วิถีชุมชนก้าวหน้า ‘บ้านหลักเขต’ สร้างชุมชนสัมมาชีพ คืนคนกลับสู่บ้านเกิด

วิถีชุมชนก้าวหน้า ‘บ้านหลักเขต’ สร้างชุมชนสัมมาชีพ คืนคนกลับสู่บ้านเกิด

การยกระดับเศรษฐกิจฐานราก โดยมุ่งเน้นให้คนภายในชุมชนเกิดการพัฒนาอาชีพขึ้นจากสิ่งที่มีอยู่เป็นทุนเดิม เป็นภูมิปัญญาที่สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดการเรียนรู้ไปสู่การสร้างอาชีพที่พึ่งพาตนเองได้อย่างแท้จริง ถือเป็นยุทธศาสตร์การลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) เพื่อวิถีตนเป็นที่พึ่งแห่งตนและสร้างชุมชนที่เข้มแข็งให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง

กรมการพัฒนาชุมชน เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบบูรณาการไปสู่การปฏิบัติ โดยมุ่งเน้นการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก นั่นคือ “สร้างรายได้” ที่ต้องทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยการสร้างอาชีพจากวิถีท้องถิ่น จึงเป็นที่มาของ “สัมมาชีพชุมชน” ซึ่งกำหนดแผนการสร้างสัมมาชีพชุมชนบนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

โดยการดำเนินงานของกรมการพัฒนาชุมชน ได้นำไปสู่แผนการปฏิบัติงานในพื้นที่ ที่เน้นการยกระดับความเป็นอยู่ให้ครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้น ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการเสริมสร้างสัมมาชีพชุมชนอันเป็นการสนองต่อหลักการสัมมาชีพชุมชน ที่มุ่งเน้นไปที่ความสุจริตในการประกอบอาชีพ การไม่เบียดเบียนทั้งต่อตนเองและสังคม รวมถึงสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยกระบวนการที่ซึ่งให้ชาวบ้านที่เป็นปราชญ์ชาวบ้าน สอนชาวบ้านในสิ่งที่ถนัดและที่สนใจในการฝึกอาชีพใหม่ๆ จากการต่อยอดภูมิปัญญาในท้องถิ่น โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด เป็นผู้ประสานงาน และมีทีมสนับสนุนการขับเคลื่อนสัมมาชีพระดับอำเภอ ซึ่งสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ เป็นพี่เลี้ยง ทำให้หมู่บ้านที่ได้รับการสนับสนุนมีอาชีพ มีผลิตภัณฑ์ชุมชนสามารถก้าวไปสู่สินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) เพื่อก่อให้เกิดรายได้ เสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งต่อไป โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้ตั้งเป้าหมายการสร้างอาชีพครัวเรือน จำนวน 23,589 หมู่บ้าน 471,780 ครัวเรือน

วิถีชุมชนก้าวหน้า ‘บ้านหลักเขต’ สร้างชุมชนสัมมาชีพ คืนคนกลับสู่บ้านเกิด

‘บ้านหลักเขต’ หมู่ 18 ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา หนึ่งในหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ปี 2555 ที่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนฐานรากอาชีพให้เข้มแข็งจากกรมการพัฒนาชุมชน โดยนายสุธีร์ วงค์อุ่นใจ ปราชญ์ชาวบ้าน วัย 58 ปี เล่าถึงความแตกต่างของชุมชนที่มีการนำแนววิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาปรับใช้ว่า คือการสร้างให้ พึ่งพาตนเองได้ หนี้สินลดลงและมีรายได้เพิ่ม เมื่อมีการนำแนวคิดวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามา ทำให้ทุกครัวเรือนมีความมั่นคงเกิดการรวมตัวด้านอาชีพโดยไม่ต้องรับจ้าง ชาวบ้านที่ไปทำงานต่างถิ่นก็กลับมามีอาชีพที่บ้านเกิดของตนเอง ในฐานะปราชญ์ชาวบ้านที่ได้เข้าร่วมโครงการอบรมส่งเสริมการสร้างสัมมาชีพ จึงนำความรู้จากการอบรมที่ได้เข้าไปถ่ายทอดสอนชาวบ้าน สร้างอาชีพจากครัวเรือน

‘หมู่บ้านหลักเขต’ เริ่มเรียนรู้การสร้างสัมมาชีพชุมชน โดยการมองวัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชนซึ่ง 230 ครัวเรือน ในหมู่ 18 มีจำนวนการปลูกกล้วยกันแทบทุกครัวเรือนเป็นทุนเดิม จึงได้หาวิธีการสร้างมูลค่าเพิ่มของกล้วยที่มีอยู่ทุกครัวเรือน มาทำให้มีรายได้เพิ่ม โดยได้นำภูมิความรู้จากคนในหมู่บ้านมาช่วยถ่ายทอดการทำกล้วยแปรรูป ซึ่งสามารถเก็บผลผลิตไว้ได้นานขึ้น ราคาจากการขายกล้วยหวีตามน้ำหนักชั่งที่จากเดิมมีราคาต่อหวีจำนวนไม่มาก จากหนึ่งหวีสามารถแปรรูปได้ราคาเพิ่มขึ้นเป็นหลายเท่าตัวได้

วิถีชุมชนก้าวหน้า ‘บ้านหลักเขต’ สร้างชุมชนสัมมาชีพ คืนคนกลับสู่บ้านเกิด

จากการพลิกผืนป่ากล้วยในหมู่บ้านหลักเขตสู่การรวมตัวกันจัดตั้งหมู่บ้านสัมมาชีพขึ้น โดยการตั้งกลุ่มขึ้นกันเอง 11 กลุ่ม เพื่อให้มีการดูแลกันอย่างทั่วถึง ซึ่งในแต่ละกลุ่มจะมีหัวหน้ากลุ่มดูแลรับผิดชอบ มีการจัดประชุมกันในหมู่บ้านทุกวันที่ 10 ของทุกเดือน เพื่อมาปรึกษาหารือกันในสัมมาชีพชุมชน

อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2555 กรมการพัฒนาชุมชน โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครราชสีมา ได้เล็งเห็นถึงความพร้อมของทรัพยากรในหมู่บ้านหลักเขต จึงมีการสนับสนุนงบประมาณสนับสนุนจนกระทั่งกลายเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบประจำปี 2555 ทำให้ชาวบ้านหันกลับมาสร้างรายได้จากสิ่งที่มีอยู่ใกล้ตัวและมีการแลกเปลี่ยนภูมิความรู้สู่กัน และเมื่อกรมการพัฒนาชุมชนได้ส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างรายได้ โดยเริ่มจากการคัดเลือกปราชญ์ให้เข้ารับการอบรมโครงการพัฒนาผู้นำสัมมาชีพ และคัดเลือกทีมที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนสัมมาชีพชุมชนให้แก่หมู่บ้าน จนกระทั่งมีการคัดเลือกครัวเรือนสัมมาชีพชุมชน หมู่บ้านละ 20 ครัวเรือน จัดให้ใน 4 หมู่บ้าน มีทีมดูแลสัมมาชีพชุมชนต่อ 1 คน ทำให้ชาวบ้านเรียนรู้ที่จะสร้างรายได้แบบก้าวหน้า คือการแปรรูปวัตถุดิบในครัวเรือนออกขายเพิ่มรายได้

วิถีชุมชนก้าวหน้า ‘บ้านหลักเขต’ สร้างชุมชนสัมมาชีพ คืนคนกลับสู่บ้านเกิด

‘กัลยา สายประสาท’ ผู้ถ่ายทอดภูมิปัญญาการแปรรูปกล้วยออกสู่คนในชุมชน เล่าว่า เมื่อชาวบ้านเริ่มหันมาสร้างรายได้จากภูมิปัญญาในครัวเรือน ผลผลิตกล้วยซึ่งปลูกกันทุกครัวเรือนได้ถูกนำมารวมกลุ่มกันแปรรูป โดยปราชญ์ชาวบ้านจึงได้ชักชวนแกนนำวิทยากร 4 คน ทั้งผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วย และชาวบ้าน มาช่วยกันก่อตั้งกลุ่มชาวบ้านหลักเขตขึ้นเพื่อพัฒนาอาชีพในพื้นที่ ซึ่งปราชญ์และวิทยากรชุมชน จะต้องมีการเข้าอบรมความรู้จาก พช. แล้วเราก็ได้นำความรู้ที่อบรมแปรรูปกล้วยมาปรับใช้กับความรู้เดิมถ่ายทอดสู่คนในชุมชน

กัลยา ยังเล่าต่อไปอีกว่า ชาวบ้านที่มีความสนใจงานแปรรูปก็จะมารวมตัวกันที่ลานหมู่บ้าน เราก็จะสอนตั้งแต่การปอก การหั่น การผสมรสชาติ เค็ม หวาน การทำให้กล้วยฉาบได้มาตรฐานการผลิต ตลอดจนถึงการบรรจุผลิตภัณฑ์ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนการผลิตซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณกล้วย ประมาณจำนวน 50-100 ถุง เฉลี่ยราคาอยู่ที่ประมาณถุงละ 20 บาท เมื่อขึ้นทะเบียนแล้วก็จะนำขึ้นทะเบียนโอทอป ซึ่งการรวมกลุ่มแปรรูปในชุมชน ช่วยลดปัญหาหนี้สิน และยังช่วยเพิ่มเทคนิคการทำสัมมาชีพให้คนในชุมชน จากการแปรรูปกล้วยฉาบไปสู่การแปรรูปฟักทอง มันฉาบ และผลผลิตอื่นๆ ในแต่ละครัวเรือนด้วย

วิถีชุมชนก้าวหน้า ‘บ้านหลักเขต’ สร้างชุมชนสัมมาชีพ คืนคนกลับสู่บ้านเกิด

‘วรรณวิภา ธุวะชาวสวน’ เกษตรผู้ส่งเสริมการปลูกกล้วย เล่าว่า ตนเองคือหนึ่งในผู้ทำงานรับจ้างในเมืองที่เป็นหนี้สะสม หารายได้ไม่พอกับรายจ่าย จึงตัดสินใจกลับบ้านเกิด และได้ไปเห็นการสร้างอาชีพของคนในชุมชน จึงเกิดการเรียนรู้มุมมองใหม่ขึ้น โดยมีปราชญ์ชาวบ้านให้คำแนะนำ ทำให้เข้าใจวิถีชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และหลักการพึ่งพาตนเอง จนกระทั่งได้เกิดความคิดในการเลี้ยงชีพจากวิถีชีวิตบ้านเกิด ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน

วรรณวิภา เริ่มต้นจากการพออยู่พอกิน ปลูกพืชผักสวนครัวไว้รับประทานภายในบ้าน เมื่อผลผลิตออกผลจำนวนมากจนเหลือจึงนำออกขายสามารถลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ให้ครัวเรือน ต่อมาจึงพัฒนาพื้นที่บริเวณรอบบ้านให้เป็น ศูนย์เรียนรู้การปลูกกล้วยแบบผสมผสาน จำนวน 2 ไร่ ที่มีการปลูกพืชรายวันและรายเดือน เพื่อให้มีรายได้ตลอดทั้งเดือน รายได้หลักต่อเดือนอยู่ที่ 15,000 บาท และรายได้ต่อเนื่องเป็นรายวันตามผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้

วิถีชุมชนก้าวหน้า ‘บ้านหลักเขต’ สร้างชุมชนสัมมาชีพ คืนคนกลับสู่บ้านเกิด

รายได้หลักเน้นที่การผลิตกล้วย ในหมู่บ้านมีการแปรรูปกล้วยกันเอง รวมทั้งรับซื้อกล้วยของคนในพื้นที่ โดยให้ราคาจริงในท้องตลาด เฉลี่ยหวีละประมาณ 20-35 บาท นอกจากนี้กล้วยเป็นพืชที่สามารถขายได้ทั้งหน่อ หัวปลี ซึ่งราคาขายอยู่ที่ 15 บาท รวมทั้งพืชผักในสวน จะส่งขายตามตลาดนัด หรือมีบางช่วงจะมีพ่อค้าเข้ามาติดต่อขอซื้อทั้งสวนของตนเองและคนในหมู่บ้านเพื่อส่งขายตลาดไท

กล่าวได้ว่า วันนี้ หมู่บ้านหลักเขตคือต้นแบบวิถีชีวิตบนเส้นทางเศรษฐกิจพอเพียง การเรียนรู้สัมมาชีพในท้องถิ่นสร้างรายได้แบบพึ่งพาตนเอง การแปลงต้นทุนวัตถุดิบในครัวเรือน เลี้ยงชีพครัวเรือน เลี้ยงชีพชุมชน เป็นการสร้างความเข้มแข็งในระบบต้นน้ำอย่างบูรณาการ ซึ่งส่งผลให้เกิดความสำนึกรักบ้านเกิดจากภูมิปัญญา สัมมาชีพชุมชนอย่างแท้จริง สร้างเศรษฐกิจฐานรากมั่นคง ชุมชนพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน

ขอบคุณ... https://www.technologychaoban.com/agricultural-technology/article_22045

ที่มา: เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 23 มิ.ย. 60
วันที่โพสต์: 23/06/2560 เวลา 09:40:33 ดูภาพสไลด์โชว์ วิถีชุมชนก้าวหน้า ‘บ้านหลักเขต’ สร้างชุมชนสัมมาชีพ คืนคนกลับสู่บ้านเกิด