดหย่อนภาษี 2 เท่า (e-Donation ถึง 31 ธันวาคมนี้เท่านั้น) ที่ออกโดยศิริราชมูลนิธิ กรุณากรอกข้อมูลผ่านช่องทางไลน์ @sirirajfoundation หรือส่งอีเมลมาที่ donation@sirirajfoundation.org กรุณาแจ้งข้อมูลชื่อ นามสกุล ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ และหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อจัดส่งเอกสารการบริจาคแก่ท่านต่อไป

ขอบคุณ... https://www.bangkokbiznews.com/corporate-moves/health/1040329

ที่มา: bangkokbiznews.com/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 29 พ.ย.65
วันที่โพสต์: 29/11/2565 เวลา 11:08:13 ดูภาพสไลด์โชว์ รพ.ศิริราช ผนึกกำลังภาครัฐ-เอกชน หนุน "โรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร" เพื่อผู้พิการด้อยโอกาส