ไอเดีย "รถเข็นไฟฟ้าแบบปรับยืน" 3 สถาบัน ร่วมมือ "เพื่อผู้พิการ"

ไอเดีย "รถเข็นไฟฟ้าแบบปรับยืน" 3 สถาบัน ร่วมมือ "เพื่อผู้พิการ"

การทำทางลาดขึ้นลง ลิฟต์ ปุ่มอักษรเบรลล์ในลิฟต์ หรือ ทางเดินเท้าสำหรับคนพิการ เป็นส่วนหนึ่งของ Universal Design หรือการออกแบบเพื่อทุกกลุ่มคน เป็นเทรนด์ของการก่อสร้างทั่วโลก ให้ทุกคนในสังคมใช้ชีวิตได้สะดวก ไม่เว้นแม้ผู้พิการ

การทำทางลาดขึ้นลง ลิฟต์ ปุ่มอักษรเบรลล์ในลิฟต์ หรือ ทางเดินเท้าสำหรับคนพิการ เหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของ Universal Design หรือการออกแบบเพื่อทุกกลุ่มคน ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ของการก่อสร้างทั่วโลก เพื่อให้ทุกคนในสังคมสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบาย ไม่เว้นแม้แต่ผู้พิการ

อีกหนึ่งผลงานที่จะช่วยให้ผู้พิการมีความสะดวกมากขึ้น ได้แก่ “รถเข็นไฟฟ้าแบบปรับยืนอเนกประสงค์เพื่อผู้พิการ” (PMK : Multipurpose Electric Powered Wheelchair) เป็นผลงานความร่วมมือระหว่าง 3 สถาบัน นำโดย รศ.ดร.เดชฤทธิ์ มณีธรรม หัวหน้าสาขาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี, รศ.ดร.เบญจลักษณ์ เมืองมีศรี มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ และ พล.ต.ผศ.นพ.อารมย์ ขุนภาษี, พอ.รศ.นพ.สุธี พานิชกุล โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า พร้อมด้วยทีมนักศึกษาสาขาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ นายพรรษวุฒ อ้วนมี, นายนราศักดิ์ อาจลึก และ นายปนันชัย วันดี

พล.ต.ผศ.นพ.อารมณ์ ขุนภาษี เปิดเผยว่า ในปัจจุบันผู้พิการอัมพาตครึ่งล่าง (Paraplegia) หรือ อาการอ่อนแรงของแขนขาซีกใดซีกหนึ่ง อันเกิดจากความผิดปกติของสมอง เรียกว่า อัมพาตครึ่งซีก (hemiplegia) ไม่สามารถที่จะลุกยืนเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ เช่น ไม่สามารถลุกยืนหรือหยิบสิ่งของในชีวิตประจำวันหรือประกอบอาชีพเกษตรกรรมบางประเภทตลอดจนตกแต่งกิ่งไม้ที่สูง ๆ ด้วยตนเองได้ ทางทีมงานวิจัยจึงต้องการที่จะคิดค้นและพัฒนารถเข็นไฟฟ้าแบบปรับยืนอเนกประสงค์เพื่อผู้พิการ ให้สามารถลุกยืนเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ หรือเพื่อให้ดำรงชีวิตเพื่ออยู่ร่วมกับสังคมได้เหมือนคนปกติ

รศ.ดร.เดชฤทธิ์ มณีธรรม กล่าวว่า สำหรับการวิจัยและพัฒนารถเข็นไฟฟ้าแบบปรับยืนอเนกประสงค์เพื่อผู้พิการ ต่อยอดผลงานให้ผู้พิการได้ใช้งานได้จริง โดยรถเข็นไฟฟ้าแบบปรับยืนอเนกประสงค์ประกอบด้วย 3 ส่วนหลักคือ โครงสร้าง (Hardware) ระบบควบคุม (Control System) และซอฟต์แวร์ (Software) โดยระบบโครงสร้างจะประกอบไปด้วย 2 ส่วนคือ 1. รถเข็นไฟฟ้าแบบธรรมดา 2.โครงสร้างรถเข็นแบบปรับยืน จะประกอบไปด้วย ระบบล้อเคลื่อนที่ 4 ล้อ ลูกสูบเพื่อปรับยืน 2 อัน ชุดคันโยก 1 อัน และชุดรัดผู้ป่วยในขณะท่านั่งและท่ายืน สำหรับระบบควบคุม จะประกอบไปด้วย ไมโครคอนโทรเลอร์ รีเลย์ สวิตช์ แบตเตอรี่ 12 โวลต์ 2 ลูก และระบบซอฟต์แวร์ จะเขียนด้วยภาษาซี

หลักการทำงานของรถเข็นไฟฟ้าแบบปรับยืนอเนกประสงค์คันนี้ เมื่อผู้ป่วยนั่งอยู่บนรถเข็น หลังจากนั้นจะเข็นรถเข็นเพื่อให้เข้าใกล้รถเข็นปรับยืนเพื่อรัดช่วงเอวผู้ป่วยและทำการกดปุ่มเพื่อปรับยืน จะทำให้ผู้ป่วยลุกออกจากตัวรถเข็นแล้วมายืนอยู่บนรถเข็นปรับยืนแทน ผู้ป่วยสามารถกดปุ่มเพื่อขับเคลื่อนรถเข็นปรับยืนให้เคลื่อนที่ไปตามทิศทางที่ต้องการได้ เช่น เดินหน้า ถอยหลัง เลี้ยวซ้าย และเลี้ยวขวา ได้ตามลำดับ

แต่ถ้าผู้ป่วยต้องการกลับมานั่งรถเข็นธรรมดา ก็จะเข็นรถเข็นมาใกล้ ๆ รถเข็นปรับยืน หลังจากนั้นจะกดปุ่มเพื่อให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านั่งและปลดชุดรัดเอวออก จะทำให้ผู้ป่วยนั่งอยู่บนรถเข็นธรรมดา และแยกออกจากรถเข็นปรับยืนทันที

เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่จะช่วยให้ผู้พิการมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น สามารถเคลื่อนไหวได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาคนรอบข้าง.

ขอบคุณ... https://www.dailynews.co.th/article/737315

ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 20 ต.ค.62
วันที่โพสต์: 22/10/2562 เวลา 10:19:39 ดูภาพสไลด์โชว์ ไอเดีย "รถเข็นไฟฟ้าแบบปรับยืน" 3 สถาบัน ร่วมมือ "เพื่อผู้พิการ"