กระดูกหักเสี่ยงอะไรบ้าง รักษาไม่ถูกอาจพิการ เช็กวิธีป้องกัน-ดูแลรักษา

กระดูกหักเสี่ยงอะไรบ้าง รักษาไม่ถูกอาจพิการ เช็กวิธีป้องกัน-ดูแลรักษา

กระดูกหักอันตรายกว่าที่คิด หากรักษาไม่ถูกต้องอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนถึงขั้นพิการถาวร เช็กวิธีป้องกันและการดูแลรักษาร่างกาย ที่นี่!

กระดูกหักแม้ไม่ร้ายแรงถึงชีวิต แต่การรักษาที่ไม่เหมาะสมอาจนำมาสู่ความพิการถาวรได้ ซึ่งสาเหตุการกระดูกหักส่วนมาก มักมาจากอุบัติเหตุทางถนน รวมไปถึงการทำกิจกรรมที่ใช้ร่างกายด้วย อย่างการเล่นกีฬา หรือการท่องเที่ยวสังสรรค์แบบคึกคะนอง โดยไม่ได้ระมัดระวังตัวมากเท่าที่ควร ในช่วงเทศกาลแห่งความสนุกอย่างวันสงกรานต์นี้ จึงควรระมัดระวังตัวเองไม่ให้กระดูกหักด้วย

ภาวะแทรกซ้อนกระดูกหัก

กระดูกหัก (Bone Fracture) เป็นปัญหาสุขภาพที่ควรได้รับการวินิจฉัยให้ถูกต้องและได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดตามมาเหล่านี้ได้

กระดูกผิดรูป

การเคลื่อนไหวของอวัยวะนั้นลดลง

พิการ

ปัจจัยเสี่ยงกระดูกหักตามช่วงวัย

ปัญหากระดูกหักเกิดได้ทุกช่วงวัย สามารถแบ่งออกตามปัจจัยเสี่ยงสูง คือ

1.) กลุ่มทั่วไปที่อายุน้อย กระดูกยังมีความแข็งแรง สาเหตุที่พบบ่อยมักมาจากการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน หรือตกที่สูง ซึ่งเป็นการบาดเจ็บที่เกิดจากความรุนแรง

2.) กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีความแข็งแรงของกระดูกที่น้อย และมีภาวะกระดูกพรุนร่วมด้วย ส่งผลให้กระดูกแตกหักได้ง่ายจากการใช้ชีวิตประจำวันปกติ เช่น เดินแล้วลื่นล้ม อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ง่าย

สัญญาณเตือนกระดูกหัก

หลังประสบอุบัติเหตุที่มีแนวโน้มกระดูกหักสูง หากมีอาการต่อไปนี้ควรพบแพทย์ ได้แก่

แขนหรือขาผิดรูป

ไม่สามารถขยับ หรือเคลื่อนไหว อวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บได้

มีเสียงดังกรอบแกรบบริเวณกระดูก (crepitance)

2 แนวทางรักษากระดูกหัก

แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาการรักษากระดูกหักว่าควรรักษาอย่างไร แบ่งออกได้เป็น 2 วิธี ดังนี้

1.) การรักษาแบบไม่ผ่าตัด

การรักษาแนวนี้ ส่วนใหญ่คือ การใช้วิธีเข้าเฝือก อวัยวะนั้นๆ มักใช้กับกระดูกแขนหรือขาท่อนล่าง รวมทั้งใช้เพื่อจัดกระดูกผิดรูปในเด็กได้ด้วย หรือ การดึงถ่วงน้ำหนัก จะใช้กับกระดูกต้นขาหรือในกรณีที่มีการดึงรั้งของกล้ามเนื้อ

2.) การรักษาแบบผ่าตัด

การรักษานี้ จะใช้วิธียึดตรึงกระดูกแบบแผลเล็ก ซึ่งแม้จะเคลื่อนไหวได้ทันทีหลังการผ่าตัด แต่ต้องงดเว้นใช้งานหนักประมาณ 1-2 เดือน รวมถึงอาจต้องใส่เฝือกต่ออีกระยะ ประกอบด้วยการตรึงกระดูกด้วยอุปกรณ์ 3 ประเภทแตกต่างกันไปตามความเหมาะสม ได้แก่

เหล็กแกน นิยมใช้ในการรักษากระดูกหักบริเวณส่วนกลางของกระดูก เช่น ต้นแขน ต้นขา และขาท่อนล่าง

เหล็กและแผ่นเป็นรูและใส่สกรูยึด มักใช้หลังการจัดกระดูกเพื่อตรึงกระดูกให้นิ่งอยู่กับที่

โครงเหล็กยึดกระดูกภายนอก จะถูกเจาะเข้าไปในกระดูกห่างจากบริเวณกระดูกหักทั้ง 2 ด้านของกระดูกหัก จากนั้นดึงกระดูกให้เข้าที่และประกอบโครงจากภายนอกเพื่อยึดกระดูกให้อยู่กับที่ อุปกรณ์นี้ใช้ในกรณีที่มีแผลปิดเท่านั้น

ระมัดระวังอุบัติเหตุ-แคลเซียม ตัวการสำคัญป้องกันกระดูก

การระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุ และการออกกำลังอย่างสมดุล ถือเป็นการแก้ไขสาเหตุสำคัญที่ทำให้กระดูกหักได้ดีที่สุด เพราะเป็นการแก้ไขปัญหาถึงต้นตอ อย่างไรก็ตามสำหรับคนอายุ 40-50 ปีขึ้นไป การสะสมแคลเซียมภายในร่างกายจะลดลงโดยธรรมชาติ ทำให้ความแข็งแรงของกระดูกเริ่มลดลงตามมาด้วย ดังนั้นคนในกลุ่มนี้จึงควรเพิ่มปริมาณแคลเซียมทางร่างกายให้เหมาะสม ด้วยการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะนม ผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำ กระดูกปลาเล็กๆ ซึ่งถือเป็นกลุ่มอาหารที่มีแคลเซียมสูง หรือสามารถเลือกเสริมแคลเซียมและวิตามินดี ตัวช่วยเพิ่มการดูดซึมแคลเซียมให้เข้าสู่ร่างกายได้ดีขึ้นเพิ่มเติมได้

ขอบคุณ... https://www.pptvhd36.com/health/care/3148

ที่มา: pptvhd36.com/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 20 เม.ย.66
วันที่โพสต์: 20/04/2566 เวลา 10:18:46 ดูภาพสไลด์โชว์ กระดูกหักเสี่ยงอะไรบ้าง รักษาไม่ถูกอาจพิการ เช็กวิธีป้องกัน-ดูแลรักษา