“กรุงเทพฯ” เมืองน่าอยู่ได้ ผู้พิการต้องเท่าเทียม

“กรุงเทพฯ” เมืองน่าอยู่ได้ ผู้พิการต้องเท่าเทียม

นโยบายกรุงเทพฯน่าอยู่สำหรับทุกคน เป็นเรื่องที่กว้างมาก จำเป็นต้องผลักดันหลายเรื่องไปพร้อมกัน และเรื่องหนึ่งที่ กทม.ให้ความสำคัญคือ “คนพิการ” จากการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนงานด้านคนพิการทั้ง 5 ด้าน พบว่า เรื่องคนพิการมีความละเอียดเกี่ยวเนื่องกับทุกสำนักใน กทม.ซึ่งจำเป็นต้องร่วมมือไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้กรุงเทพฯ น่าอยู่สำหรับทุกคนตามนโยบายจริงๆ ไม่ใช่เพียงคำพูดสวยหรู

นายภาณุมาศ สุขอัมพร ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า จากการสำรวจเมืองที่พัฒนาแล้วหลายเมืองมักจะให้ความสำคัญกับการอำนวยความสะดวกแก่คนพิการ ชี้ให้เห็นว่าเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนอย่างแท้จริง ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวอาจดูเล็กน้อย แต่เป็นส่วนสำคัญหนึ่งในการชี้วัดความเจริญก้าวหน้าของเมืองได้เป็นอย่างดี เช่น เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ให้ความสำคัญกับระบบขนส่งสาธารณะสำหรับผู้พิการ และการออกแบบพื้นถนนให้มีสัมผัสแตกต่างจากคนปกติ เพื่อเตือนผู้พิการให้ระวังอันตราย และสามารถบอกความหมายต่างๆ แก่ผู้พิการได้ โดยเฉพาะผู้พิการทางสายตา

จากการศึกษาตัวอย่างจากประเทศญี่ปุ่น พบว่า มีการออกแบบเส้นทางสำหรับผู้ใช้วีลแชร์ สามารถใช้งานร่วมกับรถยนต์ จักรยาน และทางเท้าได้อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ หลายเมืองให้ความสำคัญกับสิทธิพิเศษ เช่น ไม่ต้องต่อคิวในการทำธุรกรรมต่างๆ บริการข้อมูล รวมถึงกำหนดให้ที่พักอาศัยหรือโรงแรมมีการจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับผู้พิการ เช่น ลาสเวกัส ออร์แลนโด นิวยอร์ก ในประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึง ในเมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน จัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ใช้วีลแชร์ตลอดเครือข่ายรถไฟฟ้าใต้ดิน และประเทศสิงคโปร์ มีการกำหนดให้สร้างบันไดเลื่อน ลิฟต์ และสร้างทางเดินเท้า ป้ายรถโดยสาร รองรับคนพิการและผู้สูงอายุสามารถเข้าไปใช้ร่วมกับคนปกติได้

“กรุงเทพฯ” เมืองน่าอยู่ได้ ผู้พิการต้องเท่าเทียม

“กรุงเทพมหานครพยายามขับเคลื่อนงานด้านคนพิการ มุ่งเป้าไปที่การศึกษา โดยการปรับเกณฑ์ผู้พิการให้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาได้ง่ายขึ้น ผ่านการเรียนร่วมกับคนปกติ ทั้งนี้ ยอมรับว่าเรื่องโครงสร้างทางกายภาพยังเป็นอุปสรรคสำหรับผู้พิการ เนื่องจากยังไม่มีการเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะทั่วถึงกันมากนัก ดังนั้น แม้กรุงเทพมหานครจะส่งเสริมการศึกษาตามกฎหมาย ส่งเสริมอาชีพเพื่อสร้างรายได้ หรือสวัสดิการด้านต่างๆ แต่หากการเดินทางไม่เอื้ออำนวย หรือต้องมีค่าใช้จ่ายมาก เสี่ยงอันตรายสูง สิ่งต่างๆ เหล่านั้นก็ไร้ความหมาย ไม่มีใครเดินทางมาเข้าเรียน หรือเข้าทำงานได้ไม่นานก็ต้องลาออกไป เนื่องจากไม่มีกำลังพอจะใช้ชีวิตตามปกติเหมือนคนทั่วไปได้ โดยเฉพาะผู้นั่งวีลแชร์ หากไร้เส้นทางสัญจรที่เหมาะสมปลอดภัย การเดินทางจะลำบาก ต้องอาศัยผู้ช่วยและค่าใช้จ่ายมาก”

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กทม.พยายามเพิ่มจุดรับออกบัตรคนพิการแบบจุดเดียวจบ (One Stop Service) ให้ครบทุกโรงพยาบาล กทม.ทั้ง 11 แห่ง เพื่อสามารถออกใบรับรองความพิการ และทำเรื่องขอออกบัตรได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายการเข้าถึงสิทธิและอำนวยความสะดวกแก่คนพิการในกรุงเทพฯ โดยมีแผนสร้างทางเดินลอยฟ้าเชื่อมต่อโรงพยาบาลต่างๆ รอบอนุสาวรีย์ชัยฯ พร้อมติดตั้งสัญลักษณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกและกำจัดสิ่งกีดขวางสำหรับผู้พิการตลอดทางเพื่อให้การเดินทางไปโรงพยาบาลต่างๆ ในย่านสะดวกรวดเร็วและปลอดภัยมากขึ้น คาดว่าจะสร้างเสร็จภายในปี 2567

“ปัญหาสำคัญคือ ยังไม่สามารถรวบรวมจำนวนผู้พิการทั้งหมดในกรุงเทพมหานครได้ เนื่องจากมีประชากรแฝงจำนวนมาก จึงทำให้ทิศทางการขับเคลื่อนงานด้านคนพิการยังไม่ตรงเป้า และไปในทิศทางเดียวกัน ยังมีผู้ที่ตกสำรวจและไม่ได้ลงทะเบียนผ่านช่องทางที่รัฐจัดเตรียมไว้ ทำให้การช่วยเหลือและสนับสนุนด้านต่างๆ เข้าถึงเพียงบางส่วน อย่างไรก็ตาม กทม.อยู่ระหว่างพัฒนาแอพพลิเคชั่นรวบรวมคนพิการให้ได้มากที่สุด เพื่อสื่อสาร และมอบสิทธิ์ต่างๆ ให้ผู้พิการอย่างทั่วถึงกัน ทั้งนี้ การเชิญชวนผู้พิการมาร่วมลงทะเบียนในแอพพลิเคชั่นจำเป็นต้องสร้างแรงดึงดูดที่น่าสนใจเพิ่มเติม”

ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า การทำเมืองให้น่าอยู่ หมายรวมถึงผู้พิการด้วย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะต้องทำให้เท่าเทียมกันให้ได้ การขับเคลื่อนงานด้านคนพิการ เป็นหน้าที่ของกทม.และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกัน เบื้องต้นได้รับการเสนอจากเครือข่ายคนพิการ 4 ข้อ ประกอบด้วย 1.ให้คนพิการและผู้ติดตามสามารถขึ้นรถไฟฟ้าและรถไฟฟ้าใต้ดินฟรี 2.การสร้างเครือข่ายผู้ปกครองเยาวชนคนพิการ รวมถึงการจ้างงานผู้ปกครองของคนพิการ 3.การจ้างงานคนพิการ 4.ตลาดนัดเพื่อให้คนพิการสามารถร่วมนำสินค้ามาขายได้ ซึ่งปัจจุบัน กทม.พยายามเปิดพื้นที่ทั้งรูปแบบการท่องเที่ยวชุมชน พื้นที่ดนตรีในสวน ซึ่งผู้พิการสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมหรือแสดงความสามารถได้ รวมถึงมีการเปิดรับผู้พิการเข้าทำงานเพิ่มถึง 600 อัตรา แต่จากการรายงานพบว่า ยังมีผู้พิการสมัครเข้าทำงานไม่เต็มจำนวน เนื่องจากติดปัญหาการเดินทางซึ่งมีข้อจำกัด จึงต้องพยายามปรับเปลี่ยนรูปแบบงานให้เหมาะสมกับผู้พิการมากขึ้น ไม่ต้องเดินทาง สามารถทำงานที่บ้านได้

นอกจากนี้ กทม.กำลังพัฒนาสายด่วน กทม. 1555 รองรับบริการสำหรับคนพิการทางการได้ยิน ซึ่งความพิการทางการได้ยินหรือการสื่อความหมายเป็นกลุ่มความพิการที่มีสัดส่วนมากเป็นอันดับ 2 รองจากความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือร่างกาย ดังนั้น กทม.จะพัฒนาสายด่วน กทม. 1555 ให้รองรับการใช้งานภาษามือด้วยเทคโนโลยี TTRS (Telecommunication relay service) หรือระบบที่ช่วยให้คนพิการทางการได้ยินสามารถสื่อสารกับคนปกติได้ ผ่านการ Video Call เพื่อให้ล่ามภาษามือสื่อสารออกมาเป็นข้อความเสียงแทนผู้พิการ เพื่อให้คนพิการทางการได้ยินสามารถเข้าถึงการให้บริการของ กทม.ได้อย่างครบถ้วน

“การสร้างมหานครสำหรับทุกคน ไม่ได้มีประโยชน์เฉพาะคนพิการเท่านั้น ผู้สูงอายุ เด็ก ก็จะได้รับประโยชน์ด้วย และยังเป็นการสื่อสารถึงความห่วงใยซึ่งกันและกัน ดูแลซึ่งกันและกัน ห่วงใยเพื่อนร่วมเมือง เป็นมิติที่เหนือกว่าแค่ด้านกายภาพ แต่ยังหมายถึงด้านจิตใจที่มีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การมีน้ำใจ เข้าใจจิตใจผู้อื่น ห่วงใยเพื่อนที่อยู่ร่วมเมืองเดียวกัน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเมืองที่มีคุณภาพ ซึ่งกทม.จะทำแต่เพียงหน่วยงานเดียวไม่ได้ ต้องได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนร่วมกันทำให้กรุงเทพฯ น่าอยู่ขึ้น” นายชัชชาติ กล่าวทิ้งท้าย

ขอบคุณ... https://siamrath.co.th/n/439392

ที่มา: siamrath.co.th/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 19 เม.ย.66
วันที่โพสต์: 19/04/2566 เวลา 14:31:56 ดูภาพสไลด์โชว์ “กรุงเทพฯ” เมืองน่าอยู่ได้ ผู้พิการต้องเท่าเทียม