สสส.สานพลังร่วมดูแล "ผู้พิการ" สร้างสังคมไม่ทอดทิ้งกัน

สสส.สานพลังร่วมดูแล "ผู้พิการ" สร้างสังคมไม่ทอดทิ้งกัน

สส. หนุนกระบวนการชุมชน “ตำบลชมภู” ร่วมดูแลพัฒนา “ผู้พิการ” สานพลังเครือข่ายสร้างสังคมไม่ทอดทิ้งกันเพื่อสุขภาวะที่ยั่งยืน

“เราใช้ความพิการของเราเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร และกระตุ้นให้คนในสังคม ให้คนในชุมชนของเราให้หันมาดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพราะคนพิการเองก็มีศักยภาพในการช่วยเหลือคนอื่นได้ อย่างน้อยที่สุดก็คือการเป็นกำลังใจให้กับผู้ดูแลคนป่วยและผู้พิการ”

เป็นคำกล่าวของ พ่ออินสม อุตสุภา ประธานศูนย์บริการคนพิการตำบลชมภู ในระหว่างการจัดกิจกรรม “เยี่ยมบ้านผู้สูงอายุ-ผู้พิการในระยะพึ่งพิง” พื้นที่ บ้านพญาชมพูและบ้านต้นกวาว ตำบลชมภู อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่

โดยการดำเนินงานดังกล่าวเป็นหนึ่งในหลายๆ กิจกรรมที่จัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอด้วย “หัวใจ” ของคณะทำงานที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงในชุมชนของพวกเขาบนเป้าหมาย “การไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการ “พัฒนาศักยภาพนักสร้างเสริมสุขภาวะคนพิการในชุมชนภาคเหนือ 5 จังหวัด” โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

พ่อหลวงอนันต์ แสงบุญ หนึ่งในคณะทำงานโครงการฯ เล่าว่า วันนี้เป็นการจัดกิจกรรมเยี่ยมผู้สูงอายุและผู้พิการในระยะพึ่งพิงและประคับประคอง ซึ่งเป็นผู้พิการติดเตียงและผู้ป่วยระยะสุดท้าย เพื่อกระตุ้นให้ชุมชนเห็นถึงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน โดยใช้กลุ่มผู้พิการเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงระหว่างคน 2 กลุ่มได้มาเจอกันคือ คนที่มีศักยภาพในชุมชนกับกลุ่มผู้ด้อยโอกาส และสร้างเป้าหมายร่วมกันคือการสร้างสังคมหรือชุมชนของเราให้เป็นสังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน

“ในสังคมปัจจุบันเราจะเห็นผู้สูงอายุหรือผู้พิการถูกทิ้งให้อยู่เพียงลำพังหรือถูกผลักไปไว้ในมุมเล็กๆ ของบ้านที่ไม่อยากให้ใครเห็น บ้างก็มีสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่เหมาะสม เราจึงอยากให้ผู้สูงอายุหรือผู้พิการในระยะนี้มีสิ่งยึดเหนี่ยวในวาระสุดท้าย และการที่เราใช้คนในชุมชนเข้าไปร่วมดูแลก็เพื่อกระตุ้นให้คนในครอบครัวและในชุมชนเห็นความสำคัญในเรื่องเหล่านี้ โดยใช้มิตรภาพ ความจริงใจและกระบวนการของชุมชนเข้าไปเสริมการทำงานภาครัฐให้ดียิ่งขึ้น โดยมีการทำงานร่วมกันระหว่าง วัด รพ.สต. โรงพยาบาล เทศบาล คนในชุมชน ผู้พิการ เข้าไปทลายกำแพงและข้ออ้างของความเป็นสังคมเมือง โดยทำงานบนเป้าหมายเดียวกันคือการสร้างสังคมที่ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

โดยเครื่องมือสำคัญนอกจากจากมี “กระบวนการของชุมชน” ที่ประสานกันอย่างกลมกลืนกับกระบวนการด้านสาธารณสุขต่างๆ ของภาครัฐ โดยมีเทศบาลตำบลชมภูให้การสนับสนุนแล้ว ยังน้อมนำ “พลังศรัทธา” ในพระพุทธศาสนามาเป็นเครื่องมือในการ “เปิดประตูบ้าน” ที่นำโดย พระอาจารย์มหาอภิวัฒน์ กนตสีโล เจ้าอาวาสวัดทุ่งขี้เสือ เพื่อเข้าไป “เปิดใจ” ให้ผู้ป่วยคลายความทุกข์กังวลต่างๆ

ทั้งกรณีของ คุณยายบัวเทพ อายุ 75 ปี ผู้พิการที่สูญเสียขาและมีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง และ คุณตาดี อายุ 93 ปีผู้ป่วยติดเตียง แกนนำซึ่งเป็นทั้งผู้พิการและคนปกติ เมื่อคณะทำงานไปถึงบ้านก็จะแยกย้ายกันไปทำหน้าที่ตามความถนัด บ้างก็ไปปัดกวาดเช็ดถูทำความสะอาดบ้านดูแลลูกน้ำยุงลาย บ้างก็ซ่อมแซมบ้านเรือนข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ อีกส่วนหนึ่งเข้าไปเพื่อตรวจวัดความดันสอบถามสารทุกข์สุกดิบ ด้านพระสงฆ์ก็ชวนคนป่วยและญาติร่วมกันสวดมนต์ไหว้พระเพื่อสร้างกำลังใจให้กับผู้ป่วย รวมถึงการให้คำแนะนำต่างๆ ในการดูแลผู้ป่วยให้มีสุขภาวะที่ดีขึ้นเท่าที่จะทำได้ของแต่ละครอบครัว

หลังจากนั้นทางคณะทำงานก็จะนัดหมายพร้อมชักชวนผู้ดูแล-ญาติ-แกนนำ มาร่วมทำกิจกรรม “ไพ่แห่งชีวิต” ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ทำให้เรื่องของ “ความตาย” ถูกหยิบยกมาพูดคุยกันได้โดยง่าย ผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของแต่ละคน เพื่อสร้างการเรียนรู้ การเตรียมตัว และการปล่อยวาง เพื่อให้ผู้ป่วยได้คลี่คลาย “ปม” บางอย่างในหัวใจ และพร้อมที่จะจากไปอย่างสงบและมีความสุข

นางมัลลิกา ตะติยาพรพันธ์ ผู้รับผิดชอบโครงการฯ กล่าวว่า กิจกรรมนี้นอกจากการไปเยี่ยมบ้านแล้วยังเป็นเรื่องของการเตรียมตัวที่จะตายดี เพราะเป็นเรื่องยากที่จะคุยกับครอบครัวและผู้ป่วยโดยตรง เราจึงต้องใช้เครื่องมือไพ่แห่งชีวิต ที่จะแจกไพ่ให้กับทุกคนที่เล่นเกม ไพ่แต่ละใบก็จะมีคำถามมีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยและความตาย อาทิ หากคุณล้มป่วยติดเตียง คุณอยากให้ใครมาดูแลคุณ หรือถ้าคุณต้องตายวันพรุ่งนี้จะจัดการทรัพย์สินของคุณอย่างไร ใครที่หยิบได้ไพ่ใบไหนก็ตอบคำถามนั้น

“การได้ฟังคำตอบต่างๆ จะทำให้ญาติและผู้ป่วยได้รับมุมมองแนวคิดในการเตรียมพร้อมที่จะจากไปจากคนอื่นๆ ที่แตกต่างกันไป แต่สิ่งสำคัญก็คือการได้เรียนรู้จากเรื่องราวเหล่านั้น และทำให้ผู้ป่วยสามารถที่จะอยู่กับความกลัวต่างๆ ให้น้อยที่สุด และปล่อยวางทุกอย่าง นอกจากนี้การที่มีพระสงฆ์นำไปเยี่ยมบ้านก็จะช่วยให้ผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่สามารถออกไปวัดได้รำลึกถึงบุญกุศลที่เคยทำ ซึ่งในบางครั้งก็ทำให้ผู้ป่วยพร้อมที่จะจากไปอย่างสงบ”

นางสุพรรณ ยาประเสริฐ จาก รพ.สต.บ้านท่าต้นกวาว บอกว่าการทำงานในลักษณะนี้มีข้อดีกว่าระบบการทำงานแบบเดิมคือ ทำให้เกิดแนวทางการและการประสานการช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยหรือผู้พิการจากทุกหน่วยงานได้ตรงจุดและเห็นผลเป็นรูปธรรม สามารถสร้างการมีส่วนร่วมจากคนอื่นๆ ในชุมชน และทำให้ภาระงานของ รพ.สต.ลดลง ซึ่งการที่มีพระไปเยี่ยมด้วยก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะผู้ป่วยติดเตียงหลายคนไม่ได้มีโอกาสได้ไปวัดเลย การที่พระมาหาถึงบ้านก็จะสามารถช่วยในเรื่องของจิตใจได้เป็นอย่างดี

ด้าน นายอนันต์ ชัยมงคล และ นางวิทมล ปันทะนัน ที่ทั้งคู่ถึงแม้จะเป็นผู้พิการแต่ก็มาเข้าร่วมกิจกรรมในชุมชนอย่างสม่ำเสมอกล่าวไปในแนวทางเดียวกันว่า อยากให้สังคมได้เห็นว่าคนพิการก็สามารถทำอะไรได้เหมือนกับคนปกติ ถึงตัวจะพิการแต่หัวใจไม่ได้พิการ เราสามารถช่วยเหลือคนอื่นได้ตามศักยภาพที่เรามี สิ่งสำคัญคือทำแล้วมีความสุขที่ได้เห็นคนอื่นมีชีวิตที่ดีขึ้น

“การที่คนพิการออกไปเยี่ยมนอกจากจะสร้างกำลังใจให้ตัวเราเองจากการได้ไปเห็นคนที่เขาลำบากกว่าเราแล้ว อีกมุมหนึ่งคนป่วยและญาติก็จะได้มีกำลังใจ เพราะว่าเขาได้เห็นคนพิการที่ลำบากกว่าเรา เขายังมาช่วยเหลือมาดูแลเราได้เลยทำไมเราจะดูแลญาติเราไม่ได้” อนันต์กล่าว

“ผมได้ไปอบรมเรื่องการดูแล care giving ก็จะเข้าไป เช็ดตัวทำแผลต่างๆ ให้ผู้ป่วย ก็จะไปช่วยสอนให้ญาติดูแลผู้ป่วยได้ถูกต้อง เพราะตัวเองก็มีญาติที่ติดเตียงจึงเข้าใจหัวอกผู้ดูแล ซึ่งการรวมกลุ่มแบบนี้ทำให้ชุมชนของเรามีความรักมีความสามัคคีเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันมากขึ้นกว่าเดิม” วิทมลระบุ

“ทางเทศบาลตำบลชมภูให้การสนับสนุนทางศูนย์บริการคนพิการฯ ในทุกเรื่องๆ เพราะให้ความสำคัญในเรื่องของการดูแลกลุ่มคนผู้สูงอายุและผู้พิการในชุมชนมาโดยตลอด จนได้รับรางวัลจากการประกวดผลงานต่างๆ มาอย่างมากมาย ซึ่งการทำงานร่วมกับชุมชนและศูนย์บริการคนพิการ ถือว่าเป็นความภาคภูมิใจของทางเทศบาลฯ ในการร่วมกับสมาชิกในชุมชนแห่งนี้ขับเคลื่อนนโยบายตำบลชมภูน่าอยู่มุ่งสูงเมืองสีเขียว” นางกัลยาณี อุปราสิทธิ์ หัวหน้าฝ่ายสาธรณสุข เทศบาลตำบลชมพู กล่าว

ความร่วมแรงร่วมใจที่มีจุดเริ่มต้นจาก “พลัง” ที่ต้องการพิสูจน์ตนเองของ “ผู้พิการ” ในตำบลชมพู ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการประสานความร่วมมือและการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งในระดับพื้นที่และจากหน่วยงานภายนอก จนเกิดเป็น “พลังชุมชน” และ “กระบวนการชุมชน” ที่สามารถก้าวข้ามข้อจำกัดด้านร่างกาย สามารถทลายกำแพง รวมถึงข้อจำกัดต่างๆ ในสังคมลงได้ และยังทำให้สมาชิกทุกคนมีจุดมุ่งหมายร่วมที่สำคัญคือ...

การสร้างชุมชนและสังคมแห่งนี้ให้น่าอยู่ เป็นชุมชนที่เอื้อเฟื้อแบ่งปัน และก้าวไปสู่การเป็นชุมชนตำบลชมภูที่ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแท้จริง.

ขอบคุณ... https://www.tnnthailand.com/content/26405

ที่มา: tnnthailand.com/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 15 ม.ค.63
วันที่โพสต์: 16/01/2563 เวลา 11:04:28 ดูภาพสไลด์โชว์ สสส.สานพลังร่วมดูแล "ผู้พิการ" สร้างสังคมไม่ทอดทิ้งกัน