โรคทางจิตเวช ไม่ใช่ โรคจิต

ผู้ป่วย นอนรักษาตัวภายในโรงพยาบาล

คอลัมน์ รู้ลึกกับจุฬา : ปัจจุบัน ปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกับโรคทางจิตใจปรากฏขึ้นบ่อยครั้งในหน้าข่าว มีหลายกรณีที่เกิดขึ้นกับคนที่มีชื่อเสียง บางคนอยู่ในวงการบันเทิง เช่น ข่าวการฆ่าตัวตายของเชสเตอร์ เบนนิงตัน นักร้องนำวงลิงคินพาร์ก ที่ฆ่าตัวตายเพราะโรคซึมเศร้า ส่วนของไทย กรณีล่าสุดที่เกิดขึ้น คือข่าวของคุณทราย เจริญปุระ นักแสดงสาวที่มีคุณแม่ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์และโรคซึมเศร้า

“ดราม่า” หรือเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์เกิดขึ้น หลังจากคุณทรายเปิดเผยว่า ขณะนี้พาคุณแม่ไปอยู่ที่โรงพยาบาลศรีธัญญาเพื่อพักรักษาตัว เนื่องจากมีอาการหนักขึ้น นำไปสู่เสียงโจมตีจากชาวโลกออนไลน์ว่าเป็นการกระทำอกตัญญูที่พาแม่ไปอยู่โรงพยาบาลบ้า แม้ว่าตัวคุณทรายจะออกมาชี้แจงทางโทรทัศน์ถึงความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคทางจิตแล้วก็ตาม

ผศ.นพ.สุขเจริญ ตั้งวงษ์ไชย หัวหน้าภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผศ.นพ.สุขเจริญ ตั้งวงษ์ไชย หัวหน้าภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ทุกวันนี้ เจตคติหรือมุมมองของคนในสังคมไทยที่มีต่อโรคทางจิตเวชถือว่าดีขึ้นมาก ถ้าเทียบกับเมื่อหลายสิบปีก่อน เนื่องจากปัจจุบันคนมีการศึกษาสูงขึ้น และมีสื่อออนไลน์เป็นช่องทางใหม่ที่ผู้เชี่ยวชาญสามารถให้ข้อมูลที่ถูกต้องตามหลักวิชาการได้โดยตรง แต่ก็ยังมีความเข้าใจผิดๆ อยู่

คุณหมอสุขเจริญ ระบุว่า โรคทางจิตเวชมีขนาดของโรคกว้าง สามารถแยกย่อยได้หลากหลาย ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่มีอาการรุนแรง ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ และไม่รู้ว่าสิ่งที่ตนเป็นคือความผิดปกติ ไม่ต้องการมาหาหมอ เรียกว่าคนไข้โรคจิต และสังคมมักเข้าใจผิดว่าคนไข้จิตเวช จะต้องมีแต่คนไข้กลุ่มนี้เท่านั้น ซึ่งไม่เป็นความจริง

“โรคทางจิตเวช ไม่ใช่โรคจิต คนส่วนใหญ่มักคิดว่าโรคจิตเป็นอัตราส่วนใหญ่ของโรคทางจิตเวช ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ๆ ทั้ง ๆ ที่ความจริงโรคจิต เป็นแค่หนึ่งในอาการโรคทางจิตเวช มีคนไข้กลุ่มอื่น ๆ ที่สามารถช่วยเหลือดูแลตัวเองได้ และรับรู้ว่าตนเองป่วย มาหาหมอเอง”

สื่อเองก็มีส่วนช่วยทำให้โรคทางจิตถูกเข้าใจผิดเช่นกัน ซึ่งคุณหมอสุขเจริญกล่าวว่าสื่อทั้งไทยและต่างประเทศมักมองว่าโรคนี้เป็นโรคที่มีสีสัน จึงนำเสนอแต่งเติมออกไปแต่แง่ลบให้เห็นภาพว่าผู้ป่วยทางจิต ต้องมีแต่ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง อาการหนัก เดือดร้อนคนอื่น แม้กระทั่งตัวจิตแพทย์ ซึ่งเป็นแพทย์รักษาผู้ป่วยเหล่านี้ หลายคนก็มีภาพแง่ลบไม่ต่างกัน

ขณะเดียวกัน ความเข้าใจผิดยังลามไปถึงบริการการรักษาโรคทางจิต คนไทยจำนวนมากยังคงคิดว่าโรงพยาบาลรักษาโรคเฉพาะจิต เป็นโรงพยาบาลบ้า รวมถึงการรักษาโรคทางจิตมีสภาพน่ากลัวเหมือนในภาพยนตร์หรือละครที่สื่อออกมาแบบบิดเบือน

ผศ.นพ.สุขเจริญอธิบายว่า ความเข้าใจผิดในส่วนของบริการและการรักษาแบบนี้มีที่มาที่ไป เพราะทฤษฎีทางจิตเวชที่พัฒนามาเป็นปัจจุบัน ถูกค้นพบโดย ซิกมันด์ ฟรอยด์ จิตแพทย์ชาวออสเตรีย ซึ่งยุคนั้นเชื่อว่าโรค หรือการป่วยทางจิตเกิดจากความอ่อนแอทางใจ และปัญหาการเลี้ยงดู

“ยุคนั้นเราเชื่อว่าความอ่อนแอทางใจทำให้เกิดโรคทางจิต แต่ต่อมามีการพัฒนามากขึ้น เราไม่เชื่อแบบนั้นแล้ว แต่เชื่อว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เกิด เช่น ปัจจัยทางชีวภาพ จิตสังคม การถ่ายทอดทางพันธุกรรม ทุกวันนี้เราสามารถอธิบายได้แล้วว่าโรคทุกโรคทางจิตเวทเกิดจากความผิดปกติของสมองอย่างไร” คุณหมอกล่าว

แต่ในยุคฟรอยด์ ซึ่งเป็นยุคเริ่มต้น ไม่ได้เหมือนทุกวันนี้ และเป็นเหตุให้การรักษาโรคทางจิตในยุคแรกๆ ไม่ใช่กระบวนการทางการแพทย์ที่ถูกต้อง เช่น การกักขัง การจับคนไข้หมุนใส่วงล้อ หรือการช็อตไฟฟ้าที่รุนแรง ซึ่งปัจจุบันค้นพบแล้วว่าการรักษาแบบนี้เป็นการรักษาที่ไม่ได้ผล

ปัจจุบัน การรักษาโรคทางจิตมียาโดยเฉพาะ มีการพัฒนาตัวยาเรื่อยๆ มาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 50 ส่วนการรักษาด้วยไฟฟ้า จะเป็นเพียงการช็อตไฟฟ้าอ่อนๆ ปริมาณน้อยๆ ไปยังสมองโดยตรง สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหนัก รุนแรง พฤติกรรมก้าวร้าว และเป็นกรณีสุดท้ายที่รักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผลเท่านั้น

คุณหมอสุขเจริญยังระบุอีกว่า ความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับโรคทางจิตเป็นตัวสร้าง “ตราบาป”ให้แก่ผู้ป่วย ทำให้ตัวผู้ป่วยถูกมองแง่ลบ ถูกมองว่าป่วยเป็นโรคนี้เพราะเกิดจากการกระทำของตัวเอง และไม่ต้องการมาพบแพทย์ ส่วนรายที่ตัดสินใจมาพบแพทย์ จะเกิดความกังวล กลัว เพราะไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร

ข้อแนะนำจากคุณหมอสุขเจริญก็คือ ไม่ต่างจากการหาหมอทั่วไป แต่ต้องอธิบายประวัติที่ถูกต้องแม่นยำมากที่สุด เพื่อให้การรักษาที่ถูกต้อง ที่เหลือ เป็นหน้าที่ของแพทย์ในการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และวินิจฉัยโรค โรคทางจิตเวชสามารถรักษาให้หายขาดได้

สำหรับคนไข้ที่มีอาการหนักและไม่รู้ว่าตัวเองผิดปกติ จะต้องมีคนพามาด้วย เช่น ญาติพี่น้อง คนในครอบครัว ซึ่งรับมือยากกว่า และอาจต้องเตรียมใจว่าสามารถเป็นโรคเรื้อรัง รักษาหายช้า มีโอกาสกลับมากำเริบได้หากอยู่ในสภาพแวดล้อมปัญหาเดิมๆ ส่วนโรคบางโรค เช่น โรคสมองเสื่อม ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการทางจิต รักษาไม่หาย ญาติต้องเตรียมใจหาคนมาดูแลผู้ป่วยด้วย

ขอบคุณ... http://www.komchadluek.net/news/scoop/299106 (ขนาดไฟล์: 167)

ที่มา: คมชัดลึกออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 16 ต.ค.60
วันที่โพสต์: 18/10/2560 เวลา 11:20:30 ดูภาพสไลด์โชว์ โรคทางจิตเวช ไม่ใช่ โรคจิต