'จ้างงานคนพิการ' มีกฎหมายแต่ไม่ตอบโจทย์ มาตรา 35 จ้าง-จ่ายตรงคนพิการ

'จ้างงานคนพิการ' มีกฎหมายแต่ไม่ตอบโจทย์ มาตรา 35 จ้าง-จ่ายตรงคนพิการ

กฎหมายจ้างงานคนพิการ มาตรา 33 และ 34 ระบุไว้ว่า คนพิการมีสิทธิเข้าทำงานในสถานประกอบการทั่วไป แต่กลับพบว่ามีคนพิการจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้โอกาสนั้น ด้วยข้อจำกัดสถานประกอบการและคนพิการเอง มาตรา 35 การจ้างงานเชิงสัมคม อาจเป็นทางสายกลางช่วยคนพิการเข้าถึงโอกาส

พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 มาตรา 33 และ 34 กำหนดให้สถานประกอบการที่มีพนักงานจำนวน 100 คน "จ้างงานคนพิการ" 1 คน แต่ถ้าไม่จ้างต้องส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการปีละประมาณ 110,000 บาทต่อคน นายจ้างส่วนใหญ่เลือกตัดปัญหาด้วยการจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ เกิดคำถามจากสังคมว่า คนพิการได้ประโยชน์โดยตรงอย่างไร จึงนำมาสู่มาตรา 35 ระบุว่า นายจ้างต้องให้สิทธิพิเศษอะไรก็ได้ เช่น จัดพื้นที่ให้ขายสินค้าหรือบริการ จ้างเหมางานพิเศษ เป็นต้น โดยค่าตอบแทนต้องไม่น้อยว่า 114,245 บาทต่อปีต่อคน

มาตรา 35 กำหนดให้นายจ้าง/สถานประกอบการ หรือหน่วยงานของรัฐ ที่ไม่ประสงค์จะ "จ้างงานคนพิการ" และไม่ประสงค์ส่งเงินเข้ากองทุนฯ สามารถเลือกให้สิทธิตามมาตรา 35 แทนได้ โดยมูลค่าของสัญญาต้องไม่น้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำรายวัน จำนวน 365 วัน เช่น ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 333 บาท 333x365=121,545 หรือคิดตามจำนวนวันที่คนพิการทำงาน แต่จะต้องไม่ต่ำกว่า 114,245 บาท

สิทธิตามมาตรา 35 แบ่งเป็น 7 ประเภท ได้แก่

1. การให้สัมปทาน

2. จัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ

3. จัดจ้างเหมาช่วงงานหรือ จ้างเหมาบริการโดยวิธีกรณีพิเศษ

4. ฝึกงาน

5. จัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวก

6. ล่ามภาษามือ

7. การให้ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ

รายงานจากกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบข้อจำกัดของมาตรา 33 และ 34 ว่า ฝ่ายนายจ้างไม่รู้ว่าจะไปหา "คนพิการ" ที่เหมาะสมกับงานตัวเองได้ที่ไหน และบางครั้งหามาได้คนพิการก็ไม่ชอบงานที่เตรียมไว้ให้ หรือไม่สามารถจัดสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เหมาะสมให้ได้ เช่น ไม่มีทางลาดสำหรับรถเข็น ไม่มีอักษรเบรลล์ หรือไม่มีล่ามภาษามือ เป็นต้น

ส่วนฝ่าย "คนพิการ" ที่อยากไปทำงานแต่ระบบการขนส่งไม่เอื้ออำนวย ไม่สามารถเดินทางจากบ้านได้ตามลำพัง หรือไปได้แต่ต้องจ่ายค่าแท็กซี่หรือจ้างคนพาไป ซึ่งเป็นรายจ่ายที่มากกว่าเงินเดือนที่ได้รับ หรือบางครั้งเดินทางไปทำงานได้แต่ไม่ชอบลักษณะงานที่ได้รับมอบหมาย เช่น งานทำความสะอาด งานรับโทรศัพท์ หรืองานต้องพบปะผู้คนจำนวนมาก รวมถึงปัญหาในการปรับตัวเข้ากับผู้ร่วมงาน บางครั้งต้องแก้ปัญหาด้วยการเลือกบริษัทหรืองานที่อนุญาตให้ทำงานที่บ้านได้ เป็นต้น

ตัวเลขคนพิการทั่วประเทศประมาณ 2 ล้านคน จากข้อมูลบริษัทธุรกิจเอกชนทั่วประเทศที่ต้อง "จ้างงานคนพิการ" ทั้งหมด 5.5 หมื่นคน ปรากฏว่ามีจ้างจริงเพียงครึ่งเดียว หรือ 3 หมื่นกว่าคนเท่านั้น นายจ้างส่วนใหญ่เลือกส่งเงินเข้ากองทุนแทนเพื่อตัดปัญหาต่างๆ ส่วนภาครัฐหรือหน่วยงานของรัฐจ้างได้แค่ประมาณ 1.2 หมื่นคน ทำให้ยอดส่งเงินเข้ากองทุนมีสูงถึงปีละกว่า 2 พันล้านบาท ปัจจุบันกองทุนมีเงินสะสมกว่า 1 หมื่นล้านบาทแล้ว และเพิ่มขึ้นทุกปี

"จ้างงานคนพิการ" มาตรา 35 เป็นการจ้างเหมาให้คนพิการไปทำงานในองค์กรสาธารณประโยชน์ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ค่าจ้างเหมาประมาณปีละไม่ต่ำ 114,245 บาท จ่ายให้คนพิการโดยตรง ผลที่ได้คือการช่วยเพิ่มศักยภาพให้คนพิการได้ทำประโยชน์ในชุมชนที่อยู่อาศัย สร้างโอกาสที่เท่าเทียม เข้าถึงโอกาส มีงาน มีรายได้ พึ่งพาตนเองได้ตามศักยภาพแทนที่จะโอนเงินเข้ากองทุนฯ

"จ้างงานคนพิการ" มาตรา 33 หรือ 35 จำนวนเงินเหมาจ่ายเท่ากัน แต่ถ้ามองในมุมผลประโยชน์ที่คนพิการได้รับต่างกันมาก ทว่าคนพิการจะสามารถเข้าถึงสิทธิได้มากแค่ไหนขึ้นอยู่กับนายจ้างตัดสินใจ

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้คนพิการและนายจ้าง/สถานประกอบการแจ้งการให้และรับสิทธิมาตรา 35 ได้สะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพื่อมาติดต่อราชการ สามารถดำเนินการด้วยตนเองได้ตลอด 24 ชม. ไม่เว้นวันหยุดราชการ และยังป้องกันปัญหาการขอรับสิทธิซ้ำซ้อนผ่านเว็บไซต์ e-service.doe.go.th

ขอบคุณ... https://www.komchadluek.net/quality-life/equity/546822

ที่มา: komchadluek.net/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 19 เม.ย.66
วันที่โพสต์: 19/04/2566 เวลา 14:17:21 ดูภาพสไลด์โชว์ 'จ้างงานคนพิการ' มีกฎหมายแต่ไม่ตอบโจทย์ มาตรา 35 จ้าง-จ่ายตรงคนพิการ