ดูแลสุขภาพผู้สูงวัยที่อยู่ในโลกมืด เรื่องใกล้ตัวที่ลูกหลานอย่ามองข้าม

ดูแลสุขภาพผู้สูงวัยที่อยู่ในโลกมืด เรื่องใกล้ตัวที่ลูกหลานอย่ามองข้าม

การดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุทั่วไปว่าซับซ้อนแล้ว แต่หากลูกหลานคนไหนที่ต้องดูแลคุณพ่อคุณแม่ที่มีปัญหาสุขภาพสายตา หรือเป็น “ผู้สูงวัยที่อยู่ในโลกมืด” ยิ่งต้องให้การดูแลเป็นพิเศษ โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บที่อาจเกิดจากอุบัติเหตุที่ท่านมองไม่เห็นก็สามารถส่งผลร้ายแรง ทั้งเสี่ยงต่อการหกล้มกระดูกหักกระทั่งเป็นอัมพาตติดเตียงได้เช่นกัน ดังนั้นการปรับที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับกายภาพ และการส่งเสริมการใช้ชีวิตที่ป้องกันอันตราย เป็นสิ่งที่บุตรหลานและคนดูแลไม่ควรมองข้าม

พี่แป้ง-วิภา เกียรติหนุนทวี พยาบาลวิชาชีพ ชำนาญการด้านผู้สูงอายุ รพ.ปากท่อ ให้ข้อมูลว่า “การดูแลผู้สูงวัยที่มีปัญหาสายตา ซึ่งอยู่ในโลกมืดก็ค่อนข้างมีความแตกต่างจากผู้สูงอายุที่สายตาปกติ โดยเฉพาะการที่ลูกหลานจำเป็นต้องให้ความใส่ใจเกี่ยวกับ “อุบัติเหตุ” เป็นสำคัญ เพราะถ้าเป็นโรคทั่วไปอย่าง โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ฯลฯ ก็ถือเป็นกลุ่มโรคที่ต้องเฝ้าระวังเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ทว่าอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้สูงวัยที่มองไม่เห็นนั้น คือการสะดุดหกล้ม ซึ่งตรงนี้จะทำให้เกิดปัญหากระดูกสะโพกหัก และต่อเนื่องไปจนถึงเป็นผู้ป่วยติดเตียง หรือบางรายอาจทำให้เกิดภาวะอัมพาตได้ จึงแนะนำว่าลูกหลานควรที่จะปรับปรุงบ้าน โดย “หลีกเลี่ยงพื้นเล่นระดับ” หรือทำบ้านให้มีพื้นราบเสมอกัน นอกจากนี้ก็ต้องจัดบริเวณทางเดินไม่ให้มีสิ่งกีดขวาง เช่น “ไม่วางหนังสือ” ไว้บริเวณทางเดิน หรือจัดสิ่งของให้เป็นระเบียบ “ไม่วางเรียงชั้นแนวตั้ง” เพราะอาจเสี่ยงตกลงมาใส่คุณตาคุณยายขณะเดินผ่าน นอกจากนี้ก็ให้ “หลีกเลี่ยงการวางพรมเช็ดเท้าที่พื้น” เพื่อป้องกันการสะดุดหกล้ม

นอกจากนี้ ผู้สูงอายุที่อยู่ในโลกมืด ไม่ว่าจะตาบอดมาแต่กำเนิด หรือได้รับอุบัติเหตุในวัยหนุ่มสาว กระทั่งทำให้มองไม่เห็นในวัยผู้สูงอายุ ปัญหาหนึ่งที่ลืมไม่ได้คือ “โรคติดเชื้อที่ลูกตา” อันเนื่องมาจากภาวะอักเสบที่เกิดขึ้นจากการนำมือไม่สะอาดไปขยี้ลูกตา รวมถึงการที่ผู้สูงอายุมีสายตาที่บอดหรือมองไม่เห็น แต่ป่วยเป็นโรคเบาหวานและมีน้ำตาลในกระแสเลือดสูงมาก กระทั่งขึ้นไปที่ดวงตา ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ให้เกิดการติดเชื้อได้ที่วุ้นในลูกตา จากภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเช่นกัน ทำให้เกิดภาวะปวดบวมอักเสบ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ดังนั้นลูกหลานและผู้ดูแลจำเป็นต้องพาคุณพ่อคุณแม่ที่พิการทางสายตาไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจตาทุก 6 เดือน ไปจนถึง 1 ปี รวมถึงต้องไปพบแพทย์ทั่วไป เพื่อตรวจสุขภาพทุก 6 เดือนจนถึง 1 ปีเช่นกัน ในการตรวจคัดกรองหาโรคเรื้อรังในผู้สูงวัยกลุ่มที่มีปัญหาสายตาดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นโรคอัลไซเมอร์, โรคไต, โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น

ปิดท้ายกันที่ “ภาวะเครียดและซึมเศร้า” จากการที่ผู้สูงวัยมองไม่เห็น ก็เป็นอาการป่วยที่อาจเกิดขึ้นได้กับท่าน ส่วนหนึ่งมาจากความน้อยใจที่เป็นภาระให้ลูกหลาน ตรงนี้บุตรหลานควรดูแลใกล้ชิด และคอยให้กำลังใจท่าน ที่ลืมไม่ได้เมื่ออายุมากขึ้น คุณตาคุณยายมักจะมีปัญหาน้อยใจลูกหลาน อีกทั้งบางรายจะมี “ความดื้อรั้นอยู่ในตัวเอง” และอยากทำสิ่งต่างๆ เอง แม้ว่าสายตาจะมองไม่เห็น เช่น การเข้าครัวทำอาหาร หรือเปิดแก๊สต้มน้ำ กระทั่งการหั่นผักเอง ตรงนี้ลูกหลานควรใช้วิธีอธิบายให้ท่านเข้าใจว่า หากผู้สูงอายุดื้อดึงที่จะทำอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุกับตัวเอง ซึ่งนั่นอาจทำให้ร่มโพธิ์ร่มไทรของบ้านไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้กับลูกหลานๆ ได้ เช่น “ถ้าแม่เข้าครัวและพลาดไปสะดุดหกล้มจนกระดูกหักเดินไม่ได้ ต้องนอนอยู่บนเตียง แล้วใครจะเล่านิทานให้หลานๆ ฟังก่อนนอนคะ!!!”

ที่สำคัญก็ให้หลีกเลี่ยงการห้ามปรามด้วยถ้อยคำรุนแรงหรือดุด่า เพราะนั่นจะทำให้ผู้สูงอายุยิ่งโกรธและรู้สึกน้อยใจลูกหลานขึ้นไปอีก ซึ่งอาจจะทำให้คุณตาคุณยายหนีออกจากบ้าน ขณะที่สายตามองไม่เห็น และอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ค่ะ”

ที่กล่าวมาเป็นบางเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกบ้าน ทั้งผู้สูงอายุที่สายตาปกติและพิการทางสายตา แต่โดยสรุปแล้ว ทุกปัญหาก็จะสามารถแก้ไขได้ด้วยความเข้าใจและเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน...รู้อย่างนี้แล้วเชื่อว่าลูกหลานที่รักและเคารพผู้ให้กำเนิด คงหันกลับมาเพิ่มการดูแลคุณพ่อคุณแม่ที่มองไม่เห็นขึ้นไปอีก 2 เท่าจริงไหมค่ะ...

ขอบคุณ... https://www.thaipost.net/main/detail/26846

ที่มา: thaipost.net /มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 18 ม.ค.62
วันที่โพสต์: 21/01/2562 เวลา 10:36:35 ดูภาพสไลด์โชว์ ดูแลสุขภาพผู้สูงวัยที่อยู่ในโลกมืด เรื่องใกล้ตัวที่ลูกหลานอย่ามองข้าม