2 คนเก่งผู้พิการและหลากหลายทางเพศ สร้างคุณค่าตัวเองด้วยการพัฒนาศักยภาพ

2 คนเก่งผู้พิการและหลากหลายทางเพศ สร้างคุณค่าตัวเองด้วยการพัฒนาศักยภาพ

เพื่อเสริมสร้างเจตคติที่ดีต่อคนพิการ รวมถึงคนพิการที่มีความหลากหลายทางเพศให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคม กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จึงได้จัดเวทีการประกวด MISSTER DEAF GAY THAILAND สำหรับคนพิการทางการได้ยินและสื่อความหมาย และนางงามผู้บกพร่องทางด้านสายตาจากโครงการ I CAN DO IT เป็นอีกหนึ่งเวทีที่จัดขึ้นเพื่อสร้างความภาคภูมิใจของคนพิการ ยกระดับความสามารถของคนพิการที่มีความหลากหลาย โดยได้จัดขึ้นเมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา โดยกระทรวง พม. ได้จัดพิธีแสดงความยินดีกับผู้ได้รับตำแหน่งเวที MISSTER DEAF GAY THAILAND นางงามผู้บกพร่องทางด้านสายตาจากโครงการ I CAN DO IT ณ ห้องประชุมชั้น 1 ของ อาคารกระทรวง พม. เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พม. กล่าวว่า มนุษย์ทุกคนเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะเป็นอะไรที่ตนเองใฝ่ฝันได้ ถ้ามีความตั้งใจ ซึ่งทุกอย่างจะเกิดขึ้นได้ ต้องมาจากความเพียรพยายามอย่างต่อเนื่อง โครงการนี้จะเป็นก้าวแรกที่สำคัญของพวกท่านที่จะยืนอยู่บนสังคมไทยอย่างมีศักดิ์ศรีและเท่าเทียม เป็นอีกวันที่ได้เห็นความสามารถของคนพิการไทยที่ต้องการทำความฝันของตัวเองให้เป็นจริง ฉะนั้น เมื่อเราหาจุดแข็งของตัวเองเจอและได้ทำตามความฝัน ตนเชื่อว่าชีวิตนี้จะไม่มีอะไรที่จะเป็นอุปสรรคกีดกั้นเราได้

2 คนเก่งผู้พิการและหลากหลายทางเพศ สร้างคุณค่าตัวเองด้วยการพัฒนาศักยภาพ

2 คนเก่งผู้พิการและหลากหลายทางเพศ สร้างคุณค่าตัวเองด้วยการพัฒนาศักยภาพ

ด้าน นายธนเทพ ศากยโรจน์ “แมรี่” สาวประเภทสอง ซึ่งคว้ารางวัลชนะเลิศ THE WINNER TEAM MISS จากเวทีประกวด MISSTER DEAF GAY THAILAND เล่าว่า ตนมีความบกพร่องทางการได้ยินมาแต่กำเนิด แต่สามารถเรียนจบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ในสาขาวิชาการออกแบบอุตสาหกรรม ปัจจุบันทำงานการโรงแรมแห่งหนึ่งย่านบางนา โดยเป็นพนักงานจัดดอกไม้ ในการมาประกวดครั้งนี้ ตนอยากสร้างความเข้าใจให้สังคม ได้เห็นได้เข้าใจและรู้ถึงศักยภาพของผู้พิการ ขณะเดียวกันก็อยากสร้างแรงบันดาลใจเป็นกระบอกเสียงประชาสัมพันธ์ให้คนหูหนวกกล้าออกมาตามความฝัน คิดว่าคนหูหนวกทุกคนมีศักยภาพ สามารถทำได้ ส่วนเคล็ดลับความสำเร็จ ก็คือการมีความฝันมาตั้งแต่เล็ก เช่น อยากจะประกวดนางงาม ก็พยายามศึกษาหาข้อมูลทุกด้าน และพัฒนาตนเองจากคำแนะนำของรุ่นพี่ ฝึกเข้าหาสังคม หาประสบการณ์จากรุ่นพี่ๆ และพยายามทำและไล่ตามความฝันจนเป็นจริงได้

ส่วน น.ส.กฤติยาพร เกตุกำพล หรือ “แป้ง” อายุ 24 ปี ปัจจุบันเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะศิลปศาสตร์ สาขาดนตรีคีตศิลป์ไทย สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ซึ่งมีความบกพร่องทางการมองเห็น คว้าตำแหน่งนางงามผู้บกพร่องทางการมองเห็น จากโครงการ I CAN DO IT กล่าวว่า แป้งพิการทางสายตามาแต่กำเนิด และชื่นชอบการร้องเพลงมาแต่เด็กๆ ได้มีโอกาสฝึกฝนกับทางโรงเรียนสอนคนตาบอด กรุงเทพฯ กระทั่งศึกษาต่อปริญญาตรีก็ได้เลือกสาขาดนตรีคีตศิลป์ไทย และนำสิ่งที่ชื่นชอบเข้าร่วมประกวดในเวที I CAN DO IT แป้งไม่ค่อยคิดว่าความพิการของตนเป็นปม ด้อย มีบางครั้งที่คิดว่าทำไม่ได้ เหมือนคนปกติ แต่ก็จะกลับมาคิดได้ว่า เราต้องสู้ต่อไป เราต้องเป็นกำลังใจให้กับตัวเองก่อน เห็นคุณค่าในตัวเอง ถือว่าเป็นเสน่ห์ที่หล่อเลี้ยงจิตใจให้เรามีความคิดที่ดี รวมถึงความคิดที่จะช่วยคนอื่นที่ทำให้เรามีความสุขตลอดมา.

ขอบคุณ... https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/1879715

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 1 ก.ค.63
วันที่โพสต์: 1/07/2563 เวลา 10:47:53 ดูภาพสไลด์โชว์ 2 คนเก่งผู้พิการและหลากหลายทางเพศ สร้างคุณค่าตัวเองด้วยการพัฒนาศักยภาพ