วีลแชร์ไฟฟ้าควบคุมด้วยสายตา คว้ารางวัลนวัตกรรมระดับโลก

วีลแชร์ไฟฟ้าควบคุมด้วยสายตา คว้ารางวัลนวัตกรรมระดับโลก

วีลแชร์ไฟฟ้าอัจฉริยะควบคุมด้วยสายตา เคลื่อนไหวด้วยเทคโนโลยี Eye tracking เพียงสายตาจ้องไปยังทิศทางที่ต้องการจะไป วีลแชร์นี้ก็จะเคลื่อนตัวมุ่งไปยังทิศทางนั้นทันที

โรคหลอดเลือดสมอง เป็นสาเหตุการตายอันดับ 3 จากสถิติโลก และยังเป็นสาเหตุสำคัญของความพิการระดับรุนแรง ในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยเกิดใหม่ทั่วโลกราว 10-15 ล้านคน ในจำนวนนี้ 5 ล้านคนเสียชีวิต และอีก 5 ล้านคน กลายเป็นคนพิการถาวร

ที่ผ่านมามีผู้สร้างวีลแชร์บังคับด้วยสมอง บังคับด้วยเสียง ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีมาช่วยให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติสุขตามอัตภาพ ล่าสุดคนไทยได้สร้างความฮือฮาด้วยผลงานนวัตกรรมวีลแชร์ไฟฟ้าอัจฉริยะควบคุมด้วยสายตา (Smart Wheelchair Based on Eye Tracking) โดยทีมนักศึกษาและอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ประกอบด้วย รศ.ดร.ชูชาติ ปิณฑวิรุจน์, ดร.วิบูลย์ ปิยวัฒนเมธา, อนิวัฒน์ จูห้อง และ ศุภกร สุวรรณ สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยโดยคว้ารางวัล Silver Award จากเวทีแข่งขันนวัตกรรมระดับโลก International Contest of Innovation 2017 หรือ iCAN ที่เมืองปักกิ่ง ประเทศจีน ซึ่งมีผู้เข้าประกวดนวัตกรรมจำนวนกว่า 5,000 คน จาก 20 ประเทศ นับเป็นหนึ่งเดียวในอาเซียนที่ได้เข้ารอบและคว้ารางวัลมาครอง

รศ.ดร.ชูชาติ ปิณฑวิรุจน์ หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการคิดค้นวิจัยนวัตกรรมนี้ เนื่องจากประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย และมีผู้พิการเพิ่มมากขึ้น เฉพาะที่ลงทะเบียนมีจำนวนรวม 2.5 ล้านคน ในจำนวนนี้มี 3-5 % ต้องทุกข์ทรมานจากอัมพฤกษ์อัมพาต โดยคาดว่าในประเทศไทยมีผู้ป่วยใหม่ที่เป็นอัมพาตปีละกว่า 150,000 ราย วีลแชร์จึงเป็นอุปกรณ์สำคัญในการดำรงชีวิตประจำวันของผู้ป่วยเหล่านี้ แต่วีลแชร์ไฟฟ้าที่มีในท้องตลาด ส่วนใหญ่มักจะควบคุมการใช้งานด้วยจอยสติ๊ก แต่ผู้ป่วยอัมพาตชนิด ALS หรือพาร์กินสัน จะใช้วีลแชร์ที่มีอยู่ทั่วไปได้อย่างยากลำบาก แม้นักวิจัยจะสร้างวีลแชร์บังคับด้วยเสียง (Voiced-control system) และบังคับด้วยสมอง (Brain-control system) แต่ก็มีปัญหาเมื่อสภาพแวดล้อมเสียงดังรบกวน

วีลแชร์ไฟฟ้าควบคุมด้วยสายตา คว้ารางวัลนวัตกรรมระดับโลก

“ทีมวิจัยจึงได้พัฒนาวีลแชร์ไฟฟ้าอัจฉริยะควบคุมด้วยสายตา ที่ปฎิบัติการควบคุมการเคลื่อนไหวด้วยเทคโนโลยี Eye tracking เพียงสายตาจ้องไปยังทิศทางที่ต้องการจะไป วีลแชร์นี้ก็จะเคลื่อนตัวมุ่งไปยังทิศทางนั้นทันที ระบบนี้ยังมีจุดเด่นน้ำหนักเบาและมีวิธีการใช้งานที่ง่ายดาย”

ดร.วิบูลย์ ปิยวัฒนเมธา หนึ่งในทีมนักวิจัย ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวะลาดกระบัง บอกถึงส่วนประกอบสำคัญและการทำงานของวีลแชร์ไฟฟ้าอัจฉริยะควบคุมด้วยสายตา มี 4 ส่วนหลัก คือ 1.Image Processing Module 2.Wheelchair-Controlled Module 3.Appliances-Controlled Module 4.SMS Manager Module

เมื่อ Image Processing Module ซึ่งมีกล้อง Webcam และ C++customized image processing จับภาพเคลื่อนไหวของดวงตา และส่งสัญญาณไปยัง Rasberry Pi โมโครคอนโทรลเลอร์ เชื่อมต่อประสานกับลูกตา ซึ่งจะทำหน้าที่เหมือนเป็น Cursor control ตัวจอของ Rasberry Pi ในการควบคุมระบบ นอกจากความเคลื่อนไหวของสายตาแล้วการกะพริบตาก็ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับระบบนี้ได้เพื่อสั่งการเหมือนกับการกดแป้น “Enter” บนคีย์บอร์ดนั่นเอง

ส่วน Wheelchair-ControlledModule เป็นที่รวมของเซอร์โว 2 ชุด ที่สามารถขับเคลื่อนไหวได้ 2 มิติ และปรับให้เข้ากับจอยสติ๊กได้ด้วย ระบบวีลแชร์นี้ยังสามารถควบคุมอุปกรณ์ต่าง ๆ ในระยะไกล และสื่อสารติดต่อกับแพทย์ผู้ดูแลสุขภาพผ่านการแจ้งข้อความในสมาร์ทโฟนได้ด้วย

วีลแชร์ไฟฟ้าควบคุมด้วยสายตา คว้ารางวัลนวัตกรรมระดับโลก

อนิวัฒน์ จูห้อง นักศึกษาปริญญาโท วิศวกรรมชีวการแพทย์ หนึ่งในทีมนักวิจัย กล่าวว่า วิธีการใช้งานวีลแชร์ไฟฟ้าอัจฉริยะบังคับด้วยสายตา ภายในจะมีเครื่องมือตรวจจับความเคลื่อนไหวของดวงตาผู้ที่ใช้งาน ซึ่งติดตั้งอยู่กับจอแสดงผลโดยจะมีสัญลักษณ์คำสั่งต่าง ๆ ที่สามารถมองได้อย่างชัดเจน ผู้ใช้งานได้เลือกใช้ได้ด้วยการมองไปยังสัญลักษณ์นั้น เพื่อสั่งงานตามความต้องการ โดยมีคำสั่งพื้นฐานซึ่งจะประกอบไปด้วย การสั่งให้วีลแชร์เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา หรือเคลื่อนไปข้างหน้า เพียงแค่มองไปยังสัญลักษณ์นั้น ระบบจะมีการประมวลผล พร้อมทั้งสั่งงาน เหมือนกับการคลิกเมาส์ในระบบคอมพิวเตอร์ทั่วไป ซึ่งจะสะดวกต่อผู้ป่วยที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ด้วยตัวเอง

ทั้งนี้ผู้ใช้ยังสามารถลิงก์เข้ากับระบบบ้านที่อยู่อาศัยแบบ Smart Home ได้อีกด้วย โดยจะมีคำสั่งบนหน้าจอที่เป็นสัญลักษณ์ต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมา ที่จะสามารถควบคุมระบบไฟ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าระบบอิเล็กทรอนิกส์ ต่าง ๆ ภายในบ้าน เช่น เปิด-ปิดประตูบ้าน โคมไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ เครื่องรับโทรทัศน์ ได้อีกด้วย

นอกจากนี้ยังสามารถสื่อสารระหว่างผู้ป่วยกับผู้ดูแลผู้ป่วย ผ่านการส่งข้อความไปยังสมาร์ทโฟน เมื่อผู้ป่วยต้องการความช่วยเหลือ หรือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน.

ขอบคุณ... https://www.dailynews.co.th/article/638188

ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 15 เม.ย.61ฟ
วันที่โพสต์: 17/04/2561 เวลา 10:05:08 ดูภาพสไลด์โชว์ วีลแชร์ไฟฟ้าควบคุมด้วยสายตา คว้ารางวัลนวัตกรรมระดับโลก